วัดนก


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา

ตำบล : ประตูชัย

อำเภอ : พระนครศรีอยุธยา

จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา

พิกัด DD : 14.356119 N, 100.566862 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, เจ้าพระยา, ลพบุรี, น้อย

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเมือง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดนก ตั้งอยู่บริเวณบึงพระราม กลางเกาะเมืองอยุธยา อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดมหาธาตุ อยู่ระหว่างวัดสัตบาป (ด้านทิศตะวันตก) กับวัดมหาธาตุ (ด้านทิศตะวันออก) ภายในพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

การเดินทางสู่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขาวเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี ไปจังหวัดปทุมธานี จากนั้นใช้เส้นทางปทุมธานี - สามโคก - เสนา ทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวขวาที่อำเภอ เสนา ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เส้นทาง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานีเลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การเดินทางด้วยรถไฟ ใช้ขบวนที่เดินทางสู่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอ พระนครศรีอยุธยา และอำเภอภาชี 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดนก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมในลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์ เปิด 06.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เป็นเงิน 10 บาท ชาวต่างชาติเป็นเงิน 40 บาท ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาย 60 ปีขึ้นไป, นักเรียน-นักศึกษา ในเครื่องแบบ, พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และนักบวช เป็นต้น  สามารถโทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้าได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์ 035-245123-4

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

การขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

วัดนก เป็นโบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2519 พื้นที่ 1,810 ไร่ และในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

การขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วัดนก เป็นโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 576

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดนก ตั้งอยู่บริเวณบึงพระราม กลางเกาะเมืองอยุธยา อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดมหาธาตุ อยู่ระหว่างวัดสัตบาป (ด้านทิศตะวันตก) กับวัดมหาธาตุ (ด้านทิศตะวันออก) ภายในพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

3.5 -5 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำน้อย, คลองเมือง

สภาพธรณีวิทยา

ที่ราบลุ่มภาคกลางเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใหญ่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ปิง(ต่อเลยไปเกือบเชื่อมกับรอยเลื่อนเมย) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี ซึ่งต่อเนื่องจากการเปิดตัวของอ่าวไทยทางใต ้และการเกิดแอ่งเทอร์เชียรีในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนและตามด้วยการเกิดรอยเลื่อนในแนวเหนือ-ใต้ (Bunopas, 1981) การสะสมตัวเกิดขึ้นบนบกแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบตะกอนน้ำพา ทางน้ำ ทะเลสาบ และแบบกึ่งทางน้ำกับทะเลสาบ

ลักษณะทางธรณีวิทยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  ทำให้ลึกลงไปใต้พื้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นแหล่งกรวดทรายขนาดใหญ่  เม็ดกรวด และทรายมีขนาดใหญ่และมีลักษณะกลมมน   น้ำบาดาล สะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างและเม็ดกรวดและทราย  แทรกสลับอยู่กับชั้นดินเหนียว  ทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น  และเป็นชั้นน้ำที่แผ่ขยายออกไปในแนวราบอย่างกว้างขวาง  มีคุณสมบัติทางอุทกธรณีวิทยาเฉพาะตัว  ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่ในชั้นน้ำบาดาลส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  กล่าวคือ  ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้น  จะมีชั้นดินเหนียวรองรับอยู่ด้านล่าง  และปิดทับอยู่ด้านบน  จัดเป็นชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (Confined aquifer)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 หน้า 2149 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 1,810 ไร่ โดยวัดนก เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ฯ

ชื่อผู้ศึกษา : UNESCO

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

วัดนก เป็นโบราณสถานภายในเขตเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง ลงวันที่ 21 มกราคม 2540 หน้า 40 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

            วัดนก (ก่องแก้ว วีระประจักษ์ มปป.) เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ตั้งอยู่บริเวณส่วนกลางของเกาะเมือง  ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดมหาธาตุ  ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง  ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏสามารถสันนิษฐานได้ในเบื้องต้นว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น

            ชื่อของวัดนกปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา โดยกล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงเมื่อ พ.ศ.2127  แล้วโปรดฯ ให้พระยาเกียรติ  พระยาราม และพระมหาเถรคันฉ่อง  พร้อมด้วยญาติโยมตามเสด็จมายังพระนครศรีอยุธยาด้วย  เมื่อมาถึงพระนครศรีอยุธยาแล้ว  พระราชทานให้พระยาเกียรติ  พระยาราม  อยู่ตำบลบ้านขมิ้น  วัดขุนแสน  ญาติโยมของพระมหาเถรคันฉ่องนั้น  ให้อยู่ตำบลบ้านหลังวัดนก (กรมศิลปากร 2511 : 137)   นอกจากนั้นพระยาโบราณราชธานินทร์ยังได้กล่าวถึงในคำอธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยาตอนหนึ่งว่า  “ย่านหลังวัดนก  หน้าวัดโพง  มีร้านชำไทยมอญขายขัน  ถาด  พานน้อยใหญ่  สรรพเครื่องทองเหลืองครบ  แลมีตลาดขายของสดเช้าเย็นอยู่ในย่านหน้าวัดนก” (กรมศิลปากร 2472 : 75)  

            สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัดนก ประกอบด้วย ปรางค์และวิหาร  ซึ่งกรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะแล้ว  รายละเอียดโดยสังเขปดังนี้

            1. ปรางค์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวิหาร  บนฐานสี่เหลี่ยมมีฐานย่อมุมเรียงซ้อนขึ้นไป 3 ชั้น  จึงเป็นเรือนธาตุซึ่งทำเป็นซุ้มจรนำ 4 ทิศ  เฉพาะด้านทิศตะวันออกทำเป็นมุขยื่นออกมาจากเรือนธาตุ  และมีบันไดทางขึ้นเข้าสู่ห้องคูหาหรือครรภธาตุ  ที่ซุ้มจรนำทั้ง 3 ด้าน ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับยืนภายในเรือนแก้ว  พระหัตถ์แสดงปางประทานอภัย สภาพหักชำรุดไปบางส่วน ที่เรือนแก้วปั้นปูนเป็นลายกระหนก ปรากฏรูปแบบศิลปะซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลสืบต่อมาจากศิลปะสมัยลพบุรี

            บริเวณชั้นเรือนธาตุส่วนที่เป็นย่อมุมนั้น ปรากฏลวดลายพอให้เห็นอยู่บ้าง ซึ่งเป็นการปั้นปูนประดับ  โดยเฉพาะลายบัวนั้นมีร่องรอยบ่งบอกว่ามีการสร้างซ่อมของเก่าอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ บัวหงายที่ปากฐานรองรับเรือนธาตุ  ตรงย่อมุม ส่วนลักษณะที่เป็นบัวรุ่นเก่าวิวัฒนาการมาจากบัวในศิลปะแบบลพบุรี

            เหนือเรือนธาตุซ้อนทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมเรียงลดหลั่นกันขึ้นไป 3 ชั้น รูปทรงคล้ายฝักข้าวโพดเตี้ย เป็นลักษณะของหลังคาปรางค์ที่สืบทอดมาจากหลังคาปราสาทแบบเขมร แต่ละชั้นประดับด้วยกลีบขนุนซึ่งยังคงหลงเหลือให้เห็นได้บางส่วน รูปแบบของปูนปั้นประดับปรางค์ตามที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ชัดว่า  ปรางค์วัดนกนี้เมื่อแรกน่าจะได้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20 และต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ในพุทธศตวรรษที่ 22 และ 23  ตามลำดับ

            2. วิหาร ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของปรางค์ และหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านผนังหุ้มกลองชำรุดหักพังไปทั้ง 2 ด้าน  คงเหลือร่องรอยเฉพาะผนังด้านข้างขวาซ้าย  ซึ่งเจาะช่องหน้าต่างไว้เพียงด้านละ 1 ช่อง ที่บริเวณผนังมีปูนปั้นรูปเสาประดับผนังด้านละ 7 เสา  ปัจจุบันเหลือ 5 เสา  และมีเสาแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐ  เห็นเพียงโคนเสาเรียง 2 แถวๆ ละ 5 ต้น  และที่ระเบียงข้างวิหารทิศเหนือก็มีเสา 7 ต้น  รองรับชายคา  ภายในวิหารมีอาสนะประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงอยู่ติดผนังทั้ง 2 ด้าน และในสุดมีฐานยกพื้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน  สังเกตได้ว่าวิหารนี้น่าจะได้สร้างซ่อมเพิ่มเติมขึ้นใหม่ในยุคหลัง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2516.

กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 63 เรื่องกรุงเก่า. พระนคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2511.

กรมศิลปากร.  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. (พิมพ์ครั้งที่ 6), พระนคร : ศิวพร , 2511.          (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานบรรจุศพคุณพ่อไต้ล้ง  พรประภา  วันที่ 4 กันยายน 2511).

กรมศิลปากร. อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา กับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์. ชำระครั้ง      ที่ 2. พระนคร, 2472. (ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยพิมพ์ถวายสนองพระคุณ พระวิมาดาเธอ             กรมพระสุทธาสินีนาฏ  ปิยมหาราชปดิวรัดา  ในงานพระเมรุท้องสนามหลวง 2472).

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

ก่องแก้ว วีระประจักษ์. วัดนก. มปป. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา  http://www.literatureandhistory.go.th/

คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา.  กรุงเทพฯ : ธเนศวรการพิมพ์, 2516.

ประทีป เพ็งตะโก. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2539.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา. มปป. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 01 มีนาคม 2558 แหล่งที่มา https://welovemuseum.files.wordpress.com/2011/02/e0b8a8e0b8b4e0b8a5e0b89be0b8b0e0b8ade0b8a2e0b8b8e0b898e0b8a2e0b8b2.pdf

สันติ  เล็กสุขุม. เจดีย์เพิ่มมุม เจดีย์ย่อมุมสมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2529.

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี