โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา
ตำบล : ประตูชัย
อำเภอ : พระนครศรีอยุธยา
จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา
พิกัด DD : 14.357099 N, 100.564563 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, เจ้าพระยา, ลพบุรี, น้อย
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเมือง
วัดหลังคาขาว ตั้งอยู่บริเวณบึงพระราม ตำแหน่งที่วัดอยู่ในพื้นที่ด้านทิศเหนือภายในเกาะเมืองอยุธยา ใกล้กับวัดมหาธาตุ ในพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
การเดินทางสู่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขาวเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี ไปจังหวัดปทุมธานี จากนั้นใช้เส้นทางปทุมธานี - สามโคก - เสนา ทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวขวาที่อำเภอ เสนา ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เส้นทาง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การเดินทางด้วยรถไฟ ใช้ขบวนที่เดินทางสู่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอ พระนครศรีอยุธยา และอำเภอภาชี
วัดหลังคาขาว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมในลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์ เปิด 06.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เป็นเงิน 10 บาท ชาวต่างชาติเป็นเงิน 40 บาท ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาย 60 ปีขึ้นไป, นักเรียน-นักศึกษา ในเครื่องแบบ, พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และนักบวช เป็นต้น สามารถโทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้าได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์ 035-245123-4
กรมศิลปากร
การขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร :
วัดหลังคาขาว เป็นโบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2519 พื้นที่ 1,810 ไร่ และในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่
นอกจากนี้ วัดหลังคาขาว ปรากฏรายละเอียดของการขึ้นทะเบียนดังนี้
1. กำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2484 หน้า 584
การขึ้นทะเบียนของ UNESCO :
วัดหลังคาขาว เป็นโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 576
วัดหลังคาขาว ตั้งอยู่บริเวณบึงพระราม ตำแหน่งที่วัดอยู่ในพื้นที่ด้านทิศเหนือภายในเกาะเมืองอยุธยา ติดกับวัดหลังคาดำ (ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดหลังคาดำ) ใกล้กับวัดมหาธาตุ อยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทางทิศเหนือประมาณ 1.30 กิโลเมตร ห่างจากคลองเมืองมาทางทิศใต้ประมาณ 400 เมตร ในพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อ พ.ศ.2530
แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำน้อย, คลองเมือง
ที่ราบลุ่มภาคกลางเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใหญ่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ปิง(ต่อเลยไปเกือบเชื่อมกับรอยเลื่อนเมย) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี ซึ่งต่อเนื่องจากการเปิดตัวของอ่าวไทยทางใต ้และการเกิดแอ่งเทอร์เชียรีในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนและตามด้วยการเกิดรอยเลื่อนในแนวเหนือ-ใต้ (Bunopas 1981) การสะสมตัวเกิดขึ้นบนบกแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบตะกอนน้ำพา ทางน้ำ ทะเลสาบ และแบบกึ่งทางน้ำกับทะเลสาบ
ลักษณะทางธรณีวิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ ทำให้ลึกลงไปใต้พื้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งกรวดทรายขนาดใหญ่ เม็ดกรวด และทรายมีขนาดใหญ่และมีลักษณะกลมมน น้ำบาดาล สะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างและเม็ดกรวดและทราย แทรกสลับอยู่กับชั้นดินเหนียว ทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น และเป็นชั้นน้ำที่แผ่ขยายออกไปในแนวราบอย่างกว้างขวาง มีคุณสมบัติทางอุทกธรณีวิทยาเฉพาะตัว ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่ในชั้นน้ำบาดาลส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ กล่าวคือ ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้น จะมีชั้นดินเหนียวรองรับอยู่ด้านล่าง และปิดทับอยู่ด้านบน จัดเป็นชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (Confined aquifer)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2484
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2484 หน้า 584 ในขณะนั้นเพียงแต่ประกาศแค่ชื่อเท่านั้น ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใด โดยวัดหลังคาดำ เป็นหนึ่งในรายชื่อโบราณสถานที่ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานในครั้งนั้นชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 หน้า 2149 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 1,810 ไร่ โดยวัดหลังคาขาว เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ฯชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530
วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ขุดแต่ง
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรโดยโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาดำเนินการขุดแต่งและบูรณะวัดหลังคาขาว โดยนำเสนอเป็นรายงานการขุดแต่งและบูรณะวัดหลังคาขาว ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประจำปีงบประมาณ 2530ชื่อผู้ศึกษา : UNESCO
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
วัดหลังคาขาว เป็นโบราณสถานภายในเขตเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง ลงวันที่ 21 มกราคม 2540 หน้า 40 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่วัดหลังคาขาว (ก่องแก้ว วีระประจักษ์ มปป.) ปัจจุบันเป็นวัดร้างตั้งอยู่ในเขตสวนสาธารณะบึงพระราม ไม่ปรากฏหลักฐานทางด้านเอกสารเกี่ยวกับประวัติการสร้าง โดยชื่อวัด "หลังคาขาว" นั้น น่าจะเป็นชื่อที่เรียกกันภายหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับ "วัดหลังคาดำ" ที่อยู่ใกล้เคียงกันทางด้านทิศใต้
โบราณสถานที่สำคัญของวัดหลังคาขาว ได้แก่
1. เจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะแล้วเมื่อ พ.ศ.2540 จากการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ฐานแปดเหลี่ยมดังกล่าวน่าจะสร้างขึ้นในภายหลัง สังเกตได้จากร่องรอยของฐานประทักษิณซึ่งพบว่าตั้งอยู่ในระดับพื้นดินสูงกว่าฐานวิหารและฐานเจดีย์ และยังสร้างซ้อนทับฐานวิหารและฐานเจดีย์อีกด้วย
ฐานขององค์เจดีย์ทำเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมชั้นลด 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานปัทม์แปดเปลี่ยมเรียงซ้อนกัน 3 ชั้นแล้วจึงเป็นองค์ระฆัง ซึ่งทำเป็นทรงกลม สูงเหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์แปดเหลี่ยม ต่อด้วยปล้องไฉน ปลียอด ซึ่งชำรุดส่วนปลายหักหายไป
ภายในองค์เจดีย์ปรากฏครรภธาตุ ลักษณะเป็นห้องคูหาทรงกลมกว้างประมาณ 3 เมตร สันนิษฐานว่าน่าจะใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เนื่องจากพบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปปูนปั้นและหินทรายจำนวนหนึ่งจากการขุดแต่ง โดยเฉพาะเม็ดพระศกได้พบจำนวนมากและอยู่ในสภาพชัดเจนกว่าชิ้นส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ที่ผนังคูหายังมีช่องรูปสามเหลี่ยม ลักษณะเป็นซุ้มอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศใต้ ซุ้มดังกล่าวปรากฏร่องรอยการก่ออิฐสอปูนปิดไว้ตั้งแต่แรกสร้าง ระหว่างซุ้มทั้ง 3 มีช่องขนาดเล็กรูปสามเหลี่ยมอีก 6 ช่อง ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่ตั้งวางประทีป
ส่วนบนของครรภธาตุ ทำการก่ออิฐยื่นออกมาจากผนัง ใช้เป็นที่รองรับเพดานไม้ซึ่งเรียงซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ทางด้านตะวันออกขององค์เจดีย์มีประตูทางเข้าครรภธาตุกว้างประมาณ 1 เมตร มีร่องรอยของทับหลังทำด้วยไม้ ซึ่งปัจจุบันไม้ผุพังไปหมดแล้วคงพบแต่รอยอิฐก่อเรียงเป็นช่องสำหรับรองรับเครื่องไม้ดังกล่าวแล้วข้างต้น ที่บานประตูมีบันได 5 ชั้น กว้างประมาณ 1.20 เมตร
การก่ออิฐประกอบองค์เจดีย์ส่วนใหญ่จะก่อเรียงแบบสั้นยาวเรียงขึ้นรูปสอด้วยดินเหนียวให้ได้รูปทรงอย่างคร่าว ๆ เป็นแบบอยู่ชั้นใน จากนั้นก่ออิฐพอกเพิ่มชั้นนอกใช้ปูนสอตกแต่งให้ได้รูปทรง การก่ออิฐอย่างนี้ทำให้แนวอิฐชั้นนอกกับชั้นในไม่เชื่อมประสานกันเมื่อเกิดการชำรุดสภาพของอิฐชั้นนอกที่ประกอบเป็นองค์เจดีย์ จึงแบะออกเป็นแนวหลุดร่วงเป็นแถบ ซึ่งเห็นได้จากสภาพเจดีย์ก่อนการอนุรักษ์
2. วิหาร ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออก ด้านหน้าขององค์เจดีย์ อยู่ในสภาพที่ชำรุดมาก เหลือเพียงฐานเท่านั้น ลักษณะเป็นฐานปัทม์มีบันไดขึ้นทางด้านตะวันออก (ด้านหน้าของวิหาร) นอกจากนี้ ยังได้พบหลักฐานที่บ่งบอกว่าวิหารหลังนี้มีการสร้างขึ้นมาเชื่อมติดกันโดยซ้อนทับฐานวิหารและฐานเจดีย์ไว้ด้วย
สำหรับโบราณวัตถุที่พบในบริเวณวัดหลังคาขาว ขณะทำการขุดแต่งส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนพระพุทธรูปสำริด หินทราย ปูนปั้น และดินเผา ซึ่งชำรุดแตกหักเป็นชิ้นขนาดเล็ก สังเกตได้ว่าเป็นชิ้นส่วนของพระพุทธรูปทรงเครื่อง และพระพุทธรูปห่มดอง (ห่มเฉวียงบ่า) ปางสมาธิและปางมารวิชัยประทับนั่งสมาธิราบ นอกจากนั้นยังพบเศษภาชนะดินเผาชนิดต่างๆ ซึ่งอยู่ในสภาพชำรุดแตกเป็นเศษชิ้นเล็กชิ้นน้อย
การพิจารณาลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมของวัดหลังคาขาวเท่าที่ปรากฏหลักฐานดังกล่าวข้างต้น จำเป็นต้องอาศัยแนวทางการศึกษาวิวัฒนาการของการสร้างเจดีย์อยุธยาซึ่งพบหลักฐานว่า รูปแบบสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะเจดีย์ประธานของวัดนั้น ในพุทธศตวรรษที่ 22 นิยมสร้างเจดีย์ทรงกลม แต่พอถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 - พุทธศตวรรษที่ 23 ลักษณะทรงเจดีย์ได้พัฒนารูปแบบไป โดยมีการทำเป็นเหลี่ยมทำเป็นมุมและเพิ่มจำนวนมุมมากขึ้น อีกทั้งยังนิยมประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้น องค์ประกอบต่างๆ ของสถาปัตยกรรมที่องค์เจดีย์ เป็นต้น
เมื่อพิจารณาตามแนวทางการศึกษาวิวัฒนาการของการสร้างเจดีย์อยุธยาข้างต้น ทำให้ได้ข้อสรุปว่า เจดีย์วัดหลังคาขาวซึ่งเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม และภายในกลวงเป็นครรภธาตุหรือห้องคูหา มีประตูทางเข้า ลักษณะรูปทรงดังกล่าวใกล้เคียงกับเจดีย์มุม ของปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ ซึ่งสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 20 และเจดีย์ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งสร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 และจากหลักฐานปรากฏที่ฐานประทักษิณแสดงให้เห็นว่ามีการสร้างซ่อมเพิ่มเติมในสมัยหลังคือสมัยอยุธยาตอนกลาง
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.
กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2516. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2516.
กรมศิลปากร. รายงานการขุดแต่งและบูรณะวัดหลังคาขาว ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีงบประมาณ 2530. กรุงเทพฯ : โครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, 2530.
กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx
ก่องแก้ว วีระประจักษ์. วัดหลังคาขาว. มปป. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.literatureandhistory.go.th/
คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : ธเนศวรการพิมพ์, 2516.
ประทีป เพ็งตะโก. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2539.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา. มปป. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 01 มีนาคม 2558 แหล่งที่มา https://welovemuseum.files.wordpress.com/2011/02/e0b8a8e0b8b4e0b8a5e0b89be0b8b0e0b8ade0b8a2e0b8b8e0b898e0b8a2e0b8b2.pdf
สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.