โพสต์เมื่อ 24 ธ.ค. 2021
ที่ตั้ง : เลขที่ 11 ซ.บรมราชชนนี 33 ถ.บรมราชชนนี แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน
ตำบล : ตลิ่งชัน
อำเภอ : เขตตลิ่งชัน
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.785677 N, 100.465201 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางกอกน้อย, คลองวัดไก่เตี้ย
จากปากซอยบรมราชชนนี 33 (บริเวณใต้สะพานข้ามคลองบางกอกน้อย) เข้าไปประมาณ 60 เมตร พบซอยวัดไก่เตี้ยทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 50 เมตร จะพบวัดไก่เตี้ย (มีป้ายบอกตลอดทาง)
ประเพณีที่สำคัญของท้องถิ่น และชาวบ้านแถบคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับวัดไก่เตี้ยคือ การแห่พระบรมสารีริกธาตุหรือประเพณีชักพระ (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552) จัดเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และสืบทอดมาโดยตลอด ในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี (หลังวันลอยกระทง 2 วัน) จะมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกลงประดิษฐานยังบุษบกในเรือแล้วเริ่มต้นแห่งจากหน้าวัดนางชีไปทางคลองบางกอกน้อยจนถึงวัดไก่เตี้ยที่ตลิ่งชันก่อนเพล ส่วนขากลับแห่ไปทางปากคลองบางกอกน้อยเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองบางกอกใหญ่แล้ววกเข้าคลองด่านกลับไปทางวัดนางชี
ประเพณีชักพระเป็นงานใหญ่ของผู้คนทุกเพศทุกวัยในย่านนี้ แม้จะออกไปทำงานไกลเพียงใดเมื่อถึงวันชักพระจะต้องมาร่วมงาน บางคนก็เฝ้ารอดูอยู่หน้าบ้านและกราบไหว้บูชาด้วยความศรัทธา สำหรับในบริเวณวัดช่วงเพล ชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานและเครื่องดื่มมาร่วมงานเพื่อเลี้ยงทุกๆ คนที่มางานชักพระ
ขบวนเรือประกอบด้วย เรืออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระพุทธ) เรือพระไตรปิฎก (พระธรรม) เรือเจ้าอาวาสวัดนางชี (พระสงฆ์) เรือผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ (เจ้าเมือง) และขบวนเรือบุปผชาติที่ตกแต่งประดับประดาอย่างงดงามจากหน่วยงานราชการและเอกชนเข้าร่วมขบวนอีกกว่า 50 ลำ ขบวนแห่เรือชักพระนี้เป็นการแห่งแบบทักษิณาวัตรเริ่มต้นจากวัดนางชี เข้าปากคลองด่าน ขบวนเรือล่องตามคลองบางกอกใหญ่มุ่งไปทางเหนือตามคลองชักพระ เข้าสู่บางกอกน้อยสิ้นสุดที่วัดไก่เตี้ย หลังจากนั้น ขบวนวกกลับทางคลองบางกอกน้อย ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองบางกอกใหญ่สิ้นสุดพิธีที่วัดนางชี
คลองชักพระ ซึ่งเป็นคลองเดียวกับคลองบางขุนศรี ที่ต่อจากคลองบางกอกน้อยที่บริเวณตรงข้ามวัดสุวรรณคีรีเชื่อมกับคลองบางกอกใหญ่ที่บริเวณสามแยกคลองบางกอกใหญ่และคลองภาษีเจริญมารวมกันความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร
วัดไก่เตี้ย
วัดไก่เตี้ยเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ฝั่งด้านทิศตะวันตก นอกจากนี้ด้านทิศตะวันตกยังมีคลองขนาดเล็กคือคลองวัดไก่เตี้ย ที่เชื่อมระหว่างคลองบางกอกน้อย (แยกออกจากคลองบางกอกน้อยที่ด้านทิศเหนือของวัด) กับคลองวัดตลิ่งชันและคลองชักพระ
วัดตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มต่ำ น้ำท่วมถึง สภาพโดยรอบวัดปัจจุบันเป็นชุมชนเมือง มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่หนาแน่นมาก
คลองบางกอกน้อย, แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองชักพระ, คลองวัดไก่เตี้ย
ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)
ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
ประยูร อุลุชาฏะ (2514) ได้เข้าสำรวจสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของวัดไก่เตี้ย และบันทึกไว้ว่า “เข้าใจว่าจะเป็นวัดโบราณ มีความสำคัญมาแล้วแต่อดีต แต่สภาพที่มองเห็นปัจจุบันนี้ถูกปฏิสังขรณ์เสียใหม่ไปหมดทั้งวัด มองไม่เห็นสัญญาณใดๆ ว่าจะเป็นวัดเก่าอีกต่อไปแล้ว”ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ
ผลการศึกษา :
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบันวัดไก่เตี้ยปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งด้านทิศตะวันตก (คลองบางกอกน้อยไหลผ่านอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัด) โดยมีคลองวัดไก่เตี้ยไหลผ่านด้านทิศเหนือและตะวันตก ทำให้สภาพพื้นที่เกือบล้อมรอบไปด้วยคลอง
ตามประวัติวัดของสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่า วัดไก่เตี้ยสร้างขึ้นราว พ.ศ.2320 ในปลายสมัยกรุงธนบุรี
ประวัติวัดทั้งฉบับกรมการศาสนาและของวัดระบุตรงกันว่า เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) สมุหนายก ต้นสกุล “สนธิรัตน์” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 บ้างก็ว่าปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 1 (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 147)
แต่ในหนังสือพระประวัติและพระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม 2515) มีกล่าวเท้าความตอนหนึ่งถึงประวัติวัดไก่เตี้ยต่างไปเล็กน้อย ว่าผู้สร้างคือพระนรินทราราชเสนี (เผื่อน) บิดาของท่านผู้หญิงอ่อน ภริยาเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 147)
วัดไก่เตี้ยได้รับการพัฒนาครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2511 โดยทางวัดมีการสร้างบูรณปฏิสังขรณ์อาคารเสนาสนะในวัดครั้งใหญ่และได้จัดแบบแปลนของวัดใหม่ให้พัฒนาดียิ่งขึ้น มีการรื้ออุโบสถหลังเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากเป็นไม้และผุพังลง โดยได้ก่อสร้างขึ้นใหม่เป็นคอนกรีต มีพิธียกช่อฟ้าเมื่อ พ.ศ.2512 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2514
รายชื่อเจ้าอาวาสวัดไก่เตี้ยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 คือ หลวงพ่อนนท์, หลวงพ่อส่าน, หลวงพ่อสาท, หลวงพ่อขาว, หลวงพ่อยิ้ม, หลวงพ่อเทียน, หลวงพ่อรุณ, หลวงพ่อลักษณ์, หลวงพ่อนวล, อาจารย์ทอง วัดอนงคาราม (รักษาการ), พระครูสังฆรักษ์ (พร้อม), หลวงพ่อนวล (ครั้งที่ 2 ถึง พ.ศ.2514) ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของทางวัด, พระครูประสาทปัญญาภารณ์ (เงิน ปสนฺโน) พ.ศ.2514-2544, พระปลัดชาญชัย ชนธมฺโม ตั้งแต่ พ.ศ.2544 ถึงปัจจุบัน
สิ่งสำคัญภายในวัดไก่เตี้ย (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 90) ได้แก่
อุโบสถ สร้างขึ้นใหม่แทนที่อุโบสถหลังเดิมที่รื้อไปเมื่อ พ.ศ.2511 กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก (หันหน้าสู่คลองบางกอกน้อย) หน้าบันทำเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางสมาธิ ด้านล่างมีรูปไก่อยู่ในวงกลม (คงสร้างขึ้นตามนามของวัด) แต่เดิมลวดลายหน้าบันเป็นลายกนกและพรรณพฤกษา (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552)
ภายในประดิษฐานพระประธานที่อัญเชิญมาจากอุโบสถหลังเดิม เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เอกสารของวัดระบุว่าที่ฐานมีจารึกว่าหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.1989 สันนิษฐานว่าจะอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ตั้งแต่เมื่อแรกสร้างวัด โดยอาจอัญเชิญลงมาจากหัวเมืองเหนือในรัชกาลที่ 1 พร้อมกับพระพุทธรูปพันกว่าองค์ที่อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ตามพระอารามหลวงของกรุงรัตนโกสินทร์
วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก (หันหน้าสู่คลองบางกอกน้อย) เชื่อกันว่าสร้างพร้อมอุโบสถหลังเดิมตั้งแต่แรกสร้างวัด หน้าบันของวิหารเป็นไม้จำหลัก หน้าบันของมุขด้านล่างเป็นลายเครือเถากนกออกปลายเป็นเทพนม ตรงกลางเป็นครุฑ ส่วนหน้าบันด้านบน ตรงกลางสลักเป็นรูปวิมานท่ามกลางลายกนก (ปัจจุบันใช้เป็นกุฏิเจ้าอาวาส)
พระพุทธฉาย ตั้งอยู่ระหว่างอุโบสถและวิหารภายในเขตกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ สร้างในสมัยหลวงพ่อนวลเป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ.2473 ก่อเป็นเหมือนกำแพง ทำเป็นซุ้มประดิษฐานภาพปูนปั้นนูน เป็นรูปพระพุทธปูนประทับยืนอุ้มบาตรอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยพระสาวกที่อยู่ในท่าทางอุ้มบาตรเช่นเดียวกัน
หอระฆัง ตั้งอยู่ด้านข้างศาลาการเปรียญ เป็นหอระฆังเก่า ก่ออิฐถือปูน สูง 2 ชั้น
หอพระไตรปิฎก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เชิงชายสลักไม้เป็นลายค้างคาวแบบจีน เดิมตั้งอยู่กับหมู่กุฏิด้านริมน้ำ ต่อมาเมื่อย้ายเขตสังฆาวาสมาไว้ด้านหลัง หอไตรหลังนี้จึงตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางลานวัด ในปี 2548 จึงมีการชะลอหาไตรขยับมาทางทิศตะวันตก ติดกับเขตสังฆาวาส
พระพุทธรูปสำคัญ พระประธานในอุโบสถและหลวงพ่อโต พระพุทธรุปปางสมาธิ ประดิษฐานในศาลาด้านหน้าวิหาร รวมถึงรูปหล่อหลวงพ่อนวลซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์องค์สำคัญ
มีตำนานเล่าว่าผู้สร้างชื่อกราน ในสมันต้นรัชกาลที่ 5 เมื่อยังมีหวย ก.ข. หลวงพ่อโตองค์นี้ใบ้หวยถูกบ่อยจนขุนบาล (ยี่กอฮงเหม็ง) ให้คนมาควักพระเนตรออก แล้วเอาเหล็กมาตอกกลางหลังและซอกคอ ในหนังสือประวัติวัดไก่เตี้ย (2511) กล่าวว่า “เหล็กที่ตอกนี้ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้” น่าสังเกตว่าตำนานของหลวงพ่อโตวัดไก่เตี้ยนี้ใกล้เคียงกับตำนานหลวงพ่อตาแดงที่วัดเพลงกลางสวนมาก ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 152)
กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.
ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. พระประวัติและพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส. กรุงเทพฯ : บรรณาคาร, 2515.
ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.
ประวัติวัดไก่เตี้ย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ประยูร, 2511.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.
ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.
ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.