โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : สรีดภงส์, ทำนบพระร่วง, สรีดภงษ์
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย บ้านมนต์คีรี ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย
ตำบล : เมืองเก่า
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : สุโขทัย
พิกัด DD : 17.002922 N, 99.676997 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเสาหอ
เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำสรีดภงส์อยู่ภายนอกกำแพงเมืองเก่าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จากประตูอ้อ ซึ่งเป็นประตูเมืองด้านทิศตะวันตก ไปตามถนนประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบสามแยกบริเวณหน้าหอเทวาลัยและวัดป่ามะม่วง ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบสามแยกบริเวณโบราณสถานวัดมังกร ให้เลี้ยวซ้าย ไปตามถนนประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบสรีดภงส์และทางขึ้นสู่สันเขื่อนสรีดภงส์ทางขวามือ
บริเวณเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำสรีดภงส์มีทิวทัศน์ที่สวยงาม สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม นักท่องเที่ยวสามารถขี่จักรยานขึ้นไปชมหรือขับรถขึ้นไปยังสันเขื่อนที่ไม่สูงนักได้
ที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า
การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที
หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310
กรมศิลปากร, กรมชลประทาน
ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนพิเศษ 132ง วันที่ 29 ธันวาคม 2545 เรื่องขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน (โบราณสถานเขื่อนกั้นน้ำโบราณ)
ขึ้นทะเบียนของ UNESCO
วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574
สรีดภงส์เป็นเขื่อนโบราณที่ในปัจจุบันได้รับการบูรณะปรับปรุงให้เป็นเขื่อนขนาดเล็กหรืออ่างเก็บน้ำที่สามารถใช้งานได้ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าสุโขทัยไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากมุมกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปประมาณ 2 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ตั้งเขื่อนเป็นพื้นที่ระหว่างหุบเขากิ่วอ้ายจนถึงเขาพระบาทใหญ่ ส่วนหนึ่งของเทือกเขาประทักษ์
คลองเสาหอ, แม่น้ำยม
เขาประทักษ์เป็นเขาหินปูนในหมวดหินก้างปลา กลุ่มหินลำปาง ยุคไทรแอสซิก ช่วง 245-210 ล้านปีมาแล้ว (กรมทรัพยากรธรณี 2551 : 15) ก่อตัวขึ้นในสภาวะแวดล้อมการสะสมตะกอนทะเลในเขตภาคเหนือของไทย
ชื่อผู้ศึกษา : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2520 : 39-40) ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงสำรวจเมืองเก่าสุโขทัย รวมถึงโบราณสถานที่อยู่ทางเหนือของวัดมหาธาตุ ชาวบ้านเรียกว่า ศาลกลางเมือง ทรงโปรดให้พระวิเชียรปราการไปขุดตรวจพบว่ามีเสาศิลาแลงตั้งอยู่ทั้งสี่มุมๆละ 2 เสาซ้อน ที่ตรงกลางมีหลุมเข้าใจว่าเป็นหลุมที่ฝังนิมิตในหลุมนี้มีศิลา แผ่นแบน มีลายที่ลางเลือน ทรงสันนิษฐานว่าเป็นหลักเมืองและศาลหลักเมืองชื่อผู้ศึกษา : เอนก สีหามาตย์, ปฐมาภรณ์ เชาวน์ปรีชา
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534?
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาระบบชลประทาน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
เอนก สีหามาตย์ และปฐมาภรณ์ เชาวน์ปรีชา ศึกษาระบบชลประทานเมืองสุโขทัย พร้อมทั้งจัดพิมพ์เป็นหนังสือทูลเกล้าถวายประกอบการศึกษาเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรและทรงศึกษาแหล่งน้ำโบราณ รวมทั้งเหมืองฝายที่สำคัญหลายแห่งในสุโขทัย ระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2534ชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร รวบรวมและศึกษาข้อมูลโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร แล้วเผยแพร่ในเอกสาร “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร”สรีดภงส์หรือทำนบพระร่วง คือทำนบกั้นน้ำหรือเขื่อน เดิมคนท้องถิ่นเรียกร่องรอยของคันดินโบราณเพื่อการชลประทานว่า ทำนบพระร่วง เนื่องจากเชื่อว่ากษัตริย์สุโขทัยพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นผู้สร้างขึ้น จึงถือว่าเป็นของที่พระร่วงทำขึ้นหรือเกิดขึ้นด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระร่วงทั้งสิ้น
เขื่อนสรีดภงส์อยู่นอกกำแพงเมืองเก่าสุโขทัยทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างออกไปจากกำแพงเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร ในพื้นที่ระหว่างหุบเขากิ่วอ้ายจนถึงเขาพระบาทใหญ่ อันเป็นที่รวมของน้ำจากโซกต่างๆ ตามบริเวณเขาถึง 17 โซก ส่วนหนึ่งของเทือกเขาประทักษ์ (ทางทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์) โซกที่สำคัญได้แก่ โซกพระร่วงลองขรรค์ โซกพระร่วงลับขรรค์ โซกพม่าฝนหอก โซกชมพู่ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลมาจากเขาประทักษ์ (รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จประพาสตามบทพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง)
เทือกเขาประทักษ์ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองมีสภาพเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ อุดมด้วยพืชพรรณไม้ต่างๆ รวมทั้งพืชสมุนไพร เป็นแหล่งรองรับน้ำฝนที่ดี
เชื่อกันมาแต่เดิมว่าคือสรีดภงส์ที่กล่าวถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1 สรีดภงส์จะกักน้ำ มีระบบผันแปรทิศทางและระบบชักน้ำไปตามคลองส่งน้ำลำเลียงไปตามคลองเสาหอสู่คูเมืองตรงมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ อันเป็นตำแหน่งที่มีระดับความสูงของพื้นดินสูงที่สุดของเมืองสุโขทัย จากนั้นจะไหลลงคูเมืองด้านทิศตะวันตก ทิศใต้ ทิศเหนือ และทิศตะวันออก รวมถึงตระพังต่างๆ ในเมือง ก่อนที่จะไหลไปสู่มุมเมืองทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีระดับต่ำที่สุด แล้วไหลลงคลองแม่รำพัน ลงสู่แม่น้ำยมที่อยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันออก
สรีดภงส์ในปัจจุบันได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่โดยกรมชลประทานร่วมกับกรมศิลปากร ให้มีความสูงและแข็งแรงกว่าเดิมสำหรับใช้กักเก็บน้ำ มีความสูงประมาณ 10 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 400,000 ลูกบาศก์เมตร (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 39)
ก่อนที่กรมชลประทานจะก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำนั้น บริเวณนี้จะมีคันดินเตี้ยๆ สูงประมาณ 1-2 เมตร ทอดยาวเป็นแนวขนานกันกับเขื่อนดินสร้างใหม่ของกรมชลประทาน มีคำเรียกคันดินโบราณนี้ว่า ทำนบพระร่วง แต่ลักษณะคันดินไม่สูงนัก รวมทั้งมิได้มีสภาพการก่อสร้างที่แข็งแรงพอ จึงอาจที่จะวิเคราะห์ได้ว่า คันดินโบราณที่เรียกว่าทำนบพระร่วงนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำเหมือนกับเขื่อนดินที่กรมชลประทานมาสร้างไว้ อาจจะทำหน้าที่เพียงเพื่อบังคับทิศทางของน้ำที่มีมากในฤดูฝน มิให้ไหลล้นเข้าเมืองสุโขทัย หรือทำหน้าที่เบนน้ำทั้งหมดที่ไหลมาจากเขาทั้งสองลูกนี้ให้ไหลลงไปในคลองเสาหอ เพื่อนำไปสู่คูเมืองสุโขทัย
ทั้งนี้ แนวคันดินที่ทำหน้าที่เบี่ยงเบนทิศทางของน้ำให้ไหลไปตามทิศที่ต้องการซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับทำนบพระร่วงนั้น ถูกพบได้โดยทั่วไปบนพื้นที่ลาดเอียงรอบเมืองเก่าสุโขทัย โดยพบมากที่สุดที่บริเวณเชิงเขาด้านทิศตะวันตกจรดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง โดยที่ไม่ได้เรียกว่าทำนบพระร่วงแต่อย่างใด เฉพาะคันดินเป็นแนวเชื่อมระหว่างเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายนี้ที่มีชื่อเรียกกันมาว่า ทำนบพระร่วง เพราะอาจเป็นคันดินแนวที่ชัดเจนที่สุดและรู้จักกันมาช้านานก็เป็นได้ โดยทำนบพระร่วงแห่งนี้ นักวิชาการหลายท่านได้เรียกชื่อเป็น สรีดภงส์ ตามชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช)
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2551.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.
เอนก สีหามาตย์. ระบบชลประทานเมืองสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 253-?