วัดสะพานหิน


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดตะพานหิน

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย

ตำบล : เมืองเก่า

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.023197 N, 99.675114 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเสาหอ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากคูเมืองด้านทิศตะวันตกของเมืองเก่าสุโขทัย ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 หรือถนนจรดวิถีถ่อง มุ่งหน้าออกนอกเมืองเก่า หรือมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 1.8 กิโลเมตร พบสามแยก (บริเวณค่ายลูกเสือกสุโขทัย “รามคำแหง”) ให้เลี้ยวซ้ายตามป้ายวัดสะพานหิน ไปตามถนนประมาณ 650 เมตร จะพบทางขึ้นสู่วันสะพานหินทางขวามือ   

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดสะพานหินตั้งอยู่นอกเมืองเก่าสุโขทัยไปทางทิศตะวันตก ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม ดูแลรักษาโดยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร

ที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบบริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า

การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที

หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310

นอกจากนี้ วัดสะพานหินยังตั้งอยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม และยังมีร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ด้วย

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 หน้า 3706 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ (สพานหิน)

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

ภูมิประเทศ

ภูเขา

สภาพทั่วไป

วัดสะพานหินเป็นวัดร้างตั้งอยู่บนเขาสะพานหิน นอกเมืองสุโขทัยไปทางทิศตะวันตก โดยห่างจากคูเมืองด้านทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1.9 กิโลเมตร ห่างจากคลองเสาหอไปทางทิศเหนือประมาณ 1.9 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

104 เมตร

ทางน้ำ

คลองเสาหอ, แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

เขาสะพานหินเป็นเขาหินปูนในหมวดหินก้างปลา กลุ่มหินลำปาง ยุคไทรแอสซิก ช่วง 245-210 ล้านปีมาแล้ว (กรมทรัพยากรธรณี 2551 : 15) ก่อตัวขึ้นในสภาวะแวดล้อมการสะสมตะกอนทะเลในเขตภาคเหนือของไทย

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2526) ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงสำรวจเมืองเก่าสุโขทัย รวมทั้งวัดสะพานหิน โดยทรงบันทึกว่า “...จากเชิงเขาตรงลิ่วขึ้นไปจนถึงยอดมีถนนศิลาแผ่นบางๆ บนถนนกว้าง 3 ศอก ในตอนเชิงเขาถนนก่อด้วยศิลา แผ่นแบนซ้อนกันหลายชั้นแน่นหนาเป็นคันขึ้นไป สูงพ้นพื้นดินไปถึง 3 ศอกคืบ การที่ต้องเสริมถนนให้สูงเพียงนี้ คือประสงค์จะให้เดินไม่ชัน ถ้าไม่ทำเช่นนี้ก็ต้องทำเป็นบันได เพราะที่เชิงเขสอยู่ข้างจะชันหักลงมาหาพื้นดินล่าง ถนนตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไปที่ยังคงเหลืออยู่บัดนี้ยาว 4 เส้น 5 วา 2 ศอก พวกที่ไปด้วยกันเดินบนถนนไม่ใคร่จะได้ เพราะสวมรองเท้าเหยียบกับศิลาลื่นชวนจะหกล้ม ที่ปลายถนนมีบันไดขึ้นไปบนลาน บนยอดเขานั้นมีวิหารสูงมาก ในวิหารมีพระพุทธรูปยืน พระรัศมีหักเสียแล้ว แต่เช่นนั้นก็ดี วัดดูได้ความว่าสูงถึง 6 วา คือสูงกว่าพระอัฏฐารศทศพลญาณ ที่วัดสระเกศ กรุงเทพฯ นี้ 6 ศอก ส่วนวิหารนั้นก็จะสูงมิใช่เล่น และดูท่าทางจะสง่างามมาก เสาทำด้วยแลงแผ่นกลมซ้อนๆ กัน แผ่นหนึ่งๆ หนปาระมาณ 1 ศอก วัดโดยรอบขอบนอกประมาณ 5 ศอก วิหารนั้นไม่สู้จะยาวนัก แต่เข้าใจว่าทำเปิดโปร่งๆ ไม่มีฝาทึบ มีผนังทึบแต่ที่หลังพระเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่จะดูพระ คงไม่ต้องเข้าไปดูในที่ใกล้ๆ จนแลไม่เห็นส่วน อย่างเช่นดูพระอัฏฐารศสะดาระเกศนั้น ที่นี้เข้าใจว่าตรงกับความที่กล่าวไว้ในคำจารึกของพระเจ้ารามคำแหงว่า ‘ในกลางอรญญิกมีพีหารอนนนหนึ่งมนนใหญ่สูงงามนัก มีพระอัฏฐารศอนนหนึ่งลุกยืน’ เมื่อได้ไปดูแล้วก็ยอมรับว่าพระเจ้ารามคำแหงน่าจะอวดอยู่บ้าง”

ชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะกรรมการกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงศึกษา รวบรวม และจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะสุโขทัย (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

ชื่อผู้ศึกษา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547) ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม รวมทั้งหลักฐานที่พบจากวัดสะพานหิน

ชื่อผู้ศึกษา : พิริยะ ไกรฤกษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

ผลการศึกษา :

รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ สอบทานข้อทรงสันนิษฐานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับพระอัฏฐารศที่วัดสะพานหิน

ชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร รวบรวมและศึกษาข้อมูลโบราณสถานในอุทยานประวัติศาตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร แล้วเผยแพร่ในเอกสาร “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร”

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดสะพานหินตั้งอยู่บนเขาสะพานหิน สูงประมาณ 200 เมตร (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2521 : 85)  นอกเมืองสุโขทัยไปทางทิศตะวันตก โดยห่างจากคูเมืองด้านทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1.9 กิโลเมตร หรือในเขตอรัญญิกของสุโขทัยตามที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1

จากเชิงเขาด้านล่างมีทางเดินยาวประมาณ 300 เมตร ขึ้นไปยังวัดสะพานหิน โดยทางเดินนี้มีมาตั้งแต่อดีต ลักษณะปูลาดด้วยหินชนวน

วัดสะพานหินยังอาจเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างเผือกชื่อรูจาคีรี เพื่อไปนบพระในวัดนี้ทุกวันข้างขึ้นและแรม 15 ค่ำ (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546)

โบราณสถานที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ ซากวิหารก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือหันหน้าเข้าสู่เมืองสุโขทัย ภายในวิหารประดิษฐานพระประธาน ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนขนาดใหญ่ สูง 12.5 เมตร (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2521 : 87) แสดงปางประทานอภัย พระพุทธรูปองค์นี้อาจเป็น “พระอัฏฐารศ” ที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2526 : 77-78) ที่กล่าวว่า “...ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฏฐารศอันณึ่งลุกยืน...” แต่มีผู้คัดค้านว่าพระองค์ทรงลืมที่จะวินิจฉัยว่าพระอัฏฐารศที่วัดสะพานหินอาจไม่ใช่องค์ที่กล่าวถึงในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงก็ได้ (พิริยะ ไกรฤกษ์ 2526 : 15)

พระอัฏฐารศของสุโขทัยนั้น คงได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจมาจากพุทธศิลป์และความเชื่อจากลังกา พร้อมๆ กับการรับพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงปลายสมัยอนุราธปุระและในสมัยโปลนนาลุวะที่นิยมสร้างวิหารเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปยืนที่มีความสูง

นอกจากนี้ ห่างออกไปด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของวิหาร ยังมีเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมสมัยสุโขทัย ขนาดไม่สูงใหญ่นัก ประดิษฐานอยู่ไม่ห่างจากบันไดทางขึ้นที่ทำจากหินชนวนมากนัก (อยู่ด้านทิศใต้ของบันได) เป็นเจดีย์ก่ออิฐ ส่วนฐานล่างสุดก่อขึ้นจากก้อนหิน

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2551.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2526.

พิริยะ ไกรฤกษ์. ศิลปะสุโขทัยและอยุธยา ภาพลักษณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2545.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2540.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศิลปสุโขทัย. กรุงเทพฯ :คณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรม ยูเนสโก, 2521.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง