วัดพระบาทน้อย


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดเขาพระบาทน้อย

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย

ตำบล : เมืองเก่า

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.018982 N, 99.671292 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเสาหอ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากประตูเมืองด้านทิศตะวันตกเมืองโบราณสุโขทัยหรือประตูอ้อ ให้ใช้ถนนโยธาธิการ (สายประดู่อ้อ-วัดมังกร-เขื่อนสรีดภงส์) มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าสรีดภงส์หรือไปในทิศทางออกนอกเมืองเก่า ประมาณ 1.1 กิโลเมตร จะพบสามแยก (ด้านหลังโบราณสถานวัดป่ามะม่วง) ให้เลี้ยวซ้าย ประมาณ 1 กิโลเมตร พบสามแยก (บริเวณโบราณสถานวัดมังกร) ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนอีกประมาณ 1.3 กิโลเมตร (ผ่านด้านหน้าค่ายลูกเสือรามคำแหง) จะพบทางขึ้นวัดพระบาทน้อยทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดพระบาทน้อยตั้งอยู่นอกเมืองเก่าสุโขทัยไปทางทิศตะวันตก ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม ดูแลรักษาโดยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร

ที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า

การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที

หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310

นอกจากนี้ เขาพระบาทน้อยยังตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม และยังมีร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ด้วย

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3706 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่องการกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ (พระบาทน้อย)

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574 

ภูมิประเทศ

ภูเขา

สภาพทั่วไป

วัดพระบาทน้อยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกนอกเมืองสุโขทัย ห่างจากประตูเมืองสุโขทัยด้านทิศตะวันตก หรือประตูอ้อ ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.5 กิโลเมตร โดยอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ส่วนหนึ่งของเขาพระบาทน้อย (บางครั้งจึงเรียกว่า วัดเขาพระบาทน้อย) อยู่ทางทิศใต้ของเขาสะพานหิน ทิศเหนือของเขาเจดีย์งาม ห่างจากสรีดภงศ์และคลองเสาหอมาทางทิศเหนือประมาณ 1.7 กิโลเมตร 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

94 เมตร

ทางน้ำ

คลองเสาหอ, แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

เขาพระบาทใหญ่เป็นภูเขาหินปูนในหมวดหินก้างปลา กลุ่มหินลำปาง ยุคไทรแอสซิก ช่วง 245-210 ล้านปีมาแล้ว (กรมทรัพยากรธรณี 2551 : 15) ก่อตัวขึ้นในสภาวะแวดล้อมการสะสมตะกอนทะเลในเขตภาคเหนือของไทย

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยอยุธยา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 21

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2526 : 75-76) ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงสำรวจเมืองเก่าสุโขทัย รวมทั้งวัดพระบาทน้อย โดยทรงกล่าวถึงทางเดินไปยังวัดพระบาทน้อยว่าน่าจะสร้างขึ้นโดยพ่อขุนรามคำแหง จารึกได้กล่าวถึงพ่อขุนรามคำแหงขึ้นไปนบพระพิหารอรัญญิก จึงเข้าใจว่าพระองค์เสด็จอยู่เนืองๆ อีกทั้งทรงกล่าวถึงเจดีย์ทรงจอมแห ที่ว่ามีช่องกุฎ 4 ช่อง ทิศเหนือทรงกลุ่มทรวดทรงงามดี ได้ทรงพบรอยพระพุทธบาทที่มีลายลบเลือนไปมากแล้วและไม่สู้งามมากนัก นอกจากนั้นทรงกล่าวถึงเจดีย์ที่มีความสำคัญองค์หนึ่ง คือเจดีย์ที่มีฐานแปดเหลี่ยม มุมมีย่อไม้สิบสอง ฐานมีบัวซ้อนกันเป็นชั้นๆ รูปพรรณสัณฐานงดงามมาก พระยาอุทัยมนตรีสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอย่างพระเจดีย์รามัญ ทรงสันนิษฐานต่อไปอีกว่าเจดีย์แห่งนี้มีการก่อสร้างที่ประณีตบรรจงมาก คงจะเป็นเจดีย์ที่พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยเป็นผู้สร้าง (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 40)

ชื่อผู้ศึกษา : ประเสริฐ ณ นคร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร (2534) ศึกษาจารึกที่ฐานพระพุทธรูปสำริดที่ ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงกล่าวว่า ได้มาจากวัดเขาพระบาทน้อย นอกเมืองเก่าสุโขทัย

ชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะกรรมการกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงศึกษา รวบรวม และจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะสุโขทัย (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

ชื่อผู้ศึกษา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547) ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม รวมทั้งวัดพระบาทน้อย

ชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร รวบรวมและศึกษาข้อมูลโบราณสถานในอุทยานประวัติศาตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร แล้วเผยแพร่ในเอกสาร “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร”

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม ค้นคว้าวิจัยเพื่อสันนิษฐานรูปแบบโบราณสถานบางแห่งของสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เมื่อครั้งยังสมบูรณ์ รวมถึงวัดพระบาทน้อย

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดพระบาทน้อยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกนอกเมืองสุโขทัย ห่างจากประตูเมืองสุโขทัยด้านทิศตะวันตก หรือประตูอ้อ ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.5 กิโลเมตร โดยอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ส่วนหนึ่งของเขาพระบาทน้อย (บางครั้งจึงเรียกว่า วัดเขาพระบาทน้อย) อยู่ทางทิศใต้ของเขาสะพานหิน ทิศเหนือของเขาเจดีย์งาม ห่างจากสรีดภงศ์และคลองเสาหอมาทางทิศเหนือประมาณ 1.7 กิโลเมตร

โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธาน วิหาร กุฎี-วิหารน้อย และเจดีย์แปดเหลี่ยม

เจดีย์ประธาน ก่ออิฐถือปูน มีลักษณะพิเศษกว่าเจดีย์องค์อื่นของสุโขทัย คือทำองค์ระฆังเป็นริ้ว หรือที่เรียกว่า “เจดีย์ทรงจอมแห” (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2521 : 89) (องค์ระฆังมีรอยเป็นริ้วๆ ลักษณะเหมือนการตากแห)

ลักษณะเจดีย์ ฐานล่างสุดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัว 3 ชั้นสูง ชั้นที่ 3 ทำซุ้มคูหาทั้ง 4 ด้าน สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนฐานของฐานบัวชั้นนี้ทำเป็นฐานสิงห์ เหนือขึ้นไปเป็นบัวปากระฆัง 8 เหลี่ยม องค์ระฆังทรวดทรงสูง มีการทำจีบริ้วรอบองค์ระฆัง นับได้ 28 ริ้ว

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547 : 40-41) กล่าวว่าเจดีย์ลักษณะดังกล่าวไม่เคยปรากฏในสถาปัตยกรรมสุโขทัย น่าจะมีความสัมพันธ์กับศิลปะอยุธยา ที่มีหลักฐานเจดีย์กลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าเจดีย์ทรงเครื่อง ฐานสิงห์มีแข้งสิงห์ขนาดใหญ่ประดับและองค์ระฆังเป็นริ้ว เช่น เจดีย์รายหมายเลข 18 วัดพุทไธสวรรย์พระนครศรีอยุธยา จัดเป็นวัดสมัยอยุธยาตอนกลาง ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 (สันติ เล็กสุขุม 2542 : 105 ; 2551 : 57) และการทำริ้วนี้มีปรากฏมาแล้วในเจดีย์ทรงปราสาทยอดปรางค์ ได้แก่ ปรางค์กลีบมะเฟือง ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี และวัดพระศรีมหาธาตุ เมืองสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท ในสมัยอยุธยาตอนต้น

ส่วนฐานของฐานบัวชั้นบนที่ทำเป็นฐานสิงห์นั้น ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547 : 40) ระบุว่าเป็นรูปแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในงานสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย ลักษณะของฐานสิงห์และขาสิงห์ขนาดใหญ่มาก เป็นงานที่ได้รับความนิยมในศิลปะอยุธยา และน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 อย่างไรก็ตามการทำฐานสิงห์นี้เคยมีปรากฏมาแล้วเช่นกันในภาพสลักที่วัดศรีชุมที่ทำเป็นแท่นขาสิงห์ อันอาจมีที่มาจากศิลปะจีน แต่นั่นก็เป็นเพียงภาพสลักเท่านั้นยังไม่เคยพบในสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัยเลย

วิหาร ตั้งอยู่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะก่ออิฐและศิลาแลง ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในเคยประดิษฐานรอยพระพุทธบาท 4 รอย สลักจากหินชนวน ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2521 : 89 ; พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 36)

วิหารและเจดีย์ประธานตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ก่อขึ้นด้วยก้อนหิน

กุฎี-วิหารน้อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเจดีย์ประธาน ห่างกันประมาณ 15 เมตร กุฎีมีขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐ คงเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีวิหารขนาดเล็กก่อต่อออกมาทางด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของกุฎี ส่วนฐานก่อด้วยก้อนหิน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

เจดีย์แปดเหลี่ยม ตั้งอยู่ห่างจากเจดีย์ประธานมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 50 เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ฐานเจดีย์ก่อด้วยศิลาแลง ชุดฐานแปดเหลี่ยม มีกระเปาะที่มุมหรือยกเก็จอย่างมาก ซึ่งไม่เคยปรากฏในงานสถาปัตยกรรมสุโขทัย จึงเชื่อว่าปรับปรุงจากเจดีย์ในศิลปะมอญ-พม่า (สันติ เล็กสุขุม 2551 : 61 ; ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 41) ส่วนทรงระฆังเล็กและไม่มีบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมคั่นทรงเรียวที่ต่อขึ้นเป็นยอด (สันติ เล็กสุขุม 2551 : 61) เจดีย์องค์นี้น่าจะเป็นงานในระยะหลังที่เมืองสุโขทัยอยู่ภายใต้การปกครองของอยุธยาแล้ว (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 41)

จากลักษณะของเจดีย์ประธานที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับศิลปะอยุธยาตอนกลาง ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 และเจดีย์แปดเหลี่ยมที่มีอิทธิพลของเจดีย์มอญ-พม่า จึงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในระยะหลัง ที่เมืองสุโขทัยอยู่ภายใต้การปกครองของอยุธยาแล้ว (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 41) 

จารึกที่ฐานพระพุทธรูปสุโขทัย (ออกหมื่นโปศเทพ)

เป็นจารึก 1 บรรทัด ที่ฐานพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 10 เซนติเมตร สูง 19 เซนติเมตร จารึกด้วยภาษาไทย ตัวอักษรไทยสุโขทัย ไม่ทราบปีที่พบแน่ชัด ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงกล่าวว่า ได้มาจากวัดเขาพระบาทน้อย นอกเมืองเก่าสุโขทัย ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย เนื้อหาของจารึกกล่าวถึงชื่อบุคคลคือ “พระออกหมื่นโปศเทพ” กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 21 (ประเสริฐ ณ นคร 2534 : 87-88 ; วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี 2546) 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2551.

ประเสริฐ ณ นคร. “หลักที่ 300 จารึกที่ฐานพระพุทธรูปสุโขทัย (ออกหมื่นโปศเทพ).” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 7 : ประมวลจารึกที่พบในประเทศไทยและต่างประเทศ. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2534 : 87-88.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2526.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.

วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี. “จารึกที่ฐานพระพุทธรูปสุโขทัย (ออกหมื่นโปศเทพ).” ใน ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2546. เข้าถึงเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2558. แหล่งที่มา http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=144

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

สันติ เล็กสุขุม. งานช่างหลวงแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2542.

สันติ เล็กสุขุม. โบราณสถานกับรูปแบบสันนิษฐาน มรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2551.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศิลปสุโขทัย. กรุงเทพฯ :คณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรม ยูเนสโก, 2521.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง