วัดหลังคาดำ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา

ตำบล : ประตูชัย

อำเภอ : พระนครศรีอยุธยา

จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา

พิกัด DD : 14.355932 N, 100.564786 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, เจ้าพระยา, ลพบุรี, น้อย

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเมือง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดหลังคาดำ ตั้งอยู่บริเวณบึงพระราม ตำแหน่งที่วัดอยู่ในพื้นที่ตอนกลางค่อนไปทางเหนือภายในเกาะเมืองอยุธยา ติดกับวัดหลังคาขาว (ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดหลังคาขาว) ใกล้กับวัดมหาธาตุ ในพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

การเดินทางสู่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขาวเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี ไปจังหวัดปทุมธานี จากนั้นใช้เส้นทางปทุมธานี - สามโคก - เสนา ทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวขวาที่อำเภอ เสนา ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เส้นทาง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การเดินทางด้วยรถไฟ ใช้ขบวนที่เดินทางสู่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอ พระนครศรีอยุธยา และอำเภอภาชี

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดหลังคาดำเป็นโบราณสถานภายในเกาะเมืองอยุธยา อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เปิดให้เข้าชมในลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์ เปิด 06.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เป็นเงิน 20 บาท ชาวต่างชาติเป็นเงิน 100 บาท ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาย 60 ปีขึ้นไป, นักเรียน-นักศึกษา ในเครื่องแบบ, พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และนักบวช เป็นต้น  สามารถโทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้าได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์ 035-245123-4

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร           

วัดหลังคาดำ  เป็นโบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2519 พื้นที่ 1,810 ไร่ และในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

นอกจากนี้ วัดหลังคาดำ ปรากฏรายละเอียดของการขึ้นทะเบียนดังนี้

            1. กำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58  ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2484  หน้า 584 

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วัดหลังคาดำ เป็นโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 576

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดหลังคาดำ ตั้งอยู่บริเวณบึงพระราม ตำแหน่งที่วัดอยู่ในพื้นที่ตอนกลางค่อนไปทางเหนือภายในเกาะเมืองอยุธยา ติดกับวัดหลังคาขาว (ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดหลังคาขาว) ใกล้กับวัดมหาธาตุ อยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทางทิศเหนือประมาณ 1.10 กิโลเมตร ห่างจากคลองเมืองมาทางทิศใต้ประมาณ 500 เมตร ในพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

3-5 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำน้อย, คลองเมือง

สภาพธรณีวิทยา

            ที่ราบลุ่มภาคกลางเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใหญ่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ปิง(ต่อเลยไปเกือบเชื่อมกับรอยเลื่อนเมย) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี ซึ่งต่อเนื่องจากการเปิดตัวของอ่าวไทยทางใต ้และการเกิดแอ่งเทอร์เชียรีในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนและตามด้วยการเกิดรอยเลื่อนในแนวเหนือ-ใต้ (Bunopas, 1981) การสะสมตัวเกิดขึ้นบนบกแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบตะกอนน้ำพา ทางน้ำ ทะเลสาบ และแบบกึ่งทางน้ำกับทะเลสาบ

            ลักษณะทางธรณีวิทยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  ทำให้ลึกลงไปใต้พื้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นแหล่งกรวดทรายขนาดใหญ่  เม็ดกรวด และทรายมีขนาดใหญ่และมีลักษณะกลมมน   น้ำบาดาล สะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างและเม็ดกรวดและทราย  แทรกสลับอยู่กับชั้นดินเหนียว  ทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น  และเป็นชั้นน้ำที่แผ่ขยายออกไปในแนวราบอย่างกว้างขวาง  มีคุณสมบัติทางอุทกธรณีวิทยาเฉพาะตัว  ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่ในชั้นน้ำบาดาลส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  กล่าวคือ  ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้น  จะมีชั้นดินเหนียวรองรับอยู่ด้านล่าง  และปิดทับอยู่ด้านบน  จัดเป็นชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (Confined aquifer)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2484

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2484 หน้า 584 ในขณะนั้นเพียงแต่ประกาศแค่ชื่อเท่านั้น ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใด โดยวัดหลังคาดำ เป็นหนึ่งในรายชื่อโบราณสถานที่ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานในครั้งนั้น

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 หน้า 2149 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 1,810 ไร่ โดยวัดหลังคาดำ เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ฯ

ชื่อผู้ศึกษา : UNESCO

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

วัดหลังคาดำ เป็นโบราณสถานภายในเขตเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง ลงวันที่ 21 มกราคม 2540 หน้า 40 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดหลังคาดำ ปัจจุบันเป็นวัดร้างตั้งอยู่ในเขตสวนสาธารณะบึงพระราม ไม่ปรากฏหลักฐานทางด้านเอกสารเกี่ยวกับประวัติการสร้าง โดยชื่อวัด "หลังคาดำ" นั้น น่าจะเป็นชื่อที่เรียกกันภายหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับ "วัดหลังคาขาว" ที่อยู่ใกล้เคียงกันทางด้านทิศเหนือ

            สิ่งก่อสร้างภายในวัดได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคงแล้ว (ไม่สามารถระบุได้ว่าดำเนินการซ่อมแซมบูรณะเมื่อใด) ได้แก่

            1. เจดีย์ประธาน ลักษณะของเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายเจดีย์ประจำมุมวัดราชบูรณะ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น

            เจดีย์ทรงระฆัง เรียกกันทั่วไปว่า “ทรงลังกา” จากลักษณะที่คล้ายระฆังกลม อันเป็นองค์ประกอบหลักที่เด่นชัด ช่วงเวลาตลอดสมัยอยุธยาไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ นอกเหนือจากสัดส่วนหรือลักษณะบางประการที่คลี่คลายมาตามยุคสมัย

            เจดีย์ในยุคต้นที่สำคัญองค์หนึ่งคือ เจดีย์ประธานวัดแม่นางปลื้ม จากรูปแบบของสิงห์ล้อมที่เป็นฐานมีลักษณะคล้ายลวดลายประดับแผงคอแบบเดียวกับลายรูปสามเหลี่ยมที่ปรากฏบนชิ้นส่วนทองคำพระปรางค์จำลองที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ อยุธยา ที่แสดงถึงงานช่างในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น และรูปแบบสิงห์ที่ลักษณะคล้ายกับสิงห์ที่วัดธรรมิกราชที่เป็นงานช่างในช่วงอยุธยายุคแรก รูปแบบเจดีย์ทรงระฆังที่ส่งต่อมาสู่ยุคกลางที่ปรากฏเด่นชัด คือ เจดีย์สามองค์ ที่เป็นเจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ์ สร้างสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ.2035 ทั้งสามองค์มีรูปแบบเหมือนกัน ลักษณะพิเศษอยู่ที่ส่วนกลาง มีมุขยื่นออกทั้งสี่ทิศสันหลังคามุขประดับเจดีย์ยอด มุขทิศตะวันออกเป็นช่องทางเข้าสู่คูหาเจดีย์ อีกสามมุขเป็นซุ้มจระนำที่เคยมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ สำหรับการประดับเจดีย์ยอดไว้ที่สันหลังคามุขมีอยู่ก่อนแล้วที่สันหลังคาตรีมุขปรางค์ประธานของวัดในยุคต้น และยังมีเจดีย์ทรงระฆังที่น่าสนใจที่สร้างในยุคกลางกลุ่มหนึ่ง คือ เจดีย์ประธานวัดบางกะจะ เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาด้วย เจดีย์ทรงนี้ประกอบด้วยส่วนล่างเป็นฐานเพิ่มมุม และตกแต่งด้วยฐานลวดบัวแบบล้านนา ฐานนี้รองรับฐานอีกสามฐานในผังกลมก่อนถึงทรงระฆังขนาดเล็ก (สันติ เล็กสุขุม : ฐานข้อมูลออนไลน์)

            2. วิหารหรืออุโบสถ เป็นวิหารขนาดย่อมๆ น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น และมีการบูรณะต่อเติมในสมัยอยุธยาตอนปลายอีกครั้งเป็นอาคารขนาดเล็กที่เจาะช่องประตู-หน้าต่างน้อย แบบที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง

            3. เจดีย์ราย เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยม ย่อมุมไม้ยี่สิบ ศิลปะอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่าน่าจะมีการสร้างครั้งบูรณะวัด ปัจจุบันหลงเหลือลายปูนปั้นขาสิงห์และอกสิงห์ที่สวยสมบูรณ์ที่หนึ่งส่วนเจดีย์รายเป็นเจดีย์ย่อมุมยี่สิบ ซึ่งนิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.

กรมศิลปกร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2516.

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา.  กรุงเทพฯ : ธเนศวรการพิมพ์, 2516.

ประทีป เพ็งตะโก. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2539.

 

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา. มปป. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 01 มีนาคม 2558 แหล่งที่มา https://welovemuseum.files.wordpress.com/2011/02/e0b8a8e0b8b4e0b8a5e0b89be0b8b0e0b8ade0b8a2e0b8b8e0b898e0b8a2e0b8b2.pdf

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี