วัดเพลง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดเพลงกลางสวน, วัดเพรง

ที่ตั้ง : เลขที่ 44/2 ซ.วัดแก้ว แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน

ตำบล : บางพรม

อำเภอ : เขตตลิ่งชัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.752472 N, 100.440817 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางพรม, คลองบางน้อย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนบรมราชชนนี ให้ใช้ถนนราชพฤกษ์ มุ่งหน้าทิศใต้หรือมุ่งหน้าถนนเพชรเกษม ประมาณ 2.7 กิโลเมตร กลับรถใต้สะพานข้ามทางรถไฟสายตลิ่งชัน เมื่อกลับรถไปประมาณ 200 เมตร จะพบถนนบางพรมทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายเข้าใช้ถนนบางพรมประมาณ 550 เมตร จะพบซอยวัดเพลงทางซ้ายมือ เลี้ยวเข้าซอยไปประมาณ 170 เมตร ถึงวัดเพลง

หรือจากถนนบรมราชชนนี ให้ใช้ถนนพุทธมณฑลสาย 1 มุ่งหน้าทิศใต้หรือมุ่งหน้าถนนเพชรเกษม ประมาณ 2.8 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายใช้ถนนบางพรม ประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะพบซอยวัดเพลงทางขวามือ เลี้ยวเข้าซอยไปประมาณ 170 เมตร ถึงวัดเพลง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดเพลง (กลางสวน) มีงานประจำปีในช่วงเดือนมีนาคม มีงาน 3 วัน 3 คืน นอกจากนั้นมีงานทำบุญเฉพาะในวันพระใหญ่และเทศกาลสำคัญ

“หลวงพ่อตาแดง” ภายในพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือกันมาก มักบนบานศาลกล่าวด้วยประทัดหรือไข่ต้ม

หมายเลขโทรศัพท์ของ พระครูธรรมธรไพรัช วรโท (เจ้าอาวาส) โทร. 089-516-9358

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดเพลง

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดเพลงหรือวัดเพลงกลางสวน เป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ทางฝั่งทิศใต้ของคลองบางพรม ปัจจุบันอยู่ห่างจากคลองบางพรมประมาณ 350 เมตร ห่างจากคลองบางน้อยมาทางทิศเหนือประมาณ 600 เมตร

ด้านทิศใต้ของวัดติดกับถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน ติดกับวัดทางทิศตะวันออกมีคลองสายตรงเส้นเล็กๆ ที่แยกออกมาจากคลองบางพรมไหลผ่าน

วัดเพลง (กลางสวน) ตั้งอยู่ห่างจากวัดกระโจมทองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 400 เมตร ห่างจากวัดเทพพลมาทางทิศตะวันออกประมาณ 700 เมตร ห่างจากวัดประสาทมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากคลองชักพระหรือคลองบางขุนศรีมาทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทางทิศตะวันตกประมาณ 4.9 กิโลเมตร

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึง โดยรอบมีสภาพเป็นเมือง มีบ้านเรือนราษฎรและหมู่บ้านจัดสรรตั้งอยู่สลับกับพื้นที่สวน ด้านทิศเหนือของวัดติดกับคลองบางพรม ทิศตะวันออกเป็นโรงเรียนวัดประสาท

ทางน้ำ

คลองบางพรม, คลองชักพระ (คลองบางขุนศรี), คลองบางน้อย, แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 95) สำรวจวัดเพรง (วัดเพลง) แล้วพบว่าเป็นวัดร้าง ล้อมรอบรกร้างไปด้วยสวนรก ชาวบ้านรุกพื้นที่วัด ซึ่งวัดแห่งนี้ร้างไปเมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน (40 กว่าปีก่อน พ.ศ.2513) อุโบสถยังคงรูปแบบเดิม หลังคาพังททลาย พระพุทธรูปภายในอุโบสถเป็นแบบอยุธยา แต่เสาวิหารมีลวดลายปูนปั้นเป็นของสมัยรัชกาลที่ 3 แสดงให้เห็นว่ามีการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548, พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : วัดเพลง

ผลการศึกษา :

กลางปี พ.ศ.2548 ถึงต้นปี พ.ศ.2549 ทางวัดได้ว่าจ้างทีมช่างบูรณะอุโบสถ พร้อมกำแพงแก้วและทางระบายน้ำรอบอุโบสถ ส่วนหลังคาเครื่องไม้ งานปูพื้นมุขหน้าหลังอุโบสถ ซุ้มประตูกำแพงแก้ว และอื่นๆ

ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดเพลงเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ประวัติวัดฉบับกรมการศาสนา (กรมการศาสนา 2526 : 215-216) กล่าวว่าสร้างขึ้นและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2370 หรือในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพิจารณาจากอุโบสถหลังเดิมที่มีลักษณะแบบเก๋งจีนที่นิยมสร้างกันในสมัยนั้น (ปัจจุบันทางวัดยึดถือ พ.ศ.2370 นี้เป็นปีก่อตั้งวัด)

วัดได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นจนราว พ.ศ.2460 ก็ได้ขาดผู้ทำนุบำรุง ทำให้เสนาสนะต่างๆ ทรุดโทรมลง  ไม่มีภิกษุจำพรรษา จนกลายเป็นวัดร้างที่สุด

เมื่อประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 101) เดินทางมาสำรวจเมื่อ พ.ศ.2513 บันทึกไว้ว่า “อยู่กลางสวนระหว่างคลองบางน้อยกับคลองบางพรม เป็นวัดร้างถัดไปทางทิศเหนือของวัดกระโจมทอง พระอุโบสถพระวิหารยังคงรูปอยู่ แต่หลังคาพรุนหมดแล้วพระพุทธรูปข้างในเป็นของสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เสาพระวิหารลายปูนปั้นเป็นของรัชกาลที่สาม แสดงว่ารัชกาลที่สาม มาทำการปฏิสังขรณ์แต่แล้วก็คงทนอยู่ไม่ได้ กลับรกร้างไปอีก...พระอาจารย์บุญมา เจ้าอาวาสวัดใหม่เทพพล ท่านได้กรุณาเล่าให้ฟังว่าวัดนี้เพิ่งร้างไปเมื่อ 40 กว่าปีมานี้เอง”

ต่อมาในย่านนี้มีประชาชนตั้งบ้านเรือนหนาแน่นขึ้น การไปบำเพ็ญกุศลที่วัดอื่นไม่สะดวก จึงนิมนต์พระสมุห์ทองใบ ติกฺขวีโร มาฟื้นฟูวัดร้างขึ้นใหม่ ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยกวัดเพลงร้างเป็นวัดที่มีพระสงฆ์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2522 (กรมการศาสนา 2526)

ศรัณย์ ทองปาน (2549? : 163) ระบุว่า ชาวบ้านในละแวกนี้เชื่อกันว่า วัดนี้สร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินครั้งยกทัพผ่านมาแล้วสร้างไว้ รวมถึงสร้าง “หลวงพ่อสิน” พระประธานในอุโบสถด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่ยังเล่าต่อกันมาอีกว่า แต่เดิมรอบวัดมีคลองทั้ง 4 ด้าน สมัยพระเต้าตากสินก็มาทางเรือ

แต่ตำนานบางสำนวนกล่าวว่าพระเจ้าตากสินเคยยกทัพผ่านมา และประทับในวิหารหลวงพ่อแดง (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 210)

ลำดับเจ้าอาวาส (เท่าที่สามารถสืบค้นได้) ได้แก่ พระสมุห์ทองใบ ติกฺขวีโร เริ่มดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2523, พระครูอาทรกิจจาภิรักษ์ ไม่ทราบปีที่เริ่มดำรงตำแหน่ง ถึง พ.ศ.2548, พระครูสังฆรักษ์สระ พ.ศ.2548, เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันคือพระครูธรรมธรไพรัช วรโท

สิ่งที่น่าสนใจ (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 211-212 ; ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 164)

อุโบสถ กว้าง 5 เมตร ยาว 16 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เดิมเป็นทรงเก๋งจีน เมื่อชำรุดทรุดโทรมจึงสร้างขึ้นใหม่เป็นทรงไทย หลังคา 2 ชั้นลด หน้าบันเป็นลายหน้าขบหรือเกียรติมุขล้อมรอบด้วยเครือเถา หน้าต่างเป็นไม้สัก

พระประธานในอุโบสถ นามว่า “หลวงพ่อสิน” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิทองเหลือง หน้าตัก 2 ศอก

ศรัณย์ ทองปาน (2549? : 164) เก็บข้อมูลในวัดเพลงเมื่อปี 2549 ซึ่งอยู่ในช่วงปฏิสังขรณ์อุโบสถใหม่ แล้วได้ข้อมูลที่ช่างเล่าให้ฟังว่า ได้เริ่มงานซ่อมแซมเมื่อ 10 วันก่อนวันออกพรรษาปี 2548 ได้บูรณะผนังด้านภายในและภายนอกอุโบสถ โดยกะเทาะปูนเก่าออก พบอิฐเดิมเป็นอิฐโบราณ ขนาด 1 ศอก อายุ 200 กว่าปี แต่ร่วนเป็นผงหมดแล้ว จึงต้องก่อเสริมเข้าไปใหม่ด้วยอิฐมอญ อุโบสถหลังนี้ไม่มีเสา ตอนที่ช่างกะเทาะผิวปูนที่ผนังออกก็เห็นของเดิมว่าเขาก่ออิฐประสานกัน มุมก็เอาอิฐมาวางทับกันไว้ ส่วนเสาข้างนอกเป็นเสาหลอก

วิหาร ตั้งอยู่ด้านข้างหรือด้านทิศเหนือของอุโบสถ ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อตาแดง” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ส่วนใหญ่มักมาแก้บนด้วยการจุดประทัด หรือถวายไข่ต้ม มีตำนานเล่าว่าสมัยที่ยังมีหวย ก.ข. ราษฎรมาขอโชคลาภจากพระประธานในวิหารวิหารวัดเพลงอยู่เนืองๆ และมักสมหวัง จนขุนบาลผู้รับผิดชอบการออกหวยสั่งให้คนนำตะปูมาตอกที่นัยน์ตาของพระพุทธรูปองค์นี้ เพื่อไม่ให้ทองเห็นตัวหวยที่จะออกอีก ภายหลังเกิดมีน้ำสีแดงไหลออกมาตามรอยตะปู ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “หลวงพ่อตาแดง” (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 165) (ตำนานนี้คล้ายคลึงกับเรื่องเล่าของหลวงพ่อโต วัดไก่เตี้ย)

แต่บ้างก็ว่าเหตุที่เรียกหลวงพ่อตาแดง เป็นเพราะครั้งหนึ่งเคยมีโรคตาแดงระบาด จนมีคนมาบนบานศาลกล่าวท่านให้หายจากโรคนี้และสัมฤทธิ์ผล อีกตำนานหนึ่งเล่าขานว่าหลวงพ่อแดงเป็นพี่น้องกับหลวงพ่อในวิหารวัดประสาท (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 164-165)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.

ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง