โพสต์เมื่อ 7 ก.พ. 2021
ชื่ออื่น : วัดชัยพฤกษ์, วัดชัยพฤกษมาลา
ที่ตั้ง : เลขที่ 2 ถ.ชัยพฤกษ์ แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน
ตำบล : ตลิ่งชัน
อำเภอ : เขตตลิ่งชัน
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.795589 N, 100.466376 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองบางกอกน้อย, คลองมหาสวัสดิ์
จากปากถนนชัยพฤกษ์ที่ตัดกับถนนบรมราชชนนี (อยู่ระหว่างซอยบรมราชนนี 20 และซอยบรมราชนนี 22) เข้าไปประมาณ 190 เมตร พบวงเวียนให้เลี้ยวขวาไปตามถนนเลียบทางรถไฟ ประมาณ 450 จะพบทางบังคับเลี้ยวซ้ายเพื่อกลับรถใต้สะพาน เมื่อกลับรถแล้วตรงไปอีกประมาณ 500 เมตร พบถนนชัยพฤกษ์อีกครั้งทางขวามือ เลี้ยวขวาตรงไปตามถนนเส้นนี้อีกประมาณ 1 กิโลเมตร พบซอยผู้ใหญ่น่วมทางขวามือ เลี้ยวเข้าซอยไปประมาณ 50 เมตร จะพบวัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร (มีป้ายบอกทางไปวัดตลอดเส้นทาง)
วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหารเป็นวัดหลวงที่สำคัญของเขตตลิ่งชัน งานสำคัญของทางวัดคืองานเทศน์มหาชาติในวันออกพรรษา
สภาพภายในวัดมีความร่มรื่น สามารถทำบุญให้อาหารปลาที่ริมคลองมหาสวัสดิ์
หมายเลขโทรศัพท์วัดชัยพฤกษมาลา 02-882-0778
วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร
วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหารเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์ฝั่งด้านทิศใต้ ด้านทิศเหนือติดกับคลองมหาสวัสดิ์ อยู่ห่างจากคลองบางกอกน้อยมาทางทิศตะวันตกประมาณ 170 เมตร อยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทางทิศตะวันตกประมาณ 4 กิโลเมตร ปัจจุบันสภาพโดยรอบเป็นชุมชนเมือง มีการตั้งบ้านเรือนราษฎรหนาแน่นมาก
สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ น้ำท่วมถึง
คลองมหาสวัสดิ์, คลองบางกอกน้อย, แม่น้ำเจ้าพระยา
ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)
ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์
ผลการศึกษา :
ประยูร อุลุชาฏะ (2514) สำรวจสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดชัยพฤกษมาลา และได้กล่าวถึงประวัติวัด รวมถึงประวัติของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ
ผลการศึกษา :
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบันวัดชัยพฤกษมาลา เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหารมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 สังกัดมหานิกาย อยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์ แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ เดิมชื่อว่า “วัดชัยพฤกษ์” ขึ้นกับตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
วัดชัยพฤกษ์เป็นวัดโบราณมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตามประวัติวัดระบุว่าวัดชัยพฤกษมาลาสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2300
แต่เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์กลายเป็นวัดร้าง เมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ขณะนั้นทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่) รื้ออิฐวัดชัยพฤกษ์ไปสร้างกำแพงพระนครส่วนที่พระองค์ทรงเป็นนายด้าน (ควบคุมงาน) (ศรัณย์ ทองปาน 2549?)
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดชัยพฤกษ์ขึ้นใหม่เป็นการทดแทน (ผาติกรรม) วัดเดิมที่ถูกรื้อเอาอิฐไปสร้างกำแพงเมือง ทั้งนี้ ทรงมีพระราชดำรัสให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนทรงผนวช เป็นแม่กองดำเนินการสร้างวัดชัยพฤกษ์ (ศรัณย์ ทองปาน 2549?)
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างคงค้างมาจนตลอดรัชกาลที่ 3 ด้วยพระบาทสมเด็จพระบอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกผนวช และโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดชัยพฤกษ์เข้าในบัญชีพระอารามกฐินหลวงพระราชทานให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาทรงจุดเทียนพรรษา และถวายพระกฐินทุกปีตลอดรัชกาลของสมเด็จพระบรมชนกนาถ (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เป็นแม่ข่าย ดำเนินการซ่อมสร้างจนแล้วเสร็จ พร้อมกับพระราชทานสร้อยนามวัดว่า “วัดชัยพฤกษมาลา” โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่สวนถวายเพิ่มเป็นที่วัดขุดคูรอบวัด สร้างพระอุโบสถและพระวิหารเดิมให้แล้วเสร็จ สร้างศาลาการเปรียญ ก่อพระเจดีย์ใหญ่พร้อมด้วยพระเจดีย์ทิศ 4 มุม หอสวดมนต์ หอระฆัง สะพานท่าน้ำ (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552)
วัดชัยพฤกษมาลาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2514
พระพุทธรูปสำคัญได้แก่ หลวงพ่อโต (พระพุทธชัยพฤกษธิกามหาบพิตร) พระประธานในพระอุโบสถหลังเดิม ส่วนเกจิอาจารย์มีอาทิ พระนันทวิริยะ (โพธิ์ ติสฺสทสฺโส) พระราชมงคลมุนี (คอน สุทฺธิญาโณ)
ลำดับเจ้าอาวาสวัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร ได้แก่ ท่านวัดบางขวาง (ไม่ปรากฏนามที่ชัดเจน เป็นพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ), พระครูธรรมธาดาโกศล (สง) ครองวัดอยู่ประมาณ 5-6 ปี, พระธรรมธาดาโกศล (เกตุ) ครองวัดอยู่ประมาณ 5-6 ปี, พระธรรมธาดาโกศล (พ่วง) ครองวัดอยู่ประมาณ 18-19 ปี, พระปลัดโทน (รักษาการเจ้าอาวาส 5 ปี), พระรัตนมุนี (แก้ว) พ.ศ.2428-2448, พระนันทวิริยะ (โพธิ์ ติสฺสทสฺโส) พ.ศ.2448-2465, พระธรรมทานาจารย์ (อิ่ม ยโสธโร) พ.ศ.2472-2515, พระราชมงคลมุนี (คอน สุทฺธิญาโณ), พ.ศ.2515-2544, พระปริยัติวโรปการ (ประศักดิ์ อคฺคปญฺโญ) พ.ศ.2549 ถึงปัจจุบัน
สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? ; วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552) ได้แก่
พระอุโบสถเก่า ตั้งอยู่คู่กับพระวิหาร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยพระวิหารอยู่ทางด้านทิศเหนือ พระอุโบสถอยู่ทางทิศใต้ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ให้สำเร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบัน มีขนาดกว้าง 7.56 เมตร ยาว 19.20 เมตร
เดิมพระอุโบสถหลังนี้อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก โดยเฉพาะเมื่อหลังน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2541-2542 พอถึง พ.ศ.2550 จึงดีดตัวอาคารขึ้นทั้งหลัง ขึ้นเหนือพื้นดินราว 2 เมตร เป็นการป้องกันความชื้นและน้ำที่มักไหลเข้ามาท่วมอยู่เสมอ การดีดอาคารเป็นงานใหญ่มากโดยขุดดินรอบๆ ออกเพื่อเป็นฐานดันตัวอาคารขึ้น จากนั้นจะทำเสาเข็มกลมรองรับและใช้แม่แรงไฮดรอลิกกดลงไปในดินจนได้ความลึกในระดับที่ต้องการ ประมาณ 23 เมตร และเทปูนลงไปในเสาเข็มฐานรอบพระอุโบสถ 48 ต้น จากนั้นตัดหัวเข็มออกและเอาแม่แรงมาวางบนหัวเข็มเพื่อดันตัวอาคารขึ้นจากพื้นดินปัจจุบัน 2 เมตร และมีการบูรณะจนปัจจุบันอยู่ในสภาพดี
ด้านหน้าพระอุโบสถมีช่องประตู 3 ช่อง ด้านหลัง 1 ช่อง ช่องหน้าต่างที่ผนังด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ด้านละ 5 ช่อง กรอบประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นรูปดอกพุดตานใบเทศปิดทอง มีเสานางเรียงรับชายคาด้านข้าง
หน้าบันของพระอุโบสถเป็นลวดลายปูนปั้น หน้าบันประธานเป็นภาคครุฑยุดนาค (พระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) อยู่ท่ามกลางลายพุดตานใบเทศ ส่วนหน้าบันของมุขหน้า-หลัง เป็นพระมหามงกุฎ (พระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) แวดล้อมด้วยลายพุดตานใบเทศเช่นกัน
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานเป็นพระทำจากหินทรายแดง หุ้มปูนปั้นปิดทอง เรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” มีแผ่นจารึกหินอ่อนจารึกพระนามที่ฐานชุกชีว่า “พระพุทธชัยพฤกษธิกามหาบพิตร” ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ) (2514) วินิจฉัยไว้ว่าหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาที่ประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้มาแต่เดิม
ที่ผนังด้านในแต่ละด้านทำเป็นกรอบปูนเหมือนกรอบรูปภาพ ภายในกรอบเขียนภาพพุทธประวัติ (พระปฐมสมโพธิ) ไว้ทั้ง 4 ทิศ ภาพชุดนี้เขียนเมื่อ พ.ศ.2472 วาดโดยพระครูนนทสิริมหาปัญญา (อิ่ม ยโสธโร ภายหลังได้เป็นพระธรรมทานาจารย์) เจ้าอาวาส เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาพระราชทานผ้าพระกฐิน
พระวิหาร มีขนาดและแผนผังใกล้เคียงกับพระอุโบสถ สภาพพังทลายมาก ผนังกะเทาะแตกร้าว หลังคาเดิมเหลือส่วนที่มุงกระเบื้องอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเล็กน้อย แต่ภายในสร้างหลังคาไว้อีกชั้นหนึ่งในระดับต่ำกว่าแนวผนังเดิม ทำฝ้าเพดานแบะผนังภายในเสียใหม่ ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระประจำวันให้คนเข้าไปสักการะได้
ลวดลายปูนปั้นที่หน้าบัน (เฉพาะส่วนที่ยังหลงเหลือ) เป็นแบบเดียวกับพระอุโบสถ คือหน้าบันของมุขเป็นภาพพระมหามงกุฎ พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 4 ส่วนหน้าบันหลักเป็นครุฑยุดนาค พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 2
ที่ผนังด้านทิศตะวันตกยังปรากฏร่องรอบจิตรกรรมฝาผนังเดิมของพระวิหาร เขียนเป็นลายประจำยามรักร้อย ด้วยสีแดงและสีเขียวบนพื้นสีเหลือง อยู่ในสภาพรางเลือน
พระเจดีย์ ตั้งงอยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถหลังเก่าและพระวิหาร สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าเพิ่มลดาวัลย์ปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ.2378 ต่อมาเจดีย์องค์นี้เป็นที่บรรจุอัฐิของราชสกุลลดาวัลย์ รวมทั้งยังเชื่อกันว่ามีพระบรมอัฐิ (บางส่วน) ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ด้วย
ลักษณะของเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมขนาดใหญ่ มีเจดีย์บริวาร 4 มุม พระเจดีย์ยังมีสัญลักษณ์ของต้นชัยพฤกษ์ปรากฏอยู่ด้วย
พระอุโบสถหลังใหม่ หันหน้าไปทางทิศเหนือสู่คลองมหาสวัสดิ์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2516 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าและเททองหล่อพระประธานเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2521
พระอุโบสถหลังใหม่สร้างขึ้นในตำแหน่งเดียวกับศาลาการเปรียญเก่าที่ได้รื้อออกแล้ว ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 34.5 เมตร ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของกลุ่มอาคารเก่า ไม่ได้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเหมือนพระอุโบสถหลังเก่า
หน้าบันพระอุโบสถชั้นบนมีปูนปั้น เป็นรูปครุฑพ่าห์ ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 2 และที่มุขลดของหน้าบันมีปูนปั้นเป็นรูปพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 4
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน เป็นพระพุทธชินราชจำลอง
ใบเสมาสร้างไว้ติดกับผนังพระอุโบสถ เป็นภาพลายพระนารายณ์ทรงครุฑ
ลานหน้าพระอุโบสถด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ใกล้กับคลองมหาสวัสดิ์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2481 เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันใช้เป็นอาคารกิจกรรมดนตรี-นาฏศิลป์ของโรงเรียนกุศลศึกษา
วิหารศักดิ์สิทธิ์ (ศาลา 90 พรรษา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2533 เป็นศาลาคอนกรีตทรงไทยชั้นเดียว ตั้งอยู่ริมกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก ประดิษฐานรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส ได้แก่ พระนันทวิริยะ (โพธิ์ ติสฺสทสฺโส) พระธรรมทานาจารย์ (อิ่ม ยโสธโร) และพระราชมงคลมุนี (คอน สุทฺธิญาโณ)
รูปหล่อของพระนันทวิริยะโพธิ์ อดีตเจ้าอาวาส สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2468 เป็นเจ้าอาวาสได้ขึ้นชื่อในทางไสยศาสตร์และเป็นนักก่อสร้าง แต่เดิมเป็นจังหวัดนนทบุรี มรณภาพเมื่อ พ.ศ.2467 เป็นที่เคารพ ศรัทธาของชาวบ้านในละแวกนี้มาก
หอกิจจปัญจงค์ (หอสวดมนต์) เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สูง 2 ชั้น เว้นเพียงหอคอยด้านหน้าอาคารที่เป็น 3 ชั้น
กุฏิสงฆ์ เป็นกุฏิไม้ทั้งหลัง
หอระฆัง บูรณะใหม่ ก่ออิฐ ถือปูน หน้าบันเป็นแบบจตุรมุข ตรงกลางทำเป็นยอดเจดีย์ยอดแหลมขึ้นไป มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์
นอกจากนี้ ภายในบริเวณวัดยังมีโรงเรียนกุศลศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่วัดอุปถัมภ์มาแต่เดิม รวมทั้งวัดชัยพฤกษมาลา ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร
กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 1. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2525.
กรมศิลปากร. ประวัติวัดชัยพฤกษมาลา. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมทานาจารย์ (อิ่ม ยโสธโร). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2516.
ที่ระลึกทำบุญอายุ 79 ปี พระพิสุทธิธรรมาจารย์ (คอน สุทฺธิญาโณ ป.ธ.6) เจ้าอาวาสวัดชัยพฤกษมาลา. 20 กรกฎาคม 2534.
ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.
ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.
ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.