เจดีย์วัดรางจั่น


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : เจดีย์วัดรางจั่น (ร้าง), เจดีย์หลวงท่านท้าวจันทร์, เจดีย์รางจัน

ที่ตั้ง : ม.11 บ้านรางจั่น ต.หนองขาว (เทศบาลตำบลหนองหญ้าดอกขาว) อ.ท่าม่วง

ตำบล : หนองขาว

อำเภอ : ท่าม่วง

จังหวัด : กาญจนบุรี

พิกัด DD : 14.049234 N, 99.625316 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่กลอง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เจดีย์วัดรางจั่น (ร้าง) ตั้งอยู่ริมถนนอู่ทอง (ทางหลวงหมายเลข 324) ภายในตัวตำบลหนองขาว หากเดินทางจากตัวจังหวัดกาญจนบุรี ให้ใช้ถนนอู่ทอง (ทางหลวงหมายเลข 324) มุ่งหน้าตำบลหนองขาว (อำเภอท่าม่วง) ประมาณ 10.7 กิโลเมตร จะพบเจดีย์วัดรางจั่น (ร้าง) ตั้งอยู่ริมถนนทางซ้ายมือ (ตรงข้ามกับร้านอาหารครัวอนงค์ และสวนสุขภาพเฉลิมฉลองสิริราชย์สมบัติ 50 ปี)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันโบราณสถานเจดีย์วัดรางจั่น (ร้าง) ถูกยกให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญแห่งหนึ่งของชาวหนองขาวโดยมีนามเรียกขานว่า “เจดีย์หลวงท่านท้าวจันทร์” พร้อมทั้งมีการตั้งศาล ปรับปรุงพื้นที่ และถวายเครื่องเซ่นสักการะต่างๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ

สภาพโดยทั่วไปของเจดีย์ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากชุมชน แต่ก็ยังคงมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม ผิวปูนฉาบยังคงอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งน่าจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในภายหลัง

ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

เทศบาลตำบลหนองหญ้าขาว เลขที่ 121 ม. 6 ต.หนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เบอร์โทรศัพท์ 034-654-549

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลหนองหญ้าดอกขาว, กรมทางหลวง

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เจดีย์วัดรางจั่นเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ริมถนนอู่ทอง (ทางหลวงหมายเลข 324) ภายในตัวตำบลหนองขาว ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ติดกับถนนอู่ทอง ด้านทิศเหนือและใต้เป็นไหล่ถนน ด้านทิศตะวันตกเป็นสวนกล้วย (ที่ดินของเอกชน)

ลักษณะพื้นที่ตัวตำบลหนองขาวเป็นเนินดินในที่ราบลุ่มแม่น้ำ รอบเนินมีร่องรอยลำน้ำสายเล็กๆ ปัจจุบันมีคลองชลประทานไหลผ่านตัวชุมชน (อาจขุดขึ้นตามเส้นทางลำน้ำเก่า คลองชลประทานนี้เชื่อมระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับอ่างเก็บน้ำที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ใกล้กับวนอุทยานพุม่วง) เจดีย์ตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำแม่กลองมาทางทิศเหนือประมาณ 8.5 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

27 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำแม่กลอง

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะพื้นที่ตัวตำบลหนองขาวเป็นเนินดินในที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลองที่เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยอยุธยา

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เจดีย์วัดรางจั่นเป็นเจดีย์ร้าง ไม่ทราบประวัติความเป็นมาแน่ชัด ลักษณะเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ย่อมุมไม้สิบสอง (ขนาดด้านละประมาณ 1 เมตรเศษ) ก่ออิฐถือปูน สภาพโดยทั่วไปค่อนข้างทรุดโทรม แม้ว่าจะได้รับการดูแลอย่างดีจากชุมชนและผิวปูนฉาบยังคงอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์ (คงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในภายหลัง) ลักษณะฐานเป็นฐานบัวซ้อนกัน 3 ชั้น (ส่วนล่างของฐานบัวชั้นล่างสุดจมอยู่ในพื้นดิน) ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง (มีผ้า 3 สี ผูกอยู่โดยรอบ) บัลลังก์ บัวถลา และส่วนล่างสุดของปล้องไฉน ชิ้นส่วนเหนือขึ้นไปจากนี้หักหายไป (ปัจจุบันมีการติดตั้งโคมไฟที่ส่วนยอดสุด) ความสูงเฉพาะเท่าที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน จากพื้นดินถึงยอดประมาณ 3 เมตร จากรูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวสันนิษฐานเจดีย์องค์นี้อาจสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา

ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบเจดีย์ได้รับการปรับปรุงเพื่อทำเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน มีการล้อมรั้วอิฐอย่างคร่าวๆ ปลูกต้นไม้ประดับ ติดตั้งโคมไฟ มีการตั้งศาลไม้ ศาลปูน และติดตั้งป้าย “เจดีย์หลวงท่านท้าวจันทร์” อยู่ด้านข้างเจดีย์ (ด้านทิศเหนือ) ส่วนด้านที่ติดกับถนนอู่ทอง (ด้านทิศตะวันออก) มีการตั้งโต๊ะและเครื่องสักการะต่างๆ

ส่วนประวัติความเป็นมาของบ้านหนองขาวคือ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี กาญจนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านและเป็นเส้นทางเดินทัพ ในขณะนั้นตำบลหนองขาวประกอบด้วย 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านดงรัง (มีวัดประจำหมู่บ้านคือวัดส้มใหญ่หรือวัดใหญ่ดงรัง) และหมู่บ้านดอนกระเดื่อง (มีวัดโบสถ์เป็นวัดประจำหมู่บ้าน)

การศึกกับพม่าในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านได้รวมตัวกันต่อสู้กับข้าศึกอย่างกล้าหาญ (ยังมีหลักฐานอยู่ที่ทุ่งคูในตำบลหนองขาวปัจจุบัน) จนหมู่บ้านถูกทำลายเสียหาย เหลือเพียงซากวัดและเจดีย์ หลังสงครามยุติชาวบ้านได้พากันหลบหนีมารวมตัวกันที่บริเวณหนองน้ำใหญ่ ตั้งเป็นหมู่บ้าน “บ้านหนองหญ้าดอกขาว”

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์หลายพระองค์เสด็จยังบ้านหนองหญ้าขาว เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านไปยังกาญจนบุรี เช่น รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จมาเมืองกาญจน์และผ่านหนองขาวดังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงค์ กล่าวว่า รุ่งขึ้นวันศุกร์ แรม 14 ค่ำ เสด็จจากพลับพลาเมืองกาญจน์ถึงพลับพลาบ้านหนองขาว ประทับแรมอยู่หนึ่งราตรี และได้ทรงพระราชนิพนธ์ในกลอนไดอารี่ซึมซาบตอนหนึ่งว่า

“ราษฎรพากันดาษดื่นเห็นแต่นั่งหน้าพลับพลากว่าห้าร้อย มีเขียนโต๊ะ ขันหมาก ขันพานบ้านนอก ข้าวหลามสี่ห้ากระบอก ขนมไหม้ จัดตามมีตามจนกันคนละเล็กละน้อยมานั่งคอยถวายล้อมอยู่พร้อมเพรียง ทรงปราศรัยไปทุกหน้าที่มานั้นก็ทูลกันสนองออกซ้องเสียง ฟังเหน่อหน่าตามประสาแปร่งสำเนียง บางขึ้นเสียงทานขัดคอกัน”

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี