โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : เลขที่ 48 ซ.วัดน้อยใน ถ.ชัยพฤกษ์ แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน
ตำบล : ตลิ่งชัน
อำเภอ : เขตตลิ่งชัน
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.791543 N, 100.466851 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองบางกอกน้อย
จากปากถนนชัยพฤกษ์ที่ตัดกับถนนบรมราชชนนี (อยู่ระหว่างซอยบรมราชนนี 20 และซอยบรมราชนนี 22) เข้าไปประมาณ 190 เมตร พบวงเวียนให้เลี้ยวขวาไปตามถนนเลียบทางรถไฟ ประมาณ 450 จะพบทางบังคับเลี้ยวซ้ายเพื่อกลับรถใต้สะพาน เมื่อกลับรถแล้วตรงไปอีกประมาณ 500 เมตร พบถนนชัยพฤกษ์อีกครั้งทางขวามือ เลี้ยวขวาตรงไปตามถนนเส้นนี้อีกประมาณ 750 เมตร พบซอยวัดน้อยในทางขวามือ เลี้ยวเข้าซอยไปประมาณ 400 เมตร จะพบวัดน้อยใน
งานประจำปีที่สำคัญคืองานเทศน์มหาชาติ ในปลายเดือน 10 เริ่มจัดมาตั้งแต่ พ.ศ.2520 (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 164)
หมายเลขโทรศัพท์วัดน้อยใน 02-424-9554, 02-435-0303
วัดน้อยใน
วัดน้อยในเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ฝั่งด้านทิศตะวันตก สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา
สภาพพื้นที่โดยรอบวัดปัจจุบันเป็นชุมชนเมือง มีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ หนาแน่น ทั้งอาคารโรงเรียน บ้านเรือนราษฎร และอาคารบริษัทห้างร้านต่างๆ
คลองบางกอกน้อย, แม่น้ำเจ้าพระยา
ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)
ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ประยูร อุลุชาฏะ (2514) ได้รวบรวมประวัติและสำรวจสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดน้อยใน และบันทึกไว้ว่า “เดิมเรียกกันว่าวัดน้อยใน อยู่ริมคลองซึ่งแยกออกจากคลองบางกอกน้อยไปยังคลองมหาสวัสดิ์ได้ หากจะไปทางบกก็มีทางรถยนต์ข้ามคลองชักพระไปจนถึงหลังวัด ทางหลังวัดนั้นมีโรงเรียนรัฐบาลตัวอย่างสร้างใหญ่โต กิจการแข็งแรงมาก อาคารใหญ่หลายหลัง บริเวณกว้างขวางเบียดกรอวัดจนแทบหายใจหายคอไม่ได้ พระอุโบสถวัดน้อยใน หัวหน้าออกลำคลอง มีจารึกว่าถูกซ่อม เมื่อ พ.ศ.2479 หลักฐานสำคัญก็คือพระเจดีย์กลม หลังพระอุโบสถ เป็นเจดีย์แบบอยุธยาขนาดใหญ่พอสมควร ย่อมระบุชัดเจนว่าเป็นวัดมีมาแล้วแต่สมัยอยุธยา...”ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ
ผลการศึกษา :
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบันวัดน้อยในตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ที่ถนนชัยพฤกษ์ แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตามประวัติวัดระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2305 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2525 (กรมการศาสนา 2526 : 124)
วัดน้อยในเป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีผู้เล่าสืบต่อกันมาว่า (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552) เมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้จะเสียแก่พม่า ครอบครัวของนางน้อยซึ่งเป็นหญิงหม้าย มีบุตรสาว 2 คน คือ ผึ้ง และ จีด พร้อมด้วยพระสงฆ์รูปหนึ่ง คือ พระอาจารย์หน่าย ซึ่งเป็นพระวิปัสสนา และข้าทาสบริวารของนางน้อยได้อพยพโดยทางเรือจากบ้านป่าถ่าน เกาะเมืองอยุธยา เดินทางรอนแรมมาจนถึงบริเวณอันเป็นที่ตั้งวัดน้อยใน
นางน้อยเห็นว่าบริเวณนี้ป่ารกปราศจากผู้คนจึงจับจองที่ทำมาหากิน และทางตอนใต้ใกล้ๆ ที่ดินนั้นมีวัดร้างอยู่วัดหนึ่ง มีโบสถ์เก่าและวิหารรูปเรือสำเภา ซึ่งวิหารนั้นได้ถูกรื้อไปนานแล้ว เพื่อใช้เป็นที่สร้างโรงเรียนวัดน้อยใน
เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชกู้บ้านเมืองได้แล้วก็มีผู้คนมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มากขึ้น นางน้อยกับพระอาจารย์หน่าย และชาวบ้านจึงได้ร่วมมือกันบูรณะวัดร้างนั้นให้เจริญขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพระอาจารย์หน่ายเป็นสมภาร ได้มีพระสงฆ์มาสมัครเป็นศิษย์เพื่อเรียนวิปัสสนากรรมฐานกันมากมาย วัดจึงเจริญยิ่งขึ้นตามลำดับ ต่อมาเมื่อสิ้นพระอาจารย์หน่ายกับนางน้อยแล้ว นางผึ้งบุตรสาวคนโตผู้ไปได้สามีอยู่ที่บางเขนก็ได้สร้างวัดหนึ่งและให้ชื่อว่า วัดน้อย ตามชื่อมารดาของตน นางจีด ผู้เป็นน้องไม่ยินยอม เพราะต้องการให้วัดที่มารดาได้บูรณะขึ้นใหม่นั้นมีชื่อว่า วัดน้อย เช่นกัน สองพี่น้องตกลงกันไม่ได้ พระอาจารย์จีนผู้เป็นสมภารต่อจากพระอาจารย์หน่าย จึงตัดสินให้วัดที่นางผึ้งสร้างขึ้นใหม่ซึ่งอยู่นอกออกไปทางทิศตะวันออกนั้นมีชื่อว่า “วัดน้อยนอก” และให้วัดที่นางน้อยมาดาของคนทั้งสองได้บูรณะซ่อมสร้างขึ้นมาใหม่นั้นมีชื่อว่า “วัดน้อยใน”
อย่างไรก็ตาม ในหลักฐานเอกสารมักออกนามวัดนี้เพียง “วัดน้อย” เช่นเมื่อครั้งที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เสด็จไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เมื่อ พ.ศ.2377 ได้ทรงนิพนธ์โคลงนิราศพระประธม ในระหว่างระยะทางคลองบางกอกน้อย ก็ทรงออกนามไว้เพียงว่า “วัดน้อย” (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 113) ดังมีความว่า
วัดน้อยนึกแน่งน้อย ทรงนาง
โฉมนุชสุดสำอาง สอาดเนื้อ
งามทรงสบสรรพางค์ เพ็ญลักษณ์ เลอศแฮ
ควรภิรมย์รศเกื้อ กอดไว้หว่างทรวง
ลำดับเจ้าอาวาสวัดน้อยใน คือ หลวงตาบุญมา, พระครูวิทยานุกูล (มั่ง อินฺทสโร), พระอธิการนิ่ม โกวิโท, หลวงตาขัณท์ (รักษาการ 2 ปี), พระมหาวิรัต จนฺทเทโว, พระครูอดุลย์สาธุวัฒน์ (ชื้น ธมฺมสาโร) ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ พ.ศ.2520
โรงเรียนในเขตที่ดินวัดได้แก่ โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน)
สิ่งสำคัญภายในวัด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 90) ได้แก่
อุโบสถ ทางวัดได้รื้อถอนอุโบสถหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมลงเมื่อ พ.ศ.2524 แล้วสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น ณ ตำแหน่งเดิม มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2525 โดยมีพระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีรมหาเถร) เจ้าคณะกรุงเทพมหานครเป็นประธาน
อุโบสถหลังใหม่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะทรงไทย มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบ มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นต่างๆ มีเครื่องหมาย “พร” ประดับมงกุฎอันเป็นพระนามย่อของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระองค์ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระประธานและยกช่อฟ้าอุโบสถ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2527
การก่อสร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อยใน พ.ศ.2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานทรงประกอบพิธีตัดหวายลูกนิมิตอุโบสถวัดน้อยในเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2535
พระพุทธรูปองค์เดิมที่ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถหลังเดิมเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดเล็ก สภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ทางวัดจึงได้หล่อพระประธานขึ้นใหม่ตามแบบพระพุทธรูปสุโขทัย ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอก 9 นิ้ว ลงรักปิดทอง ประดิษฐานบนฐานชุกชีปิดทองประดับกระจก รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 200,000 บาท โดยทุนจากการบริจาคถวายของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และเงินการกุศลของวัด ดังนั้นที่ผ้าทิพย์จึงมีพระนามาภิไธยย่อ “พร” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระสังฆราช (วาสฺนมหาเถระ) วัดราชบิพิตรสถิตมหาสีมาราม ได้ประทานนามพระพุทธรูปประธานองค์นี้ว่า “พระพุทธวชิรสุวัทนาสิริโสภาบพิตร” ส่วนพระพุทธรูปองค์เดิม ทางวัดได้ซ่อมแซมให้คงรูปแล้วลงรักปิดทองไว้ตามเดิม ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถเช่นกัน
เจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลัง (ด้านทิศตะวันตก) ของอุโบสถ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ประยูร อุลุชาฏะ (2514) ให้ความเห็นว่าเป็นเจดีย์แบบอยุธยาขนาดใหญ่ และเป็นหลักฐานยืนยันว่าวัดน้อยในมีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา สภาพเดิมชำรุดทรุดโทรมมาก ทางวัดจึงจัดหาทุนทรัพย์ซ่อมแซมบูรณะ ปัจจุบันทาสีทองทั้งองค์
ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารไม้ทรงไทยยกพื้น บูรณะต่อเติมเมื่อ พ.ศ.2520 ใน พ.ศ.2549 มีการปรับปรุงใหม่ เสริมโครงสร้างคอนกรีตชั้นล่างให้กลายเป็นอาคาร 2 ชั้น
ศาลาบำเพ็ญกุศล ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมรุ
ศาลาริมน้ำ อยู่ริมคลองบางกอกน้อย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2533 เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาส 2 รูป คือ พระครูวิทยานุกูล (มั่ง อินฺทสโร) และพระอธิการนิ่ม โกวิโท
ในบริเวณวัดยังมีโรงเรียนวัดน้อยในซึ่งสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีพระอธิการมั่งเจ้าอาวาสวัดน้อยในเป็นผู้ก่อตั้ง แรกเริ่มมีนักเรียนเพียง 20 คน เรียนในศาลาการเปรียญ มีพระภิกษุเที่ยงเป็นผู้สอนเพียงองค์เดียว ต่อมาพระภิกษุเที่ยงลาสิกขาบทและลาออกจากการเป็นครู ครูขำ มัฆลักษณ์ บ้านอยู่ตรงข้ามวัดน้อยในเป็นครูใหญ่แทนและนักเรียนเพิ่มมากขึ้น มีชั้นสูงสุดเรียกว่า “ประโยคประถม” เทียบได้กับประถมศึกษาปีที่ 6 ในทุกวันนี้ ปัจจุบันโรงเรียนเปิดถึงชั้นมัธยมและเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์”
มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินงานอาคารเรียนพระปริยัติธรรมเพื่อช่วยเหลือทางการศึกษามีการช่วยเหลือชุมชน โดยการฌาปนสถานให้ฟรีหากใครเดือดร้อนในเรื่องทรัพย์สิน
กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.
ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.
ผูกพัทธสีมาอุโบสถวัดน้อยใน แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ : บริษัท อำนวยเวบพริ้นติ้ง จำกัด, 2535.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.
ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.
ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.