วัดเรไร


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : เลขที่ 548 ถ.แก้วเงินทอง (ถ.ฉิมพลี-วัดรัชฎาธิษฐาน) แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน

ตำบล : คลองชักพระ

อำเภอ : เขตตลิ่งชัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.771013 N, 100.453512 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางระมาด

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนบรมราชชนนี บริเวณสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ให้ใช้ถนนฉิมพลี (อยู่ติดกับสถานีตำรวจ) ไปตามถนนฉิมพลีประมาณ 850 เมตร จะพบถนนแก้วเงินทองทางขวามือ (ก่อนถึงถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชันเล็กน้อย) เลี้ยวขวาใช้ถนนแก้วเงินทองประมาณ 850 เมตร จะพบซอยแก้วเงินทอง 36 ซึ่งเป็นซอยขนาดเล็ก สำหรับเดินสัญจรเท่านั้น เดินเท้าเข้าไปในซอยอีกประมาณ 230 เมตร ถึงวัดเรไร

หรืออาจมาจากถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชันได้ โดยจากถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน ให้ใช้ถนนฉิมพลี ฝั่งด้านทิศตะวันตก (ฝั่งขาขึ้น) ประมาณ 110 เมตร พบถนนแก้วเงินทองทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายใช้ถนนแก้วเงินทองประมาณ 850 เมตร จะพบซอยแก้วเงินทอง 36 ซึ่งเป็นซอยขนาดเล็ก สำหรับเดินสัญจรเท่านั้น เดินเท้าเข้าไปในซอยอีกประมาณ 230 เมตร ถึงวัดเรไร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดเรไรเป็นวัดที่สงบเงียบ มีการจัดงานในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่างๆ รวมถึงงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อดำและพระพุทธฉายจำลอง จัดขึ้น 3 วัน ระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม

เนื่องจากวัดติดกับคลองชักพระ และมมีถนนสำหรับรถยนต์เข้าสู่วัด พระบางรูปจึงออกบิณฑบาตทางเรือ นอกจากนี้ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (วัดมหาธาตุ) จึงมีพระสงฆ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย มาพำนักที่วัดเรไรด้วย

โรงเรียนในเขตที่ดินวัดคือ โรงเรียนปิยะวิทยา ตลิ่งชัน (โรงเรียนการกุศลของวัด)

หมายเลขโทรศัพท์ของวัดเรไร 02-410-0586, 02-412-7314

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดเรไร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดเรไรตั้งอยู่ริมคลองชักพระฝั่งด้านทิศตะวันตก ใกล้ปากคลองบางระมาด (ห่างจากปากคลองบางระมาดมาทางทิศใต้ประมาณ 100 เมตร

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบน้ำท่วมถึง โดยรอบมีสภาพเป็นเมือง บ้านเรือนราษฎรและสิ่งปลูกสร้างหนาแน่น มีพื้นที่สวนแทรกอยู่เป็นระยะ ด้านทิศตะวันออกของวัดติดกับคลองชักพระ

วัดเรไรยังไม่มีถนนสำหรับรถยนต์เข้าสู่วัด มีเพียงทางเดินจากด้านถนนแก้วเงินทอง (ซอยแก้วเงินทอง 36 และ 34) ทางเดิมเชื่อมกับวัดอื่นๆ ใกล้เคียง เช่น วัดช่างเหล็ก รวมถึงทางเดินในสวนและการสัญจรทางเรือที่คลองชักพระ พระสงฆ์ของวัดยังคงออกบิณฑบาตทางเรือด้วย

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองชักพระ, คลองบางระมาด

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : ประภัสสร์ ชูวิเชียร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549) สำรวจและศึกษาวัดโบราณในคลองบางระมาด และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเมืองโบราณ

ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดเรไรเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองชักพระฝั่งด้านทิศตะวันตก ใกล้ปากคลองบางระมาด (ห่างจากปากคลองบางระมาดมาทางทิศใต้ประมาณ 100 เมตร) เป็นวัดใหญ่แต่ไม่มีถนนเข้าสู่วัด มีเพียงทางเดินเท้าและการสัญจรทางน้ำที่คลองชักพระ

ตามประวัติฉบับกรมการศาสนา วัดเรไรสร้างราว พ.ศ.2323 หรืออาจก่อนหน้านี้ มีคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า เจ้าต่างกรม 3 องค์ ได้สร้างวัดนี้ ต่อมาวัดชำรุดทรุดโทรมขาดการทำนุบำรุง และได้กลายเป็นวัดร้างในที่สุด ชาวบ้านได้มาบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง วัดเรไรจึงกลับเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณ พ.ศ.2419 (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 52)

มีประวัติอีกสำนานหนึ่ง เล่าว่าวัดดเรไรได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ โดยเจ้านาย 3 พระองค์ ได้แก่ กรมพระนราเทเวศน์ กรมหลวงนเรศโยธี และกรมหลวงเสนีบุรีรัตน์

เมื่อเทียบกับหนังสือราชสกุลวงศ์ (กรมศิลปากร 2536) แล้ว น่าจะได้แก่ กรมหมื่นนราเทเวศน์ กรมหมื่นนเรศร์โยธี และกรมหลวงเสนีบริรักษ์ พระราชโอรสในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข สมัยรัชกาลที่ 1 (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 52)

อย่างไรก็ดี ปรากฏหลักฐานเอกสารในราชกิจจานุเบกษา รัชกาลที่ 5 เล่ม 1 แผ่นที่ 43 ว่าด้วยการพระราชทานวิสุงคามสีมาวัดเรไรไว้ว่า (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 107)

“มีพระบรมราชโองการ ประกาศไว้แก่ชนทั้งปวงว่า ที่เขตรพระอุโบสถวัดเรไร ตำบลบางรมาด แขวงกรุงเทพฯ โดยยาว ๑๘ วา กว้าง ๑๒ วา หม่อมเจ้ากำพร้า หม่อมเจ้าเขียน หม่อมเจ้าสว่าง กับหลวงพุทธมากรได้ให้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอเปนที่วิสุงคามสีมา พระราชทานพระบรมราชานุญาต แต่ ณ วันศุกร เดือนแปด ขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีมเสงตรีศก พระพุทธศาสนกาล ๒๔๒๔ พรรษา”

ดังนั้นจึงระบุช่วงเวลาการได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาของวัดเรไรได้ว่า ตรงกับวันศุกร์ เดือน 8 ขึ้น 14 ค่ำ ปีมะเส็งตรีศก พ.ศ.2424 อันน่าจะหมายความว่าอุโบสถหลังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันสร้างขึ้นก่อนหน้านั้นไม่นานนัก

พระนามของหม่อมเจ้าทั้ง 3 องค์นี้ ตรวจสอบจากหนังสือ พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในราชวงศ์จักรี (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 108)  พบว่าทั้งหมดเป็นพระธิดาในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ต้นราชสกุลอิศรางกูร จึงเป็นไปได้ที่หม่อมเจ้าทั้ง 3 พระองค์นี้จะเป็นที่มาของคำบอกเล่าว่าด้วย “เจ้าฟ้าต่างกรมสามพระองค์” หรือ “เจ้านายสามพระองค์” ที่เป็นผู้สร้างหรือปฏิสังขรณ์วัดเรไร

ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549 :78) สันนิษฐานว่าวัดเรไรคงสร้างขึ้นหรืออย่างน้อยก็ซ่อมแซมในช่วงรัชกาลที่ 3 ซึ่งอาจเก่าแก่ไปถึงสมัยอยุธยา

พ.ศ.2554 เริ่มมีการประกาศเชิญชวนให้ผู้มี่จิตศรัทธาร่วมซื้อที่ดินเพื่อทำถนนเข้าวัด

ลำดับเจ้าอาวาส พระอาจารย์ลื่น, พระอาจารย์เผือก, พระอาจารย์เอี่ยม, พระสมุห์ด้วง, พระอาจารย์บัว, พระครูสุนทรธรรมกิจ, พระครูใบฎีกาสุพจน์ ดำรงตำแหน่งถึง พ.ศ.2500, พระครูธรรมกิจสุนทร พ.ศ.2502-2528, พระครูสิริจันทโสภิต (สมจิตต์ จนฺทูปโม) พ.ศ.2528-2554, พระมหากฤษณะ ดรุโณ ตั้งแต่ พ.ศ.2545

สิ่งก่อสร้างสำคัญ (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 53) ได้แก่

อุโบสถ ตั้งอยู่เกือบติดกับคลองชักพระ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สู่คลองชักพระ รูปแบบคล้ายอาคารรุ่นรัชกาลที่ 3-4 คือมีพาไลรอบ หน้าบันก่ออิฐถือปูน มีช่อฟ้าเป็นปูนปั้นแบบนกหัวเจ่า (รูปหัวนาค)

หน้าบันประดับลายปูนปั้น (ส่วนใหญ่คงบูรณะขึ้นเมื่อไม่นานมานี้) หน้าบันด้านหน้าเป็นปูนปั้นลายเครือเถาประดับเครื่องถ้วยลายคราม ด้านล่างเป็นลายก้านขด หน้าบันด้านหลังตอนบนเป็นลายรูปวิมาน มีปราสาทอยู่บนก้อนเมฆ ตอนล่างเป็นรูปครุฑเบือน จับลายก้านขดช่อหางโต มีสิงห์เกาะอยู่ที่ตัวลาย ที่ขอบล่างจารึกว่า “บูรณะเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒”

กรอบซุ้มประตูหน้าต่างปั้นปูนเป็นลายเทศประดับสวยงาม แต่ปัจจุบันคงซ่อมขึ้นเป็นส่วนใหญ่ (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 78)

ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หล่อด้วยโลหะ หน้าตัก 3 ศอก 9 นิ้ว ครองจีวรลายดอกพิกุลแบบพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์

ใบเสมาเป็นเสมาหินใบเล็ก สลักลายเส้นง่ายๆ แบบเดียงกับวัดทองบางเชือกหนัง ประยูร อุลุชาฏะ (2514) เคยกำหนดอายุสมัยของเสมาแบบนี้ไว้ว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนที่มุมทางด้านหน้าของกำแพงแก้วอุโบสถ มีเจดีย์ราย เป็นเจดีย์ทรงระฆังองค์เล็กๆ อยู่ทั้งทางซ้ายและขวา เป็นแบบเจดีย์ที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3

เจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกของอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังองค์ใหญ่ คล้ายเจดีย์ที่นิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4

วิหารหลวงพ่อดำ ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางทิศตะวันตกของวัด ติดกับเจดีย์องค์ใหญ่ ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 3 องค์ ปิดทองทั้งหมด ที่สำคัญคือ “หลวงพ่อดำ” เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย วิหารและพระพุทธรูปนี้ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ.2524-2528

ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549 :78) ศึกษาพุทธลักษณะแล้วสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา และบริเวณวิหารนี้น่าจะสร้างทับไปบนซากวิหารหรืออุโบสถเดิมที่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา

มณฑปพระพุทธฉาย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัด ผนังด้านในมีภาพปูนปั้นนูนรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนอุ้มบาตร พร้อมด้วยพระอัครสาวก 2 องค์ เบื้องซ้าย-ขวา อยู่ในอิริยาบถยืนอุ้มบาตรเช่นเดียวกัน

การสร้างพระพุทธฉายจำลอง (จำลองจากพระพุทธฉายบนเขาพระฉาย จ.สระบุรี) แพร่หลายในกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่วัดไก่เตี้ย ตลิ่งชัน สร้างขึ้นใน พ.ศ.2479 ส่วนที่วัดเรไรก็น่าจะสร้างในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มณฑปพระพุทธฉายได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในช่วง พ.ศ.2521-2522

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล, สมศักดิ์ แก้วนุช

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.

กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2536.

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “วัดโบราณในคลองบางระมาด.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 73-88.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.

พระมหากฤษณะ ดรุโณ. วัดเรไร. โปรคอมปราฟฟิก, 2541.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.

ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง