หมู่บ้านโปรตุเกส


โพสต์เมื่อ 13 ส.ค. 2021

ชื่ออื่น : โบสถ์โดมินิกัน, โบสถ์นักบุญเปโตร

ที่ตั้ง : ถนน ทล.3469

ตำบล : สำเภาล่ม

อำเภอ : พระนครศรีอยุธยา

จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา

พิกัด DD : 14.333775 N, 100.574835 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, เจ้าพระยา, ลพบุรี, น้อย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาไปตามถนนสายอยุธยา-สุพรรณบุรี ประมาณ 100 เมตร เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเลาะริมแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านวัดไชยวัฒนาราม วัดนักบุญยอแซฟ วัดพุทไธสวรรย์ ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านโปรตุเกส

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีหมู่บ้านโปรตุเกสเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายในแหล่งโบราณคดี มีการจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดี (Site museum) และจัดแสดงการขุดแต่งโบราณสถาน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 08.00 - 16.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น ลานจอดรถ นิทรรศการ

นอกจากนี้ยังมีสามารถเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นและในพื้นที่ใกล้เคียง ให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม เช่น หมู่บ้านญี่ปุ่น หมู่บ้านฮอลันดา วัดนักบุญยอแซฟ (วัดคาทอลิก) เป็นต้น

ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์ 035-242448  035-242501 หรือวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา 30 หมู่ 11 ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 13000 โทรศัพท์ 035-701526, 035-321447, 085-9037289 โทรสาร 035-321449

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานหมู่บ้านโปรตุเกส โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

โบราณสถานหมู่บ้านโปรตุเกส ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ด้านทิศใต้นอกเกาะเมืองอยุธยา ในตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งทิศตะวันตก เป็นพื้นที่ตั้งของชุมชนชาวโปรตุเกสในอดีตเรียกว่า “หมู่บ้านโปรตุเกส” อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำกับหมู่บ้านญี่ปุ่น

จากการสำรวจโดยยึดหลักฐานจากแผนที่เก่าของกรุงศรีอยุธยา เทียบเคียงกับลักษณะของพื้นที่ปัจจุบันพบว่า พื้นที่บริเวณเนินโบราณสถานแห่งนี้น่าจะเป็นที่ตั้งของโบสถ์คริสต์ศาสนา นิกายเยซูอิต มีอาณาเขต ดังนี้

            ทิศเหนือ  ติดกับบ้านเรือนราษฎร

            ทิศใต้     ติดกับบ้านเรือนราษฎร

            ทิศตะวันออก ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา

            ทิศตะวันตก ติดกับถนน

จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่ราบลุ่มและทุ่งนา ไม่มีภูเขา สูงจากระดับน้ำทะเลโดยประมาณ 3-5 เมตร เมื่อประมาณ 10,000-3,000 ปีมาแล้ว พบหลักฐานว่าพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเคยเป็นทะเลมาก่อน จนเกิดการทับถมตะกอนจากทะเลและแม่น้ำจนตื้นเขิน กลายเป็นแผ่นดินหรือที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีแม่น้ำ 4 สายไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำน้อย นอกจากนี้ยังมีลำคลองตามธรรมชาติและคลองขุดอีกจำนวนมาก เช่น คลองบางบาล คลองบางหลวง คลองเจ้าเจ็ด คลองอุทัย คลองบางแก้วคลองพระครูและคลองลากค้อน เป็นต้น

นอกจากปรากฏคลองขุดและคลองธรรมชาติต่างๆ ยังมีเขื่อนพระรามหกซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทยสร้างเมื่อ พ.ศ.2459 ในสมัยรัชกาลที่ 6 กั้นลำน้ำป่าสักที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

3-5 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ที่ราบลุ่มภาคกลางเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใหญ่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ปิง(ต่อเลยไปเกือบเชื่อมกับรอยเลื่อนเมย) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี ซึ่งต่อเนื่องจากการเปิดตัวของอ่าวไทยทางใต้และการเกิดแอ่งเทอร์เชียรีในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนและตามด้วยการเกิดรอยเลื่อนในแนวเหนือ-ใต้ การสะสมตัวเกิดขึ้นบนบกแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบตะกอนน้ำพา ทางน้ำ ทะเลสาบ และแบบกึ่งทางน้ำกับทะเลสาบ

ลักษณะทางธรณีวิทยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  ทำให้ลึกลงไปใต้พื้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นแหล่งกรวดทรายขนาดใหญ่  เม็ดกรวด และทรายมีขนาดใหญ่และมีลักษณะกลมมน   น้ำบาดาล สะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างและเม็ดกรวดและทราย  แทรกสลับอยู่กับชั้นดินเหนียว  ทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น  และเป็นชั้นน้ำที่แผ่ขยายออกไปในแนวราบอย่างกว้างขวาง  มีคุณสมบัติทางอุทกธรณีวิทยาเฉพาะตัว  ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่ในชั้นน้ำบาดาลส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  กล่าวคือ  ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้น  จะมีชั้นดินเหนียวรองรับอยู่ด้านล่าง  และปิดทับอยู่ด้านบน  จัดเป็นชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (Confined aquifer)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยอยุธยา

อายุทางโบราณคดี

ราวพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, ปฏิพัฒน์ พุ่มพงศ์แพทย์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, มูลนิธิกุลบงเกียน ประเทศโปรตุเกส

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 1 กรมศิลปากร (ในขณะนั้น) ขุดแต่งโบราณสถานหมู่บ้านโปรตุเกส ได้เริ่มจากด้านทิศใต้เนื่องจากถูกรบกวนน้อยที่สุด เป็นฐานก่ออิฐขนาดสูง 1.60 เมตร มีบันไดอยู่ทิศตะวันออกมีเสาประดับอาคารเป็นระยะ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้มีการก่ออิฐเป็นฐานเตี้ยๆ แบ่งออกเป็นห้อง ด้านหน้าของโบสถ์เป็นทิศตะวันออก จากการขุดแต่ง พบหลุมฝังศพอยู่กระจายเป็นจำนวนมาก ด้านทิศเหนือ ทิศใต้และทิศตะวันออก พบหลักฐานประเภทโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก เช่น กระเบื้องดินเผาทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบ ซึ่งเป็นของที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศ กล้องยาสูบชนิดดินเผาสีขาว เหรียญชนิดต่างๆ และพบชิ้นส่วนของอาคาร เช่นกระเบื้องมุงหลังคา ตะปู กุญแจและเศษแก้วชนิดต่างๆ

ชื่อผู้ศึกษา : ปัญญา แก้วธรรม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาเครื่องประดับ, ศึกษาเครื่องแก้ว

ผลการศึกษา :

วัตถุประเภทแก้วที่บ้านโปรตุเกสคงมีการนำเข้ามาพร้อมๆ กับการเดินทางเข้ามาของชาวโปรตุเกสและชาวยุโรปอื่นๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและการศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เครื่องแก้วที่พบจำแนกเป็นเครื่องใช้และเครื่องประดับ เช่น ขวดแก้ว กระปุกแก้ว แก้วใส่เครื่องดื่มแจกันแก้ว กางเขนแก้ว ลูกปัดแก้วกระดุมแก้ว กำไลแก้ว เลนส์แก้ว เป็นต้น เทคนิคการผลิตแก้วที่หมู่บ้านโปรตุเกส ใช้เทคนิคหลายอย่าง ตามชนิดของเครื่องใช้ บางชนิดใช้เทคนิคสมัยโบราณ บางชนิดใช้เทคนิคสมัยใหม่ บางชนิดใช้เทคนิคผสมกัน เช่น เทคนิคการผลิตขวดโดยวิธีการเป่าลงในแม่พิมพ์ โดยการทำแม่พิมพ์เป็นชนิดทรงกลมและเหลี่ยมโดยใช้แม่พิมพ์ 3 ชิ้นแล้วเป่าแก้วตามแม่พิมพ์ เทคนิคการทำกางเขนแก้ว โดยการตัดแก้วละลายลงในแม่พิมพ์ แก้วที่ทำเป็นแก้วผสมตะกั่วแล้วนำมาเจียระไนด้วยกากเพชรเป็นรูปมงกุฎหนาม เทคนิคการทำลูกประคำแก้วหรือลูกปัดแก้ว โดยการจุ่มปลายโลหะลงในแก้วละลาย หยดเนื้อแก้วลงพื้นที่เรียบคลึงไปมาหยดแก้วจะกลม เทคนิคผลิตกระดุม โดยการอัดแก้วลงในแม่พิมพ์ เทคนิคการทำกำไล ชนิดหนึ่งโดยการอัดแก้วหลอมละลายในแม่พิมพ์ อีกชนิดโดยการดึงเส้นแก้วให้เป็นเส้นยาวแล้วทำเป็นโค้ง เป็นต้น ส่วนผสมของแก้ว มีวัสดุพื้นฐานคือทรายซิลิก้านำมาหลอมละลายมีส่วนผสม คือซิลิก้า โซดา และปูนขาว เครื่องแก้วที่บ้านโปรตุเกสนอกจากจะพบแก้วสีขาวใสอันเป็นส่วนผสมพื้นฐานแล้วยังพบแก้วสีอีกเป็นจำนวนมาก แก้วที่พบมีขาว สีเขียวอ่อน สีน้ำเงิน สีน้ำตาลสีดำ สีฟ้า สีฟ้าอ่อน และสีแดง การผลิตแก้วสีมีส่วนผสมของสารให้สี เช่น แก้วสีขาว มีส่วนผสมของตะกั่ว แก้วสีเขียวมีส่วนผสมของเหล็ก แก้วสีเขียวอ่อนมีส่วนผสมของทองแดง แก้วสีน้ำเงินมีส่วนผสมของโคบอลต์ แก้วสีฟ้า มีส่วนผสมของทองแดงและแก้วสีแดงมีส่วนผสมของดีบุก

ชื่อผู้ศึกษา : อนุชา ศรีวัฒนสาร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : ศึกษาการปลงศพ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

อนุชา ศรีวัฒนสาร ศึกษาประเพณีการฝังศพของชาวคาทอลิกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ณ โบราณสถานซานเปโตร หมู่บ้านโปรตุเกส เพื่อเสนอเป็นสารนิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ชื่อผู้ศึกษา : หจก.ดับเบิลยู เอ อาร์ คอนสตรักชั่น

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

จากผลการขุดแต่งโบราณสถานสามารถจัดลำดับชั้นทับถมทางวัฒนธรรมได้ 2 สมัย คือ ชั้นวัฒนธรรมที่ 1 เป็นการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนก่อนการสร้างศาสนสถาน พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก อาทิ ภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาแหล่งเตาพื้นเมืองและเตาลำพูน เศษภาชนะเนื้อแกร่งจากแหล่งเตาบ้านปูน ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งจากต่างประเทศและยังพบเศษถ่าน เปลือกหอยและกระดูกสัตว์ ในระดับชั้นวัฒนธรรมนี้ไม่มีการก่อสร้างศาสนสถาน โบราณวัตถุที่พบกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่17-20 ชั้นวัฒนธรรรมที่ 2 เป็นพื้นที่ร่วมสมัยกับการสร้างโบราณสถาน พบว่ามีการเตรียมดินถมอัดเป็นฐานรากอาคารหนาประมาณ 1..2-1.5 เมตรมีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขัง การถมอัดดินนอกจากเป็นฐานรากของโบราณสถานแล้วยังเป็นการทำเพื่อความมั่นคงของตัวอาคาร และปรับระดับพื้นที่สูงขึ้นเพื่อปรับระดับให้สูงเพื่อป้องกันนำท่วมอันจะส่งผลเสียต่อโบราณสถาน

ชื่อผู้ศึกษา : ชัยวุฒิ แจ่มผล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : อนุรักษ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ชัยวุฒิ แจ่มผล ศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบของการจัดแสดงโครงกระดูกในหลุมขุดค้นที่โบราณสถานหมู่บ้านโปรตุเกส เสนอเป็นสารนิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

สุสาน, ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พ.ศ.2527 กรมศิลปากรได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิกุลเบงเกียน ประเทศโปรตุเกส เพื่อทำการขุดค้นทางโบราณคดี หมู่บ้านโปรตุเกส จากการขุดค้นทำให้ทราบข้อมูลถึงความสัมพันธ์ของชาวโปรตุเกสกับราชอาณาจักรสยามมากขึ้น หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในครั้งนั้นประกอบด้วย ฐานอาคารขนาดใหญ่และสุสานซึ่งมีโครงกระดูกฝังซ้อนทับกันเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงการอยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่องและจากการขุดค้นทำให้มีการศึกษาวิจัยของนักวิชาการ และมีการศึกษาเรื่องราวของชาวโปรตุเกสให้มากขึ้น

การสร้างโบสถ์แห่งแรกของค่ายโปรตุเกสหรือหมู่บ้านโปรตุเกส เกิดขึ้นหลังจากการตั้งถิ่นฐานบริเวณด้านใต้ของเกาะเมืองอยุธยาแล้ว โดยสนธิสัญญาที่ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2059 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐาธิราช) ได้อนุญาตให้ชาวโปรตุเกสตั้งชุมชนและโรงสินค้าได้ โดยชาวโปรตุเกสเลือกบริเวณนี้เนื่องจาก

1.อยู่ใกล้จุดจอดเรือของชาวโปรตุเกส

2.บริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านโปรตุเกสมีสภาพคล้ายๆเกาะเล็กที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำ ซึ่งเกิดจากสันทราย เหมาะแก่การตั้งโรงสินค้าเพื่อความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า

3.ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากจุดจอดเรือมากนัก เนื่องจากยังไม่คุ้นเคยกับพื้นที่

ในปีพ.ศ. 2081 สมเด็จพระไชยราชาได้พระราชทานที่ดินผืนปัจจุบันให้อย่างเป็นทางการและอนุญาตให้สร้างโบสถ์คริสต์ขึ้นในสยามคือ โบสถ์คณะโดมินิกัน

โครงสร้างของอาคารส่วนฐานของโบสถ์เป็นหินแกรนิตและมีการตีเขื่อน 3 ด้าน คือด้านทิศเหนือ ใต้และตะวันตก เพราะพื้นที่สูงต่ำไม่เท่ากัน พ้นที่ที่ทำการก่อสร้างโบสถ์ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงสุดของเกาะโปรตุเกส หินแกรนิตที่นำมาก่อสร้างฐานโบสถ์เป็นหินที่นำมาจากทะเลเนื่องจากพบหอยนางรมติดอยู่กับหิน มีการเรียงหิน มีความหนาโดยเฉลี่ย 60-80 เซนติเมตร ความสูงของหินแกรนิตที่นำมาเรียงซ้อนกันมีขนาดไม่เท่ากัน เพราะระดับของพื้นที่เดิม ทางทิศเหนือพบฐานรากที่เป็นหินแกรนิตชั้นเดียว ในขณะที่ทางทิศใต้ไม่ปรากฏฐานแกรนิตเลย ส่วนทิศตะวันออกและตะวันตกซึ่งเป็นด้านขวางของเกาะโปรตุเกสมีการเรียงหินแกรนิต 5-7 ชั้น  แสดงให้เห็นว่ามีการพยายามปรับพื้นให้อยู่ในระดับเดียวกัน

จากลักษณะการวางรากฐานดังกล่าว ได้มีการก่อสร้างกำแพงอิฐขึ้นบนฐานรากด้วยความหนาที่เท่ากันแล้วมีการถมดินบดอัดไว้ที่ฐานรากเพื่อปรับพื้นที่ภายในตัวอาคารต่อไป ดินที่บดอัดลงไปนั้นจึงกลายเป็นลานโดยรอบตัวอาคาร ซึ่งมีประโยชน์ในการเป็นสุสานฝังศพในระยะแรกๆ เพราะพบโครงกระดูกที่ฝังอยู่ในลานที่มีระดับเดียวกับฐานรากอาคาร ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ได้พระราชพระราชทรัพย์เพื่อใช้ในการต่อเติมและบูรณะโบสถ์ จากฐานอาคารที่เหลืออยู่พบว่า การขยายตัวออกไปทางทิศตะวันตก ทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งครอบคลุมบริเวณเดิมที่เป็นลานโบสถ์ เพราะปรากฏร่องรอยของคานที่ใช้เป็นฐานของกำแพงทางด้านปีกทั้งสองข้างที่อยู่ต่างระดับกับฐานอาคารชุดแรก ส่วนทางทิศตะวันออกยังคงสภาพเดิม

ในช่วง พ.ศ. 2145 มีบาทหลวงคณะฟรานซิสกันสองรูปได้เดินทางเข้ามาและน่าจะมีการสร้างโบสถ์ของคณะนี้ซึ่งเป็นหลังที่สองในหมู่บ้านโปรตุเกส และโบสถ์ของคณะเยซูอิตที่มีบาทหลวงเดินทางเข้ามาในปีพ.ศ. 2152 อีกด้วย

ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2239 ได้เกิดโรคทรพิษระบาด จากการขุดค้นพบการฝังศพที่ทำอย่างเร่งด่วนและมีการซ้อนทับของศพเป็นจำนวนมาก โดยอาจมีการใช้พื้นที่บางส่วนของโบสถ์คณะโดมินิกันเป็นที่ฝังศพ โดยมีการรื้อแนวกำแพงด้านทิศตะวันออกออกไป ส่วนพื้นที่การใช้งานหลักของโบสถ์พบว่ามีการปรับปรุงเพิ่ม  โดยปรับพื้นให้สูงขึ้นใช้อิฐหักกากปูนหยาบถมลงไปเพื่อให้ได้ระดับเดียวกัน เช่นเดียวกับส่วนฐานและคานของอาคารที่ทำขึ้นอย่างหยาบๆ โดยใช้วัสดุที่เหมือนกันแต่เพิ่มการปูกระเบื้องดินเผาทับอีกชั้น จนในปีพ.ศ. 2310 หมู่บ้านโปรตุเกสก็ล่มสลายไปพร้อมกับกรุงศรีอยุธยา

โบสถ์คณะโดมินิกันมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส วางตัวตามแนวตะวันออก-ตะวันตก  หันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีช่องทางเดินภายในอาคาร 3 ทาง แต่ละทางเชื่อมถึงกันหมด พื้นที่ภายในอาคารสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

1.ส่วนที่อยู่อาศัยของบาทหลวง คือส่วนด้านหลังและส่วนด้านข้างของอาคาร

2. ส่วนประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คือส่วนกลางของอาคาร ประกอบด้วยแท่นพิธี 3 แท่น และแท่นรองลงมาอีก 2 แท่นมีประตูทางเข้า 3 ประตู โดยประตูใหญ่จะเปิดออกสู่ลานด้านหน้าอีก 2 ประตูอยู่ด้านข้าง และพื้นที่ส่วนนี้อาจจะเป็นพื้นที่ฝังศพของบาทหลวง

3. ส่วนที่เป็นห้องโถงหรือหองประชุม คือส่วนด้านหน้าของอาคารและเป็นที่ฝังศพของ คริสตชน


โครงกระดูกมนุษย์

โดยปกติแล้วการสร้างโบสถ์ทางศาสนาคริสต์นั้นจะสร้างสุสานเพื่อฝังศพอยู่ด้านหลังโบสถ์ แต่พื้นที่โบสถ์ สุสานและพื้นที่ใช้สอยในหมู่บ้านโปรตุเกสมีจำกัด ดังนั้นจึงมีการฝังศพอยู่ทางด้านหน้าของโบสถ์โดมินิกัน จากการขุดค้นพบว่า สุสานตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของโบราณสถาน โดยพบโครงกระดูกประมาณ 200 โครงแสดงให้เห็นว่ามีการใช้พื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้าของโบสถ์ จากโครงสร้างและลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโบสถ์นั้น หันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งหันหน้าไปสู่แม่น้ำซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก

โครงกระดูกที่พบถูกฝังอยู่ในระดับประมาณ 1 เมตรจากผิวดินโดยโครงกระดูกหมายเลข 1 นั้นพบบริเวณช่องประตูของโบราณสถานด้านทิศใต้ แสดงให้เห็นการขยายตัวของพื้นที่ของโบสถ์ออกมาภายหลัง โดยบริเวณดังกล่าวนี้ พบโครงกระดูกจำนวน 200 โครง สามารถแบ่งขอบเขตของสุสานออกเป็น 3 ตอน คือ

1.ส่วนในสุด ฝังอยู่ในแนวเดียวกันอย่างเป็นระเบียบ ส่วนใหญ่หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกหรือหันศีรษะเข้าสู่แท่นที่ประดิษฐานรูปเคารพภายในโบสถ์ ซึ่งน่าจะเป็นโครงกระดูกของเหล่านักบวช เพราะศพของบาทหลวงจะถูกฝังให้อยู่ตามลักษณะเดิมตามที่เคยได้ปฏิบัติเมื่อยังมีชีวิตอยู่ เพราะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่หน้าแท่นหันหน้าไปสู่ศาสนิกชนและหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก และการฝังศพใกล้กับแท่นเพราะเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดพระเจ้า โดยศพของบาทหลวงที่สำคัญๆ จะนำมาฝังไว้ในตัวโบสถ์

2.ส่วนกลาง อยู่ถัดมาจากส่วนที่ฝังศพบาทหลวงออกมาทางด้านหน้าหรือทิศตะวันออกโดยการฝังศพบริเวณนี้มีการกำหนดขอบเขตอย่างแน่นอนด้วยการเรียงอิฐวางเป็นกรอบรอบๆ แม้ว่าต่อมาจะมีการฝังในลักษณะทับซ้อนในบริเวณนี้ก็ตาม และศพที่ฝังบริเวณนี้น่าจะมีสถานะทาสังคมสูงกว่าบุคคลอื่นในชุมชน

3.ส่วนนอกสุด อยู่บริเวณแนวฐานของโบสถ์ แม้จะมีการฝังศพและจัดท่าทางของศพให้เป็นระเบียบเดียวกันก็ตาม แต่จากการทับซ้อนของโครงกระดูกที่มีจำนวนมาก และพบว่าบริเวณนี้มีส่วนของโครงกระดูกที่ถูกขุดขึ้นมาทับไว้กับโครงที่เพิ่งนำลงไปฝังด้วยเป็นจำนวนมาก ความผิดปกตินี้สอดคล้องกับเหตุการณ์การระบาดของโรคไข้ทรพิษในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ส่วนนี้เป็นส่วนของสุสานที่ขยายออกมา


โบราณวัตถุ

นอกจากโครงกระดูกแล้วในการขุดค้นยังพบโบราณวัตถุที่ฝังร่วมกับศพและพบในบริเวณที่มีการขุดค้น ขุดแต่ง แบ่งเป็นประเภทต่างๆ

1.โบราณวัตถุทางศาสนา ประกอบด้วย

     - ไม้กางเขน ทำจากแก้ว สำริดและงาช้าง โดยส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก บางอันมีจารึกเป็นภาษาโปรตุเกสหรือละติน

     - ลูกประคำ พบเป็นสายวางอยู่ในกำมือหรือที่คอของโครงกระดูก และพบบางส่วนกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณโบราณสถาน

     - เหรียญรูปเคารพ พบอยู่ในมือของโครงกระดูก บางอันพบบนอก เหรียญรูปเคารพเป็นสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนา ใช้ห้อยคอหรือติดที่เสื้อเป็นเครื่องนำจิตใจ

2.เครื่องประกอบทางสถาปัตยกรรม ปรกอบด้วย

     - กระเบื้องเชิงชาย เป็นกระเบื้องสีแดงขนาดที่พบมีตั้งแต่ ด้านกว้าง 13 ซม. สูงประมาณ 13-18 ซม.

     - กระเบื้องมุงหลัง เป็นกระเบื้องสีแดง ไม่มีลวดลาย

     - กระเบื้องปูพื้น เป็นกระเบื้องดินเผาสีแดง มี 3 ขนาด ขนนาดเล็ก ยาว 6.7 ซม. กว้าง 4.2 ซม. หนา 2.3 ซม. เจาะเป็นรู้ 4 รู ขนาดกลาง ยาว 28 ซม. กว้าง 25 ซม. หนา 5 ซม. และขนาดใหญ่ ยาว 34 ซม. กว้าง 17 ซม. หนา 12 ซม. กระเบื้องเหล่านี้เป็นกระเบื้อที่ผลิตภายในประเทศ

3.เงินตรา ประกอบด้วยเบี้ยและเหรียญของประเภทต่างๆ พบกับโครงกระดูก เบี้ยเป็นเบี้ยหอยจั่นขนาดเล็กใช้เป็นเงินตราในการแลกเปลี่ยนเป็นของที่นำเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนเหรียญกษาปณ์มีทั้งเหรียญไทยและต่างประเทศ โดยในส่วนของเหรียญกษาปณ์ไทยนั้นมีการผลิตครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 แสดงว่ามีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันในบริเวณนี้อย่างน้อยที่สุดคือก่อนช่วงเวลานี้ ส่วนเหรียญกษาปณ์ต่างประเทศนั้น พบทั้งเหรียญตราจากประเทศญี่ปุ่น จีนและสเปน ซึ่งแสดงให้เห็นการติดต่อของชุมชนนี้กับประเทศต่างๆ

4.เครื่องใช้ ประกอบด้วยเครื่องใช้ที่ทำด้วยวัสดุประเภทแก้ว ดินและโลหะ ส่วนที่เป็นแก้วนั้นไม่พบกับโครงกระดูก มีทั้งขวดแก้วทรงสี่เหลี่ยม กลมซึ่งอาจเป็นขวดสุราที่ใช้ในพิธีกรรม และมีชิ้นส่วนภาชนะที่ทำจากแก้วเช่น หูภาชนะ แจกัน กระดุมแก้ว เลนส์แว่นตา ประเภทดินเผา มีตุ๊กตามีทั้งธรรมดาและเคลือบ ภาชนะดินเผามีทั้งของที่ผลิตในประเทศและมาจากจีน เวียดนาม ส่วนโลหะ พบที่ทำจากสำริดและเหล็ก เช่น ตะปูเหล็ก กระดุม เตารีด กุญแจ เป็นต้น

5.เครื่องประดับ ทำจากวัสดุหลายประเภท เช่น โลหะ หิน แก้ว ส่วนใหญ่เป็นการตกแต่งร่างกายหรือศพ เพื่อให้เกิดความสวยงามโดย พบกำไล แหวน ตุ้มหูโดยไม่พบร่วมกับโครงกระดูก

6.อื่นๆ เช่นกล้องยาสูบ ลูกกระสุนปีน โดยกล้องยาสูบนั้นมีทั้งกล้องยาสูบแบบไทย จีน และยุโรป

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ศุภรัตน์ ตี่คะกุล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. รายงานการขุดแต่งโบราณสถานบ้านนักบุญเปโตร (โบสถ์ของคณะโดมินิกัน) โครงการปรับปรุงหมู่บ้านโปรตุเกส. พระนครศรีอยุธยา : หน่วยศิลปากรที่ 1, 2529.

ปัญญา แก้วธรรม. “เครื่องแก้วที่บ้านโปรตุเกส ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2527.

ดับเบิลยู เอ อาร์ คอนสตรักชั่น, หจก. รายงานการขุดค้นขุดแต่งโบราณสถานหมู่บ้านโปรตุเกส (โบสถ์คณะเยซูอิท) ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. พระนครศรีอยุธยา : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดับเบิลยู เอ อาร์ คอนสตรักชั่น, 2551.

อนุชา ศรีวัฒนสาร. “ประเพณีการฝังศพของชาวคาทอลิกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ณ โบราณสถานซานเปโตร หมู่บ้านโปรตุเกส ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2527.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี