หลุมขุดค้นนอกกำแพงเมืองสิงห์


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : เมืองสิงห์, หลุมขุดค้นโครงกระดูก เมืองสิงห์

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

ตำบล : สิงห์

อำเภอ : ไทรโยค

จังหวัด : กาญจนบุรี

พิกัด DD : 14.03657 N, 99.244511 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่กลอง, แควน้อย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่าน จังหวัดนครปฐม มาประมาณ 9 กิโลเมตร จะพบสะพานลอยข้ามไปทางจังหวัดกาญจนบุรี ไปตามทางหลวงหมายเลข 323 ประมาณ 7 กิโลเมตร จะพบสี่แยก ให้เลี้ยวขวา (แยกซ้ายไปบ้านโป่ง ตรงไปคือถ้ำค้างคาว) เพื่อไปยังอำเภอเมืองกาญจนบุรี จากนั้นมุ่งหน้าสี่แยกแก่งเสี้ยน ให้ขับไปทางอำเภอไทรโยค (ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี บริษัทเจียไต๋) ประมาณ 30 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางไปอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ จากนั้นให้เลี้ยวซ้าย ไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

หลุมขุดค้นตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

อัตราค่าธรรมเนียมคนไทยคนละ 20 บาท, ชาวต่างชาติคนละ 50 บาท, รถยนต์คันละ 50 บาท, รถสามล้อเครื่อง 30 บาท, รถจักรยานยนต์ 20 บาท, รถจักรยาน 10 บาท

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี 71150 โทรศัพท์และโทรสาร 034 670264-5 อีเมล์ muangsing_park@hotmail.com เว็บไซต์ http://www.muangsinghp.com

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

เมืองสิงห์ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ดังนี้

1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3679 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณวัตถุสถานสำหรับชาติ (เมืองสิงห์)

2. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 77 ตอนที่ 60 วันที่ 19 กรกฎาคม 2503 การกำหนดจำนวนโบราณวัตถุสถานสำหรับชาติ (เมืองสิงห์) พร้อมทั้งประกาศกำหนดเขตพื้นที่โบราณสถาน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

หลุมขุดค้นอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ตั้งอยู่ริมฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำแควน้อย บริเวณเหนือคุ้งน้ำ นอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ของเมืองสิงห์ หรืออยู่ระหว่างกำแพงเมืองกับแม่น้ำแควน้อย โดยอยู่ห่างจากกำแพงเมืองศิลาแลงทางทิศใต้ของเมืองสิงห์ไปทางทิศใต้ประมาณ 44 เมตร และห่างจากริมฝั่งแม่น้ำแควน้อยไปทางทิศเหนือประมาณ 15 เมตร หลุมขุดค้นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 4x4 เมตร วางตัวตามแนวทิศ (ชื่อหลุมขุดค้น PMS’86) มีการสร้างอาคารคลุม มีป้ายบรรยายให้ข้อมูลทางโบราณคดีติดตั้งอยู่ที่ผนัง  

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

81 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำแควน้อย, แม่น้ำแม่กลอง

สภาพธรณีวิทยา

ที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงทับถมของตะกอนกรวด ทราย ทรายแป้งและดินเหนียว มีลำคลองที่ไหลมาจากภูเขาทางทิศตะวันตกลงสู่แม่น้ำปิง

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : โครงการอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2528 ขณะกำลังใช้รถแทรกเตอร์ขุดปรับบริเวณหน้าดินริมแม่น้ำแควน้อย ด้านทิศใต้ของเมืองสิงห์ เพื่อก่อสร้างที่พักชั่วคราวของเจ้าหน้าที่ที่จะปฏิบัติงานในโครงการอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ได้พบเศษภาชนะดินเผาและเศษกระดูก ทางโครงการจึงขุดสำรวจในเบื้องต้นดูโดยรอบในระดับความลึก 30 เซนติเมตร พบภาชนะดินเผาคว่ำเรียงเป็นกลุ่มอยู่ 3-4 ใบ และยังพบแวดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็ก ลูกปัดหินอาเกตสำดำขาว และชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ สันนิษฐานว่าเป็นหลุมฝังศพมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จึงกลบหลุมก่อนในเบื้องต้น นายระพีศักดิ์ ชัชวาลย์ หัวหน้าโครงการอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ จึงได้มีบันทึกด่วนลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2528 ไปยังนายนิคม มูสิกะคามะ หัวหน้าฝ่ายอุทยานประวัติศาสตร์ และแจ้งไปยังกองโบราณคดี กรมศิลปากรเพื่อที่จะดำเนินการต่อไป ว่าที่ ร.ต.สมศักดิ์ รัตนกุล ผู้อำนวยการกองโบราณคดี ได้มอบหมายให้ฝ่ายวิชาการ (นายพิสิฐ เจริญวงศ์ เป็นหัวหน้าฝ่าย) รับเรื่องไปดำเนินการ

ชื่อผู้ศึกษา : ธราพงศ์ ศรีสุชาติ, อมรา ศรีสุชาติ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดตรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้มอบหมายให้นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ นักโบราณคดี 5 งานโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ให้ไปดำเนินการสำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่เมืองสิงห์ร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 พร้อมด้วยนางอมรา ศรีสุชาติ นักโบราณคดี 4 และคณะ การปฏิบัติงานในครั้งนี้ ทางโครงการฯ ได้ขุดเปิดหน้าดินใหม่ประมาณ 60-80 เซนติเมตร ระดับความลึกจากผิวดินเดิมที่รถปรับพื้นที่ไปแล้ว 5-45 เซนติเมตร พบภาชนะดินเผาสีดำ 2 ใบ วางคว่ำอยู่บนท่อนขามนุษย์ เศษภาชนะสำริดกระจายอยู่โดยรอบภาชนะ จากการศึกษาลักษณะดินบริเวณนี้ พบว่าเป็นดินที่เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำ (กองโบราณคดี 2530) จากการขุดตรวจและสำรวจทำให้สันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า แหล่งโบราณคดีแห่งนี้น่าจะเป็นที่ฝังศพของมนุษย์โบราณ ยุคก่อนประวัติศาสตร์หรือสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ และน่าจะเป็นบริเวณที่ฝังศพของชุมชนก่อนที่จะสร้างปราสาทเมืองสิงห์ (กองโบราณคดี 2530 : 170) โดยแนวของการฝังอยู่ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณท่อนขาของโครงกระดูกมีภาชนะดินเผาวางคว่ำทับอยู่ตอนบนจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใบ โบราณวัตถุที่ฝังอยู่ร่วมกับโครงกระดูกนี้นอกจากภาชนะดินเผาแล้ว ยังพบเครื่องมือเหล็กคล้ายสิ่วและใบหอก เศษภาชนะสำริด แวดินเผา ลูกปัด ซึ่งน่าจะเป็นการฝังตามพิธีกรรมที่อุทิศสิ่งของให้กับผู้ตายตามประเพณีนิยมที่พบในหลุมฝังศพก่อนประวัติศาสตร์และสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี (กองโบราณคดี 2530 : 168) รายละเอียดของโบราณวัตถุที่พบ (กองโบราณคดี 2530 : 168) มีดังนี้ 1.ภาชนะดินเผา เป็นภาชนะดินเผาเนื้อดินค่อนข้างหยาบ เนื้อดินเป็นดินตะกอนแม่น้ำ ปริมาณกรวด ควอทซ์และไมก้าค่อนข้างสูง ปั้นขึ้นรูปด้วยมือและแป้นหมุน เผาที่อุณหภูมิประมาณ 600-700 องศาเซลเซียส ผิวนอกไม่เรียบ ไม่ตกแต่งลวดลาย รูปทรงภาชนะ 3 รูปทรง คือ (1) ภาชนะก้นกลมรูปทรงคล้ายขันน้ำ แต่ริมขอบปากปายออกเล็กน้อย (2) ภาชนะก้นกลม คล้ายหม้อดินหุงข้าวขนาดเล็ก (3) ภาชนะก้นกลม ปากแคบ 2.แวดินเผา ปั้นขึ้นรูปด้วยมือ เนื้อดินละเอียด มีไมก้าผสม ซึ่งน่าจะมาจากดิน silt loam ริมฝั่งแม่น้ำเช่นเดียวกับภาชนะดินเผา ฐานเป็นรูปกรวย 3.เศษภาชนะสำริด เป็นส่วนขอบปาก ทำด้วยสำริดแผ่นบาง สนิมกัดกร่อน แสดงให้เห็นว่าน่าจะเป็นสำริดแบบ low tin 4.ลูกปัด เป็นลูกปัดรูปไข่หัวตัด และอาจเป็นลูกปัดประกอบแร่หินตระกูลควอทซ์ชื่อโอนิกซ์ 5.เครื่องมือเหล็ก เป็นเครื่องมือเหล็กด้ามยาว ลักษณะคล้ายสิ่วหรือหอก ขนาดประมาณ 15 เซนติเมตร

ชื่อผู้ศึกษา : สิริกุล พิชัยจุมพล, สุวิทย์ ชัยมงคล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร มอบหมายให้นางสาวสิริกุล พิชัยจุมพล นักโบราณคดี 3 และนายสุวิทย์ ชัยมงคล นักโบราณคดี 3 เป็นผู้รับผิดชอบในการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ โดยปฏิบัติงานภาคสนามวันที่ 17 เมษายน – 19 มิถุนายน 2529 การขุดค้นในครั้งนี้ วางผังหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 4x4 เมตร วางตัวตามแนวแกนทิศ กำหนดชื่อหลุมขุดค้น PMS’86 พบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย โดยเฉพาะหลุมฝังศพและโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ 4 โครง (โครงกระดูกหมายเลข 1, 2,3 และ 4) และวัตถุอุทิศจำนวนมาก (กองโบราณคดี 2530 : 171) (ดูรายละเอียดได้ในหัวข้อ สาระสำคัญทางโบราณคดี)

ชื่อผู้ศึกษา : วรางคณา ราชพิทักษ์, ชลิต สิงห์ศิริ, วรัญญา พร้อมศักดิ์โสภณ, ชาลี สิงห์วิจารณ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : อนุรักษ์โบราณสถาน, อนุรักษ์โบราณวัตถุ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

เมื่อขุดค้นทางโบราณคดีเสร็จสิ้น กรมศิลปากรมีนโยบายที่จะรักษาหลุมขุดค้นและโครงกระดูกหมายเลข 2 และ 4 พร้อมด้วยโบราณวัตถุที่อยู่ร่วมกับโครงกระดูกไว้ เพื่อจัดแสดงและสร้างเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ต่อไป (กองโบราณคดี 2530 : 172) ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี จึงขอความร่วมมือจากงานซ่อมสงวนโบราณวัตถุฯ กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้มาดำเนินการซ่อมสงวนโบราณวัตถุในหลุมขุดค้นระหว่างวันที่ 18-23 มิถุนายน 2529 โดยมีผู้ปฏิบัติงานจากกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคือ นางสาววรางคณา ราชพิทักษ์ นักวิทยาศาสตร์ 5 นายชลิต สิงห์ศิริ นักวิทยาศาสตร์ 5 นางสาววรัญญา พร้อมศักดิ์โสภณ เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ 1 และนายชาลี สิงห์วิจารณ์ ลูกจ้างประจำ

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

สุสาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ทางทิศใต้ของเมืองสิงห์เมื่อ พ.ศ.2529 นั้นได้แก่ โครงกระดูก 4 โครง (โครงกระดูกหมายเลข 1, 2, 3 และ 4) และวัตถุอุทิศที่ฝังร่วมกับโรงกระดูก อันแสดงให้เห็นถึงพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับการฝังศพ โครงกระดูกที่พบ 3 โครง เป็นโครงที่สมบูรณ์ 3 โครง ได้แก่ โครงกระดูกหมายเลข 1, 2 และ 4 โดยศพทั้งหมดถูกฝังตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ดังมีรายละเอียด (กองโบราณคดี 2530 : 172 ; สายทิพย์ จันทรสุริยศักดิ์ 2556) ดังนี้

โครงกระดูกหมายเลข 1 พบในระดับความลึก 2.13 เมตร จากระดับสมมติ หรือประมาณ 1.48 เมตรจากผิวดิน มีสภาพไม่สมบูรณ์ เนื่องจากถูกรบกวนจากสัตว์ในดินและอื่นๆ ไม่สามารถกำหนดอายุหรือเพศได้ ทิศทางการฝังศพ หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งของที่พบร่วมกับโครงกระดูกมีจำนวนมาก ทำให้หลุมฝังศพมีขนาดยาวมาก ประมาณ 3.20 เมตร สิ่งองที่พบในหลุมฝังศพมีทั้งภาชนะสำริด เครื่องประดับต่างๆ อาทิ กำไลสำริด กำไลเปลือกหอย ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว เครื่องมือเหล็ก แวดินเผา ภาชนะดินเผา 8 ใบ โดยวางเรียงต่อกันเป็นแนวทางด้านปลายเท้า 7 ใบ และทัพพีสำริดที่ใส่ไว้ในภาชนะดินเผาที่อยู่ปลายเท้า

โครงกระดูกหมายเลข 2 พบในระดับความลึก 2.15 เมตรจากระดับสมมติ หรือประมาณ 1.5 เมตรจากผิวดิน เป็นโครงกระดูกเพศหญิง อายุประมาณ 30-35 ปี ทิศทางการฝังศพ หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่พบในหลุมฝังศพมีไม่มากนัก และภาชนะดินเผาเพียง 2 ใบ เป็นภาชนะดินเผาแบบเรียบ สีดำ ลักษณะคล้ายครก แตกในลักษณะที่จงใจทุบให้แตก วางไว้บริเวณศีรษะด้านขวา และภาชนะดินเผาแบบเรียบเคลือบน้ำดินสีแดง วางบริเวณปลายแขนขวา และพบขวานสำริดขนาดเล็กแบบมีบ้องบริเวณข้อศอกขวา 1 อัน โดยปรากฏรอยประทับเมล็ดข้าวที่ขวานสำริดนี้ด้วย

โครงกระดูกหมายเลข 3 พบในระดับความลึก 2.32 เมตรจากระดับสมมติ หรือประมาณ 1.77 เมตรจากผิวดิน ไม่พบลักษณะเป็นหลุมศพ พบเพียงส่วนกะโหลกศีรษะ

โครงกระดูกหมายเลข 4 พบในระดับความลึก 2.57 เมตรจากระดับสมมติ หรือประมาณ 1.96 เมตรจากผิวดิน พบอยู่ใต้โครงกระดูกหมายเลข 1 เป็นโครงกระดูกเพศหญิง อายุประมาณ 20-30 ปี หัวศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ขุดค้นสันนิษฐานว่าน่าจะฝังพร้อมกับโครงกระดูกหมายเลข 1 เนื่องจาก

1.ทิศทางการฝังศพที่หันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกัน

2.สิ่งของที่ฝังร่วมกับศพหรือวัตถุอุทิศมีลักษณะคล้ายคลึงกันมา และวางตำแหน่งเดียวกัน เช่น ภาชนะสำริดที่วางเหนือศีรษะ ภาชนะสำริดรูปร่างคล้ายขันวางบริเวณหัวเข้า ภาชนะดินเผาวางบริเวณปลายเท้า แวดินผา เครื่องประดับ เช่น ลูกปัดหินอาเกต ลูกปัดหินคาร์เนเลียน ลูกปัดแกด้ว กำไลเปลือกหิย กำไลหิน และกำไลสำริด เป็นต้น

3.ลักษณะความเรียบร้อยของหลุมฝังศพทั้งสอง ไม่มีร่องรอยการรบกวนกันและกัน โดยเฉพาะหลุมฝังศพของโครงกระดูกหมายเลข 4 ที่อยู่ด้านล่าง

ปัจจุบันมีการจัดแสดงหลุมขุดค้นแห่งนี้ มีการสร้างอาคารคลุมและติดป้ายบรรยายให้ข้อมูลทางโบราณคดี หลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ในโครงกระดูกได้รับการอนุรักษ์และเสริมความแข็งแรง

โครงกระดูกที่จัดแสดงมีอยู่ 2 โครง เนื่องจากอีก 2 โครงไม่สามารถกำหนดอายุและเพศได้ ทั้งยังถูกรบกวนจากสัตว์ในดิน จึงได้นำขึ้นจากหลุมและนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี

จากหลักฐานในการค้นพบนั้นสรุปได้ว่า บริเวณริมแม่น้ำแควน้อย ทางด้านทิศใต้ของกำแพงเมืองสิงห์ ในสมัยก่อนหน้าก่อตั้งเมืองสิงห์และสร้างปราสาทเมืองสิงห์ มีชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำ โดยพื้นที่ที่ขุดค้นเป็นบริเวณที่สุสานหรือใช้ฝังศพโดยเฉพาะ เนื่องจากไม่พบหลักฐานการอยู่อาศัยอย่างชัดเจน ส่วนลักษณะความแตกต่างของชั้นดินนั้นเห็นไม่ชัดเจน สีของดินที่พบแทบจะเหมือนกันตลอดและถูกรบกวนโดยพืชและสัตว์ ชุมชนนี้มีความเจริญทางวัฒนธรรมค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีการติดต่อกับชุมชนอื่น โดยหลักฐานที่พบนั้นมีสำริด ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน ซึ่งของที่พบเหล่านี้เป็นสิ่งของหายากในบริเวณนี้ สิ่งของที่พบและหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ คล้ายคลึงกับที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งกำหนดอายุได้ประมาณ 1,800 ปีมาแล้ว 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ศุภรัตน์ ตี่คะกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. เมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530.

กองโบราณคดี กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการปฏิบัติงานโครงการอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์. (เอกสารกองโบราณคดีหมายเลข 6/2530). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530.

ฉันทนา สุรัสวดี. “การศึกษาปราสาทเมืองสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2530.

สมัย สุทธิธรรม. ปราสาทเมืองสิงห์. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2550.

สายทิพย์ จันทรสุริยศักดิ์. “การสื่อความหมายอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์. หนังสือนำชมอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี. พีรพน พิสณุพงศ์ (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : คัมปาย อิมเมจจิ้ง, 2542?.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง