หลุมขุดค้นทางโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพ


โพสต์เมื่อ 8 ส.ค. 2021

ชื่ออื่น : เมืองอภัยสาลี, ศรีเทพ, เมืองศรีเทพ

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ตำบล : ศรีเทพ

อำเภอ : ศรีเทพ

จังหวัด : เพชรบูรณ์

พิกัด DD : 15.467249 N, 101.141089 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, ลพบุรี

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำน้ำเหียง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

การเดินทางจากเมืองศรีเทพ ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) ถึงกิโลเมตรที่ 102 สี่แยกศรีเทพ (ใกล้ที่ว่าการอำเภอศรีเทพ) เลี้ยวขวาสู่ทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกราว 10 กิโลเมตร ถึงทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

หลุมขุดค้นก่อนประวัติศาสตร์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเกือบกึ่งกลางเมืองใน ค่อนไปทางทิศตะวันตก ห่างจากปรางค์สองพี่น้องไปทางทิศตะวันตกประมาณ 300 เมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันเมืองศรีเทพอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท รถยนต์คันละ 50 บาท

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรบรรยาย ติดต่อโดยตรงได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67170 โทร. 0 5679 9466, 0 5655 6555

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2475

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เมืองศรีเทพ ประกอบด้วยเมืองในและเมืองนอก ภายในเมืองในมีลักษณะเป็นที่ราบลอนลูกคลื่น มีสระน้ำและหนองน้ำอยู่ทั่วไป ส่วนเมืองนอกเป็นที่ลาดเชิงเขาจากทิศตะวันออกมาทิศตะวันตก อยู่ห่างจากแม่น้ำป่าสักมาทางทิศตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากลำน้ำเหียง ลำน้ำสาขาของแม่น้ำป่าสัก มาทางทิศเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร

ปัจจุบันโบราณสถานในเขตเมืองในได้รับการขุดแต่งและบูรณะเกือบหมดแล้ว และภายในเมืองในไม่มีประชาชนตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัย

ส่วนเมืองนอกมีส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำการขุดแต่งและบูรณะ ยังประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ในบางพื้นที่ สำหรับพื้นที่รอบเมืองศรีเทพเดิมเป็นป่าโปร่งแต่ปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดีเป็นอาคารจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้างยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ.2531 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเกือบกึ่งกลางเมืองใน ค่อนไปทางทิศตะวันตก ห่างจากปรางค์สองพี่น้องไปทางทิศตะวันตกประมาณ 300 เมตร โดยโครงกระดูกมนุษย์และสิ่งของเครื่องใช้ที่พบร่วมกันนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในระยะแรกเริ่มในยุคก่อนประวัติศาสตร์ภายในเมืองโบราณศรีเทพที่มีมากว่า  2,000 ปี  ก่อนที่จะมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมเมืองโดยการรับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ส่วนโครงกระดูกช้างนั้นนับเป็นหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้สอยโบราณสถานเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีสืบเนื่องมาถึงวัฒนธรรมเขมรในทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากมีการพบอยู่ในระดับเดียวกันกับฐานโบราณสถานชั้นล่างสุด

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

50 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำป่าสัก, ลำน้ำเหียง

สภาพธรณีวิทยา

เมืองโบราณศรีเทพ อยู่ในเขตที่สูงภาคกลาง ลักษณะทั่วไปมีเทือกเขาสลับซับซ้อน วางตัวในแนวยาวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ เริ่มตั้งแต่จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ สระบุรี และทางใต้ของนครราชสีมา  มีเนินเขาต่อเนื่องคล้ายลูกคลื่นสลับกับเขาสูง เทือกเขาสำคัญได้แก่ เทือกเขาดงพญาเย็น  เทือกเขาเพชรบูรณ์ อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองศรีเทพ  ชนิดของหินแบ่งกว้างๆ เป็น 2 ชนิด คือ หินตะกอนอยู่บริเวณทิศตะวันออกและหินอัคนีทางอยู่ทิศตะวันตก

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย, สมัยเหล็ก

อายุทางโบราณคดี

ราว 2,000 ปีมาแล้ว

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พงศ์ธันว์ บรรทม, ชูศักดิ์ ศักดิ์ทรัพย์ทวี, จิรยุติ์ ชาญกิจศิลป์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

พงศ์ธันว์ บรรทม ชูศักดิ์ ศักดิ์ทรัพย์ทวี และจิรยุติ์ ชาญกิจศิลป์ ศึกษาการตั้งถิ่นฐานและความสัมพันธ์กับชุมชนโบราณอื่นที่ร่วมสมัยกัน

ชื่อผู้ศึกษา : วิชัย ตันกิตติกร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2538

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร


ชื่อผู้ศึกษา : สถาพร เที่ยงธรรม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2554

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร


ชื่อผู้ศึกษา : สมัย สุทธิธรรม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์


ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

การขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณเนินดินขนาดใหญ่ภายในเมืองเมื่อ พ.ศ. 2531 พบหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงร่องรอยดั้งเดิมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของเมืองศรีเทพ คือ โครงกระดูกมนุษย์และของใช้ที่อยู่ในระดับความลึกประมาณ 4 เมตรจากผิวดินกำหนดอายุประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว และโครงกระดูกช้างสมัยหลังลงมาการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์และของใช้ครั้งนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนใน ระยะแรกเริ่มที่เมืองศรีเทพก่อนที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมเมืองที่รับอารายธรรมทวารวดีและเขมรโบราณในราวพุทธศตวรรษ 11-12 จนกระทั้งเมืองถูกทิ้งร้างไปราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 19

พัฒนาการเมืองศรีเทพ บริเวณเมืองโบราณศรีเทพพบหลักฐานทางโบราณคดีค่อนข้างหนาแน่น บ่งชี้ว่ามีชุมชนตั้งอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 5-7 หรือประมาณ 2000 ปีมาแล้ว เป็นชุมชนที่รู้จักใช้เครื่องมือเหล็ก มีประเพณีการฝังศพ สัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่พบในกลุ่มลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก (สุรพล ดำริห์กุล 2528 : 56-58 ; ธิดา สาระยา 2532 : 23-30)

ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เมืองศรีเทพ เลือกอยู่อาศัยในทำเลที่เหมาะสมโดยอยูใกล้กับแหล่งน้ำที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคม เป็นแหล่งอาคารรวมถึงอยู่ใกล้กับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดความสมบูรณ์ภายในชุมชน และเกิดการติดต่อกับชุมชนภายนอกเช่น ชุมชนแถบภาคกลาง หรือแถบที่ราบสูงโคราช ก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม

การบริโภคอาหาร  ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลายพบหลักฐานการปลูกพืชบางชนิด เช่น การปลูกข้าว แม้ว่าหลักฐานจะชี้ชัดไม่ได้ว่าเป็นข้างชนิดใด แต่เมื่อเมืองมีพัฒนาการต่อมาภายใต้วัฒนธรรมทวารวดี ได้พบอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างมีส่วนผสมของแกลบข้าวอยู่ในเนื้ออิฐ ลักษณะเมล็ดข้าวเป็นแบบเมล็ดอ้วน สั้น คล้ายกับข้าวเหนียวในปัจจุบัน จึงอาจจะพอกล่าวได้ว่าชุมชนเมืองศรีเทพเดิมนั้นบริโภคข้าวเป็นหลักและรูจักการปลูกข้าวเพื่อบริโภคในชุมชน

การบริโภคเนื้อสัตว์  หลักฐานส่วนใหญ่ที่พบ เป็นกระดูกสัตว์ขนาดกลางประเภทกวาง หรือเก้ง มีการบริโภควัว ควาย และหมูป่าด้วย  สำหรับสัตว์ มีการพบหลักฐานการบริโภคปลา หอยบางชนิด เช่นหอยกาบ หอยขม และพบกระดองเต่า การบริโภคเนื้อสัตว์ของชุมชนนี้ อาศัยการล่าสัตว์และจับสัตว์น้ำในบริเวณใกล้เคียงซึ่งมีแหล่งนี้อยู่หลายแห่ง

เครื่องแต่งกาย  การขุดค้นทางโบราณคดียังไม่พบร่องรอยของเส้นใยผ้า เนื่องจากเป็นวัสดุที่ย่อยสลายไปตามกาลเวลาได้ อย่างไรก็ตาม มีการพบแวดินเผาซึ่งเป็นอุปกรณ์การปั่นด้าย ย่อมชี้ให้เห็นว่าน่าจะมีการปั่นเส้นด้ายและอาจทอผ้าขึ้นใช้เองในชุมชน

การติดต่อกับชุมชนภายนอก  ชุมชนศรีเทพยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนที่ห่างไกลออกไป โดยพบหลักฐาน เครื่องประดับประเภทลูกปัดหินและรัตนชาติ  เช่น คาร์เนเลี่ยน อาร์เกต ซึ่งน่าจะเป็นสินค้าที่นำมาจากอินเดียหรือศรีลังกาในหลุมฝังศพที่มีอายุประมาณ 2000-1000 ปาแล้ว หรือ การพบกลองมโหระทึกสำริดที่แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อกับจีนตอนใต้หรือเวียดนาม

บริเวณใกล้เคียงกับเมืองศรีเทพนั้นมีแห่งโบราณคดีที่ชี้ให้เห็นว่า มีกลุ่มชนที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมที่มั่นคงก่อนการเข้ามาของวัฒนธรรมทวารวดี จากการขุดค้นภายในเมืองศรีเทพบริเวณเนินดิน พบสิ่งของที่ฝังร่วมกับศพ ได้แก่ ภาชนะดินเผา เครื่องประดับสำริด เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดรัตนชาติ และลูกปัดแก้ว   นอกจากนี้ในการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านหนองแดง ตำบลสระกรวด ห่างจากเมืองศรีเทพประมาณ 12 กิโลเมตร พบว่าเป็นแหล่งฝังศพที่มีการฝังศพที่มีลักษณะเดียวกับการฝังศพทั่วไปและมีสิ่งของที่ใช้อุทิศให้กับศพ เช่น  ภาชนะดินเผา เครื่องมือเหล็ก  เครื่องมือสำริด และเครื่องประดับประเภทลูกปัดแก้วและหิน  นอกจากนี้ยังมีการสำรวจแหล่งโบราณคดีในบริเวณรัศมี 15 กิโลเมตร ยังพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายอีกหลายแห่ง เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านวังขาม พบลูกปัดเป็นจำนวนมาก แหล่งโบราณคดีบ้านกุดตาแร้ว เป็นหลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ชุมชนก่อนเมืองศรีเทพเหล่านี้ อยู่ในช่วงยุคโลหะตอนปลายหรืออยู่ในสังคมเกษตรกรรมที่มีการใช้เครื่องมือเหล็ก เป็นช่วงระยะสุดท้ายก่อนการเข้าสู่วัฒนธรรมทวารวดี

เส้นทางการติดต่อกับชุมชนภายนอก ธิดา สาระยา ได้เสนอความเห็นว่า พื้นที่แถบลุ่มน้ำป่าสักตอนล่างสามารถติดต่อกับชุมชนภายนอกได้ 2 เส้นทาง คือ ลำน้ำเจ้าพระยา ผ่านเข้า อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์เข้าสู่อำเภอชัยบาดาล ผ่านช่องเขาเพชรบูรณ์ เข้าเขตลุ่มน้ำป่าสัก หรือจากลำน้ำเจ้าพระยาผ่านจังหวัดลพบุรี เข้าสู่อำเภอชัยบาดาลแล้วไปเส้นทางเดียวกัน ส่วนอีกเส้นทางหนึ่ง เริ่มจากฝั่งทะเลด้านตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านจังหวัดปราจีนบุรี กบินทร์บุรี ข้ามช่องเข้าเขตอำเภอปักธงชัย สู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ข้ามทิวเขาเพชรบูรณ์ เข้าสู่ลุ่มน้ำป่าสัก หากพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งของเมืองศรีเทพ เทือกเขาที่กั้นระหว่างพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักกับที่ราบสูงโคราช คือเทือกเขาพังเหยที่มีความยาวจากทิศเหนือลงมาทางทิศใต้ตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์จนถึงจังหวัดนครราชสีมา ดังนั้นเส้นทางคมนาคมตามช่องเขาของเทือกเขาพังเหย นับว่าเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับการเดินทางข้ามผ่านจากพื้นที่ฝั่งหนึ่งของเทือกเขา โดยเฉพาะการเดินทางไปมาระหว่างพื้นที่ภาคกลางกับพื้นที่อื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ช่องเขาที่เหมาะสมต่อการเดินข้ามผ่านได้สะดวกกว่าช่องอื่นๆ 3 ช่อง คือ ช่องทางปากช่อง ช่องทางแนวถนนสุระนารายณ์และช่องสระผม

ในการสำรวจเส้นทางโบราณผ่านเทือกเขาเพชรบูรณ์จากเมืองศรีเทพไปยังที่ราบสูงโคราชของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ  ได้ข้อมูลพื้นฐานของช่องทางการติดต่อระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงโคราชโดยมีเมืองศรีเทพเป็นจุดเชื่อมโยง ได้ 5 ช่อง ได้แก่

1.ช่องอำเภอวิเชียรบุรี-อำเภอภักดีชุมพล-อำเภอหนองบัวแดงเป็นช่องเขาที่มีที่ราบขนาดใหญ่สะดวกในการเดินทาง แต่ค่อนข้างไกลจากเมืองศรีเทพ

2.ช่องเขาขาด และช่องผู้ใหญ่นุด ระยะห่างจากเมืองศรีเทพประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นช่องทางที่ใกล้เมืองศรีเทพมากที่สุด จากการสำรวจพบแหล่งโบราณคดีฝั่งที่ราบภาคกลาง ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงยุคประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก และในฝั่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็พบเช่นกัน

3.ช่องสำราญ ระยะห่างจากเมืองศรีเทพประมาณ 42 กิโลเมตร จากการสำรวจไม่พบแหล่งโบราณคดีที่ราบภาคกลาง

4.ช่องสะพานหิน ระยะห่างจากเมืองศรีเทพประมาณ 52 กิโลเมตร เป็นช่องที่สะดวกอีกช่องหนึ่ง เนืองจากเป็นช่องเขาขาดใกล้ช่องนี้มีโบราณสถานนางผมหอม และมีแหล่งโบราณคดีหนองบัวเกียด ตำบลหนองบัวเกียด เป็นแหล่งเกลือสินเธาว์ที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต

5.ช่องท่าหลวง-ด่านขุดทด ระยะทางจากเมืองศรีเทพประมาณ 70 กิโลเมตร เป็นช่องที่พบแหล่งโบราณคดีจำนวนมากเช่นกันมีอายุตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยประวัติศาสตร์

จากการสำรวจ สันนิษฐานได้ว่า ช่องทางติดต่อสัมพันธ์ระหว่างเมืองศรีเทพกับดินแดนที่ราบสูงโคราชที่มีความน่าสนใจหรือมีความสำคัญมากเป็นอันดับแรกคือช่องเขาขาด ซึ่งอยู่ใกล้และมีแหล่งโบราณคดีที่สอดคล้องเป็นจำนวนมาก รองลงมาอาจเป็นช่องสะพานหิน ช่องอำเภอวิเชียรบุรี-อำเภอภักดีชุมพล และช่องท่าหลวง-ด่านขุนทดเป็นลำดับ

ปัจจุบัน หลุมขุดค้นดังกล่าวยังเปิดแสดงให้ได้ชมลักษณะของการค้นพบหลักฐานตามลำดับอายุสมัย ภายใต้อาคารคลุมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งตั้งอยู่ในเมือง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ศุภรัตน์ ตี่คะกุล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

พงศ์ธันว์ บรรทม, ชูศักดิ์ ศักดิ์ทรัพย์ทวี, และจิรยุติ์ ชาญกิจศิลป์.  “เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องศรีเทพ : ความสัมพันธ์กับชุมชนโบราณใกล้เคียง.” การศึกษาเฉพาะบุคคลปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2535.

วิชัย ตันกิตติกร. เมืองศรีเทพ. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977), 2538.

สถาพร เที่ยงธรรม. ศรีเทพ: เมืองศูนย์กลางความเจริญแห่งลุ่มน้ำป่าสัก, กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977), 2554.

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, 2546.

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี