วัดมณฑป


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดมดป

ที่ตั้ง : เลขที่ 35 ซ.วัดมณฑป ถ.บรมราชชนนี แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน

ตำบล : ฉิมพลี

อำเภอ : เขตตลิ่งชัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.773032 N, 100.449328 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางระมาด, คลองบางชัน

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนบรมราชชนนี บริเวณสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ให้ใช้ถนนฉิมพลี (อยู่ติดกับสถานีตำรวจ) ไปตามถนนฉิมพลีประมาณ 500 เมตร จะพบซอยวัดมณฑปทางขวามือ เลี้ยวขวาเข้าซอยวัดมณฑปประมาณ 600 เมตร ถึงวัดมณฑป

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

งานประจำปีของวัดมณฑปคืองานปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง ในช่วงเดือนมกราคม หรือเดือนเมษายน

หมายเลขโทรศัพท์ของวัดมณฑป 02-887-8758

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดมณฑป

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดมณฑปเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองบางระมาด ฝั่งด้านทิศเหนือ ห่างจากวัดช่างเหล็กมาทางทิศตะวันตกประมาณ 300 เมตร ห่างจากคลองชักพระมาทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร ห่างจากคลองบางชันมาทางทิศตะวันออกประมาณ 100 เมตร

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง โดยรอบวัดเป็นชุมชนเมือง มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่หนาแน่นสลับกับพื้นที่สวนที่ก้านทิศเหนือและตะวันออก ส่วนด้านทิศใต้ติดกับคลองบางระมาด

ทางน้ำ

คลองบางระมาด, คลองชักพระ, คลองบางชัน, แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 83) ได้สำรวจวัดมณฑป โดยระบุว่าอุโบสถที่หันหน้าออกคลองบางระมาดนั้น มีทรงแบบอยุธยา หน้าบันมีกระเบื้องประดับ คงเป็นวัดโบราณแต่ถูกปฏิสังขรณ์ใหม่

ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดมณฑปตั้งอยู่ริมคลองบางระมาดฝั่งด้านทิศเหนือ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย เดิมชาวบ้านเรียกว่า “วัดมดป” ต่อมาเรียกเปลี่ยนนามเป็น “วัดมณฑป” จนถึงทุกวันนี้ แต่ในหมู่ผู้สูงอายุยังคงเรียก “วัดมะดป” หรือ “วัดปะดป” (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 75)

วัดมณฑปเป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง แต่สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตามประวัติวัดระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2371 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2376

ลำดับเจ้าอาวาส (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 75) คือ พระครูจริยาภิรมย์ (หลวงปู่ทัศ) ดำรงตำแหน่งถึง พ.ศ.2440, พระอธิการเนตร พ.ศ.2440-2459, พระอธิการรุ่ง สุวณฺณสโร พ.ศ.2459-2480, พระมหาเผื่อน พ.ศ.2480-2485, พระอธิการศิริ สุขกาโม พ.ศ.2485-2508, พระปลัดผ่อง กิตติสทฺโธ พ.ศ.2508-2514, พระผ่อง จิรปุณฺโณ รักษาการ พ.ศ.2514-2517, พระครูพิบูลพัฒน์ (แสวง ปุญฺญาทีโป) พ.ศ.2517-2546, พระครูสมุห์ชุมพล จนฺทโชโต พ.ศ.2546-ปัจจุบัน

สถานที่สำคัญภายในวัด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 76) ได้แก่

อุโบสถ หันหน้าไปทางทิศใต้ออกสู่คลองบางระมาด สร้างขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2519 แทนอุโบสถหลังเดิม ซึ่งประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 83) บันทึกไว้ว่าเป็น “ทรงโบราณแบบอยุธยา หน้าบันมีกระเบื้องประดับ ท่วงทีเป็นวัดโบราณ แต่ถูกปฏิสังขรณ์ใหม่เสียแล้ว”

อุโบสถสร้างด้วยคอนกรีต หน้าบันปูนปั้น ประดับกระจกเป็นรูปมณฑป มีเทวดาคุกเข่าพรมมือทั้ง 2 ด้าน ตอนล่างทำเป็นซุ้ม 5ช่อง แต่ละช่องมีรูปพราหมณ์ (อาจหมายถึงปัญจวัคคีย์?) นั่งคุกเข้าพนมมือ

พระพุทธรูปประธานในอุโบสถ ปางมารวิชัย เป็นหินทรายแดงปูนปั้นหุ้ม ลงรักปิดทอง

ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือช่างปัจจุบัน ระหว่างหน้าต่างเขียนเป็นภาพพุทธประวัติ เหนือหน้าต่างเป็นภาพพระเวสสันดรชาดก ด้านหลังพระประธานเป็นภาพต้นพระศรีมหาโพธิ์

ใบเสมาเป็นหินแกรนิตสีเทา จำหลักลายปักเป็นใบคู่ ลักษณะเป็นเสมาแบบสมัยธนบุรีหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น

มณฑปพระพุทธบาท ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด บูรณะเมื่อ พ.ศ.2543

ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน ทางด้านหน้ามีศาลาสามัคคีธรรมปลูกขวางอยู่ สร้างใน พ.ศ.2477

ศาลาท่าน้ำ มีหลายหลัง ของเดิมสร้างใน พ.ศ.2467 และ พ.ศ.2478 (ตามที่มีการจารีกที่หน้าบัน) ปัจจุบันบูรณะแล้ว

ศาลาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ หรือ ศาลา ส.ก. เป็นอาคารคอนกรีตทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น อยู่ด้านหน้าเขตสังฆาวาส

ศาลาจตุรมุข อยู่ด้านทิศเหนือของศาสลาเฉลิมพระเกียรติ สร้างเมื่อ พ.ศ.2549 เพื่อใช้ประดิษฐานรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาสและรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหฺมรังสี)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล, สมศักดิ์ แก้วนุช

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “วัดโบราณในคลองบางระมาด.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 73-88.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.

ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง