โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : เลขที่ 14 ซ.ปากน้ำกระโจมทอง ถ.ราชพฤกษ์ แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน
ตำบล : บางพรม
อำเภอ : เขตตลิ่งชัน
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.7471 N, 100.442413 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางเชือกหนัง, คลองบางน้อย
วัดกระโจมทองตั้งอยู่ในซอยปากน้ำกระโจมทองหรือถนนปากน้ำกระโจมทอง สามารถเข้าได้ทางถนนราชพฤกษ์ โดยหากมาจากแยกที่ถนนบรมราชชนนีตัดกับถนนราชพฤกษ์ ให้ใช้ถนนราชพฤกษ์มุ่งหน้าทางทิศใต้สู่ถนนเพชรเกษม ประมาณ 3.4 กิโลเมตร จะพบซุ้มประตูวัดกระโจมทองที่ปากทางเข้าถนนปากน้ำกระโจมทองทางขวามือ (ต้องกลับรถเพื่อเข้าถนนเส้นนี้) (ถนนปากน้ำกระโจมทองมีอยู่ทั้ง 2 ฝั่งของถนนราชพฤกษ์) เข้าซอยไปประมาณ 550 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่วัดกระโจมทองและโรงเรียนวัดกระโจมทอง ประมาณ 70 เมตร ถึงวัด
วัดกระโจมทองมีงานประเพณีตามวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่างๆ รวมทั้งวันลอยกระทง ส่วนสงกรานต์ไม่มีงานเนื่องจากวัดสะพานที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงจัดงานแล้ว วัดกระโจมทองจึงมีเพียงงานทำบุญตักบาตร
ส่วนงานประจำปีมีช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงวันที่ 6 เมษายน (ถือเอาวันที่ 6 เมษายนเป็นหลัก บางปีเป็นวันเริ่ม บางปีเป็นวัดสุดท้าย ขึ้นอยู่กับกรรมการวัด) โดยอัญเชิญหลวงพ่อโสธรลงเรือตอน 9 โมงเช้า แห่ออกคลองบางน้อย วนขวาไปบางเชือกหนัง วนขวาไปลัดตาเหนียว บางพรม ออกปากคลองบางพรม ไปคลองบางขุนศรี ผ่านโรงพัก เข้าคลองบางน้อย กลับถึงวัดก่อนเพล (เพราะพระต้องฉันเพล) เรือที่ไปมี 2 ลำ ลำแรกมีกระตั้วแทงเสือและสิงโต เรือลำหลังแห่หลวงพ่อโสธร
กิจกรรมประจำปีอีกกิจกรรมหนึ่งคือ การประมูลชะลอม โดยนำของที่ชาวบ้านนำมาทำบุญ เช่น ผลไม้ ข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องสังฆทาน ฯลฯ มาจัดประมูลเพื่อนำรายไยด้เข้าวัด
หมายเลขโทรศัพท์ของวัดกระโจมทอง 02-410-8160
วัดกระโจมทอง
วัดกระโจมทองเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองบางน้อย ฝั่งด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกและตะวันตกของวัดมีคลองสายเล็กๆ ไหลผ่าน
วัดกระโจมทองตั้งอยู่ห่างจากวัดสะพานมาทางทิศตะวันออกประมาณ 300 เมตร ห่างจากคลองชักพระมาทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร
สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึง โดยรอบมีสภาพเป็นเมือง มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่สลับกับพื้นที่สวน โดยเฉพาะด้านทิศเหนือของวัดเป็นพื้นที่สวนขนาดใหญ่
คลองบางน้อย, คลองบางเชือกหนัง, คลองชักพระ, แม่น้ำเจ้าพระยา
ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)
ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 100) สำรวจวัดกระโจมทอง และบันทึกไว้ว่า “วัดนี้เป็นวัดใหญ่ มีพระภิกษุคับคั่ง กุฎีสงฆ์แน่นหนา เจดีย์สะพรั่ง ส่วนใหญ่เป็นเจดีย์ทรงกลมขนาดย่อม พระอุโบสถเป็นของเก่า แต่ถูกปฏิสังขรณ์เสียแล้ว ทางเข้าวัดกระโจมทองต้องเข้าตรงคลองบางน้อย”ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ
ผลการศึกษา :
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบันวัดกระโจม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบางน้อย ฝั่งด้านทิศเหนือ ประวัติวัดฉบับกรมการศาสนา (2526 : 15-16) ระบุว่าวัดกระโจมทองสร้างประมาณ พ.ศ.2403 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดสร้าง ส่วนในประวัติวัดฉบับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (2549) เพิ่มตำนานให้อีกว่าชื่อวัดมาจากการที่เคยเป็นที่หยุดพักขบวนช้างม้า แล้วมีการสร้างกระโจมที่พัก ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2549
ลำดับเจ้าอาวาส (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 138) ได้แก่ เจ้าอาวาส 4 รูปแรกไม่ทราบนาม, พระอธิการกิม, พระอธิการปุ้ย, พระอธิการสุวรรณ ดำรงตำแหน่งถึง พ.ศ.2524, พระครูสมุห์วิชัย พ.ศ.2524-2526, พระครูโสภาสสุวรรณวัฒน์ (น้อม อตฺตมโน) เจ้าคณะแขวงบางเชือกหนัง เขต 2 พ.ศ.2526-ปัจจุบัน
สถานที่สำคัญภายในวัด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 138) ได้แก่
อุโบสถหลังเดิม ตั้งอยู่ใกล้กับคลองบางน้อย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างเมื่อ พ.ศ.2458 ทรงเดิมเป็นเก๋งจีนแบบวัดราชโอรส หน้าบันประดับเครื่องถ้วยจีน มาซ่อมเปลี่ยนใหม่ใน พ.ศ.2515 หน้าบันปัจจุบันเป็นปูนปั้นลายหน้าขบ (เกีรยรติมุข) ด้านบนเป็นลายเทพนม ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
เจดีย์ มีอยู่ 5 องค์ บริเวณรอบอุโบสถหลังเดิม
อุโบสถ เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2544 เป็นอาคารทรงสุโขทัย ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นลาย 12 นักษัตร หน้าบันปั้นปูนเป็นลายพัดยศสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พื้นและผนังบุหินอ่อนทั้งหมด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2549
วิหารหลวงพ่อโสธร เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว ประดิษฐานหลวงพ่อโสธร (จำลอง) มีจารึกที่ใต้ฐานพระว่า “๑๐ ก.พ. ๒๕๑๐” นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปจำลองของพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกหลายองค์
โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนหลังเดิมสร้างเมื่อ พ.ศ.2498 แต่ก่อนพระภิกษุจากวัดทองบางเชือกหนัง วัดกำแพง วัดมะพร้าวเตี้ย วัดสะพาน วัดเกาะ วัดเทพพล วัดปากน้ำฝั่งเหนือ ต้องมาเรียนรวมกันที่นี่ ปัจจุบันเหลือเพียง 3 วัด คือ วัดสะพาน วัดเกาะ และวัดกระโจมทอง
มีโรงเรียนในที่ดินวัด ได้แก่ โรงเรียนวัดกระโจมทอง (กทม.)
กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.
ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.
ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.
ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2549.