วัดปากน้ำฝั่งเหนือ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดปากน้ำ

ที่ตั้ง : เลขที่ 942 ถ.ปากน้ำฝั่งเหนือ แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน

ตำบล : คลองชักพระ

อำเภอ : เขตตลิ่งชัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.74419 N, 100.459659 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางเชือกหนัง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนราชพฤกษ์ ใช้ถนนปากน้ำกระโจมทอง (อยู่ระหว่างซอยราชพฤกษ์ 8 กับซอบราชพฤกษ์ 10) ประมาณ 1.1 กิโลเมตร พบสี่แยก ให้เลี้ยาวขวาใช้ซอยวัดปากน้ำ-วัดแก้ว ประมาณ 180 เมตร พบโรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย (โรงเรียนปากน้ำวิทยาคม) ทางซ้ายมือ สามารถเข้าสู่วัดปากน้ำฝั่งเหนือได้จากโรงเรียน หรือหากเดินเท้า ก็สามารถใช้ทางเดินซีเมนต์หรือซอยยิ่งยิ่งเจริญ-คลองบางเชือกหนัง ที่อยู่เลยโรงเรียนไปประมาณ 30 เมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

นอกจากงานสำคัญเนื่อในพุทธศาสนาที่ทางวัดปากน้ำฝั่งเหนือได้จัดอยู่เป็นประจำแล้ว ยังมีงานประจำปีมีงานปิดทองหลวงพ่อเพชร หลวงพ่อโสธรองค์จำลอง และพระพุทธบาทจำลอง ในช่วงปลายเดือนมีนาคม (3 คืน) กิจกรรมของวัดมีคณะศิษย์วัดเล่นกระตั้วแทงเสือ กลองยาว ปี่พาทย์ แตรวง เชิดสิงโต และมังกรทอง

ในที่ดินของวัดมีโรงเรียนและหน่วยราชการ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหลวงพ่อเพชร (ของทางวัด) โรงเรียนวัดปากน้ำฝั่งเหนือ (กทม.) โรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย (โรงเรียนปากน้ำวิทยาคม) (กระทรวงศึกษาธิการ) และสถานีสาธารณสุขชุมชน 49 วัดชัยพฤกษมาลา (สาขา)  

หมายเลขโทรศัพท์ของวัดปากน้ำฝั่งเหนือ 02-410-8478

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดปากน้ำฝั่งเหนือ

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดปากน้ำฝั่งเหนือเป็นวัดที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองบางเชือกหนังฝั่งเหนือ ตรงข้ามฝั่งคลองกับวัดปากน้ำฝั่งใต้ (แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ) ห่างจากคลองชักพระมาทางทิศตะวันตกประมาณ 200 เมตร

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบน้ำท่วมถึง โดยรอบมีสภาพเป็นชุมชนเมือง มีบ้านเรือนราษฎรและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตั้งอยู่หนาแน่น

ด้านทิศใต้ของวัดเป็นบ้านเรือนและคลองบางเชือกหนัง ด้านทิศเหนือเป็นโรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย (เดิมชื่อโรงเรียนปากน้ำวิทยาคม) ด้านทิศตะวันตกและตะวันออกเป็นบ้านเรือนราษฎร

เดิมไม่มีถนนเข้าสู่วัด มีเพียงทางเดินซีเมนต์แคบๆ (ซอยยิ่งยิ่งเจริญ-คลองบางเชือกหนัง) ที่เชื่อมพื้นที่วัดกับซอยวัดปากน้ำ-วัดแก้ว ที่รถยนต์สามารถวิ่งผ่านได้ทางทิศตะวันตกของวัด แต่ในปี 2547 ทางโรงเรียนวัดปากน้ำวิทยาคมได้เปิดรั้วทางด้านหลัง ทำถนนเข้าในลานวัด จึงทำให้รถยนต์สามารถเข้าสู่ลานวัดได้

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองชักพระ, คลองบางเชือกหนัง

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 129) ได้เข้าสำรวจวัดปากน้ำฝั่งเหนือ และระบุว่าสิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่หมดแล้ว

ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดปากน้ำฝั่งเหนือเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบางเชือกหนังฝั่งเหนือ ตรงข้ามฝั่งคลองกับวัดปากน้ำฝั่งใต้ (แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ) ตามประวัติวัดระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2370 ไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2378

เหตุที่ชื่อวัดปากน้ำคงมาจากตำแหน่งที่ตั้งใกล้ปากน้ำคลองบางเชือกหนังกับคลองบางน้อยไหลมาบรรจบกับคลองมอญและคลองชักพระ แต่โดยที่มีอีกวัดหนึ่งตั้งอยู่ฝั่งใต้ ชาวบ้านจึงเรียก “วัดปากน้ำฝั่งเหนือ”

นอกจากนั้น มีประวัติเป็นตำนานว่าเดิมมีญาติพี่น้องช่วยกันสร้างวัดปากน้ำขึ้น ภายหลังผิดใจกันจึงข้ามฝางคลองไปสร้างวัดใหม่อีกแห่งหนึ่ง จึงต้องตั้งชื่อให้ต่างกันเป็นวัดปากน้ำฝั่งเหนือ และวัดปากน้ำฝั่งใต้ (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 38)

วัดปากน้ำฝั่งเหนือไม่มีถนนเข้าสู่วัดโดยตรง มีเพียงทางเดินซีเมนต์ยาว 50 เมตร (ชื่อซอยยิ่งยิ่งเจริญ-คลองบางเชือกหนัง) เชื่อมต่อกับซอยวัดปากน้ำ-วัดแก้วทางด้านทิศตะวันตกของวัด

ในปี 2547 ทางโรงเรียนวัดปากน้ำวิทยาคมได้เปิดรั้วทางด้านหลัง ทำถนนเข้าในลานวัด จึงทำให้รถยนต์สามารถเข้าสู่ลานวัดได้

ลำดับเจ้าอาวาส ไม่ทราบนาม 4 รูป, พระอาจารย์ทัย, พระอาจารย์รอด, พระอาจารย์เป๋า, พระอาจารย์อั๋น, พระครูปลัดเฉลิม ดำรงตำแหน่งถึง พ.ศ.2516, พระครูวิจารณ์ธรรมกิจ (นรนิต ถิรสทฺโธ) ดำรงตำแหน่งถึง พ.ศ.2542, พระครูใบฎีกาสุวรรณ จิตฺตธมฺโม ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ.2542

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญ (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 38-39) คือ

อุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีขนาดเล็ก เรียกกันว่าเป็น “ทรงมอญ” ไม่มีประตูหลังอย่างที่นิยมเรียกกันว่า “มหาอุด” หรือ “มหาอุตม์”

เดิมไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันไม่มีลวดลาย มีหน้าต่างผนังละ 3 ช่อง ห้องสุดท้ายทึบไม่มีหน้าต่าง ต่อมาระหว่างปี 2542-2549 มีการบูรณะใหม่ทั้งหลัง โดยกะเทาะผนังเดิมออกทั้งภายนอกภายใน ลงเสาเข็มและหล่อเสาคอนกรีตโดยรอบ ยกหลังคาขึ้นอีก 1.3 เมตร ก่อผนังใหม่ ทำหินล้าง เติมช่อฟ้าใบระกา เติมพาไลหน้า-หลัง ปั้นปูนลวดลายที่หน้าบันทั้งหน้าและหลัง โดยนำแบบมาจากลายที่วัดสุทัศนเทพวราราม รวมทั้งเปลี่ยนซุ้มเสมาและใบเสมา

นอกจากนั้นแล้วยังถมพื้นภายในอุโบสถขึ้นอีก 1.2 เมตร ยกฐานชุกชีขึ้นอีก 1 เมตร ประดิษฐานพระประธาน “หลวงพ่อเพชร” (พระพุทธรูปปางสมาธิ) ปิดทองพระประธานและพระพุทธรูปบนฐานชุกชีอีก 2 องค์ด้วย

ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารไม้ทรงไทย กว้าง 15 เมตร ยาว 18 เมตร เป็นหนึ่งในอาคารไม่กี่หลังที่ยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมไว้ ไม่ได้ดัดแปลงเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ดังเช่นวัดอื่นๆ

ศาลเจ้าแม่ทับทิม เป็นศาลเจ้าปากคลองบางเชือกหนัง มีประวัติติดไว้ที่ศาลว่าเดิมเป็นเรือนไทย แต่มีการบูรณะเมื่อ พ.ศ.2546-2547 ได้สร้างขึ้นใหม่เป็นทรงเก๋งจีน ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่ 3 องค์ คือเจ้าแม่ทับทิม เจ้าแม่แก่นจันทร์ และเจ้าแม่จันทร์หอม มีพิธีอัญเชิญเจ้าแม่ขึ้นประทับศาลใหม่ในเดือนมกราคม 2548 มีพิธีทรงเจ้าแม่เป็นครั้งคราว

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล, นิสา เชยกลิ่น

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล. กรุงเทพฯ : โอ. เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2535.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.

ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง