วัดญาณเสน


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดยานุเสน

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา

ตำบล : ท่าวาสุกรี

อำเภอ : พระนครศรีอยุธยา

จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา

พิกัด DD : 14.359193 N, 100.563797 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, เจ้าพระยา, ลพบุรี, น้อย

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเมือง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดญาณเสน อยู่ในพื้นที่บริเวณทิศเหนือภายในเกาะเมืองอยุธยา อยู่ระหว่างโบราณสถานวัดธรรมมิราชกับวัดสุวรรณเจดีย์ อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลสุวรรณภูมิ อยู่ห่างจากคลองเมืองมาทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร

การเดินทางสู่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขาวเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี ไปจังหวัดปทุมธานี จากนั้นใช้เส้นทางปทุมธานี - สามโคก - เสนา ทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวขวาที่อำเภอ เสนา ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เส้นทาง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การเดินทางด้วยรถไฟ ใช้ขบวนที่เดินทางสู่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอ พระนครศรีอยุธยา และอำเภอภาชี 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดญาณเสน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมในลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์ เปิด 06.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เป็นเงิน 10 บาท ชาวต่างชาติเป็นเงิน 40 บาท ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาย 60 ปีขึ้นไป, นักเรียน-นักศึกษา ในเครื่องแบบ, พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และนักบวช เป็นต้น  สามารถโทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้าได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์ 035-245123-4

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

การขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

วัดญาณเสน เป็นโบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2519 พื้นที่ 1,810 ไร่ และในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

การขึ้นทะเบียนของ UNESCO :

วัดญาณเสน เป็นโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 576

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดญาณเสน ปัจจุบันเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ อยู่ในพื้นที่บริเวณทิศเหนือภายในเกาะเมืองอยุธยา อยู่ระหว่างโบราณสถานวัดธรรมมิราชกับวัดสุวรรณเจดีย์ อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลสุวรรณภูมิ อยู่ห่างจากคลองเมืองมาทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร โบราณสถานภายในวัดญาณเสนได้รับการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

3.5-5 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำน้อย, คลองเมือง

สภาพธรณีวิทยา

ราบลุ่มภาคกลางเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใหญ่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ปิง(ต่อเลยไปเกือบเชื่อมกับรอยเลื่อนเมย) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี ซึ่งต่อเนื่องจากการเปิดตัวของอ่าวไทยทางใต้ และการเกิดแอ่งเทอร์เชียรีในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนและตามด้วยการเกิดรอยเลื่อนในแนวเหนือ-ใต้ (Bunopas, 1981) การสะสมตัวเกิดขึ้นบนบกแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบตะกอนน้ำพา ทางน้ำ ทะเลสาบ และแบบกึ่งทางน้ำกับทะเลสาบ

ลักษณะทางธรณีวิทยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  ทำให้ลึกลงไปใต้พื้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นแหล่งกรวดทรายขนาดใหญ่  เม็ดกรวด และทรายมีขนาดใหญ่และมีลักษณะกลมมน   น้ำบาดาล สะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างและเม็ดกรวดและทราย  แทรกสลับอยู่กับชั้นดินเหนียว  ทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น  และเป็นชั้นน้ำที่แผ่ขยายออกไปในแนวราบอย่างกว้างขวาง  มีคุณสมบัติทางอุทกธรณีวิทยาเฉพาะตัว  ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่ในชั้นน้ำบาดาลส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  กล่าวคือ  ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้น  จะมีชั้นดินเหนียวรองรับอยู่ด้านล่าง  และปิดทับอยู่ด้านบน  จัดเป็นชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (Confined aquifer)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 หน้า 2149 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 1,810 ไร่ โดยวัดญาณเสน เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ฯ

ชื่อผู้ศึกษา : UNESCO

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

วัดญาณเสนเป็นโบราณสถานภายในเขตเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง ลงวันที่ 21 มกราคม 2540 หน้า 40 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544

วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 พระนครศรีอยุธยา.ดำเนินการขุดค้น-ขุดแต่งวัดญาณเสน โดยเผยแพร่รายงานเบื้องต้นโครงการขุดแต่งโบราณสถานและขุดค้นทางโบราณคดีวัดญาณเสน ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สัญญาจ้างเลขที่ 25/2544 ลงวันที่ 28 กันยายน 2544. ในปีงบประมาณ 2545

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

            วัดญาณเสน (ก่องแก้ว วีระประจักษ์ มปป.) ตั้งอยู่ถนนอู่ทอง ในตำบลท่าวาสุกรี   เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา  ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะเมืองใกล้กับช่องมหาเถรไม้แช  ซึ่งเป็นทางน้ำ ชักน้ำจากแม่น้ำลพบุรีเข้าไปยังบึงพระราม  ทางน้ำนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คลองน้ำเชี่ยว  บริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่อยู่ของชนชาวมอญ 

            วัดญาณเสนไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง ปรากฏหลักฐานตามตำนานว่า เดิมวัดญาณเสนนี้ชื่อว่า  วัดยานุเสน  ในสมัยอยุธยา มีตึกพระคลังสำหรับใส่บาศช้างและเชือกอยู่ที่ริมวัดแห่งนี้  และว่า  “มีรางอยู่ถัดหน้าวัดญาณเสนไปรางหนึ่ง  ทะลุเข้าไปจากรากกำแพงด้านเหนือ  ชาวบ้านเรียกว่า  คลองน้ำเชี่ยว  ว่าแต่ก่อนเมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำไหลเข้าทางรางนั้นเชี่ยวจัด  ไปลงบึงพระราม  เห็นว่าน่าจะเป็นรางนี้เองที่เรียกว่าช่องมหาเถรไม้แช่  คือ เป็นที่ไขเอาน้ำทางแม่น้ำข้างเหนือเข้าไปในบึงพระราม  เดิมคงจะมีช่องให้น้ำลอดใต้รากกำแพงเข้าไป  และมีช่องให้น้ำไหลลอดถนนป่าตะกั่วไปตกคลองข้างในไหลลงบึงพระราม  ข้างด้านใต้บึงพระรามก็มีคลองลงไปออกประตูเทพหมี  ออกแม่น้ำใหญ่ทางใต้ได้เหมือนกัน  นี้คือวิธีถ่ายน้ำไปในบึงพระรามให้สะอาด  ในแผนที่ของพวกฝรั่งเศสเขาเขียนเป็นคลองต่อพ้นแนวถนนป่าตะกั่วออกไป  ตั้งแต่ข้างถนนจนกำแพงเมืองเป็นพื้นทึบ  คงก่อช่องมุดลอดไป  รางปากช่องคงเกิดขึ้นภายหลังเมื่อรื้อกำแพง แต่เดี๋ยวนี้ได้ถมเสียเป็นพื้นดินเชื่อมกับถนนแล้ว” (กรมศิลปากร 2506 : 15)

            วัดญาณเสนมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ คือ เจดีย์และอุโบสถ โดยเฉพาะเจดีย์  กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ.2487 การขุดแต่งครั้งนั้น ได้พบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุหลายชิ้น  ที่สำคัญคือ แผ่นทองคำรูปสัตว์ต่างๆ จัดเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา รวมทั้งพระพุทธรูปสัมฤทธิ์  ซึ่งพบทั้งที่เป็นของสมัยลพบุรีและสมัยอยุธยา  ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

            พ.ศ.2544 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง  เนื่องจากอยู่ในสภาพรกร้างมีดินและวัชพืชปกคลุมอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก  ในครั้งนี้พบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุหลายประเภท  อาทิ  รูปเคารพทางศาสนา เครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธ  ภาชนะดินเผา  เป็นต้น  และพบว่ามีการก่อสร้างเพิ่มเติมและพอกทับโดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบเจดีย์ประธานและก่อสร้างเจดีย์รายเพิ่มเติมอีกด้วย

            โบราณสถานที่สำคัญ  รายละเอียดดังนี้

            1. เจดีย์ประธาน  เป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่ด้านทั้งสี่ออกเก็จรับมุขทิศทั้งสี่  ฐานเจดีย์เป็นฐานประทักษิณ ลักษณะเป็นฐานสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม  มีความกว้างด้านละประมาณ 24 เมตร  ทำเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่คู่  โดยฐานหน้ากระดานล่างแผ่ยื่นออกมาจากชั้นบัวคว่ำประมาณ 1 เมตร  ความสูงตั้งแต่ฐานถึงยอดเจดีย์ประมาณ 34.5 เมตร  ฐานเจดีย์พังทลายลงเป็นบางช่วง  บริเวณมุมบนฐานประทักษิณ  มีการประดิษฐานเจดีย์มุมโดยตั้งอยู่บนมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้  ตะวันตกเฉียงเหนือ  และตะวันตกเฉียงใต้  ส่วนมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือพังทลายลงหมดไม่เหลือสภาพให้เห็น

            บันไดทางขึ้นเจดีย์อยู่ทางด้านทิศตะวันออกขึ้นสู่ลานประทักษิณและห้องมุข  ภายในมุขทำเป็นช่องทางเดินเข้าสู่ครรภคูหา (ห้องภายในองค์เจดีย์)  ครรภคูหามีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ขนาด 2.80 x 2.72  เมตร  ด้านบนก่ออิฐเป็นลักษณะสามเหลี่ยมสอบขึ้นไป  พื้นกลางห้องมีช่องสี่เหลี่ยม ขนาด 50 x 55 เซนติเมตร  ลึกลงไป ผนังของห้อง 3 ด้าน  ได้แก่ด้านทิศตะวันออก  ทิศตะวันตก และทิศใต้  มีช่องรูปเครื่องหมายบวกด้านละ 1 ช่อง

            ส่วนซุ้มในด้านตะวันตก  ด้านเหนือและด้านใต้มีลักษณะเหมือนกัน คือภายในกรอบก่อทึบ  สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะมีการประดับด้วยปูนปั้น

            ถัดขึ้นไปจากชุดฐานบัวชุดบนสุดเป็นส่วนขององค์ระฆังย่อมุม  บัลลังก์ย่อมุม  ก้านฉัตรไม่มีเสาหาน  แต่กลับทำทรงบัวหงายซ้อนด้วยบัวคว่ำที่ยื่นออกจากก้านฉัตรเพื่อรองรับปล้องไฉน  ลักษณะเช่นนี้เป็นรูปแบบที่แตกต่างจากเจดีย์อื่นโดยทั่วไป  ส่วนยอดของปล้องไฉนยังคงปรากฏเหล็กเป็นแกนอยู่ด้านใน

            นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ราย ตั้งอยู่โดยรอบเจดีย์ประธานอีกจำนวน 5 องค์  ทางทิศตะวันออก  4 องค์ และทิศตะวันตกอีก 1 องค์  ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพพังทลาย  คงเหลือเพียงองค์เดียวที่ยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์และเห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมชัดเจน  และยังพบแนวกำแพงวัดทางทิศใต้  ส่วนบนพังทลายลงแทบทั้งหมด

            2. อุโบสถ  ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ประธาน แต่อุโบสถหลังเดิมได้ชำรุดปรักหักพังไปหมดแล้ว  ต่อมาในปี พ.ศ.2487 ทางวัดสร้างขึ้นใหม่บนฐานรากเดิม  โครงร่างตอนล่างของอุโบสถจึงยังคงมีเค้าของศิลปกรรมสมัยอยุธยาให้เห็นอยู่บ้าง  โดยเฉพาะรูปทรงฐานอุโบสถยังคงทำให้มี ลักษณะโค้งแบบท้องสำเภา  รวมทั้งผนังทำเป็นลูกกรงช่องแสงแทนช่องหน้าต่าง  ซึ่งเป็นลักษณะการเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา  ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่สมัยรัตนโกสินทร์  เหนือช่องแสงมีซุ้มพระทำเป็นซุ้มสามเหลี่ยมลึกเข้าไปในผนัง  ในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กปางต่างๆ แต่มีไม่ครบทุกซุ้ม

            นอกจากส่วนโบราณสถานที่กล่าวแล้ว  วัดญาณเสนยังประกอบด้วยเสนาสนะ  กุฏิสงฆ์  เป็นสัดส่วนอยู่อีกด้านหนึ่งด้วย

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2516.

กรมศิลปากร. อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์. (ชำระครั้งที่ 2). มปท, 2506.  (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายอ๊อด  สันตยานนท์  ณ เมรุวัดจักรวรรดิราชาวาส  7 มีนาคม  2506).

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

ก่องแก้ว วีระประจักษ์. วัดญาณเสน. มปป. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา  http://www.literatureandhistory.go.th/

คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา.  กรุงเทพฯ : ธเนศวรการพิมพ์, 2516.

บรรจบ เทียมทัด. “วัดญาณเสน” ศิลปากร. ปีที่ 4, ฉบับที่ 4 (พ.ย. 2503) : หน้า 25-26

ประทีป เพ็งตะโก. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2539.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา. ข้อมูลออนไลน์ เข้าถึงเมื่อวันที่ 01 มีนาคม 2558 แหล่งที่มา https://welovemuseum.files.wordpress.com/2011/02/e0b8a8e0b8b4e0b8a5e0b89be0b8b0e0b8ade0b8a2e0b8b8e0b898e0b8a2e0b8b2.pdf

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 พระนครศรีอยุธยา. รายงานเบื้องต้นโครงการขุดแต่งโบราณสถานและขุดค้นทางโบราณคดีวัดญาณเสน ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สัญญาจ้างเลขที่ 25/2544 ลงวันที่ 28 กันยายน 2544. พระนครศรีอยุธยา : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 พระนครศรีอยุธยา, 2545.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี