วัดประสาท


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : เลขที่ 26 ถนนบางพรม แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน

ตำบล : บางพรม

อำเภอ : เขตตลิ่งชัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.75793 N, 100.448588 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางพรม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดประสาทสามารถเข้าได้จากทางถนนราชพฤกษ์ โดยจากแยกที่ถนนราชพฤกษ์ตัดกับถนนบรมราชชนนี ใช้ถนนราชพฤกษ์มุ่งหน้าทางทิศใต้หรือมุ่งหน้าถนนเพชรเกษม ประมาณ 2.8 กิโลเมตร พบถนนบางพรมทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายเข้าใช้ถนนบางพรมประมาณ 400 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าซอยวัดประสาท ประมาณ 300 เมตร จะพบวัดประสาท

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดประสาทมีงานประเพณีตามวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่างๆ งานประจำปีมีงานปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง ช่วงเดือนมีนาคม

พระพุทธรูปสำคัญได้แก่ พระประธานในอุโบสถ และหลวงพ่อโต พระประธานในอุโบสถหลังเดิม นิยมแก้บนด้วยประทัด บ้างเล่าว่าหลวงพ่อโตเป็นพี่น้องกับ “หลวงพ่อตาแดง” วัดเพลง (กลางสวน) เกจิอาจารย์ได้แก่ หลวงปู่พลอย (อดีตเจ้าอาวาส)

หมายเลขโทรศัพท์ของวัดประสาท 02-410-0827

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดประสาท

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดประสาทเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองบางพรม ฝั่งด้านทิศใต้ ด้านทิศตะวันตกชองวัดมีคลองสายเล็กๆ ไหลผ่าน ชื่อว่า คลองลัดวัดประสาท

วัดประสาทตั้งอยู่ห่างจากคลองชักพระ (คลองบางขุนศรี) มาทางทิศตะวันตกประมาณ 800 เมตร ห่างจากวัดกาญนจนสิงหาสน์วรวิหารและวัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร มาทางทิศตจะวันตกประมาณ 400 เมตร  

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึง โดยรอบมีสภาพเป็นเมือง มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่สลับกับพื้นที่สวน ด้านทิศเหนือของวัดติดกับคลองบางพรม ทิศตะวันออกเป็นโรงเรียนวัดประสาท

ทางน้ำ

คลองบางพรม, คลองชักพระ, คลองลัดวัดประสาท, แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 95) สำรวจวัดประสาทและบันทึกไว้ว่า “เป็นวัดอันถูกปฏิสังขรณ์ใหม่หมดแล้ว มองไม่เห็นร่องรอยของเก่า สิ่งดีงามทางศิลป สู้วัดทอง วัดเงิน และวัดแก้วไม่ได้”

ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดประสาทเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ประวัติวัดฉบับกรมการศาสนากล่าวว่า วัดประสาทสร้างขึ้นและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2300 ไม่ทราบประวัติการก่อสร้าง

ลำดับเจ้าอาวาส (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 158) ได้แก่ พระมืด, พระสุข , พระอธิการปู่พลอย พรมโชโต ดำรงตำแหน่งถึง พ.ศ.2473, พระอธิการเติม พุทธสอน พ.ศ.2473-2484, พระอธิการโหย่ง กำโส พ.ศ.2483-2486, พระมหาจำรัส ภู่แด่ง พ.ศ.2486-2500, พระครูประสาธนสาสนคุณ พ.ศ.2502-2536, พระครูปลัดวิเชียร ธมมฺธโร พ.ศ.2536

สิ่งสำคัญภายในวัด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 158) ได้แก่

อุโบสถ ก่ออิฐถือปูน ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก กว้าง 8 เมตร ยาว 25 เมตร เริ่มวางศิลาฤกษ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2533 ก่อสร้างแล้วเสร็จมีพิธีผูกพัทธสีมาในเดือนมีนาคม 2538 หน้าบันเป็นซุ้มปราสาท 3 ช่อง ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทั้ง 3 ช่อง ใบเสมาล้อมรอบอุโบสถสลักจากหินทรายแดง สลักใหม่เลียนแบบของเดิม

อุโบสถหลังนี้ตั้งอยู่ประชิดกับอุโบสถหลังเดิม ซึ่งปัจจุบันแปลงเป็นวิหาร

วิหาร (อุโบสถหลังเดิม) หันหน้าไปทางทิศตะวันออก กว้าง 7.65 เมตร ยาว 19.2 เมตร เป็นอาคารไม้คอนกรีตเสริมเหล็ก ก่ออิฐถือปูนถึงอกไก่ ทางวัดแจ้งแก่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในการปรับปรุงประวัติวัด พ.ศ.2549 ว่า “สร้างเมื่อ พ.ศ.2504” หากแต่ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 (กรมการศาสนา 2526 : 178-179) ระบุว่า “บูรณะเมื่อ พ.ศ.2505”  

หน้าบันปั้นปูนลายรูปสุนทรีวาณี เป็นความอุปมาว่าด้วยนางฟ้าในดอกบัว เปรียบด้วยพระไตรปิฎกอันเกิดแต่พระพุทธองค์ อันเป็นคตินิยมในแนวทางของสมเด็จพระวันรัตน์ (แดง) วัดสุทัศนเทพวราราม ในสมัยรัชกาลที่ 5 (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 208)

ภายในวิหารประดิษฐาน “หลวงพ่อโต” ซึ่งน่าจะเป็นพระพุทธรูปหินทรายโบราณ

กุฏิสงฆ์ มีกุฏิเจ้าอวาส 2 หลัง และกุฏิสงฆ์ 5 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 1 หลัง คอนกรีตเสริมเหล็ก 3 หลัง

ศาลาการเปรียญ กว้าง 12.5 เมตร ยาว 31.3 เมตร

หอสวดมนต์ สร้างเมื่อ พ.ศ.2505

หอระฆังและหอกลอง สร้างจากคอนกรีต แยกออกจากกันเป็น 2 หอ

ศาลาท่าน้ำ

มณฑปพระพุทธบาทจำลอง

มีโรงเรียนในที่ดินวัดได้แก่ โรงเรียนวัดประสาท (กทม.) และโรงเรียนสุวรรณพลับพลา (โรงเรียนมัธยมวัดประสาท) (กระทรวงศึกษาธิการ) 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล, นิสา เชยกลิ่น

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.

ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง