โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา
ตำบล : ท่าวาสุกรี
อำเภอ : พระนครศรีอยุธยา
จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา
พิกัด DD : 14.360414 N, 100.56813 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, เจ้าพระยา, ลพบุรี, น้อย
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเมือง
วัดพลับพลาไชย ตั้งอยู่ในพื้นที่ทาทิศเหนือภายในเกาะเมืองอยุธยา ริมถนนชีกุน ทางทิศเหนือของวัดราชบูรณะ ใกล้กับคลองเมือง
การเดินทางสู่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี ไปจังหวัดปทุมธานี จากนั้นใช้เส้นทางปทุมธานี - สามโคก - เสนา ทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวขวาที่อำเภอ เสนา ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เส้นทาง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานีเลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การเดินทางด้วยรถไฟ ใช้ขบวนที่เดินทางสู่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอ พระนครศรีอยุธยา และอำเภอภาชี
วัดพลับพลาไชย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมในลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์ เปิด 06.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เป็นเงิน 20 บาท ชาวต่างชาติเป็นเงิน 100 บาท ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาย 60 ปีขึ้นไป, นักเรียน-นักศึกษา ในเครื่องแบบ, พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และนักบวช เป็นต้น สามารถโทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้า และสอบถามข้อมูลได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์ 035-245123-4
กรมศิลปากร
การขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
วัดพลับพลาไชย เป็นโบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2519 พื้นที่ 1,810 ไร่ และในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่
นอกจากนี้ วัดพลับพลาไชย ยังปรากฏรายละเอียดของการขึ้นทะเบียนดังนี้
1. กำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2484 หน้า 584
การขึ้นทะเบียนของ UNESCO :
วัดพลับพลาไชย เป็นโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 576
วัดพลับพลาไชย ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางทิศเหนือภายในเกาะเมืองอยุธยา ทางทิศเหนือของวัดราชบูรณะ ห่างจากคลองเมืองที่เป็นคูเมืองด้านทิศเหนือ มาทางทิศใต้ประมาณ 300 เมตร อยู่ในพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำน้อย, คลองเมือง
ที่ราบลุ่มภาคกลางเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใหญ่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ปิง(ต่อเลยไปเกือบเชื่อมกับรอยเลื่อนเมย) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี ซึ่งต่อเนื่องจากการเปิดตัวของอ่าวไทยทางใต ้และการเกิดแอ่งเทอร์เชียรีในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนและตามด้วยการเกิดรอยเลื่อนในแนวเหนือ-ใต้ (Bunopas, 1981) การสะสมตัวเกิดขึ้นบนบกแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบตะกอนน้ำพา ทางน้ำ ทะเลสาบ และแบบกึ่งทางน้ำกับทะเลสาบ
ลักษณะทางธรณีวิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ ทำให้ลึกลงไปใต้พื้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งกรวดทรายขนาดใหญ่ เม็ดกรวด และทรายมีขนาดใหญ่และมีลักษณะกลมมน น้ำบาดาล สะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างและเม็ดกรวดและทราย แทรกสลับอยู่กับชั้นดินเหนียว ทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น และเป็นชั้นน้ำที่แผ่ขยายออกไปในแนวราบอย่างกว้างขวาง มีคุณสมบัติทางอุทกธรณีวิทยาเฉพาะตัว ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่ในชั้นน้ำบาดาลส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ กล่าวคือ ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้น จะมีชั้นดินเหนียวรองรับอยู่ด้านล่าง และปิดทับอยู่ด้านบน จัดเป็นชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (Confined aquifer)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2484
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2484 หน้า 584 ในขณะนั้นเพียงแต่ประกาศแค่ชื่อเท่านั้น ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใด โดยวัดพลับพลาไชย เป็นหนึ่งในรายชื่อโบราณสถานที่ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานในครั้งนั้นชื่อผู้ศึกษา : จิรา จันทรานนท์นัยวินิต
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2502
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์
ผลการศึกษา :
จิรา จันทรานนท์นัยวินิต. เผยแพร่บทความเรื่อง “วัดพลับพลาไชย และ วัดชัยภูมิ และแผนผังบริเวณพระเจดีย์เจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา” ตีพิมพ์ใน นิตยสารศิลปากร ปีที่ 2, เล่ม 6 (มี.ค. 2502) : หน้า 25-31.ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 หน้า 2149 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 1,810 ไร่ โดยการประกาศกำหนดพื้นที่โบราณสถานในครั้งนั้น วัดพลับพลาไชย เป็นโบราณสถานที่อยู่นอกเขตอุทยานประวัติศาสตร์ฯ แต่อยู่ภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาชื่อผู้ศึกษา : UNESCO
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
วัดพลับพลาไชย เป็นโบราณสถานภายในพื้นที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534ชื่อผู้ศึกษา : ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์
ผลการศึกษา :
ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณ เผยแพร่บทความเรื่อง “จากแปดเหลือสี่(เหลี่ยม) ?—ปริศนาการบูรณะเจดีย์วัดพลับพลาไชย” ตีพิมพ์เผยแพร่ ใน เมืองโบราณ. ปีที่ 22, ฉบับที่ 3 (ก.ค.-ก.ย. 2539) : หน้า 151-155ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง ลงวันที่ 21 มกราคม 2540 หน้า 40 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่ โดยการประกาศในครั้งนี้ ได้รวมวัดพลับพลาไชยเข้าไปในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ฯ ด้วยชื่อผู้ศึกษา : วัตร์ นวะมะรัตน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ปวัตร์ นวะมะรัตน เผยแพร่บทความเรื่อง “วัดพลับพลาไชย”ตีพิมพ์เผยแพร่ ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 28, ฉบับที่ 8 (มิ.ย. 2550) : หน้า 46-47วัดพลับพลาไชย (กรมศิลปากร 2551: 77 ; กรมศิลปากร 2511 : 70-73) ตั้งอยู่ในเขตตำบลประตูชัย ไม่ปรากฏหลักฐานทางด้านเอกสารเกี่ยวกับประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากการที่ปรากฏชื่อวัดในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ระบุเหตุการณ์รบระหว่างเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาทำสงครามเพื่อชิงราชสมบัติทำให้สิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ โดยวัดพลับพลาไชยถูกใช้เป็นที่ตั้งกองทัพของเจ้าอ้ายพระยา จึงสันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะได้รับการสร้างขึ้นแล้วในสมัยอยุธยาตอนต้น และด้วยตำแหน่งที่ตั้งของวัดที่อยู่บนเส้นทางไปมาระหว่างวังหลวงกับวังหน้า ทุกครั้งที่มีการรบกันจึงมักปรากฏชื่อวัดนี้อยู่เสมอ
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัด มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. เจดีย์ประธาน ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม ฐานแปดเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่าศูนย์ของเจดีย์ประมาณ 4 เมตร ภายในก่ออิฐสอดินซึ่งเป็นเทคนิคของงานช่างสมัยอู่ทอง-อยุธยาตอนต้น ลักษณะของเจดีย์มีความคล้ายคลึงกับเจดีย์วัดเสลี่ยงทุ่งแก้ว
2. วิหาร เป็นวิหารขนาดเล็ก ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจาะช่องหน้าต่างขนาดเล็กไว้ด้านละ 1 บาน มีประตูทางเข้า 2 ช่อง ซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง
3. เจดีย์ราย ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ทรงยอดปรางค์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน ศิลปะอยุธยาตอนปลาย จากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดนี้น่าจะสร้างขึ้นในราวสมัยอยุธยาตอนต้นและถูกใช้งานเรื่อยมาจนกระทั่งถึงในสมัยอยุธยาตอนปลาย
กรมศิลปากร. พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งรูปถ่ายและแผนผัง. พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2511. (รวบรวมและจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายจำรัส เกียรติก้อง ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2511).
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.
กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 02 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx
คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : ธเนศวรการพิมพ์, 2516.
ประทีป เพ็งตะโก. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2539.
สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.