โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา
ตำบล : ประตูชัย
อำเภอ : พระนครศรีอยุธยา
จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา
พิกัด DD : 14.344546 N, 100.545756 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, เจ้าพระยา, ลพบุรี, น้อย
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเมือง
วัดมหาสมัน เป็นวัดเก่าตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองทางด้านหลังของพระตำหนักสิริยาลัยในปัจจุบัน เขตตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ภายในเขตเกาะเมืองฝั่งตรงกันข้ามวัดไชยวัฒนาราม
การเดินทางสู่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขาวเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี ไปจังหวัดปทุมธานี จากนั้นใช้เส้นทางปทุมธานี - สามโคก - เสนา ทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวขวาที่อำเภอ เสนา ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เส้นทาง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การเดินทางด้วยรถไฟ ใช้ขบวนที่เดินทางสู่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอ พระนครศรีอยุธยา และอำเภอภาชี
วัดมหาสมัน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมในลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์ เปิด 06.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เป็นเงิน 20 บาท ชาวต่างชาติเป็นเงิน 100 บาท ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาย 60 ปีขึ้นไป, นักเรียน-นักศึกษา ในเครื่องแบบ, พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และนักบวช เป็นต้น สามารถโทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้าได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์ 035-245123-4
กรมศิลปากร
การขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
วัดมหาสมัน เป็นโบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2519 พื้นที่ 1,810 ไร่ และในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่
นอกจากนี้ โบราณสถานวัดมหาสมัน ยังปรากฎรายละเอียดของการขึ้นทะเบียนดังนี้
1. กำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 60 ตอนที่ 39 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2486 หน้า 2350
การขึ้นทะเบียนของ UNESCO
วัดมหาสมัน เป็นโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 576
วัดมหาสมัน เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ภายในเกาะเมืองอยุธยา อยู่ด้านหลังหรือด้านทิศตะวันออกของพระตำหนักสิริยาลัยในปัจจุบัน เดิมคงเป็นวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำกับวัดไชยวัฒนาราม
แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำน้อย, คลองเมือง
ที่ราบลุ่มภาคกลางเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใหญ่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ปิง(ต่อเลยไปเกือบเชื่อมกับรอยเลื่อนเมย) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี ซึ่งต่อเนื่องจากการเปิดตัวของอ่าวไทยทางใต้และการเกิดแอ่งเทอร์เชียรีในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนและตามด้วยการเกิดรอยเลื่อนในแนวเหนือ-ใต้ (Bunopas, 1981) การสะสมตัวเกิดขึ้นบนบกแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบตะกอนน้ำพา ทางน้ำ ทะเลสาบ และแบบกึ่งทางน้ำกับทะเลสาบ
ลักษณะทางธรณีวิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ ทำให้ลึกลงไปใต้พื้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งกรวดทรายขนาดใหญ่ เม็ดกรวด และทรายมีขนาดใหญ่และมีลักษณะกลมมน น้ำบาดาล สะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างและเม็ดกรวดและทราย แทรกสลับอยู่กับชั้นดินเหนียว ทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น และเป็นชั้นน้ำที่แผ่ขยายออกไปในแนวราบอย่างกว้างขวาง มีคุณสมบัติทางอุทกธรณีวิทยาเฉพาะตัว ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่ในชั้นน้ำบาดาลส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ กล่าวคือ ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้น จะมีชั้นดินเหนียวรองรับอยู่ด้านล่าง และปิดทับอยู่ด้านบน จัดเป็นชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (Confined aquifer)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2486
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 60 ตอนที่ 39 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2486 หน้า 2349 ในขณะนั้น วัดมหาสมันเป็นวัดในประกาศด้วย แต่ประกาศแค่ชื่อเท่านั้น ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใดชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 หน้า 2149 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 1,810 ไร่ โดยวัดมหาสมันเป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ฯชื่อผู้ศึกษา : UNESCO
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
วัดมหาสมัน เป็นโบราณสถานภายในเขตเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง ลงวันที่ 21 มกราคม 2540 หน้า 40 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่วัดมหาสมัน เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ภายในเกาะเมืองอยุธยา อยู่ด้านหลังหรือด้านทิศตะวันออกของพระตำหนักสิริยาลัยในปัจจุบัน เดิมคงเป็นวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำกับวัดไชยวัฒนาราม ไม่พบประวัติการสร้าง แต่อาจสันนิษฐานได้ว่าคงสร้างโดยขุนนาง หรือคหบดีของกรุงศรีอยุธยา
คำว่า “มหาสมัน” ปรากฏอยู่ในตำนานเมืองโบราณภาคเหนือกล่าวถึงชุมชนดั้งเดิมที่นับถือ “สมัน” ว่าเป็นสัตว์มีพระคุณที่ได้พลีชีวิตแทนพระราชาของตน ร่องรอยของคติการนับถือ “สมัน” อาจจะตกทอดมาถึงอยุธยาตอนกวาดต้อนชาวเหนือจากหัวเมืองลงมา โดยวัดมหาสมันอาจเป็นย่านของชาวเหนือหรือชาวกรุงสุโขทัยอีกแห่งหนึ่งในเกาะเมือง (กรมศิลปากร 2551 : 92)
บริเวณพื้นที่ด้านหน้าของวัดมหาสมันนั้นแต่เดิมน่าจะเป็นท่าเรือจ้างบ้านชี อันเป็นท่าเรือข้ามฟากไปยังวัดไชยวัฒนารามซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม อันเป็นท่าเรือจ้างที่สำคัญ 1 ใน 4 ท่าของเกาะเมืองด้านตะวันตกในสมัยอยุธยา (กรมศิลปากร 2551 : 92)
สภาพก่อนการขุดแต่งของวัดมหาสมันพบว่า บริเวณของวัดตั้งอยู่บนเนินดินสูง ทางทิศเหนือมีคูน้ำเดิมผ่านไปจดสระน้ำที่ยังมีแนวเห็นอยู่ปัจจุบัน คูน้ำนี้น่าจะขุดขึ้นเมื่อตอนสร้างวัด แล้วเอาดินขึ้นไปถมให้บริเวณวัดสูง เหมือนอย่างหลายๆ วัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา
เจดีย์ของวัดมหาสมันนี้เป็นพระเจดีย์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอุโบสถ พบชิ้นส่วนของใบเสมาหินชนวน พิจารณาจากลักษณะของใบเสมาน่าจะเป็นใบเสมาคู่ ซึ่งพบตามวัดที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาทั่วๆ ไป ลักษณะของเจดีย์เป็นทรงกลมคล้ายองค์ระฆังคว่ำก่ออิฐสอปูน ฐานล่างแตกพังโดยรอบแต่สามารถสันนิษฐานได้ว่า โครงสร้างเป็นฐานทรงกลม ใต้องค์ระฆังมีฐานเป็นบัวปากระฆัง ลายปูนปั้นรูปกลีบบัวคว่ำบัวหงายรองรับ เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีลายรูปช่องเสาที่ตรงหน้ากระดาน เหนือบัลลังก์ดังกล่าวอาจมีเสาหาน เพราะเจดีย์ทั่วๆ ไปจะมีเสาหานอยู่เหนือบัลลังก์เพื่อรองรับปล้องไฉน ลักษณะของเจดีย์แบบนี้น่าจะเป็นรูปแบบของเจดีย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาในยุคหลัง
ต่อมากรมศิลปากร ดำเนินการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานในวัดมหาสมัน เมื่อ พ.ศ. 2537 ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีในบริเวณวัดนี้เพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น
1. เจดีย์ทรงกลมแบบองค์ระฆังคว่ำ เจดีย์องค์นี้คือองค์ที่เห็นเด่นชัดก่อนการบูรณะวัด สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ประธานของวัด คงได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมมาจากศิลปะสมัยสุโขทัย แต่ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นแบบของอยุธยา นอกจากนี้ ทางด้านตะวันออกของเจดีย์พบแท่นตั้งอยู่ห่างฐานเขียงชั้นล่างสุดของเจดีย์ประมาณ 30 เซนติเมตร ด้านตะวันตกได้ขุดพบว่ามีการก่อฐานขนาด 6.80 x 6.00 เมตร ยื่นออกไปจากฐานรูปบัวหงาย และพบชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นรูปขาสิงห์ ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าแนวอิฐที่ขุดพบดังกล่าวคงเป็นรากฐานของเจดีย์ฐานสิงห์ที่ก่อเสริมขึ้นมาในภายหลัง
2. รากฐานอุโบสถ เป็นฐานย่อมุม ด้านตะวันออกและตะวันตกมีรากฐานกำแพงอุโบสถคั่นระหว่างเสาด้านในอุโบสถและเสาด้านนอกไพที ลักษณะเสาทั้งหมดเป็นเสาแปดเหลี่ยมฉาบปูนให้เป็นเสากลม ที่พื้นด้านล่างโดยรอบอุโบสถพบร่องรอยฐานเสมาทั้ง 8 ทิศ ใบเสมาทำด้วยหินชนวน ทางทิศเหนือ ตะวันออก และทิศใต้ พบแนวกำแพงแก้ว
3. เจดีย์ราย ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและเฉียงใต้ของอุโบสถ พบเนินดิน สันนิษฐานว่าเป็นรากฐานของเจดีย์ราย
นอกจากนี้ ยังพบโบราณวัตถุอื่น เช่น พระพุทธรูปสำริดทรงเครื่อง พระพิมพ์ดินเผา ภาชนะดินเผา ลูกแก้ว และกำไลสำริด ฯลฯ
จากหลักฐานที่พบเหล่านี้ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าอุโบสถและเจดีย์ประธานคงจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น และมีการก่อสร้างปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมตลอดมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.
กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2516.
คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : ธเนศวรการพิมพ์, 2516.
ประทีป เพ็งตะโก. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2539.
ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา. ข้อมูลออนไลน์ เข้าถึงเมื่อวันที่ 01 มีนาคม 2558 แหล่งที่มา https://welovemuseum.files.wordpress.com/2011/02/e0b8a8e0b8b4e0b8a5e0b89be0b8b0e0b8ade0b8a2e0b8b8e0b898e0b8a2e0b8b2.pdf
สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.
ส่งศรี ประพัฒน์ทอง. วัดมหาสมัน. มปป. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.literatureandhistory.go.th/