วัดทอง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดทองบางระมาด, วัดทองฉิมพลี

ที่ตั้ง : เลขที่ 17 ซ.บรมราชชนนี 63 (ซ.วัดทอง) ถ.บรมราชชนนี แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน

ตำบล : ฉิมพลี

อำเภอ : เขตตลิ่งชัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.773915 N, 100.441737 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองบางระมาด

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนบรมราชชนนี ให้ใช้ซอยบรมราชชนนี 63 เข้าซอยประมาณ 600 เมตร ถึงวัดทอง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดทองมีการจัดงานเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่างๆ รวมทั้งงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อดำในช่วงเดือนพฤษภาคม (3 วัน)

บริเวณที่ตั้งกว้างขวาง มีต้นยางใหญ่หนึ่งขนาดหลายคนโอบ อายุนับร้อยปี ชาวบ้านในละแวกนั้นพากันมาเซ่นสรวงบูชาอยู่ตลอด หลังวัดมีท่าเรือรับจ้างสำหรับผู้สัญจรทางน้ำ มีวังมัจฉา สำหรับทำบุญให้อาหารปลา มีโรงเรียนในเขตที่ดินวัดได้แก่ โรงเรียนวัดทอง (อุดมศิลปวิทยาคาร) (กทม.)

หมายเลขโทรศัพท์ของวัดทอง 02-887-9676

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดทอง

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดทองเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองบางระมาด ฝั่งด้านทิศเหนือ ห่างจากวัดกระจังมาทางทิศตะวันออกประมาณ 100 เมตร ห่างจากคลองชักพระมาทางทิศตะวันตกประมาณ 1.3 กิโลเมตร

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง โดยรอบวัดเป็นชุมชนเมือง มีบ้านเรือนราษฎรและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เช่น อาคารโรงเรียน ตั้งอยู่หนาแน่นสลับกับพื้นที่สวน ทิศใต้ติดกับคลองบางระมาด

ทางน้ำ

คลองบางระมาด, แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา?

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 83) ได้สำรวจวัดทอง และระบุว่าอุโบสถเป็นแบบเก่ามีลดชั้น เข้าใจว่าถูกปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 1

ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : ประภัสสร์ ชูวิเชียร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549) สำรวจและศึกษาวัดโบราณในคลองบางระมาด และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเมืองโบราณ

ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

“วัดทอง” บางครั้งเรียก “วัดทองฉิมพลี” หรือ “วัดทองบางระมาด” เพื่อให้แตกต่างจากวัดทอง ริมคลองบางเชือกหนัง

ในประวัติวัดของกรมการศาสนาสันนิษฐานไว้ว่า วัดทองสร้างเมื่อ พ.ศ.2302 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2330

ส่วนที่มีหลักฐานชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ปรากฏนามวัดทอง ได้แก่ สมัยรัชกาลที่ 3 มีหลักฐานจากเอกสารโบราณว่าในช่วงปีวอก ฉศก จ.ศ.1186 (พ.ศ.2367) ถึงปีชวด สัมฤทธิศก จ.ศ.1190 (พ.ศ.2371) “อาจารร้อน วัดทองบางรำมาด” ได้รับพระราชทานเทียนในเทศกาลเข้าพรรษาเป็นประจำเสมอ แม้ในเอกสารโบราณจะไม่ได้ระบุชัดเจน แต่ด้วยเหตุที่ออกนามว่า “อาจารย์” จึงอาจหมายถึงอาจารย์ผู้ใหญ่ในสายวิปัสสนาธุระ ดังนั้นในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดทองบางระมาดก็คงเป็นสำนักเรียนในฝ่ายวิปัสสนาธุระที่สำคัญแห่งหนึ่งในเขตคลองบางระมาด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 66)

พระพุทธรูปสำคัญของวัดได้แก่ หลวงพ่อดำ ประดิษฐานภายในวิหาร

ลำดับเจ้าอาวาส ได้แก่ สมการฉิ่ง, พระอธิการผาด, พระครูสาย ดำรงตำแหน่งถึง พ.ศ.2512, พระครูศุภกิจจานุยุต (กินดิน ผาสุกาโม) ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ.2512

สิ่งก่อสร้างสำคัญ (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 67) ได้แก่

อุโบสถ หันหน้าไปทางทิศใต้ สู่คลองบางระมาด เป็นอุโบสถขนาดย่อมที่มีมาแต่เดิม ลักษณะหลังคา 2 ชั้น 3 ลด หน้าบันของมุขประดับลวดลายปูนปั้นรูปเทพนมและเครือเถา ซึ่งคงปั้นขึ้นใหม่ในช่วง พ.ศ.2547-2548 เมื่อมีการปฏิสังขรณ์ โดยยกระดับขึ้นอีก 2 เมตรทั้งหลัง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

มีเสาติดผนังคั่นจังหวัดนับได้ 5 ห้อง บัวหัวเสาซ้อนเป็นชั้นๆ ขึ้นไป (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 82)

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 83) ระบุว่าน่าจะเป็นอุโบสถเก่าที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 1

พระพุทธรูปประธานเป็นพระปางมารวิชัย ไม่มีนามเฉพาะ ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549 : 82) กล่าวว่าพระองค์นี้มีพระพักตร์แบบรัตนโกสินทร์ อาจจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างมาเก่าแก่กว่านั้น แต่ถูกปฏิสังขรณ์จนไม่เหลือร่องรอยเดิม     

ใบเสมาคล้ายกับใบเสมาวัดจำปา ซึ่งเป็นแบบรุ่นรัชกาลที่ 3 เป็นเสมาเดี่ยว ตั้งอยู่ในซุ้ม (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 82)

พระปรางค์ ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอุโบสถ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอุโบสถ) มีขนาดเล็กทรงเพรียว ฐานเป็นฐานสิงห์ ถูกทาสีทองทั้งองค์ (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 82)

วิหารหลวงพ่อดำ ตั้งอยู่คูกับอุโบสถทางทิศตะวันออก เป็นอาคารคอนกรีตทรงไทย สร้างเมื่อ พ.ศ.2514 ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ ปางมารวิชัย ชาวบ้านนับถือกันในความศักดิ์สิทธิ์ (วิหารหลังนี้อาจถูกสร้างขึ้นในตำแหน่งของวิหารเก่า)

ศาลาการเปรียญหลังเดิม เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นบนเป็นไม้ ทรงไทย ชั้นล่างเป็นคอนกรีต เดิมสร้างเมื่อ พ.ศ.2495 เป็นทรงไทยชั้นเดียว ยกพื้นสูง มีใต้ถุน และไม่ได้อยู่ริมคลอง ต่อมาได้ย้ายเลื่อนมาไว้ริมน้ำ และยกพื้นขึ้นเป็น 2 ชั้น เพื่อให้ใช้สอยพื้นที่ข้างล่างได้ เช่นเป็นที่ตั้งสวดพระอภิธรรมศพ

ศาลาการเปรียญหลังใหม่ เป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น สร้างด้วยคอนกรีตเมื่อ พ.ศ.2536 ใช้ในงานมงคลต่างๆ (เพื่อให้แยกจากศาลาเดิม) โดยใช้เฉพาะชั้นล่างเป็นส่วนใหญ่

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล, สมศักดิ์ แก้วนุช

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.

“บัญชีพระสงฆ์ซึ่งเข้ามารับพระราชทานเทียน” ใน จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 1. กรุงเทพฯ : หจก.สหประชาพานิชย์, 2530.

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “วัดโบราณในคลองบางระมาด.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 73-88.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.

ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระสมุห์ฟุ้ง วิจารธมฺโม. อดีตเจ้าอาวาสวัดกระจัง 27 มีนาคม 2548. กรุงเทพฯ : บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2548.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง