โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดโนนบึงศิลาราม
ที่ตั้ง : บ้านชาด ต.เค็งใหญ่ อ.หัวตะสาน
ตำบล : เค็งใหญ่
อำเภอ : หัวตะพาน
จังหวัด : อำนาจเจริญ
พิกัด DD : 15.76015 N, 104.592403 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ลำเซบก
เขตลุ่มน้ำรอง : ลำเซบาย
แหล่งโบราณคดีเมืองงิ้ว อยู่ห่างจากตัวเมืองอำนาจเจริญไปทางทิศเหนือ โดยไปตามถนนชยางกูร (อำนาจ-อุบล) ประมาณ 10 กิโลเมตร มีป้ายบอกบ้านเค็งใหญ่ เลี้ยวขวาเข้าถนนสายรองอีก 2 กิโลเมตร จะเข้าสู่บ้านชาด ต.เค็งใหญ่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ จากนั้นเดินทางต่อไปอีก 1 กิโลเมตร จะพบเห็นเนินปู่ตา มีต้นไม้ปกคลุมร่มรื่นมองเห็นเด่นชัด ซึ่งภายในดอนปู่ตา บริเวณเนื้อที่ 59 ไร่ จะพบเห็นเสมาหิน ตั้งเรียงรายอยู่ทั่วบริเวณ
ใบเสมาที่แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองงิ้วแห่งนี้ ตั้งอยู่ภายในดอนปู่ตา ของวัดโนนบึงศิลาราม ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน
กรมศิลปากร, วัดโนนบึงศิลาราม
แหล่งโบราณคดีเมืองงิ้ว ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 17ง ลงวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2542 เนื้อที่โบราณสถานประมาณ 99 ไร่ 77.06 ตารางวา
เมืองงิ้ว หรือแหล่งโบราณคดีเมืองงิ้ว เป็นเมืองโบราณสมัยประวัติศาสตร์ที่ปรากฎคูน้ำ-คันดิน ที่ชัดเจนจะอยู่ในด้านทิศเหนือและด้านทิศตะวันตก คูน้ำด้านนอกส่วนด้านในไม่มีสภาพของคันดินแล้ว ส่วนใบเสมาพบส่วนมากอยู่ภายในเมือง ด้านทิศเหนือเป็นใบสมาหินทรายขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเดิมพบทั้งหมด 16 ใบ
ลำเซบก, ลำเซบาย
ธรณีสัณฐานเป็นหินตะกอนในหมวดหินภูทอก กลุ่มหินโคราช ส่วนปฐพีวิทยาเป็นดินทับถมจากตะกอนน้ำพา
ชื่อผู้ศึกษา : ชินณวุฒิ วิลยาลัย
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ชินณวุฒิ วิลยาลัย และคณะ (2552) ศึกษาใบเสมาที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งที่เมืองงิ้วเมืองงิ้วเป็นชุมชนโบราณในลุ่มน้ำลำเซบก อาจเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในระยะเริ่มแรก อยู่ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายสมัยสังคมเกษตรกรรม มีการถลุงโลหะขึ้นใช้เองภายในชุมชน ดังได้พบร่องรอยเตาถลุงบริเวณริมคูน้ำด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ และ เมื่อเข้าสู่สังคมประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 - 16 จึงขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นรูปทรงกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 370 เมตร สูง ราว 2 เมตร สภาพทั่วไปเป็นเนินดินค่อนข้างกลม ปัจจุบันถูกปรับไถเป็นพื้นที่ทางการเกษตร จากการสำรวจพบหลักฐานทางโบราณวัตถุ รายละเอียดดังนี้ (กรมศิลปากร 2533 : 376)
1. เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำส่วนมากเป็นแบบผิวเรียบมีการ ชุบน้ำโคลน การเขียนสี และลายขูดขีดบ้างเล็กน้อย
2. กลุ่มเสมาหินทรายสีชมพู ยอดเรียวแหลม สลักเป็นแนวเส้นนูนตรงกลางแผ่นเป็นลวดลายประดับ
3.เครื่องประดับสำริดได้แก่แหวน กำไล และ ขี้แร่(slag) ที่เกิดจากกระบวนการหลอมโลหะ
ใบเสมาที่พบบริเวณชุมชนโบราณเมืองงิ้วแห่งนี้ ปัจจุบันพบใบเสมากระจายอยู่บนเนินจำนวน 4 กลุ่ม มีทั้งทำจากศิลาแลงและหินทราย ที่ทำจากศิลาแลงจะเป็นแผ่นหินขนาดเล็ก สลักลวดลายสันนูนแนวตั้งที่กลางใบ ใบเสมาบางส่วนถูกนำมากองไว้บริเวณกลางเนินดิน เนื่องจากมีรูปร่างและลักษณะที่ไม่ชัดเจน
ใบเสมาที่ทำจากหินทรายมีทั้งขนาดใหญ่ที่ถูกฝังจมอยู่ใต้ดิน ส่วนฐานมีลายลูกปะคำแนวนอนอยู่ใต้กลีบบัวซ้อน ส่วนใบเสมาสลักเป็นแนวเส้นนูนตั้งตรงกลางแผ่น บางใบฐานบัวเป็นบัวคว่ำ-บัวหงาย มีเกสรประกอบ ใบเสมาที่สำคัญอีกใบหนึ่งพบว่า ด้านหนึ่งตรงกลางใบเสมาสลักเป็นรูปหม้อน้ำรองรับปลีที่เรียวขึ้นจนถึงส่วนยอด ลักษณะของหม้อน้ำเช่นเดียวกันกับที่พบนี้ปรากฎบนใบเสมาที่พบในที่อื่นๆอีกด้วย ซึ่งคงเป็นหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ หรือที่เรียกกันว่า หม้อบูรณะฆฏะ นั่นเอง ส่วนอีกด้านหนึ่งของใบเสมานี้สลักเป็นรูปดอกไม้ในวงกลม ซึ่งอาจสันนิษฐานว่าเป็นธรรมจักร? ปัจจุบันใบเสมาใบนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี (ชินณวุฒิ วิลยาลัย และคณะ 2552 : 168)
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจำนวนเล็กน้อยแสดงว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้คงมีขนาดไม่ใหญ่นัก และคงจะเป็นศาสนสถานมากกว่าที่จะเป็นที่อยู่อาศัย โดยพิจารณาจากกลุ่มใบเสมาหินทราย จากรูปแบบของเสมานั้นทำให้เชื่อได้ว่ากลุ่มชนกลุ่มนี้ คงจะมีความเชื่อในพุทธศาสนาโดยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมทวารวดีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 16
วัฒนธรรมทวารวดี ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12-15 อิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดีซึ่งมีพื้นฐานมาจากพุทธศาสนา ประเทศอินเดียได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นทางภาคกลางของประเทศไทย ได้ส่งอิทธิพลเข้ามายังบริเวณภาคีสานผ่านทางนครราชสีมา จากนั้นได้แพร่กระจายทั้งในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลและลุ่มแม่น้ำชีตอนล่าง หลักฐานที่ค้นพบได้แก่พระพุทธรูปและแหล่งโบราณสถานที่เป็นเนินดินมีใบเสมา ปักเป็นกลุ่ม ใบเสมาขนาดใหญ่ที่พบตามแหล่งโบราณคดีแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างคติความเชื่อทางศาสนาการกระจายของแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมทวารวดีในแถบจังหวัดอุบลราชธานี
ที่ราบระหว่างลำเซบกและลำเซบาย นั้น ปรากฏหลักฐานในวัฒนธรรมทวารวดีจำนวนมากเช่น
1. วัดเฒ่าเก่า ต.นาหมอม้า อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ พบพระพุทธรูปหินทราย และใบเสมาหินทราย สลักลวดลายที่ขอบฐานและแกนกลางอายุราวพุทธศตวรรษ 13-14
2. บ้านเปือยหัวดง ต.เปือย กิ่ง อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ ลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีกลุ่มใบเสมาปักอยู่บนเนินดินกลุ่มใบเสมาหินทรายที่วัดโพธิศิลา ทรงใบหอกขนาดใหญ่ สลักลวดลายอย่างปราณีต ประกอบด้วยลายกลีบบัว สายใบไม้ สายหม้อน้ำและยอดสถูปอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 บริเวณวัดป่าเรไรร้าง มีกลุ่มใบเสมาทั้งทรงใบหอก ทรงสี่เหลี่ยมหลบมุมและเป็นแบบแท่งหินแปดเหลี่ยม
3. โพนเมือง บ้านกุดซวย ต.กุดซวย อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ เป็นเนินดินขนาดใหญ่
4. เมืองงิ้ว บ้านชาด ต.เด้งใหญ่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ เป็นเนินดินรูปกลม มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ
อิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดี ในบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี บางส่วนของจังหวัดยโสธรและอำนาจเจริญ คงจะสิ้นสุดลงในปลายพุทธศตวรรษที่ 15 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 16 พร้อมกับการเสื่อมสลายของวัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย
ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง : จากเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมาได้ความว่า ดอนปู่ตาเป็นที่ตั้งของเมืองงิ้ว มีกษัตริย์ปกครองขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ต่อมาชาวลาวยกทัพมารุกราน เกิดสงคราม เมืองงิ้วถูกตีแตก เหลือเพียงซากปรักหักพัง กลายเป็นเมืองร้าง ไม่นานมีพระธุดงค์เดินผ่านมาแล้วพักค้างคืน แต่ว่าอยู่ไม่ได้ เนื่องจากพบสิ่งลึกลับอาถรรพ์ต่างๆ รบกวน พระธุดงค์จึงได้เตลิดหนีไป ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณของเหล่านักรบหรือบรรพบุรุษเมืองงิ้วปก ป้องรักษาอยู่ ต่อมาจึงได้ก่อสร้างผาม(ศาล)ขึ้นมา เพื่อให้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ได้อาศัยสิงสถิต เรียกว่า ปู่ตา ที่รักษาป่า เมื่อถึงฤดูทำนา ชาวนามักจะมาทำพิธีแฮกนาที่นี่เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยก่อนลงมือทำนา จะทำให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะหลังสงกรานต์ ก็จะมีการทำบุญเลี้ยงอาหารปู่ตาพร้อมจัดงานประเพณีสงกรานต์เป็นประจำทุกปี อีกด้วย
ต่อมาเมื่อปี 2538 ชาวบ้านได้ทำการขุดลอกลำห้วยใกล้กับดอนปู่ตา ขุดไปพบไหโบราณ ซึ่งภายในบรรจุกระดูกอยู่เป็นจำนวนมาก เข้าใจว่า เป็นกระดูกบุคคลสำคัญของชาวเมืองงิ้ว จึงได้อัญเชิญขึ้นมาไว้ที่วัดป่าบึงศิลาราม อยู่ติดกับดอนปู่ตา และขุดพบหีบใส่เสื้อผ้าจำนวน 1 ใบ คาดว่ามีอายุกว่า 100 ปี
คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดอำนาจเจริญ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ.วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอำนาจเจริญ. (ออนไลน์), 2542. เข้าถึงเมื่อ 02 มิถุนายน 2557. แหล่งที่มา http://www.era.su.ac.th/RockPainting/northeast/index.html
ชินณวุฒิ วิลยาลัย และคณะ. องค์ความรู้เรื่องใบเสมาอิสาน. กรุงเทพฯ : สำนักศิลปากรที่ 9-12 กรมศิลปากร, 2552.
กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 03 มิถุนายน 2557. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx