โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : ถ้ำวัว-ถ้ำคน, ถ้ำคนและสัตว์
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บ้านติ้ว ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ
ตำบล : เมืองพาน
อำเภอ : บ้านผือ
จังหวัด : อุดรธานี
พิกัด DD : 17.728838 N, 102.354409 E
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยหินลาด, ห้วยด่านใหญ่, ห้วยหินร่อง, ห้วยนางอุสา, ห้วยโคกขาด
ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เดินทางจากรุงเทพมหานครมายังจังหวัดอุดรธานีเป็นระยะทาง 564 กิโลเมตร ผ่านตัวเมืองอุดรธานีมุ่งหน้าไปทางจังหวัดหนองคาย เลี้ยวซ้ายที่บริเวณหมู่บ้านนาข่าเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2021 อีก 67 กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
ถ้ำวัวตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและธรรมชาติที่สวยงาม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. ภายในอุทยานมีสิ่งอำนวยความสะดวกคือ ศูนย์บริการข้อมูล หอประชุม ห้องสมุด บ้านพักรับรอง ห้องสุขา ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก รถสี่ล้อพลังงานไฟฟ้า
อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยว ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
การติดต่ออุทยานฯ : อุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 41160 โทรศัพท์ 042-219837, โทรสาร 042-219838, เว็บไซต์ http://www.finearts.go.th/phuphrabathistoricalpark
กรมศิลปากร, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ถ้ำวัวเป็นเพิงหินเดียวกับถ้ำคน โบราณสถานในกลุ่มวัดพ่อตา-ลูกเขย ซึ่งเป็นกลุ่มโบราณสถานในพื้นที่ราบสันเขาทางตอนเหนือของภูพระบาท พื้นที่โดยรอบโบราณสถานเป็นป่าไม้
สภาพของแหล่งเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยก้อนหินขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 11 เมตร และสูงจากพื้น 3 เมตร ตั้งซ้อนทับอยู่บนกองหินขนาดใหญ่ และส่วนหนึ่งเป็นเพิงหินที่ถล่มลงมา โดยเพิงหินยื่นออกไปทางด้านทิศเหนือ (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 56) มีเพิงหินรอบด้านที่เกิดจากการแยกตัวของเพิงหิน ทำให้เกิดเป็นเพิงหินรอบด้านที่และหลืบหิน ภาพเขียนที่พบอยู่เป็น 2 กลุ่มด้วยกันคือ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก “ถ้ำคน” ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เรียก “ถ้ำวัว” (กองโบราณคดี 2532ก ; 175) และด้านทิศใต้พบร่องรอยของการสกัดหินเข้าไปเป็นแท่นคล้ายฐานพระพุทธรูป (พเยาว์ เข็มนาค และมนต์จันทร์ น้ำทิพย์ 2533 : 45)
ภูพระบาทเป็นภูเขาหินทรายลูกเล็กๆ ลูกหนึ่งในเทือกเขาภูพานหรือภูพานคำ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ยประมาณ 320-350 เมตร พื้นที่ทางทิศตะวันตกของภูมีลักษณะสูงชัน และลาดเทลงมาทางทิศตะวันออก
ภูพานหรือภูพานคำเป็นเทือกเขาหินทรายที่วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ ทางตะวันตกของจังหวัดอุดรธานีและแอ่งสกลนคร
สภาพทั่วไปของภูพระบาทเป็นป่าโปร่ง มีพืชพรรณธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นอยู่ทั่วไป เช่น ไม้มะค่า ไม้แดง ไม้ชิงชัง ไม้ประดู่ ไม้เต็งรัง บนภูพระบาทปรากฏลานหินโล่งกว้าง โขดหิน และเพิงหินทรายกระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก เกิดจากการกระทำของน้ำและลมต่อหินทราย
ด้วยเหตุที่มีไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุมค่อนข้างมาก ประกอบกับพืชพันธุ์ธรรมชาติอื่นๆ อีกมากมาย ภูพระบาทจึงจัดอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ” เป็นแหล่งกำเนิดของลำธารหลายสาย เช่น ห้วยหินลาด ห้วยด่านใหญ่ ห้วยหินร่อง ห้วยนางอุสา และห้วยโคกขาด ซึ่งไหลลงไปทางทิศตะวันออกบรรจบกับแม่น้ำโขงที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
บริเวณที่ราบรอบภูเขาส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง หุบเขาทางทิศตะวันออกของภูพระบาทเป็นหุบเขาใหญ่ที่สุดมีลักษณะเป็นที่ราบลูกคลื่น พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง หุบเขานี้เรียกกันทั่วไปว่า หลุบพาน
ห้วยหินลาด, ห้วยด่านใหญ่, ห้วยหินร่อง, ห้วยนางอุสา, ห้วยโคกขาด, ห้วยโมง, แม่น้ำโขง
ภูพระบาทเป็นเนินเขาหินทราย ในแนวเทือกเขาภูพานน้อย บริเวณขอบที่ราบสูงด้านตะวันตกของอุดรธานี หินทรายมีสีขาว ส้ม เนื้อปนกรวด เม็ดกรวดประกอบด้วยควอตซ์ เชิร์ต หินทรายแป้งสีแดง หินอัคนีบางชนิด มีรอยชั้นขวาง มีหินดินดานและหินกรวดมนแทรกสลับ อยู่ในหน่วยหินภูพาน ชุดโคราช อยู่ช่วงล่าง-ช่วงกลางครีเตเชียส หรือประมาณ 90-140 ล้านปีมาแล้ว หินทรายในพื้นที่มีลักษณะโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา เนื่องจากมีคุณสมบัติแตกต่างกันในแต่ละชั้น และได้ผ่านกระบวนการกัดกร่อนทางธรณีวิทยาโดยน้ำและลม ทำให้ได้ลักษณะธรณีสัณฐานที่แปลกตาหลายบริเวณ เช่น หอนางอุษา ถ้ำช้าง หีบศพพ่อตา หีบศพท้าวบารส หีบศพนางอุษา วัดพ่อตา ถ้ำพระ กู่นางอุษา บ่อน้ำนางอุสา เพิงหินนกกระทา พร้อมทั้งพบลักษณะทางธรณีวิทยากายภาพและธรณีโครงสร้างในหินทราย ซึ่งเป็นหินชั้นหรือหินตะกอนที่ชัดเจน เช่นการแสดงชั้นแทรกสลับกับชั้นกรวด การแสดงชั้นวางเฉียงระดับที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการไหลของน้ำ (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 38-39)
ลักษณะรูปร่างต่างๆ เกิดจากชั้นหินทราย และหินทรายปนกรวด มีเนื้อแตกต่างกัน ชั้นหินที่มีความคงทนสูงจะยื่นออกเป็นเพิงหิน หรือเป็นชั้นหินทับอยู่ข้างบน ส่วนชั้นหินที่มีความคงทนน้อยกว่าจะกร่อนหายไป หรือถูกกัดเซาะผุพังเป็นโพรง หรือเป็นส่วนคอดเว้าอยู่ใต้ชั้นหินแข็ง กลายเป็นเพิงหิน หรือผาหิน เช่นหอนางอุษา เป็นต้น
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2517
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำรวจพบครั้งแรกใน พ.ศ.2517 พร้อมกับถ้ำคน โดยเจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 7 ประจำวัดพระพุทธบาทบัวบก และมีการสำรวจอีกครั้งใน พ.ศ.2527 โดยโครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สถาพร ขวัญยืน และคณะ 2528 : 21-25)ชื่อผู้ศึกษา : สุมิตร ปิติพัฒน์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2517, พ.ศ.2518, พ.ศ.2519
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ธรรมศาสตร์
ผลการศึกษา :
แผนกอิสระสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยอาจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ ได้จัดโครงการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อศึกษาชีวิตของคนในสังคม ศิลปะพื้นบ้าน และโบราณสถาน ที่ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และได้สำรวจโบราณสถานบนภูพระบาท เก็บและบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด และเผยแพร่ใน พ.ศ.2520 โดยอาจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ (2520 : 41-43) ระบุว่า “ถ้ำคนและถ้ำสัตว์” ถูกค้นพบเมื่อ พ.ศ.2516 ปรากฏภาพเขียนสีที่ผนังเพิงหิน พร้อมกับศึกษาสภาพโบราณสถานอย่างละเอียด และสันนิษฐานว่าภาพเขียนเหล่านี้อาจเขียนขี้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการล่าสัตว์หรือความเชื่อบางอย่าง ส่วนถ้ำอาจเป็นทั้งที่ประกอบพิธีกรรมและอยู่อาศัยชื่อผู้ศึกษา : โครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
โครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมศิลปากร สำรวจเก็บข้อมูลเมื่อ พ.ศ.2527 โดยสถาพร ขวัญยืน และคณะ (กองโบราณคดี 2532ก : 174-175)ชื่อผู้ศึกษา : สถาพร ขวัญยืน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สถาพร ขวัญยืน และคณะ (2528) โดยโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เผยแพร่ผลการศึกษา “ศิลปะบนผนังหิน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี”ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กองโบราณคดี กรมศิลปากร เผยแพร่ผลการศึกษาศิลปะถ้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมถึงที่ภูพระบาท (กองโบราณคดี 2532ก)ชื่อผู้ศึกษา : พเยาว์ เข็มนาค, มนต์จันทร์ น้ำทิพย์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
เผยแพร่ผลการศึกษาโบราณสถานในภูพระบาทและบ้านผือชื่อผู้ศึกษา : พเยาว์ เข็มนาค
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539
วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
เผยแพร่ผลการศึกษาศิลปะถ้ำก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย รวมถึงที่ถ้ำวัวชื่อผู้ศึกษา : สุรีรัตน์ บุบผา
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539
วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
สุรีรัตน์ บุบผา (2539) เสนอสารนิพนธ์เรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบแหล่งศิลปะถ้ำระหว่างกลุ่มผาแต้มกับกลุ่มบ้านผือ” ต่อคณะโบราณคดี ม.ศิลปากรชื่อผู้ศึกษา : พัชรี สาริกบุตร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ผศ.พัชรี สาริกบุตร คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร รวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ตีความภาพเขียนสีและภาพสลักยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในประเทศไทย รวมทั้งภาพเขียนสีถ้ำวัวชื่อผู้ศึกษา : พิทักษ์ชัย จัตุชัย
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
พิทักษ์ชัย จัตุชัย เสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี : จากหลักฐานทางโบราณคดี” เพื่อสำเร็จปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากรถ้ำวัวเป็นเพิงหินเดียวกับแหล่งภาพเขียนสีถ้ำคน และภาพเขียนทั้ง 2 เพิงนี้น่าจะมีความสัมพันธ์กัน และเขียนขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
สภาพของแหล่งเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยก้อนหินขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 11 เมตร และสูงจากพื้น 3 เมตร ตั้งซ้อนทับอยู่บนกองหินขนาดใหญ่ และส่วนหนึ่งเป็นเพิงหินที่ถล่มลงมา โดยเพิงหินยื่นออกไปทางด้านทิศเหนือ (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 56) มีเพิงหินรอบด้านที่เกิดจากการแยกตัวของเพิงหิน ทำให้เกิดเป็นเพิงหินรอบด้านที่และหลืบหิน ภาพเขียนที่พบอยู่เป็น 2 กลุ่มด้วยกันคือ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก “ถ้ำคน” ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เรียก “ถ้ำวัว” (กองโบราณคดี 2532ก ; 175) และด้านทิศใต้พบร่องรอยของการสกัดหินเข้าไปเป็นแท่นคล้ายฐานพระพุทธรูป (พเยาว์ เข็มนาค และมนต์จันทร์ น้ำทิพย์ 2533 : 45)
ปรากฏภาพเขียนสีแดงเข้มแบบเงาทึบที่ผนังเพิงหินที่ราบเรียบ เกิดจากเนื้อหินทรายแยกตัวออกจากกัน อยู่คนละด้านของถ้ำคนแต่หักมุมกัน อยู่ในสภาพที่ลบเลือนมาก เพราะอยู่ตรงช่องที่ทางลมพัดผ่านตลอดเวลา เป็นภาพฝูงสัตว์เดินเป็นแถว 2 แถว (พเยาว์ เข็มนาค 2539 142)
แถวบนด้านซ้ายสุดของผนังมีภาพสัตว์ 2 ตัวหันหน้าไปทางทิศใต้ เขียนแบบเงาทึบ ตัวแรกเป็นรูปร่างคล้ายกระจง ตัวที่ 2 ไม่ทราบว่าเป็นสัตว์ชนิดใด ทราบแต่ว่าเป็นสัตว์ 4 ขา หางยาว มีหู 2 หู ไม่มีเขา ต่อไปเป็นภาพของลูกวัวเดินตามแม่วัวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับ 2 ตัวแรก ต่อไปก็เป็นภาพวัวมีหนอก 3 ตัวเดินตามกัน (พเยาว์ เข็มนาค 2539 142)
แถวที่ 2 เป็นภาพลายเส้นกิ่งไม้ปนอยู่กับลูกวัวและแม่วัว กับสัตว์ที่ไม่ทราบชนิดอีก 2 ตัว มีอยู่ตัวหนึ่งเขียนเป็นลายเส้นโครงร่างแบบคร่าวๆ ความหนาของเส้นประมาณ 1 เซนติเมตร พอจะจำแนกภาพที่พบได้คือภาพวัว 6 ตัว ในจำนวนนี้เป็นลูกวัว 2 ตัว กระจง 1 ตัว สัตว์ไม่ทราบชนิดอีก 2 ตัว กับลายเส้นอีกจำนวนหนึ่ง ภาพสัตว์ทั้งหมดเขียนแบบเงาทึบ เห็นก้านข้างสำหรับภาพวัวทั้ง 6 ตัวเป็นภาพวัวชนิดมีหนอก (พเยาว์ เข็มนาค 2539 142)
พิทักษ์ชัย จัตุชัย (2553 : 61) สันนิษฐานว่า ภาพเขียนสีรูปวัวที่ปรากฏบนผนังหินมีลักษณะอยู่รวมกันเป็นฝูง โดนมีการเขียนลักษณะเฉพาะที่บ่งบอกถึงชนิดของวัว คือวัวมีโหนก จากภาพเขียนสีที่พบมีวัวตัวที่ 2 จากผนังเพิงหินด้านขวามือ ซึ่งภาพวัวตัวนี้ได้มีการสันนิษฐานว่าเป็นวัวกระทิงหรือวัวป่ามากกว่าเป็นวัวเลี้ยง (สถาพร ขวัญยืน และคณะ 2528 : 26) แต่เนื่องจากลักษณะของวัวที่มีโหนกสูงเหนือคอแล้วลาดลงเป็นหลัง อีกทั้งยังมีลำตัวใหญ่และขาสั้นกว่าอีกภาพรูปวัวตัวอื่น อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นวัวพันธุ์อินเดีย (พเยาว์ เข็มนาค และมนต์จันทร์ น้ำทิพย์ 2533 : 54)
นอกจากนี้ภาพเขียนที่เน้นขนาดของสัตว์เพื่อบ่งบอกถึงอายุหรือวัยของสัตว์แล้ว ยังมีการนำเอาลักษณะของเขาสัตว์ (วัว) มากำหนดอีกด้วย กล่าวคือ โดยทั่วไปแล้วสัตว์ประเภทวัวจะเริ่มมีเขาเมื่ออายุ 4-5 เดือน ดังนั้นภาพวัวขนาดใหญ่จะปรากฏเขา ในขณะที่ภาพวัวตัวเล็กจะไม่มีเขาให้เห็น แสดงให้เห็นว่าผู้วาดมีเจตนาที่จะเขียนภาพวัวที่มีวัยแตกต่างกัน (พเยาว์ เข็มนาค และมนต์จันทร์ น้ำทิพย์ 2533 : 54)
ดังนั้น ภาพเขียนสีที่พบในแหล่งภาพเขียนสีถ้ำคนนี้ จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับสัตว์ที่ต้องการล่าหรือสัตว์ที่เลี้ยงเป็นฝูงหรือกลุ่มสัตว์ที่ถูกนำมาเพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 61)
เช่นเดียวกับอาจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ (2520 : 41-43) ที่ระบุว่าภาพเขียนสีที่ “ถ้ำคนและถ้ำสัตว์” อาจเขียนขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการล่าสัตว์หรือความเชื่อบางอย่าง ส่วนถ้ำอาจเป็นทั้งสถานที่ประกอบพิธีกรรมและอยู่อาศัย เนื่องจากถ้ำมีขนาดใหญ่ สามารถอาศัยอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย
ผศ.พัชรี สาริกบุตร (2543) ระบุว่าการเขียนภาพที่ถ้ำวัวนี้แสดงให้เห็นว่าเขียนเส้นเค้าโครงรอบนอกเสียก่อนแล้วจึงระบายสีทึบภายใน ซึ่งสังเกตจากภาพที่เขียนไม่เสร็จ ทั้งภาพวัวและภาพคนพยายามเขียนให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุดโดยเฉพาะการเน้นกล้ามเนื้อที่น่องและแขนของภาพคน และโหนกนูนบนหลังของภาพวัว ภาพเหล่านั้นบ่งบอกถึงความสัมพันธ์กันภายในแต่ละกลุ่มในการทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน ความเกี่ยวพันกันในกลุ่มคน คนกับวัว คนกับลายเส้นสัญลักษณ์สีขาว ภาพวัวที่มีขนาดไม่เท่ากันอาจหมายถึงฝูงวัวที่มีทั้งตัวผู้ ตัวเมียและลูกวัว ภาพเหล่านี้อาจหมายถึงภาพการล่าสัตว์ หรือการเลี้ยงสัตว์ก็ได้ หรืออาจหมายถึงการเดินทางร่วมกันไปทำกิจกรรมหรือพิธีกรรมบางอย่างก็ได้
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2552.
กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 มีนาคม 2559. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx
กองโบราณคดี. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 3. เอกสารกองโบราณคดีหมายเลข 11/2532. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532ก.
กองโบราณคดี. ศิลปะถ้ำในอีสาน กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2532ข.
กองโบราณคดี. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.
กองโบราณคดี. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2537.
ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2542.
บังอร กรโกวิท. “ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อำเภอบ้านผือ.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2519.
พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.
พเยาว์ เข็มนาค และมนต์จันทร์ น้ำทิพย์. ศิลปะถ้ำ “กลุ่มบ้านผือ” จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2533.
พัชรี สาริกบุตร. “ถ้ำวัว-ถ้ำคน.” ภาพเขียนสีและภาพสลัก : ศิลปะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2543. เข้าถึงเมื่อ 1 มีนาคม 2559. แหล่งที่มา http://www.era.su.ac.th/RockPainting/northeast/index.html
พิทักษ์ชัย จัตุชัย. “การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี : จากหลักฐานทางโบราณคดี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
สถาพร ขวัญยืน และคณะ. ศิลปะบนผนังหิน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี. กรุงเทพฯ : โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2528.
สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.
สุมิตร ปิติพัฒน์. บ้านผือ ร่องรอยจากอดีต. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2520.
สุรีรัตน์ บุบผา. “การศึกษาเปรียบเทียบแหล่งศิลปะถ้ำระหว่างกลุ่มผาแต้มกับกลุ่มบ้านผือ.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. ภูพระบาท : อดีตกาลผสานธรรมชาติ. เอกสารประกอบการอบรมยุวมัคคุเทศก์ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (พ.ศ. 2543) ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 13-15 มี.ค. 2543. อุดรธานี : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น, 2543.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อุดรธานี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542.