โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ต.ในเมือง (เทศบาลเมืองกำแพงเพชร) อ.เมืองกำแพงเพชร
ตำบล : ในเมือง
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : กำแพงเพชร
พิกัด DD : 16.487644 N, 99.520134 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
วัดพระธาตุตั้งอยู่กลางเมืองโบราณกำแพงเพชร ระหว่างถนนราชดำเนิน 2 กับซอยปิ่นดำริห์ ทางตะวันออกของวัดพระแก้ว ในเขตเทศบาลเมืองกำแพงเพชร
เข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30 – 16.30 น. ค่าธรรมเนียม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
1. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478
2. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480
3. ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511
ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534
วัดพระธาตุเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณกำแพงเพชรทางด้านทิศตะวันออกของวัดพระแก้ว ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลเมืองกำแพงเพชรและในตัวอำเภอเมืองกำแพงเพชร
แม่น้ำปิง
ดินปนทรายและมีชั้นทรายตะกอนแม่น้ำ เนื่องจากบริเวณนี้แต่เดิมเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำปิง ต่อมาแม่น้ำปิงตื้นเขินขึ้นเนื่องจากการทับถมของตะกอนทรายและดินปนทรายจึงเกิดเป็นที่ราบบริเวณเมืองกำแพงเพชรนี้
ชื่อผู้ศึกษา : พิทยา ดำเด่นงาม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2508
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ทำผัง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
จากการขุดแต่งพบว่า วัดมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีกำแพงอิฐล้อมรอบ ด้านหน้ามีเจดีย์อยู่ที่มุมวัดมุมละหนึ่งองค์ กึ่งกลางเจดีย์เป็นวิหารหันหน้าทางทิศตะวันออก หลังวิหารมีเจดีย์แปดเหลี่ยมขนาดใหญ่เป็นเจดีย์ทรงระฆังโดยมีระเบียงคดล้อมรอบ และบูรณะรอบเจดีย์ประธานแปดเหลี่ยมในส่วนที่ชำรุด (กรมศิลปากร 2514 : 5 – 6)ชื่อผู้ศึกษา : ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543, พ.ศ.2544
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ทำผัง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ทำการบูรณะและเสริมความมั่นคงโบราณสถานภายในวัดพระธาตุ ได้แก่ เจดีย์ประธาน วิหาร ระเบียงคด เจดีย์คู่หน้าวิหารและกำแพงวัด จากหลักฐานทางศิลปกรรมและโบราณวัตถุที่พบ สันนิษฐานว่าวัดพระธาตุมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19 – 24 ตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลายเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ก่อนจะถูกทิ้งร้าง (ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร 2544 : 92)ชื่อผู้ศึกษา : ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ทำการขุดค้นทางโบราณคดี สามารถสรุปผลจากหลักฐานที่พบ ว่าบริเวณวัดพระธาตุมีชั้นวัฒนธรรม 2 ชั้น คือ 1 ชั้นการใช้งานของโบราณสถาน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 – 21 ตรงกับสมัยสุโขทัย – สมัยอยุธยา และชั้นวัฒนธรรมที่ 2 คือชั้นวัฒนธรรมปัจจุบัน และทั้ง 2 ชั้นวัฒนธรรมไม่มีความต่อเนื่องกัน สันนิษฐานได้ว่าพื้นที่บริเวณนี้หลังจากสมัยอยุธยาอาจเกิดจากการถูกทิ้งร้างแล้วเข้ามาใช้พื้นที่ในภายหลังอีกครั้ง (ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร 2550 : 193 - 194)วัดพระธาตุตั้งอยู่กลางเมืองกำแพงเพชรทางด้านทิศตะวันออกของวัดพระแก้ว แผนผังบริเวณวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลงปนอิฐ สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดวางแนวตามแกนตะวันออก - ตะวันตก ด้านหน้ามีวิหารก่อด้วยศิลาแลง ด้านหลังวิหารเป็นเจดีย์ประธานลักษณะแบบทรงระฆังก่ออิฐสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีระเบียงคดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบเจดีย์ประธาน ระเบียงคดจะเชื่อมต่อกับฐานวิหาร ส่วนท้ายของวิหารล้ำเข้ามาอยู่ในระเบียงคด ด้านหน้าฐานวิหารมีเจดีย์รายทรงระฆังก่อด้วยอิฐ 2 องค์ รูปแบบเจดีย์ทรงระฆังของวัดพระธาตุซึ่งตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมที่ซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้นจนทำให้องค์เจดีย์สูง จัดเป็นแบบเฉพาะของเมืองกำแพงเพชร (กรมศิลปากร 2552 : 67 - 68)
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์ , 2552.
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณวัตถุสถานเมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองศรีสัชชนาลัย พ.ศ.2508-2512. พระนคร : ม.ป.ท. , 2514.
ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร. รายงานการบูรณะโบราณสถานวัดพระธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร. กรุงเทพ : โรงพิมพ์วิฑูรย์การปก , 2544.
ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร. การดำเนินงานขุดค้น ขุดตรวจ ขุดแต่งทางโบราณคดีพื้นที่บริเวณวัดพระแก้ว วัดพระธาตุและศาลหลักเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร. ม.ป.ท., 2550
Google map 2015 [Online]. Accessed 14 February 2015. Available from https://maps.google.com