โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : เพิงวัดพ่อตา ก-4
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บ้านติ้ว ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ
ตำบล : เมืองพาน
อำเภอ : บ้านผือ
จังหวัด : อุดรธานี
พิกัด DD : 17.733401 N, 102.353072 E
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยหินลาด, ห้วยด่านใหญ่, ห้วยหินร่อง, ห้วยนางอุสา, ห้วยโคกขาด
ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เดินทางจากรุงเทพมหานครมายังจังหวัดอุดรธานีเป็นระยะทาง 564 กิโลเมตร ผ่านตัวเมืองอุดรธานีมุ่งหน้าไปทางจังหวัดหนองคาย เลี้ยวซ้ายที่บริเวณหมู่บ้านนาข่าเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2021 อีก 67 กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
แหล่งโบราณคดีฐานศิวลึงค์ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและธรรมชาติที่สวยงาม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. ภายในอุทยานมีสิ่งอำนวยความสะดวกคือ ศูนย์บริการข้อมูล หอประชุม ห้องสมุด บ้านพักรับรอง ห้องสุขา ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก รถสี่ล้อพลังงานไฟฟ้า
อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยว ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
การติดต่ออุทยานฯ : อุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 41160 โทรศัพท์ 042-219837, โทรสาร 042-219838, เว็บไซต์ http://www.finearts.go.th/phuphrabathistoricalpark
กรมศิลปากร, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
1.ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระพุทธบาทบัวบก ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95 ตอนที่ 98 วันที่ 19 กันยายน 2521
2.ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระพุทธบาทบัวบก ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 63 วันที่ 28 เมษายน 2524
ฐานศิวลึงค์ลักษณะเป็นแท่นหินขนาดใหญ่บนภูพระบาท ในกลุ่มวัดพ่อตา-ลูกเขย ซึ่งเป็นกลุ่มโบราณสถานในพื้นที่ราบสันเขาทางตอนเหนือของภูพระบาท พื้นที่โดยรอบโบราณสถานเป็นป่าไม้ ขนาดของแท่นหินกว้าง 10 เมตร ยาว 15 เมตร สูงจากพื้นลานหิน 2 เมตร อยู่บริเวณตรงข้ามกับกู่นางอุษา ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลานหินหน้าวัดพ่อตา และบริเวณด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือของแหล่งมีลำห้วยขนาดเล็กไหลผ่าน โดยเพิงหินมีร่องรอยของการสกัดให้เป็นขั้นๆ
ภูพระบาทเป็นภูเขาหินทรายลูกเล็กๆ ลูกหนึ่งในเทือกเขาภูพานหรือภูพานคำ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ยประมาณ 320-350 เมตร พื้นที่ทางทิศตะวันตกของภูมีลักษณะสูงชัน และลาดเทลงมาทางทิศตะวันออก
ภูพานหรือภูพานคำเป็นเทือกเขาหินทรายที่วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ ทางตะวันตกของจังหวัดอุดรธานีและแอ่งสกลนคร
สภาพทั่วไปของภูพระบาทเป็นป่าโปร่ง มีพืชพรรณธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นอยู่ทั่วไป เช่น ไม้มะค่า ไม้แดง ไม้ชิงชัง ไม้ประดู่ ไม้เต็งรัง บนภูพระบาทปรากฏลานหินโล่งกว้าง โขดหิน และเพิงหินทรายกระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก เกิดจากการกระทำของน้ำและลมต่อหินทราย
ด้วยเหตุที่มีไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุมค่อนข้างมาก ประกอบกับพืชพันธุ์ธรรมชาติอื่นๆ อีกมากมาย ภูพระบาทจึงจัดอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ” เป็นแหล่งกำเนิดของลำธารหลายสาย เช่น ห้วยหินลาด ห้วยด่านใหญ่ ห้วยหินร่อง ห้วยนางอุสา และห้วยโคกขาด ซึ่งไหลลงไปทางทิศตะวันออกบรรจบกับแม่น้ำโขงที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
บริเวณที่ราบรอบภูเขาส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง หุบเขาทางทิศตะวันออกของภูพระบาทเป็นหุบเขาใหญ่ที่สุดมีลักษณะเป็นที่ราบลูกคลื่น พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง หุบเขานี้เรียกกันทั่วไปว่า หลุบพาน
ห้วยหินลาด, ห้วยด่านใหญ่, ห้วยหินร่อง, ห้วยนางอุสา, ห้วยโคกขาด, ห้วยโมง, แม่น้ำโขง
ภูพระบาทเป็นเนินเขาหินทราย ในแนวเทือกเขาภูพานน้อย บริเวณขอบที่ราบสูงด้านตะวันตกของอุดรธานี หินทรายมีสีขาว ส้ม เนื้อปนกรวด เม็ดกรวดประกอบด้วยควอตซ์ เชิร์ต หินทรายแป้งสีแดง หินอัคนีบางชนิด มีรอยชั้นขวาง มีหินดินดานและหินกรวดมนแทรกสลับ อยู่ในหน่วยหินภูพาน ชุดโคราช อยู่ช่วงล่าง-ช่วงกลางครีเตเชียส หรือประมาณ 90-140 ล้านปีมาแล้ว หินทรายในพื้นที่มีลักษณะโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา เนื่องจากมีคุณสมบัติแตกต่างกันในแต่ละชั้น และได้ผ่านกระบวนการกัดกร่อนทางธรณีวิทยาโดยน้ำและลม ทำให้ได้ลักษณะธรณีสัณฐานที่แปลกตาหลายบริเวณ เช่น หอนางอุษา ถ้ำช้าง หีบศพพ่อตา หีบศพท้าวบารส หีบศพนางอุษา วัดพ่อตา ถ้ำพระ กู่นางอุษา บ่อน้ำนางอุสา เพิงหินนกกระทา พร้อมทั้งพบลักษณะทางธรณีวิทยากายภาพและธรณีโครงสร้างในหินทราย ซึ่งเป็นหินชั้นหรือหินตะกอนที่ชัดเจน เช่นการแสดงชั้นแทรกสลับกับชั้นกรวด การแสดงชั้นวางเฉียงระดับที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการไหลของน้ำ (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 38-39)
ลักษณะรูปร่างต่างๆ เกิดจากชั้นหินทราย และหินทรายปนกรวด มีเนื้อแตกต่างกัน ชั้นหินที่มีความคงทนสูงจะยื่นออกเป็นเพิงหิน หรือเป็นชั้นหินทับอยู่ข้างบน ส่วนชั้นหินที่มีความคงทนน้อยกว่าจะกร่อนหายไป หรือถูกกัดเซาะผุพังเป็นโพรง หรือเป็นส่วนคอดเว้าอยู่ใต้ชั้นหินแข็ง กลายเป็นเพิงหิน หรือผาหิน เช่นหอนางอุษา เป็นต้น
ชื่อผู้ศึกษา : สุมิตร ปิติพัฒน์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2517, พ.ศ.2518, พ.ศ.2519
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ธรรมศาสตร์
ผลการศึกษา :
แผนกอิสระสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยอาจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ ได้จัดโครงการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อศึกษาชีวิตของคนในสังคม ศิลปะพื้นบ้าน และโบราณสถาน ที่ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และได้สำรวจโบราณสถานบนภูพระบาท เก็บและบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด และเผยแพร่ใน พ.ศ.2520 โดยฐานศิวลึงค์นี้ อาจารย์สุมิตร ได้กล่าวถึงในชื่อ “เพิงวัดพ่อตา ก-4”ชื่อผู้ศึกษา : พเยาว์ เข็มนาค, มนต์จันทร์ น้ำทิพย์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
เผยแพร่ผลการศึกษาโบราณสถานในภูพระบาทและบ้านผือชื่อผู้ศึกษา : พิทักษ์ชัย จัตุชัย
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
พิทักษ์ชัย จัตุชัย เสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี : จากหลักฐานทางโบราณคดี” เพื่อสำเร็จปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากรฐานศิวลึงค์เป็นโบราณสถานในกลุ่มวัดพ่อตา-ลูกเขย ซึ่งเป็นกลุ่มโบราณสถานในพื้นที่ราบสันเขาทางตอนเหนือของภูพระบาท ลักษณะเป็นแท่นหินขนาดใหญ่ กว้าง 10 เมตร ยาว 15 เมตร สูงจากพื้นลานหิน 2 เมตร อยู่บริเวณทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลานหินหน้าวัดพ่อตา และบริเวณด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือของแหล่งมีลำห้วยขนาดเล็กไหลผ่าน โดยเพิงหินมีร่องรอยของการสกัดให้เป็นขั้นๆ ชาวบ้านเรียกแท่นหินนี้ว่า “ฐานศิวลึงค์” เพราะเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ประดิษฐานศิวลึงค์และรูปเคารพของพญากงพาน ตามนิทานท้องถิ่นเรื่องท้าวอุสา-บารส (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 68)
ร่องรอยทางโบราณคดีมีการสกัดหินออกเป็น 3 ชั้น (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 70)
ชั้นบนสุดหรือชั้นที่ 1 เป็นแท่นหินรูปทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เมตร สูง 1.3 เมตร ตรงกลางแท่นหินมีการสกัดให้เป็นหลุมสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 0.5 เมตร ยาว 0.9 เมตร ลึก 0.24-0.4 เมตร
ชั้นกลางหรือชั้นที่ 2 เป็นพื้นลานหินรูปตัวแอล (L) กว้าง 4.8 เมตร ยาว 6.3 เมตร โดยมีการสกัดเป็นหลุมขนาดใหญ่จำนวนมากเรียงอยู่ตามแนวขอบแท่นหิน โดยเฉลี่ยเส้นผ่านศูนย์กลางของแต่ละหลุมประมาณ 0.2 เมตร
ชั้นล่างหรือชั้นที่ 3 มีการสกัดพื้นลานหินให้เป็นหลุมขนาดใหญ่ 5 หลุม โดยนับจากซ้ายมือมีรายละเอียดดังนี้
หลุมที่ 1 เป็นหลุมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 0.66 เมตร ยาว 0.68 เมตร ลึก 0.3 เมตร
หลุมที่ 2 เป็นหลุมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 0.5 เมตร ยาว 0.5 เมตร ลึก 0.3 เมตร
หลุมที่ 3 เป็นหลุมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 0.53 เมตร ยาว 0.25 เมตร ลึก 0.4 เมตร
หลุมที่ 4 เป็นหลุมกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร
หลุมที่ 5 เป็นหลุมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 0.5 เมตร ยาว 0.5 เมตร ลึก 0.25 เมตร
ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแท่นหินนี้มีใบเสมาขนาดใหญ่รูปแปดเหลี่ยม ไม่มีลวดลาย สภาพสมบูรณ์ ล้มอยู่ 1 ใบ (สุมิตร ปิติพัฒน์ 2520 : 29 ; พเยาว์ เข็มนาค และมนต์จันทร์ น้ำทิพย์ 2533 : 43)
พิทักษ์ชัย จัตุชัย (2553 : 71) สันนิษฐานการใช้พื้นที่โบราณสถานแห่งนี้ว่า จากลักษณะทางกายภาพของแหล่งและแท่นสูงซึ่งมีการสกัดให้เป็นช่องสี่เหลี่ยม มีลักษณะการใช้เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพหรือใบเสมา (สุมิตร ปิติพัฒน์ 2520 : 29) แต่ต่อมารูปเคารพดังกล่าวได้ถูกเคลื่อนย้ายออกไปในภายหลัง
ส่วนชั้นกลาง ซึ่งพบเป็นหลุมกลมขนาดใหญ่หลายหลุม และหากพิจารณาจากแผนผังทำให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นหลุมเสาของอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อปกคลุมแท่นหินในชั้นที่ 1 (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 71) ในขณะที่ พเยาว์ เข็มนาค และมนต์จันทร์ น้ำทิพย์ (2533 : 43) ระบุว่าเมื่อพิจารณาขากผังแล้ว หลุมเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นหลุมเสาอาคาร
ส่วนชั้นล่างที่พบเป็นหลุมขนาดใหญ่ มีข้อสันนิษฐานว่าเป็นหลุมของเสมา (สุมิตร ปิติพัฒน์ 2520 : 29) แต่หากพิจารณาแล้วจะพบว่าหลุมเหล่านี้มีขนาดที่แตกต่างกัน จึงไม่มีความเหมาะสมแก่การสร้างเป็นหลุมใบเสมา แต่อาจเป็นหลุมที่ใช้บรรจุสิ่งของเพื่อประกอบพิธีกรรม หรืออาจเป็นหลุมเพื่อกักเก็บน้ำสำหรับใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือความเชื่อ (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 71)
ดังนั้นฐานศิวลึงค์จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นศาสนสถานที่มีอาคารขนาดใหญ่ปกคลุมเพื่อใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือรูปเคารพสำคัญ อายุสมัยโบราณสถานน่าจะอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อายุราว 3,000-2,500 ปีมาแล้ว และสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 72)
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2552.
กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 มีนาคม 2559. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx
กองโบราณคดี. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 3. เอกสารกองโบราณคดีหมายเลข 11/2532. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532ก.
กองโบราณคดี. ศิลปะถ้ำในอีสาน กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2532ข.
กองโบราณคดี. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.
กองโบราณคดี. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2537.
ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2542.
บังอร กรโกวิท. “ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อำเภอบ้านผือ.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2519.
พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.
พเยาว์ เข็มนาค และมนต์จันทร์ น้ำทิพย์. ศิลปะถ้ำ “กลุ่มบ้านผือ” จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2533.
พิทักษ์ชัย จัตุชัย. “การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี : จากหลักฐานทางโบราณคดี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
สถาพร ขวัญยืน และคณะ. ศิลปะบนผนังหิน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี. กรุงเทพฯ : โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2528.
สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.
สุมิตร ปิติพัฒน์. บ้านผือ ร่องรอยจากอดีต. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2520.
สุรีรัตน์ บุบผา. “การศึกษาเปรียบเทียบแหล่งศิลปะถ้ำระหว่างกลุ่มผาแต้มกับกลุ่มบ้านผือ.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. ภูพระบาท : อดีตกาลผสานธรรมชาติ. เอกสารประกอบการอบรมยุวมัคคุเทศก์ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (พ.ศ. 2543) ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 13-15 มี.ค. 2543. อุดรธานี : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น, 2543.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อุดรธานี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542.