โพสต์เมื่อ 7 ส.ค. 2021
ชื่ออื่น : โบราณสถานโคกเศรษฐี, โบราณสถานทุ่งเศรษฐี
ที่ตั้ง : ม.6 บ้านโคกเศรษฐี
ตำบล : เขาใหญ่
อำเภอ : ชะอำ
จังหวัด : เพชรบุรี
พิกัด DD : 12.847421 N, 99.954157 E
จากตัวเมืองเพชรบุรีใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) เส้นทางเพชรบุรี-ชะอำ เมื่อถึงแยกนิคม (ก่อนถึงชะอำประมาณ 8กิโลเมตร) เลี้ยวซ้ายไปทางบ้านเกตุ ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร จะพบโบราณสถานทุ่งเศรษฐีอยู่ทางขวามือ ข้างวัดทุ่งเศรษฐี
ปัจจุบันโบราณสถานทุ่งเศรษฐีอยู่ในเขตวนอุทยานเขานางพันธุรัต ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ได้ช่วยกันดูแลและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานแห่งนี้ จนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของวนอุทยาน
กรมศิลปากร
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 122 ตอนที่ พิเศษ 98ง วันที่ 22 กันยายน 2548
เป็นพื้นที่ราบเชิงเขาหรือที่ราบชายฝั่งทะเล เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำกร่อยและตะกอนที่น้ำทะเลพัดพามา โบราณสถานตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาจอมปราสาท ซึ่งเป็นเทือกเขาหินปูนเทือกเดียวกับเขาเจ้าลายใหญ่ เขาถ้ำใหญ่ เขามันหมู และเขาคอกเศรษฐี ที่ทอดตัวต่อเนื่องยาวกว่า 4 กิโลเมตร ในแนวเหนือ-ใต้ อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลชะอำประมาณ 4 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นพื้นที่โดยรอบเป็นที่อยู่อาศัยของราษฎรและเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
ด้านตะวันตกและทิศเหนือของโบราณสถานมีเทือกเขาหินปูนขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วย เขาถ้ำโหว่ เขามันหมู เขาเจ้าลายใหญ่ เขาจอมปราสาท เขาตกน้ำ เขาตาจีน เขานาขวาง และเขานายาง เทือกเขานี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตอนกลางของเขตที่ราบชายฝั่งทะเลของจังหวัดเพชรบุรี บางพื้นที่มีการใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์
สภาพเนินโบราณสถานก่อนการขุดแต่ง มีลักษณะเป็นเนินโบราณสถานขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐ มีดินทับถมและต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น ฐานโบราณสถานกว้างประมาณ 20 เมตร สูงประมาณ 7 เมตร มีหลุมลักลอบขุดหาโบราณวัตถุบริเวณกลางเนิน หลุมลึกประมาณ 4 เมตร
ทางด้านทิศใต้ของเนินโบราณสถาน ห่างออกไปประมาณ 200 เมตร พบร่องรอยของแหล่งน้ำ ซึ่งในปัจจุบันได้ตื้นเขินแล้ว
ทางด้านทิศใต้ของโบราณสถาน ห่างออกไปประมาณ 200 เมตร พบร่องรอยของแหล่งน้ำ ซึ่งในปัจจุบันได้ตื้นเขินแล้ว
ลักษณะเป็นชายฝั่งยกตัวต่อเนื่องจากพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำตอนกลางของจังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำกร่อยและตะกอนน้ำทะเล ลักษณะราบเรียบ มีความลาดชันน้อยกว่าร้อยละ 1 บริเวณที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเล วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นพวกทราย ตอนกลางของเขตที่ราบชายฝั่งมีเทือกเขาหินปูนขนาดเล็กปรากฏอยู่ ประกอบไปด้วย เขาถ้ำโหว่ เขามันหมู เขาเจ้าลายใหญ่ เขาจอมปราสาท เขาตกน้ำ เขาตาจีน เขานาขวาง และเขานายาง เทือกเขาเหล่านี้บางบริเวณมีการใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ความลาดชันของเทือกเขามีมากกว่าร้อยละ 35 ขึ้นไป ประเภทของหินที่พบส่วนใหญ่เป็นหินปูนสีเทาถึงเทาเข้ม บางครั้งก็พบว่ามีสีน้ำเงิน สีเหลือง หรือสีขาวปะปนอยู่ในเนื้อหินด้วย พบทั้งหินปูนเนื้อแน่นและเกิดเป็นชั้น พบซากดึกดำบรรพ์จำนวนมาก เช่น Brachiods Fusulinids และ Bryozoa
ในบางบริเวณตอนล่างของชั้นหินปูนจะมีชั้นหินทรายรองรับอยู่และเกิดแบบสลับชั้นกับหินปูน มีแร่เฟลสปาร์สีน้ำตาลอ่อน หินกรวดเหลี่ยม พวกหินปูนเชื่อมด้วยแร่ซิลิกา ลักษณะแข็งและเนื้อแน่น หินชุดดังกล่าวนี้เกิดในยุคเพอร์เมียน หรือประมาณ 250 ล้านปี บริเวณเชิงเขาทางด้านตะวันตกจะเป็นที่ราบเก่าซึ่งประกอบไปด้วยชั้นของกรวดทราย หินมน หินหลุด และเม็ดของหินควอทไซต์ หินควอตซ์ หินเชิร์ต หินชนวน หินทราย และหินแกรนิต ที่สะสมตัวตามไหล่เขา นอกจากนี้ยังพบดินลูกรังอยู่ในระดับที่สูงบางบริเวณ ซึ่งเกิดในช่วงเวลาภายหลังพื้นที่ราบ แต่อยู่ในยุคเดียวกัน คือเกิดในสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) ยุคควอเตอนารี (Quaternary) มหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic)
จากการศึกษาด้านปฐพีวิทยาพบว่าพื้นที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดีนั้น ประกอบไปด้วยดินชุดหัวหิน (Hua Hin series) ดินชุดสมุทราปราการ (Samut Prakan series) ดินชุดบางกอก (Bangkok series) ดินชุดรังสิต (Rangsit series) และดินชุดชลบุรี (Chonburi series) แต่พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโบราณสถานทุ่งเศรษฐีและชุมชนโบราณสมันทวารวดีอีกหลายแห่งนั้น ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เป็นดินชุดรังสิต
ดินชุดรังสิต (Sangsit series) จัดอยู่ใน Hydromorphic Alluvial Soil เกิดจากตะกอนที่ถูกน้ำพัดพามาทับถมโดยน้ำกร่อย (Brackish water) ในบริเวณซึ่งอดีตน้ำทะเลเคยท่วมถึง สภาพพื้นที่ที่พบมีลักษณะราบเรียบ มีความลาดชันร้อยละ 1 ดินชุดนี้เป็นดินลึก มีการระบายน้ำเลว ดินมีความสามารถให้น้ำซึมผ่านได้ช้ามาก มีการไหลบ่าของน้ำบนผิวดินช้าตามปกติแล้ว ระดับน้ำใต้ดินลึกประมาณ 1 เมตร
ดินชั้นบนลึกไม่เกิน 25 ซ.ม. มีเนื้อดินเป็นดินเหนียวจัด สีพื้นเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลปนดำเข้ม มีจุดประสีน้ำตาลปนเหลืองและสีแดงบ้างเล็กน้อย ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัด (pH 4.5) ดินล่างเนื้อดินเป็นดินเหนียวจัด มีสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลปนดำ มีจุดประสีน้ำตาลเข้ม และมีจุดประสีแดงมากขึ้นกว่าดินชั้นบนจะพบสารสีเหลืองฟางข้าว (jarosite) ในระดับความลึกต่ำกว่า 40 ซ.ม. ลงไป ปฏิกิริยาของดินเป็นกรดจัดมาก (pH 4 หรือต่ำกว่า 4 ในระดับ 80 ซ.ม. ลงไป) สีของดินเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำปนเทา มีจุดประสีน้ำตาลปนเหลือง และสีแดงเพิ่มมากขึ้น
จากผลการวิเคราะห์ทางเคมีของตัวแทนดินชุดนี้ปรากฏว่าดินตอนบนหนาประมาณ 30 ซ.ม.มีปริมาณอินทรีย์วัตถุสูงปานกลาง การอิ่มตัวด้วยเบสต่ำ มีความสามารถใรการแลกเปลี่ยนประจุบวกสูง มีปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูงมาก ส่วนดินตอนล่างลึกตั้งแต่ 30 ซ.ม. ลงไป มีการอิ่มตัวด้วยเบสต่ำ มีความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวกสูง มีปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพื้ชต่ำมาก และมีปริมาณธาตุโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูงมาก
ดินชุดนี้ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในการทำนา นาที่ทำส่วนมากเป็นนาดำ ความอุดมสมบูรณ์ของดินปานกลางถึงต่ำ ดินเป็นดินเปรี้ยว
ชื่อผู้ศึกษา : ฉัตรชัย อักษรศิลป์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2528 (ฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะ. การสำรวจและศึกษาร่องรอยของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในจังหวัดเพชรบุรี. เอกสารประกอบการสัมมนาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533, 58) ชาวบ้านเล่าว่ามีการขุดเจาะทำลายโบราณสถานบริเวณทุ่งเศรษฐี เพื่อหาทองคำตามลายแทง โดยขุดเจาะตอนกลางและตอนบนของโบราณสถาน พบประติมากรรมปูนปั้นจำนวนมาก มีทั้งเทวรูป พระพุทธรูป ภาพบุคคล รูปสัตว์ต่างๆ และได้นำปูนปั้นเหล่านั้นไปทุบทำลาย เพราะเชื่อว่าอาจมีทองคำบรรจุอยู่ เมื่อไม่พบจึงนำกลับมาถมคืนไว้ในบริเวณกลางโบราณสถานที่ขุดไว้ชื่อผู้ศึกษา : อัศวี ศรจิตติ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2532 พระอาจารย์วรรธณะ อาจารสัมปันโน แห่งสำนักสงฆ์ทุ่งเศรษฐี ได้แจ้งให้กรมศิลปากรไปตรวจสอบโบราณสถานบริเวณทุ่งเศรษฐี หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จากหน่วยศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี นำโดยนายอัศวี ศรจิตติ (หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี) ได้เดินทางไปสำรวจในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2532 พบว่าโบราณสถานแห่งนี้มีลักษณะเป็นเนินดินค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25 เมตร สูง 3 เมตร ภายในและด้านข้างของเนินดินปรากฏฐานสิ่งก่อสร้างที่ก่อด้วยอิฐ ซึ่งอาจเป็นเจดีย์ มีวัชพืชปกคลุม พบร่องรอยการขุดทำลายเป็นหลุมลึกบริเวณกลางเนินโบราณสถาน จากลักษณะแผ่นอิฐที่พบบริเวณเนินโบราณสถานซึ่งมีขนาดใหญ่รวมทั้งเศษปูนปั้น สันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้เก่าถึงสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) ส่วนปูนปั้นที่ไม่ถูกทำลายที่พบจากการสำรวจ ได้นำไปเก็บรักษาไว้ในสถานที่ต่างๆ ได้แก่ สำนักสงฆ์ทุ่งเศรษฐี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี อ.เมือง จ.เพชรบุรี, วัดบรรพตาวาส (วัดเขากระจิว) อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี, และโรงงานเถ้าฮงไถ่ อ.เมือง จ.ราชบุรี (คุณชาญชัย สุภาณิชวรภาชน์)ชื่อผู้ศึกษา : อาณัติ บำรุงวงศ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
นายอาณัติ บำรุงวงศ์ นักโบราณคดี เดินทางไปสำรวจโบราณสถานทุ่งเศรษฐี ตามโครงการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานเร่งด่วน ของกรมศิลปากร พบว่าเป็นซากเจดีย์ก่ออิฐที่มีเนินดินปกคลุมอยู่ ลักษณะอิฐเป็นแบบทวารวดี (กรมศิลปากร. โบราณสถานที่ยังมิได้ขึ้นทะเบียน เล่ม 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2533, 111)ชื่อผู้ศึกษา : นิติ แสงวัณณ์, สุรพงษ์ สุริโย
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2537 นายนิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดี และนายสุรพงษ์ สุริโย ช่างสำรวจของหน่วยศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้สำรวจและจัดทำผังบริเวณโบราณสถานทุ่งเศรษฐี โดยกำหนดเขตโบราณสถานและตรวจสอบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยรอบโบราณสถานดังกล่าว เพื่อดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนชื่อผู้ศึกษา : พยุง วงษ์น้อย
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2539 นางสาวพยุง วงษ์น้อย นักโบราณคดี สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี ดำเนินการสำรวจโบราณสถานทุ่งเศรษฐี เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทางโบราณคดี และได้รายงานว่าโบราณสถานทุ่งเศรษฐีมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ ความกว้างยาวด้านละประมาณ 20 เมตร สูงประมาณ 7 เมตร มีต้นไม้ขนาดใหญ่น้อยขึ้นปกคลุม บนยอดเนินตรงกลางและด้านทิศตะวันออก มีหลุมลักลอบขุดทำลายลึกประมาณ 4 เมตร ที่ผนังหลุมสามารถมองเห็นโครงสร้างการเรียงอิฐภายในตัวโบราณสถาน อิฐที่พบมีขนาดใหญ่ ขนาดประมาณ 35x17x10 ซ.ม. ก่อเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ภายในอิฐมีส่วนผสมของแกลบข้าวมาก ซึ่งเป็นลักษณะของอิฐสมัยทวารวดี นอกจากนั้นภายในหลุมลักลอบขุดยังพบเศษปูนปั้นจำนวนหนึ่งชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
เดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.2541 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี ดำเนินการขุดแต่งและขุดตรวจทางโบราณคดี (หลุม T.P.I) รวมถึงออกแบบเพื่อการบูรณะโบราณสถานทุ่งเศรษฐี โดยจากการดำเนินงานพบหลักฐานทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุจำนวนมากหลังจากการขุดแต่งในปี พ.ศ.2541 พบว่าโบราณสถานที่ทุ่งเศรษฐีเป็นส่วนฐานของสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่สมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาวด้านละ 25 เมตร มีความสูงที่เหลืออยู่ในปัจจุบันประมาณ 5 เมตร
ลักษณะเจดีย์ก่ออิฐสอดินฉาบปูน วางตัวแนวแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก องค์เจดีย์ประกอบด้วยฐานประทักษิณ ขนาดความกว้าง3.4 เมตร ยาว 25 เมตร สูง 1 เมตร มีบันไดที่กึ่งกลางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก บันไดขนาดกว้าง 2.5 เมตร ยื่นออกมาจากฐานประทักษิณ 2.3 เมตร ผนังด้านข้างของฐานประทักษิณมีฐานบัวลูกแก้วรองรับผนังก่ออิฐ ซึ่งมีเสาประดับผนังเป็นช่วงๆ แต่ละต้นห่างกันประมาณ 82-86 ซ.ม. พื้นลานประทักษิณด้านบนปูด้วยแผ่นอิฐ
ถัดจากลานประทักษิณขึ้นไปเป็นส่วนของเจดีย์ ประกอบด้วยฐานเขียงซ้อนกันสองฐานรองรับฐานบัววลัย ส่วนของท้องไม้ขยายสูง มีลวดบัวตรงกึ่งกลางแบ่งเป็นสามแถว ถัดจากท้องไม้ขึ้นไปจึงเป็นฐานหน้ากระดาน มีการประดับเสาติดผนังและแบ่งเป็นช่องๆ ช่องละประมาณ 80 ซ.ม. เพื่อประดับประติมากรรมรูปคนแคระแบก เหนือฐานนี้ขึ้นไปจึงเป็นส่วนของเจดีย์ประกอบด้วยผนังที่มีเสาติดผนังประดับอยู่ และเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งจึงน่าจะเป็นส่วนของเจดีย์ทรงระฆังซึ่งพังทลายลงหมดแล้ว ลักษณะของแผนผังและรูปแบบเปรียบเทียบได้กับเจดีย์หมายเลข 7 หมายเลข 31 และหมายเลข 40 เมืองคูบัว น่าจะมีส่วนที่เป็นเรือนธาตุประดับจระนำซุ้ม เพื่อประดิษฐานประติมากรรม (พระพุทธรูป) เพราะพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปจากการสำรวจและขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีด้วย