โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดเขาพนมเพลิง, วัดถวายเพลิง
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ต.ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย
ตำบล : ศรีสัชนาลัย
อำเภอ : ศรีสัชนาลัย
จังหวัด : สุโขทัย
พิกัด DD : 17.434093 N, 99.784512 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม
วัดเขาพนมเพลิงอยู่บนยอดเขาพนมเพลิง อยู่ในพื้นที่ด้านทิศเหนือภายในเมืองศรีสุชนาลัย ทางขึ้นวัดมีสองทาง คือ ทางด้านหน้าวัดและข้างวัดซึ่งทำเป็นบันไดศิลาแลงขนาดกว้างขวางประมาณ 6 เมตร
การเดินทางมายังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยนั้น สามารถเดินทางเข้ามาได้หลายวิธี ดังนี้
1. รถโดยสารประจำทาง โดยมีรถประจำทางของบริษัทสุโขทัยวินทัวร์จากกรุงเทพฯ (สถานีขนส่งหมอชิต)ทุกวัน
2. รถไฟ เส้นทางกรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์ ลงที่สถานีสวรรคโลก จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทาง
3. เครื่องบิน มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ-สุโขทัย วันละ 2 เที่ยว
4. รถส่วนตัว จากตัวเมืองสุโขทัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 เส้นสุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย ไปจนถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 17 - 19 เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแม่น้ำยม จะมีทางแยกขวาเข้าอุทยานฯ ไป ประมาณ 1.5 กิโลเมตร เป็นระยะทาง 68 กิโลเมตร หรือ หรือ จากอำเภอสวรรคโลกไปตามทางหลวงหมายเลข 1201 ไปจนถึงตำบลเมืองเก่า บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ อีก 2 กิโลเมตร รวมระยะทาง 22 กิโลเมตร
วัดเขาพนมเพลิงเป็นวัดที่สำคัญของเมืองศรีสัชนาลัย โดยอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของไทยอีกแห่งหนึ่ง วัดเขาพนมเพลิงนี้มีเจดีย์ มองเห็นตระหง่านอยู่บนยอดเขา ด้านหลังมีซุ้มพระ ชาวบ้านเรียกกันว่าศาลเจ้าแม่ละอองสำลี เป็นที่เคารพของชาวเมืองทั่วไป ฐานเจดีย์ที่มีการพัฒนาเป็นฐานย่อมุมซึ่งเป็นศิลปะทวารวดีและศิลปะล้านนา ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยเสียค่าธรรมเนียมเข้าชมรวมกับการเข้าชมอุทยาน
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2533 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO เมื่อ พ.ศ.2534 ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ในฐานะเมืองบริวารของสุโขทัย
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่มาเยี่ยมชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่าง ดังนี้
- ศูนย์บริการข้อมูลที่เปิดให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและประวัติศาสตร์ของเมืองศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- เจ้าหน้าที่นำชมโบราณสถาน/วิทยากร ที่คอยแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ และพร้อมนำชมโบราณสถานในเขตอุทยานฯทุกวัน
- แผ่นพับประชาสัมพันธ์และป้ายอธิบายโบราณสถานแต่ละแห่ง
- เส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯที่สะดวกสบาย เชื่อมโยงโบราณสถานแต่ละแห่ง
- ป้ายบอกทางไปโบราณสถานเป็นระยะ
- จักรยานและรถรางในพื้นที่ภายในกำแพงเมือง
อัตราค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 20 บาท และ 40 บาท(สำหรับบัตรรวม) สามารถเข้าชมภายในอุทยานฯ วัดชมชื่น และแหล่งอนุรักษ์เตาเผาสังคโลกหมายเลข 61 และ 42
ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ 100 บาท และ 220 บาท (สำหรับบัตรรวม)
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่คอยบริการนักท่องเที่ยวด้วย เช่น ค่าเช่าจักรยานคันละ 20 บาท สำหรับชาวไทย, ค่ารถรางคนละ 20 บาท สำหรับชาวไทย และ 40 บาทสำหรับชาวต่างชาติ หรือเหมาคันละ 300 บาท (ไม่เกิน 15 คน) *จักรยานและรถรางเป็นสัมปทานเอกชน อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้*
สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าชมได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โทรศัพท์ 055-679211
กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
1. กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดเขาพนมเพลิง โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 หน้า 3702 โดยในขณะนั้น ประกาศขึ้นทะเบียนเพียงแค่ชื่อเท่านั้น ไม่ได้กำหนดขอบเขตของโบราณสถานแต่อย่างใด
2. กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง โดยโบราณสถานวัดเขาพนมเพลิงเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
ขึ้นทะเบียนของ UNESCO
วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574
วัดเขาพนมเพลิงตั้งอยู่ด้านทิศเหนือภายในเมืองศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ยอดเขาพนมเพลิง สูงประมาณ 25 เมตร อยู่ติดกับเขาสุวรรณีคีรีที่อยู่ทางทิศตะวันตก โดยอยู่ในเทือกเขาเดียวกัน
โบราณสถานตั้งห่างจากคูเมืองด้านทิศตะวันตกมาทางทิศตะวันออกประมาณ 400 เมตร ห่างจากคูเมืองด้านทิศเหนือมาทางทิศใต้ประมาณ 300 เมตร ห่างจากแม่น้ำยมมาทางทิศตะวันตกประมาณ 350 เมตร
พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสุโขทัยจะเป็นที่ราบลุ่ม ทางตอนเหนือและตอนใต้ของจังหวัดมีลักษณะเป็นที่ราบสูง มีเขาหลวงเป็นภูเขาที่มีความสูงที่สุด วัดจากระดับน้ำทะเลมีความสูงประมาณ 1,200 เมตร โดยมีแนวภูเขายาวเป็นพืดทางด้านทิศตะวันตก ส่วนพื้นที่ตอนกลางของจังหวัดจะเป็นที่ราบ มีแม่น้ำยมไหลผ่านจากทิศเหนือจรดทิศใต้ ผ่านอำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมืองสุโขทัย และอำเภอกงไกรลาศ ช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดสุโขทัยยาวประมาณ 170 กิโลเมตร
อำเภอศรีสัชนาลัยตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของจังหวัดสุโขทัย มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้
1. ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอวังชิ้นและอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่)
2. ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอลับแลและอำเภอตรอน (จังหวัดอุตรดิตถ์)
3. ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอศรีนคร อำเภอสวรรคโลก และอำเภอทุ่งเสลี่ยม
4. ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเถิน (จังหวัดลำปาง)
เมืองโบราณศรีสัชนาลัย มีสภาพภูมิประเทศที่ตั้งของเมืองเป็นที่ราบเชิงเขาพระศรี และ เขาใหญ่ ทางด้านทิศตะวันตก และมีลำน้ำยมอยู่ทางด้านทิศตะวันออก
แม่น้ำยม
ลักษณะทางธรณีวิทยาบริเวณอำเภอศรีสัชนาลัย มีสภาพเป็นหินเชล (Shale) สี Olive หรือสี Grey จนถึงสี Dark Grey พบเป็นผืนใหญ่ตั้งแต่พื้นที่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีลักษณะ ของหินปูน (Limestone) สีจาง เนื้อละเอียดแทรกอยู่บริเวณตอนกลางของต้นน้ำห้วยแม่สานอีกด้วย
ลักษณะทางปฐพีวิทยานั้น เป็นดินที่เกิดอยู่กับที่ (Residual soil) เกือบทั้งสิ้น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชัน จึงจัดหน่วยของดินนี้ไว้เป็นที่ลาดเชิงซ้อน (Slope complex) ดินที่เกิดขึ้นจึงเป็นดินที่เกิดอยู่กับที่ที่มีการพัฒนาดินไปได้ค่อนข้างดี ดินเหล่านี้ มีป่าเบญจพรรณขึ้น ปกคลุมโดยทั่วไป มีความชื้นค่อนข้างสูง
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478
วิธีศึกษา : กรมศิลปากร
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 หน้า 3702 ในขณะนั้นเพียงแต่ประกาศแค่ชื่อเท่านั้น (ชื่อที่ใช้ในประกาศฯคือ เขาพนมเพลิง) แต่ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใดชื่อผู้ศึกษา : พิทยา ดำเด่นงาม, ประโชติ สังขนุกิจ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2508, พ.ศ.2509, พ.ศ.2510, พ.ศ.2511, พ.ศ.2512
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พิทยา ดำเด่นงาม และประโชติ สังขนุกิจ เป็นผู้เรียบเรียงรายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณวัตถุสถานเมืองเก่า กำแพงเพชร เมืองศรีสัชนาลัย พ.ศ.2508-2512. โดย คณะกรรมการปรับปรุงบูรณะโบราณสถาน จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดกำแพงเพชร กรมศิลปากร โดยพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2514 สำหรับวัดเขาพนมเพลิงที่ดำเนินงานในครั้ง กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะ ในปีพ.ศ.2510 บริเวณวิหารมีแท่นพระขนาดใหญ่ ซึ่งองค์พระล้มลงอยู่ใกล้ๆ จึงยกชิ้นส่วนที่มีอยู่มาประกอบและตกแต่งส่วนที่หายไปชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ดำเนินการบูรณะบันไดทางขึ้นด้านหน้าวัด และศาลาที่พักระหว่างทางขึ้นเขาชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง โดยโบราณสถานวัดเขาพนมเพลิง เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรบูรณะเจดีย์ประธาน เจดีย์ราย และศาลเจ้าแม่ละอองสำลีชื่อผู้ศึกษา : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ภาควิชาศิลปะสถาปัตยกรรม. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเผยแพร่ รายงานแบบสำรวจรังวัดโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ในปี พ.ศ. 2549ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
ผลการศึกษา :
ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม จัดทำรูปแบบสันนิษฐานของโบราณสถาน ของพื้นที่มรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และตีพิมพ์เผยแพร่ชื่อผู้ศึกษา : นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้จัดทำหนังสือนำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดี ทั้งการสำรวจ การขุดค้นและการขุดแต่งที่ผ่านมาทั้งหมด ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าใจอดีตของแคว้นสุโขทัยได้มากยิ่งขึ้น โดยในหนังสือนำชมจะมีเนื้อหาของประวัติความเป็นมาของเมืองโบราณแต่ละแห่ง รวมทั้งรายละเอียดของโบราณสถานแต่ละแห่งเขาพนมเพลิงปรากฏในพงศาวดารเหนือตอนที่เกี่ยวกับการสร้างเมืองสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) โดยกำหนดให้เขาพนมเพลิงอยู่กลางเมืองและได้สร้างวัดไว้บนเขาพนมเพลิง ดังกล่าวอ้างไว้ดังนี้ "กล่าวสำหรับเขาพนมเพลิงนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สำหรับประกอบพิธีบูชาไฟดังปรากฏข้อความในพงศาวดารเหนือ กล่าวถึงฤๅษีสัชนาลัยสั่งสอนบาธรรมราชว่า "สูเจ้าจงเอาพนมเพลิงเข้าไว้ในเมือง เป็นที่สร้างพรตบูชากูณฑ์ผู้เฒ่าจะสั่งสอน จงทำตามคำ"
จากประวัติในพงศาวดาวดังกล่าวหมายถึงเคยมีการใช้เขาพนมเพลิงเป็นแหล่งประกอบพิธีบำเพ็ญพรต แล้วจุดอัคคีบูชาเทวะเป็นเจ้า โดยกำหนดให้วัดเขาพนมเพลิงตั้งอยู่กลางเมืองศรีสัชนาลัย เป็นชัยภูมิของการสร้างเมืองให้โดดเด่นนั่นคือเป็นการสร้างเมืองศรีสัชนาลัยที่โอบล้อมภูเขานี้ไว้ใจกลางเมือง เพื่อให้เป็นชัยภูมิอันเหมาะสมยิ่งในการประกอบพิธีดังกล่าว
เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความเห็นไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ว่า “… แต่ถ้าแม้ได้บูชาเกณฑ์บนเขานี้จริง น่าจะไปบูชาบนยอดเขาที่เรียกว่าสุวรรณคีรี ซึ่งเป็นยอดสูง และชื่อพนมเพลิงน่าจะมุ่งเรียกรวมทั้งสองยอดเป็นเขาอันเดียว ชื่อสุวรรณคีรีน่าจะเป็นชื่อภายหลัง...”
วัดเขาพนมเพลิงหันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออก เป็นกลุ่มโบราณสถานที่มีลักษณะของฐานปัทม์ย่อมุมที่รองรับองค์ระฆัง แสดงถึงการพัฒนาจากฐานกลมหรือฐานแปดเหลี่ยมมาเป็นการย่อมุม ซึ่งการทำย่อมุมลักษณะนี้เป็นศิลปะทวารวดีและศิลปะล้านนา
กลุ่มโบราณสถาน ประกอบด้วย
1) เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลงตั้งแต่บริเวณก้านฉัตรขึ้นไปพังทลายลงมาหมด ขนาดฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ 11 เมตร มีอาคารศิลาแลงประกอบทางด้านหน้า รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 8 เมตร ยาว 10.5 เมตร
2) ฐานวิหาร ก่อด้วยศิลาแลง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 15 เมตร ยาว 20 เมตร ภายในวิหารยังคงมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งเหลืออยู่
3) มณฑป ก่อด้วยศิลาแลง ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 8 เมตร ยกพื้นสูง หลังคาโค้งแหลม มีบันไดทางขึ้นสู่ภายในมณฑปทางด้านหน้า ชาวบ้านเรียกว่า “ศาลเจ้าแม่ละออกลำสี”
4) ฐานเจดีย์ราย ก่อด้วยศิลาแลง จำนวน 6 องค์ ตั้งอยู่ทางด้านหลังเจดีย์ประธาน ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ 3-4 เมตร
มีบันไดทางขึ้นสู่บนวัดเขาพนมเพลิงทางด้านหน้าวัด และทางด้านข้าง ระหว่างทางขึ้นทั้งสองด้านมีศาลาที่พัก ซึ่งเหลือเพียงแต่ฐานก่อด้วยศิลาแลงเหลืออยู่
กรมศิลปากร. “วัดเขาพนมเพลิง บน.8.” ใน ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 2 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx
กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2535.
คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
จุฬรักษ์ ดำริห์กุล. ศรีสัชนาลัย มรดกโลกทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2537.
ธิดา สาระยา. นำเที่ยวศรีสัชชนาลัย. กรุงเทพฯ : สีดา, 2542.
ธิดา สาระยา. เมืองประวัติศาสตร์ : เมืองพิมาย เขาพระวิหาร เมืองอุบล เมืองศรีสัชชนาลัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2538.
ธิดา สาระยา. เมืองศรีสัชชนาลัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2537.
นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (Guide to Sukhothai Si Satchanalai and Kamphaeng Phet historical parks). กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2553.
ประโชติ สังขนุกิจ. นำชมโบราณวัตถุสถาน ในอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย. พระนคร : กรมศิลปากร, 2513.
ประโชติ สังขนุกิจ. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย (A guidebook to Si Satchanalai historical park). กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.
ประโชติ สังขนุกิจ. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.
พันธลักษณ์. มรดกโลกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บ้านหนังสือ 19, 2547.
พิทยา ดำเด่นงาม และประโชติ สังขนุกิจ. รายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณวัตถุสถานเมืองเก่า กำแพงเพชร เมืองศรีสัชนาลัย พ.ศ.2508-2512. พระนคร : กรมศิลปากร คณะกรรมการปรับปรุงบูรณะโบราณสถาน จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดกำแพงเพชร, 2514.
ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม. รายงานแบบสำรวจรังวัดโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549.
มานพ ถนอมศรี. ศรีสัชนาลัย : โบราณสถานสามสมัย. กรุงเทพฯ : พี พี เวิลด์ มีเดีย, 2546.
“เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร.” ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก (The World Herritage Information Center) (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.thaiwhic.go.th/heritage_culture.aspx
สด แดงเอียด. เมืองเชลียง เชียงชื่น ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2536.
สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.
อุดม เชยกีวงศ์. มรดกไทย มรดกโลก : สิ่งล้ำค้าที่ทุกคนในโลกต้องช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา 2549.
เอนก สีหามาตย์. มรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.