วัดเขาพระบาทใหญ่


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดพระบาทใหญ่, เขาสุมนกูฏ

ที่ตั้ง : ถนนโยธาธิการ (สายประดู่อ้อ-วัดมังกร-เขื่อนสรีดภงค์) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย

ตำบล : เมืองเก่า

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 16.999797 N, 99.682134 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเสาหอ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากประตูเมืองด้านทิศตะวันตกเมืองโบราณสุโขทัยหรือประตูอ้อ ให้ใช้ถนนโยธาธิการ (สายประดู่อ้อ-วัดมังกร-เขื่อนสรีดภงส์) มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าสรีดภงส์หรือไปในทิศทางออกนอกเมืองเก่า ประมาณ 1.1 กิโลเมตร จะพบสามแยก (ด้านหลังโบราณสถานวัดป่ามะม่วง) ให้เลี้ยวซ้าย ประมาณ 1 กิโลเมตร พบสามแยก (บริเวณโบราณสถานวัดมังกร) ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนอีกประมาณ 1.8 กิโลเมตร (ผ่านด้านหน้าสรีดภงส์) ถึงวัดเขาพระบาทใหญ่ มีศาลแม่ย่าตั้งอยู่ด้านหน้า

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดเขาพระบาทใหญ่ตั้งอยู่นอกเมืองเก่าสุโขทัยไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม ดูแลรักษาโดยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร

ที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า

การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที

หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310

หากผู้สนใจ “ข้าวตอกพระร่วง” นั้น สามารถเข้าชมสาธิตวิธีการทำเครื่องประดับจากข้าวตอกพระร่วงที่ บ้านข้าวตอกพระร่วง ลุงเหล็ง-ป้าชลอ จันทร์ฉาย 382/1 หมู่ 2 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย 64210

ด้านหน้าวัดเขาพระบาทใหญ่ยังเป็นที่ตั้งของศาลแม่ย่า ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ เขาพระบาทใหญ่ยังตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม และยังมีร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ด้วย

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 หน้า 3707 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ (วัดพระบาทใหญ่)

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

ภูมิประเทศ

ภูเขา

สภาพทั่วไป

เป็นวัดร้างที่ตั้งอยู่บนเขาพระบาทใหญ่ นอกเมืองโบราณสุโขทัยไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากคูเมืองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 1.8 กิโลเมตร อยู่ติดกับสรีดภงส์ (อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสรีดภงส์) ห่างจากคลองเสาหอมาทางทิศใต้ประมาณ 600 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

89 เมตร

ทางน้ำ

คลองเสาหอ, แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

เขาพระบาทใหญ่เป็นภูเขาหินปูนในหมวดหินก้างปลา กลุ่มหินลำปาง ยุคไทรแอสซิก ช่วง 245-210 ล้านปีมาแล้ว (กรมทรัพยากรธรณี 2551 : 15) ก่อตัวขึ้นในสภาวะแวดล้อมการสะสมตะกอนทะเลในเขตภาคเหนือของไทย

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย

อายุทางโบราณคดี

รัชสมัยพญาลิไทเป็นต้นมา

อายุทางตำนาน

สมัยสุโขทัย, สมัยพระร่วง

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงพบจารึกบนเขาพระบาทใหญ่ ภายหลังกำหนดให้เป็นศิลาจารึกหลักที่ 8 หรือจารึกวัดเขาสุมนกูฏ

ชื่อผู้ศึกษา : ยอร์ช เซเดส์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521, พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

แปลและเรียบเรียงจารึกหลักที่ 8 หรือจารึกวัดเขาสุมนกูฏ

ชื่อผู้ศึกษา : สินชัย กระบวนแสง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2522

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

อาจารย์สินชัย กระบวนแสง (2522) เผยแพร่ผลการศึกษา “รอยพระพุทธบาทสมัยสุโขทัย” ในวารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทที่พบที่วัดเขาพระบาทใหญ่ด้วย

ชื่อผู้ศึกษา : สุธนา เกตุอร่าม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สุธนา เกตุอร่าม (2523) เสนอสารนิพนธ์เรื่อง “การสร้างรอยพระพุทธบาทสมัยพญาลิไท” รวมถึงรอยพระพุทธบาทที่พบที่วัดเขาพระบาทใหญ่

ชื่อผู้ศึกษา : นันทนา ชุติวงศ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

อาจารย์นันทนา ชุติวงศ์ (2533) เผยแพร่หนังสือเรื่อง “รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และอาคเนย์” รวมถึงรอยพระพุทธบาทที่พบที่วัดเขาพระบาทใหญ่

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2540) เผยแพร่หนังสือศิลปะสุโขทัย ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงหลักฐานที่พบจากวัดเขาพระบาทใหญ่

ชื่อผู้ศึกษา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2543) ศึกษาวิจัยเชิงเปรียบเทียบศิลปกรรมสุโขทัยและล้านนา รวมทั้งรอยพระพุทธบาทที่พบที่วัดเขาพระบาทใหญ่

ชื่อผู้ศึกษา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547) ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม รวมทั้งหลักฐานที่พบจากวัดเขาพระบาทใหญ่

ชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร รวบรวมและศึกษาข้อมูลโบราณสถานในอุทยานประวัติศาตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร แล้วเผยแพร่ในเอกสาร “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร”

ชื่อผู้ศึกษา : ปัทมา เอกม่วง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ปัทมา เอกม่วง (2549) เสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรมบนรอยพระพุทธบาทที่วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา และที่วัดตระพังทองหลาง จังหวัดสุโขทัย” ซึ่งรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดตระพังทองนั้น ค้นพบที่วัดเขาพระบาทใหญ่

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดเขาพระบาทใหญ่ตั้งอยู่บนเขาพระบาทใหญ่ นอกเมืองโบราณสุโขทัยไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากคูเมืองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 1.8 กิโลเมตร อยู่ติดกับสรีดภงส์ (อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสรีดภงส์)

โบราณสถานประกอบไปด้วยซากวิหารก่อด้วยอิฐและหิน ส่วนโบราณวัตถุสำคัญที่พบในบริเวณวัดได้แก่ จารึกวัดเขาสุมนกูฏ และรอยพระพุทธบาท

จารึกวัดเขาสุมนกูฏ (ยอร์ช เซเดส์ 2521 ; 2526)

ลักษณะเป็นหลักจารึกรูปใบเสมา ขนาดกว้าง 31 เซนติเมตร สูง 90 เซนติเมตร หนา 15 เซนติเมตร จารึกตัวอักษรไทยสุโขทัย สร้างขึ้นในสมัยพญาลิไทหรือพระมหาธรรมราชาที่ 1 แห่งกรุงสุโขทัย ไม่ระบุศักราชที่สร้าง แต่ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1902-1915 (วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี 2546) ทรงค้นพบบนเขาพระบาทใหญ่โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อ พ.ศ.2451 (ปัจจุบันอยู่ที่หอพระสมุดวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ)

เนื้อหาโดยสังเขปของจารึกหลักนี้ (วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี 2546) คือ

ด้านที่ 1 เป็นคำสรรเสริญรอยพระพุทธบาท ที่พระยาลือไทยธรรมราชาที่ 1 ได้ประดิษฐานไว้บนยอดเขาสุมนกูฏ ด้านที่ 2 เป็นเรื่องทำการสักการะบูชา ในเวลาที่ได้แห่รอยพระพุทธบาทขึ้นบนเขาสุมนกูฏ ด้านที่ 3 ชำรุดเสียหายมาก แต่ยังอ่านได้พระนาม พระยาศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช พระธรรมราชาองค์นั้น เป็นพระโอรสของพระยาลือไทยธรรมราชาที่ 1 ตามที่กล่าว ในตอนปลายคำจารึกนี้คือ ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 15 มีความปรากฏว่า “พระองค์ได้ขึ้นมานบพระบาทลักษณ อันตนหาก (เดิมศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ อ่านว่า “อันตนชนก” แต่ภายหลังศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้ตรวจสอบใหม่พบว่า คำที่ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ อ่านว่า “อันตนชนก” นั้น ที่ถูกควรอ่านว่า “อันตนหาก” เพราะตัวอักษรในจารึกเขียนเช่นนั้น ฉะนั้นที่ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ กล่าวว่าเป็นจารึกของพระโอรสของพระยาลือไทยธรรมราชาที่ 1 นั้นจึงคลาดเคลื่อนควรเป็นจารึกของพระยาลือไทยเอง) ประดิษฐานแต่ก่อนเหนือจอมเขาสุมนกูฏ”

ในคำจารึกด้านที่ 3 ยังมีเรื่องราวที่พอจะอ่านได้ คือพระยาศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช (พระมหาธรรมราชาที่ 1) ได้เสด็จไปปราบปรามหัวเมืองข้างทิศตะวันออกถึงแม่น้ำสัก แล้วเสด็จขึ้นมาประทับอยู่สองแคว (เมืองพิษณุโลก) 7 ปี ข้างปลายด้านที่ 3 นี้กล่าวถึงอาณาเขตเมืองสุโขทัยที่แผ่ออกในแผ่นดินนั้น คำจารึกด้านที่ 4 เป็นเรื่องพระธรรมราชาที่ 1 เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏพร้อมกับชาวเมืองต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับกรุงสุโขทัยครั้งนั้น ได้นมัสการพระพุทธบาทและโปรดให้จารึกศิลาหลักนี้ขึ้น

รอยพระพุทธบาท

วัดเขาพระบาทใหญ่เคยเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองเมื่อราว พ.ศ.1902 ปัจจุบันนำมาประดิษฐานที่วัดตระพังทอง

พญาลิไทโปรดเกล้าฯ ให้ไปจำลองรอยพระพุทธบาทอันศักดิ์สิทธิ์บนเขาสุมนกูฏมาจากลังกา (เขาสุมนกูฏหรือสมนตกูฏ เป็นชื่อเขาสำคัญที่มีรอยพระพุทธบาทในลังกา คือที่อังกฤษเรียกว่า “อาดัมสปีก”) เพื่อมาประดิษฐานบนภูเขา 4 แห่ง ในสุโขทัย (สันติ เล็กสุขุม 2540 : 104-105) ได้แก่ 1.เขาสุมนกูฏ นอกเมืองสุโขทัย 2.เมืองศรีสัชนาลัย 3.เขานองนอง เมืองบางพาน 4.ปากเขาพระบาง เมืองนครสวรรค์ (ปัทมา เอกม่วง 2549 : 12)   

เขาสุมนกูฏของสุโขทัย คือภูเขาทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย หรือที่เรียกว่า เขาพระบาทใหญ่

เนื้อหาในจารึกหลักที่ 8 หรือจารึกวัดเขาสุมนกูฏ ที่กล่าวถึงการประดิษฐานรอยพระพุทธบาทนั้นมีความว่า (ยอร์ช เซเดส์ 2521 ; 2526)

“เขาอันนี้ชื่อสุมนกูฏบรรพต …

เรียกชื่อดังอั้นเพื่อไปพิมพเอารอย

ตีนพระพุทธเจาเราอันเหยียบเหนื -

อ จอมเขาสุมนกูฏบรรพต .. ในลังกา

ทวีปพูนมาประดิษฐานไวเหนือจอมเขาอันนี้แ -

ลวใหคนทั้งหลายไดเห็นรอยฝา

ตีนพระพุทธเปนเจาเรานี้มีลายอัน

ไดรอยแปดสีสอง ใหฝูงเทพดาและ

ทั้งหลายไดไหวนบทําบูชา .. ให …”

รอยพระพุทธบาทนี้ทำจากแผ่นหินสีเทา ขนาดกว้าง 19 นิ้ว ยาว 59 นิ้ว เป็นรอยพระพุทธบาทข้างขวา สลักลายมงคล 108  (สุธนา เกตุอร่าม 2523 : 32) รูปแบบการวางสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น มงคล 108 ใกล้เคียงกับศิลปะพุกาม (สันติ เล็กสุขุม 2540 : 105 ; นันทนา ชุติวงศ์ 2533 : 37) โดยเริ่มต้นสลักมงคล 108 ที่ใต้พระอังคุฐ (นิ้วโป้ง) เดินตามแนวนอนไปจนสุดแนวขวาง จนสู่แนวส้นพระบาท แล้วย้อนตีวงแคบเข้าจนจบที่ตรงกลาง ซึ่งเป็นระเบียบวิธีเดียวกับพุกาม (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2543 : 44-45)

ลักษณะของรูปเทวดาที่ปรากฏในรอยพระพุทธบาทนี้ เช่น พระพักตร์ยังไม่เป็นรูปรีที่ชัดเจน รูปแบของมงกุฎ มีรัดเกล้าทรงสูง คาดด้วยแหวนเป็นชั้นๆ สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นในรัชกาลของพญาเลอไท หรือต้นรัชกาลพระยาลิไท (สันติ เล็กสุขุม 2540 : 105)

ในขณะที่ ศ.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547 : 30-31) ให้ความเห็นว่าลายเทวดาและพระสาวกพนมมือ ลักษณะการสลักส่วนพระชงฆ์ พระบาท และชายผ้า มีลักษณะคล้ายกับภาพสลักดุนนูนบนแผ่นทองจังโกประดับพระธาตุหริภุญชัย อาจจะมีความเกี่ยวข้องกันได้ และถ้ารอยพระบาทชิ้นนี้คือหนึ่งในหลายรอยที่กล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยพญาลิไท ก็น่าจะสัมพันธ์กับทางด้านรูปแบบและระยะเวลา

 

ภายในวัดเขาพระบาทใหญ่ยังพบพระเครื่องปางลีลาจำนวนมาก ที่ชาวบ้านเรียกว่า “กรุวัดเขาพระบาทใหญ่” เช่นเดียวกับวัดใกล้เคียงคือ วัดเขาเจดีย์งาม วัดเขาพระบาทน้อย วัดเขาตะพานหิน และวัดถ้ำหีบ

นอกจากนี้ วัดเขาพระบาทใหญ่ยังมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับ “ข้าวตอกพระร่วง” หรือ “ข้าวสารพระร่วง” ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวัตถุมงคลหรือหินศักดิ์สิทธิ์ประเภทหนึ่งที่พบมากบริเวณเขาพระบาทใหญ่ โดยมีตำนานว่าเกิดจากวาจาสิทธิ์ของพระร่วงเจ้าผู้ครองแคว้นสุโขทัยในสมัยก่อน ขณะทรงออกผนวชอยู่ที่วัดเขาพระบาทใหญ่ในวันตักบาตรเทโว เมื่อได้ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ข้าวที่เหลือก้นบาตรท่านได้โปรยลงบนลานวัด และทรงอธิษฐานขอให้ข้าวตอกดอกไม้นี้กลายเป็นหินชนิดหนึ่ง พร้อมทั้งมีอายุยั่งยืนนานชั่วลูกชั่วหลาน เมื่อใครมีไว้บูชาบนหิ้งพระหรือพกติดตัวไว้ ก็จะเจริญด้วยโภคทรัพย์นานาประการ แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง นอกจากนั้นยังมีความเชื่ออีกว่า ถ้านำหินก้อนสี่เหลี่ยมที่ยังไม่เจียระไนมาฝนกับน้ำมะนาวนำไปทาบริเวณแผลก็จะสามารถถอนพิษสัตว์ได้ทุกชนิด ด้วยความเชื่อจากอดีตกาลส่งผลให้ในปัจจุบันชาวเมืองสุโขทัยโดยเฉพาะชาวบ้านตำบลเมืองเก่า นิยมนำข้าวตอกพระร่วงซึ่งมีที่เดียวในโลก บริเวณรอบวัดเขาพระบาท มาเจียระไนขัดและฝนกับกระดาษทรายจนเกลี้ยงเกิดเป็นเม็ดหินสีดำคล้ายนิล ประกอบเข้ากับเครื่องเงิน จนแปรสภาพเปลี่ยนเป็นเครื่องประดับต่างๆ ทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน จี้ ต่างหู กำไล ฯลฯ ส่วนเศษผงที่เหลือจากการเจียระไนก็นำมาโขลกและบดให้ละเอียดสร้างเป็นแม่พิมพ์พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ หรือพระพิมพ์ต่างๆ เชื่อว่าเป็นการสร้างให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้สวมใส่ (http://bankaotokprarung.com)

ดังนั้น ข้าวตอกพระร่วงที่ชาวบ้านเรียกขานกันจึงหมายถึงหินรูปสี่เหลี่ยมโดยธรรมชาติที่ฝังตัวอยู่ในหินก้อนใหญ่ ส่วนข้าวพระร่วงหรือข้าวก้นบาตรพระร่วงนั้นจะมีลักษณะคล้ายเมล็ดข้าวสุกฝังตัวอยู่ในหินสีดำ

ในทางธรณีวิทยา ข้าวตอกพระร่วง คือ แร่ Limonite หรือเป็นออกไซด์ของเหล็กชนิดหนึ่ง (2Fe2O3 . H2O) เนื่องจากแร่นี้ไม่มีรูปผลึกเป็นคอลลอยด์ (colloid) จึงสามารถเกิดเป็นผลึกโดยอาศัยรูปผลึกของแร่อื่นได้ ในกรณีของข้าวตอกพระร่วงนี้อาศัยรูปผลึกของแร่ PYRITE (FeS2) จึงเรียกว่า Limonite Pseudomorphed after Pyrite แร่นี้มีพบมากที่จังหวัดสุโขทัยพบฝังอยู่ในหินผุตามเชิงเขาพระบาทใหญ่ เมื่อทุบให้แผ่นหินผุแตกจะพบหินเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายลูกเต๋าสีสนิมเหล็ก หรือสีน้ำตาลไหม้เล็กบ้างใหญ่บ้าง ก้อนใหญ่หน้าราบขนาดราว 2-3 เซนติเมตร ก้อนเล็กราว 0.5 เซนติเมตร และก้อนใหญ่บางก้อนนั้นถ้าทุบให้แตกอีกก็จะแตกเป็นก้อนย่อยๆ รูปสี่เหลี่ยมอีกเช่นเดียวกัน แต่บางก้อนเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาวก็มี

ปัจจุบันเครื่องประดับจากข้าวตอกพระร่วงเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของท้องถิ่น

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2551.

“ตำนานข้าวตอกพระร่วง.” (ออนไลน์), มปป.. เข้าถึงเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2558. แหล่งที่มา  http://bankaotokprarung.com

นันทนา ชุติวงศ์. รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และอาคเนย์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2533.

ปัทมา เอกม่วง. “การเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรมบนรอยพระพุทธบาทที่วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา และที่วัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2526.

วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี. “จารึกวัดเขาสุมนกูฏ.” ใน ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2546. เข้าถึงเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2558. แหล่งที่มา http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=201

ยอร์ช เซเดส์. “หลักที่ 8 ศิลาจารึกวัดเขาสุมนกูฏ.” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 : เป็นจารึกกรุงสุโขทัยที่ได้พบก่อน พ.ศ.2467. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521 : 111-118.

ยอร์ช เซเดส์. “ศิลาจารึกวัดเขาสุมนกูฏ พุทธศักราช 1912.” ใน จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526 : 80-91.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. การศึกษาเชิงเปรียบเทียบศิลปกรรมสุโขทัยและล้านนา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543 : 44-45.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2540.

สินชัย กระบวนแสง. “รอยพระพุทธบาทสมัยสุโขทัย.” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร 3, 1 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2522) : 132-157.

สุธนา เกตุอร่าม. การสร้างรอยพระพุทธบาทสมัยพญาลิไท.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี หมาวิทยาลัยศิลปากร, 2523.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง