วัดเกาะ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : เลขที่ 15 ซ.ราชพฤกษ์ 8 ถ.ราชพฤกษ์ แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน

ตำบล : บางเชือกหนัง

อำเภอ : เขตตลิ่งชัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.74285 N, 100.456347 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางเชือกหนัง, คลองบางน้อย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

การเดินทางไปยังวัดเกาะต้องอาศัยการสัญจรทางน้ำหรือเดินเท้า ขี่จักรยานหรือจักรยานยนต์จากปากทางเข้าวัดปากน้ำฝั่งใต้ (เขตภาษีเจริญ) มาตามทางเดิน เพื่อไปข้ามสะพานหน้าวัด หรือเดินเข้ามาทางหลังวัดโดยทะลุผ่านหมู่บ้านอิ่มอัมพร ใน ซ.จรัญสนิทวงศ์ 13 (ซ.พาณิชยการธนบุรี) หรือเดินเข้าจากทางซอยราชพฤกษ์ 8

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดเกาะมีสภาพเงียบสงบมร่มรื่นมาก ไม่มีงานประจำปี แต่จะมีงานบำเพ็ญกุศลช่วงสงกรานต์ นับเป็นงานใหญ่ที่สุด นอกจากนั้นก็มีงานทำบุญตามวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

หมายเลขโทรศัพท์ของวัดเกาะ 02-865-7150, 02-410-7801

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดเกาะ

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดเกาะเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนในพื้นที่สามเหลี่ยมที่เป็นจุดบรรจบของคลอง 2 สาย คือ “คลองบางน้อย” ที่อยู่ติดกับวัดทางทิศเหนือหรือเป็นคลองสายบน และ “คลองบางเชือกหนัง” ที่อยู่ติดกับวัดทางทิศใต้หรือเป็นคลองสายล่าง โดยจุดบรรจบของคลองทั้งสองสายอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัด

วัดเกาะอยู่ห่างจากวัดปากน้ำฝั่งเหนือและวัดปากน้ำฝั่งใต้มาทางทิศตะวันตกประมาณ 200 เมตร และอยู่ห่างจากคลองชักพระมาทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึง โดยรอบมีสภาพเป็นเมือง มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่หนาแน่นสลับกับพื้นที่สวน

บริเวณโดยรอบวัดส่วนใหญ่ยังเป็นชุมชนหมู่บ้านที่อยู่อาศัยกันมาแต่เดิม และไม่มีถนนตัดผ่าน การเดินทางไปยังวัดเกาะจึงต้องอาศัยการสัญจรทางน้ำหรือเดินเท้า ขี่จักรยานหรือจักรยานยนต์จากปากทางเข้าวัดปากน้ำฝั่งใต้ (เขตภาษีเจริญ) มาตามทางเดิน เพื่อไปข้ามสะพานหน้าวัด หรือเดินเข้ามาทางหลังวัดโดยทะลุผ่านหมู่บ้านอิ่มอัมพร ใน ซ.จรัญสนิทวงศ์ 13 (ซ.พาณิชยการธนบุรี) หรือเดินเข้าจากทางซอยราชพฤกษ์ 8

ทางน้ำ

คลองบางเชือกหนัง, คลองบางน้อย, คลองชักพระ, แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 129) สำรวจวัดเกาะและบันทึกไว้ว่าน่าจะมีอายุเก่าถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยพิจารณาจากรูปทรงของวิหาร แต่ก็ได้ถูกบูรณปฏิสังขรณ์ไปมากแล้ว

ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดเกาะเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตามประวัติวัดของกรมการศาสนาระบุว่า วัดเกาะสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2470 (สมัยรัชกาลที่ 7) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2473 ไม่ทราบนามผู้สร้าง แต่จากหลักฐานอื่นๆ ที่ปรากฏหลงเหลือในปัจจุบันทำให้สันนิษฐานได้ว่า วัดเกาะน่าจะมีอายุเก่าแก่กว่านั้น

ที่มาของชื่อวัดเกาะมาจากที่ตั้งวัดที่เป็นจุดบรรจบของคลอง 2 สาย คือ “คลองบางน้อย” ซึ่งเป็นคลองสายบน อยู่ทางทิศเหนือ และ “คลองบางเชือกหนัง” ที่เป็นคลองสายล่าง อยู่ทางทิศใต้ โดยจุดบรรจบของคลองทั้งสองอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด จึงทำให้ดูเหมือนว่าวัดนี้ตั้งอยู่บนเกาะ

ลำดับเจ้าอาวาส (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 121) ได้แก่ พระครูธรรมานุโยค (ศรี) พ.ศ.2494, พระครูสรภาณวิจิตร (ผล ฐานิสฺสโร) พ.ศ.2497-2518, พระออนตาชาคโร (รักษาการ) พ.ศ.2518, พระอธิการสุเนตร ชาคโร พ.ศ.2518, พระครูสมโภช ปภัสโร, พระปลัดสวง ถาวรธมฺโม พ.ศ.2533-ปัจจุบัน

สถานที่สำคัญภายในวัด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 121) ได้แก่

อุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่คลองบางเชือกหนัง สร้างเมื่อ พ.ศ.2473 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทย หลังคาประดับช่อฟ้าและใบระกา บูรณะขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2522 แทนหลังเดิม โดยรื้อเครื่องบนและส่วนที่เป็นไม้ของอุโบสถเดิมซึ่งถูกปลวกกิน แล้วปรับปรุงใหม่โดยใช้ตัวอาคารเดิม

หน้าบันเดิมของอุโบสถที่เป็นไม้แกะสลักลายก้านขดประดับกระจก ตรงกลางสลักรูปเทวดาพนมมือนั้น ทางวัดได้นำมาทำเป็นโต๊ะตั้งขันข้าวในเทศกาลตักบาตรเทโว โดยพลิกด้านที่มีลวดลายลง เพราะอาจนำมากลับมาใช้งานอีก โดยเกรงว่าหากวางทิ้งไว้เฉยๆ จะถูกปลวกกิน

ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หลวงพ่อเพชร หลวงพ่อพุทธโสธร และพระพุทธบาทจำลอง

วรศักดิ์ พ่วงเจริญ กล่าวถึงการค้นพบศิลาจารึกด้านหลังฐานชุกชีพระประธาน (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 174) มีข้อความว่า

“ปีมะโรง อัฐศก พุทธศักราชลว่งได้ ๒๔๕๙ เจ้าอธิการศีร นายเลยี่ม นายรอด (ทายก) แม่นุ่มอุบาสิกาได้ชว่ยกันจัดกานเรี่ยรายตามชาวบ้านปฏิสังขรณ์ลงรักปิดทองพระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์และบัณลังก์ลงรักปิดทองประดับกระจกแลถือปูน สุกชีไหม่ รวมค่าจ้างแลซือสิ่งของต่างๆ รวมเปนเงิน ๔๕๐ บาท ๕๔ สตางค์”

ดังนั้น หากมีการบูรณะปิดทองพระพุทธรูปใหม่และซ่อมสร้างฐานชุกชีใหม่ใน พ.ศ.2459 น่าจะหมายความว่าของเดิมชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว ซึ่งเป็นการยืนยันทางอ้อมว่า อุโบสถและฐานชุกชีของวัดเกาะน่าจะสร้างขึ้นก่อน พ.ศ.2459 (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 174)

เสมารอบอุโบสถทาด้วยสีขาว ประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มลักษณะคล้ายมณฑปที่ส่วนยอดเป็นปรางค์

วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีต บูรณะเมื่อ พ.ศ.2547 หน้าบันมีตัวอักษร “ชุ่ม” ซึ่งน่าจะเป็นนามผู้สร้าง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นผู้ใด ภายในวิหารประดิษฐานหลวงพ่อดำ ซึ่งชาวบ้านมักมานิยมมาบนบานศาลกล่าว โดยเฉพาะเรื่องเกณฑ์ทหาร และมักแก้บนด้วยไข่ 100 ฟอง

เจดีย์ ด้านหน้าวิหารมีเจดีย์หลายองค์ เป็นที่บรรจุอัฐิของคนในท้องถิ่น บางองค์ถูกทิ้งร้างโดยไม่เคยมีญาติมากราบไหว้ มีป้ายสลักชื่อว่าเป็นขุนหรือหมื่นอยู่หลายองค์

ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว สร้าง พ.ศ.2495 จากการสำรวจในช่วงปี 2547 เคยมีฝาโดยรอบ แต่ในปี 2554 พบว่าทางวัดได้รื้อฝาออกให้เป็นศาลาโถง ภายในมีธรรมาสน์ทรงฝรั่ง เสาเกลียว (คล้ายเสาเกลียวของซุ้มหน้าต่างวิหารหลวงพ่อดำ) ธรรมาสน์นี้น่าจะมีอายุอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 176)

กุฏิสงฆ์ เป็นเรือนไม้ทรงไทยแบบเรือนพื้นถิ่นภาคกลาง ยกพื้นสูง ขนาดกว้าง 4 ห้อง

หอระฆัง เป็นของเก่า ทรงสูง สร้างด้วยไม้

ศาลาท่าน้ำ 1 หลัง

กุฏิหลวงปู่ทอง ภายในมีหีบแก้วบรรจุสรีรสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงปู่ทอง (ทอง วฑฺฒโน สกลุเดิม วัฒนสกุลวงศ์ พ.ศ.2454-2552) พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญของวัดเกาะ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือเป็นอย่างมากในท้องถิ่น ท่านได้สร้างวัตถุมงคลหลายรูปแบบ เช่น พระปิดตา พระขุนแผน ล็อกเก็ต ฯลฯ ในปัจจุบัน การกราบนมัสการสรีรสังขารของหลวงปู่ทอง กลายเป็นจุดหมายหนึ่งของการเดินเรือท่องเที่ยวตลาดน้ำตลิ่งชันด้วย

มีโรงเรียนในที่ดินวัดได้แก่ โรงเรียนวัดเกาะ (กทม.)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล, นิสา เชยกลิ่น

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.

ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง