ดงแม่นางเมือง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : ธานยบุรี

ที่ตั้ง : ต.เจริญผล, ต.ตาสังข์ อ.บรรพตพิสัย

อำเภอ : บรรพตพิสัย

จังหวัด : นครสวรรค์

พิกัด DD : 16.015959 N, 100.008345 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยขมิ้น, มาบกร่าง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตลาดเมืองใหม่ อำเภอบรรพตพิสัย ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก ไปตามทางหลวงจังหวัด บรรพตพิสัย-หนองตางู ระยะทางประมาณ 8 กม. เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางแยกจากถนนใหญ่อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงวัดดงแม่นางเมือง ซึ่งตั้งอยู่ติดถนนเข้าหมู่บ้าน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

กำลังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

องค์การบริหารส่วนตำบลเจริญผล, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

สภาพพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เป็นที่ราบค่อนข้างเรียบแคบ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ โดยเฉพาะตอนกลางของจังหวัด ซึ่งอยู่ในเขตอำเมืองฯ, อำเภอบรรพตพิสัย, อำเภอชุมแสง, อำเภอท่าตะโก, อำเภอโกรกพระ และอำเภอพยุหะคีรี สภาพพื้นที่ทางทิศตะวันตก (เขตอำเภอลาดยาว, อำเภอแม่วงก์, อำเภอแม่เปิน และอำเภอชุมตาบง) และทิศตะวันออก (เขตอำเภอหนองบัว, อำเภอไพศาลี, อำเภอตากฟ้า และอำเภอตาคลี) มีลักษณะเป็นแบบลอนลูกคลื่น ยกตัวขึ้นจากตอนกลางของจังหวัด

ดงแม่นางเมือง เป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในตำบลตาสังข์ อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอบรรพตพิสัยประมาณ 15 กิโลเมตร ได้มีการสำรวจและทำผังเมืองเมื่อ พ.ศ.2510 ผังเมืองมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมน มีคูชั้นนอกและชั้นในล้อมรอบ 2 ชั้น มีขนาดราว 630x650 เมตร ซึ่งแสดงถึงการขยายพื้นที่เมือง กลางเมืองมีแนวคัดดินพาดกลาง ภายในเมืองมีสระที่ขุดขึ้นหลายแห่งทั้งเล็กและใหญ่ มีแม่น้ำปิงไหลผ่านทางทิศตะวันตก คลองวังตะเคียนไหลทางด้านตะวันออกซึ่งเป็นทางน้ำติดต่อกับแม่น้ำน่าน ที่ปากน้ำเชิงไกร ยาวประมาณ 45 กิโลเมตร พื้นที่ภายในเมืองมีความลาดเอียงจากตะวันตกไปตะวันออก พื้นที่ชั้นในมีร่องรอยที่สันนิษฐานว่า อาจเป็นทางน้ำติดต่อกัน 7 สาย คูเมืองด้านตะวันออกมีลำน้ำใหญ่ที่ไหลมาจากทางเหนือมาช่วยหล่อเลี้ยงตัวเมือง คือ ห้วยขมิ้นและมาบกร่าง คูเมืองด้านตะวันออกเฉียงใต้มีคลองระบายน้ำเรียกว่า คลองคดและคลองยาง ปัจจุบันยังคงมีน้ำไหลจากคลองทั้งสอง เป็นประโยชน์ให้กับไร่นาแถบตะวันออกและใต้ จากการดำเนินการทางโบราณคดีทำให้ทราบว่า เป็นเมืองที่มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 และน่าจะร้างไปตั้งแต่ก่อนตั้งสุโขทัย

สภาพปัจจุบันของแหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง ตังอยู่ในเขตพื้นที่ปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลสองแห่งคือ เจริญผลและตาสังข์ อำเภอบรรพตพิสัย สภาพทั่วไป พื้นที่ส่วนใหญ่ได้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น คูน้ำชั้นนอกซึ่งเป็นที่ดินด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันเป็น เขตหมู่ที่ 10 ตำบลตาสังข์ และคูน้ำชั้นในนั้นปัจจุบันเป็นเขตหมู่ที่ 4 ตำบลเจริญผล อำเภอบรรพตพิสัย

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยเขมร, สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 15-18

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : มานิต วัลลิโภดม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2499

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พบจารึกหลักที่ 3 จารึกดงแม่นางเมือง เป็นหินชนวนสีเขียว สูง 175 ซม. กว้าง 37 ซม. หนา 22 ซม. เป็นอักษรอินเดียกลาย (ปัลลวะกลาย) รุ่นที่ 2 ด้านแรกเป็นภาษบาลี ด้านที่สองเป็นภาษาเขมร ระบุพระนามของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชให้พระเจ้าสุนัตต์แห่งธานยบุรีอุทิศถวายของต่างๆ แด่ กมรเตงชคตศรีธรรมาโศกราชผู้ล่องลับไปแล้ว โดยระบุศักราช คือ มหาศักราช 1089 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1710 และพบจารึกแผ่นดินอิฐ ภาษาสันสกฤต แต่ไม่สามารถอ่านได้ 1 ชิ้น

ชื่อผู้ศึกษา : มานิต วัลลิโภดม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2509, พ.ศ.2510

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ขุดศึกษาพื้นที่ภายในเมืองโบราณดงแม่นางเมือง ได้พบพระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปหินทราย อายุสมัยทวารวดีตอนปลาย พระพิมพ์ดินเผาสมัยลพบุรี ตลับหรือผอบแบบสังคโลก ลวดลายปูนปั้นประดับโบราณสถานและโครงกระดูกมนุษย์ ซากโบราณสถานจำนวน 15 แห่ง

ชื่อผู้ศึกษา : จตุรพร เทียมทินกฤต

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการขุดค้นพื้นที่ในเมืองจำนวน 2 หลุม หลุมที่ 1 ขุดค้นภายในเมืองชั้นในพบหลักฐานการทำกิจกรรมของมนุษย์ตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมทวารวดี เป็นต้นมา และหลุมที่ 2 ขุดค้นบริเวณพื้นที่ส่วนกลางของเมืองขยายใกล้วัดดงแม่นางเมือง พบหลักฐานการทำกิจกรรของมนุษย์ตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมเขมรเป็นต้นมา แต่ไม่พบหลักฐานกิจกรรมของมนุษย์สมัยวัฒนธรรมทวารวดี โดยพบชิ้นส่วนของภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง เคลือบขาวจากวัฒนธรรมเขมร

ชื่อผู้ศึกษา : พิมพ์ชนก พงษ์เกษตร์กรรม์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

จากการศึกษาพบว่า ระยะเวลาในการอยู่อาศัยของชุมชนโบราณแห่งนี้ มีช่วงเวลาของการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ในขณะที่จารึกดงแม่นางเมืองนั้นระบุศักราชไว้ในพุทธศตวรรษที่ 18 หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ แสดงให้เห็นว่าสถานะของชุมชนน่าจะเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจอีกแห่งหนึ่งในที่ราบภาคกลาง โดยพบสินค้านำเข้าหลายชนิดที่แสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนภายนอกที่เป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลและเมืองท่าแผ่นดินใหญ่ โดยหลักฐานสำคัญที่พบ ได้แก่ เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยเขมร เครื่องถ้วยเปอร์เซีย ลูกปัดแก้วและหินกึ่งอัญมณี รวมถึงหลักฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของชุมชนสมัยทวารวดีในที่ราบลุ่มแม่มูลและที่ราบลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสักทั้งด้านวัฒนธรรมและศาสนา และหลักฐานที่เป็นจารึกยังได้เน้นให้เห็นว่าชุมชนแห่งนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นเมือง ที่มีชนชั้นปกครองที่เป็นกษัตริย์ท้องถิ่นอันอาจแสดงถึงการเป็นศูนย์กลางการปกครองที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาการปลงศพ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ศึกษาพบร่อรอยทางด้านโบราณคดีหลากหลายประเภท ประกอบด้วยหลักฐานทางด้านชั้นดินโบราณคดี ที่ดำเนินการขุดค้น 8 ชั้นดิน ซึ่งปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ในชั้นดินที่ 4 ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการฝังศพของมนุษย์ ส่วนในชั้นดินที่ 3-2 เป็นชั้นดินที่มีความสัมพันธ์กับแนวศิลาแลงที่พบในชั้นดินที่ 4 สำหรับการเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างหรือเป็นศาสนสถานซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ ส่วนชั้นดินที่ 1 น่าจะเป็นชั้นดินทับถมที่เกิดจากการพังทลายของสิ่งก่อสร้างบนเนินดิน หลักฐานทางด้านโบราณวัตถุ พบในปริมาณที่น้อยและไม่หลากหลาย ส่วนมากที่พบ ได้แก่ เศษอิฐแตกหัก ที่ใช้ในการก่อสร้าง ลวดลายปูนปั้นเช่นเดียวกันลวดลายปูนปั้นในวัฒนธรรมทวารวดี ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินธรรมดาและประเภทเนื้อแกร่งเคลือบสีเขียวน้ำตาลเป็นผลิตภัณฑ์จากแหล่งวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรจากภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังพบเครื่องประดับทำด้วยตะกั่ว สำริด และทองคำ เครื่องมือเหล็ก แผ่นหินชนวนและกลีบบัวดินเผา หลักฐานด้านนิเวศวัตถุ พบโครงกระดูกมนุษย์ทั้งสภาพทั้งโครง ส่วนของกะโหลก ส่วนของกระดูกแขน และส่วนกระดูกขา ซึ่งอาจเกิดจากการเสื่อมสภาพของโครงกระดูกหรืออาจจะเป็นการฝังศพครั้งที่ 2 เมื่อนำมาศึกษาพบว่าเป็นโครงกระดูกจำนวน 52 โครง โดยพบในชั้นดินที่ 4 และรูปแบบการจัดท่าทางการนอนเตรียมฝัง 6 รูปแบบ คือ 1. แบบนอนหงายเหยียดยาว 2. แบบนอนหงายงอเข่า 3. แบบนอนตะแคงข้างงอเข่า 4. แบบนอนตะแคงข้างงอตัวและงอเข่า 5. แบบคุดคู้ (อาจเป็นการฝังศพครั้งที่ 2 ) 6. แบบที่ไม่สามารถทำการศึกษาได้ เนื่องจากสภาพโครงกระดูกเหลือเฉพาะบางส่วน

ชื่อผู้ศึกษา : กมลพร กีรติยะอังกูร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ศึกษาจากหลักฐานทางโบราณคดีโดยเฉพาะการวิเคราะห์หลักฐานประเภทกระดูกสัตว์ที่ได้จากการขุดค้นและเอกสาร พบว่า หลักฐานแสดงให้เห็นกิจกรรมการใช้พื้นที่อยู่อาศัย 2 ช่วงระยะเวลา คือ ระยะที่ 1 อยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 เนื่องจากพบหลักฐานทางโบราณคดีประเภทภาชนะดินเผา ร่องรอยการฝังศพและชิ้นส่วนหม้อพรมน้ำ เป็นต้น ในระยะที่ 2 อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 เป็นช่วงที่รับอิทธิพลจากเขมรเข้ามายังเมืองโบราณดงแม่นางเมือง เนื่องพบหลักฐาน ประเภทเครื่องถ้วยจากวัฒนธรรมเขมร จารึกดงแม่นางเมืองที่มีข้อความแสดงถึงระบบการปกครองที่อาจได้รับอิทธิพลจากเขมร และระยะที่ 2 นี้ยังพบหลักฐานการติดต่อกับชุมชนภายนอกอีก เช่น เครื่องถ้วยจีน ลูกปัดหินกึ่งอัญมณีและเครื่องแก้ว ผลการศึกษาพบว่า ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยทางวัฒนธรรมมีผลต่อการตั้งถิ่นฐานที่แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง เป็นปัจจัยทางกายภาพที่สำคัญที่นำมาสู่การตั้งถิ่นฐานที่นี่ อาจเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ จากการวิเคราะห์กระดูกสัตว์พบว่า สภาพแวดล้อมในอดีต อาจมีสภาพป่าโปร่ง มีทุ่งหญ้า ดินโป่งและหนองน้ำที่อำนวยต่อการตั้งถิ่นฐาน สำหรับปัจจัยทางวัฒนธรรม ถือเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากการตั้งถิ่นฐานแล้ว โดยปัจจัยที่สำคัญอาจมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจเนื่องจากพบหลักฐานของการติดต่อกับชุมชนภายนอก

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

สุสาน, ศาสนสถาน, เมืองโบราณ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

จากการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีและศึกษาหลักฐานที่พบจากแหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง ชี้ให้เห็นว่าบริเวณเมืองโบราณดงแม่นางเมืองนั้น เคยเป็นตั้งของเมืองโบราณและชุมชนโบราณ มีการใช้พื้นที่ในการอยู่อาศัย  โดยอาจจะแบ่งได้เป็น 2 ชั้นวัฒนธรรม  คือ

            ชั้นวัฒนธรรมที่  1 อยู่ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-16 เป็นชั้นวัฒนธรรมแบบทวารวดี โดยพบหลักฐานทางโบราณคดีประเภทภาชนะดินเผา  ร่องรอยการฝังศพ ชิ้นส่วนหม้อพรมน้ำเป็นต้น

            ชั้นวัฒนธรรมที่ 2 อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 อาจเป็นช่วงที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรเข้ามาภายในเมืองโบราณดงแม่นางเมือง เนื่องจากพบหลักฐานทางโบราณคดีประเภทเครื่องถ้วยเขมรที่มาจากแหล่งเตาบนเทือกเขาพนมกุเลน นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการติดต่อกับชุมชนภายนอกอีกเช่น เครื่องถ้วยจีน ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินกึ่งอัญมณีและเครื่องแก้ว  ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของเมืองโบราณดงแม่นางเมือง เป็นการตั้งถิ่นฐานแบบถาวร มีการตั้งถิ่นฐานที่เป็นหลักแหล่ง และอยู่ในสภาพที่มีความเหมาะสม

            ทั้งนี้อาจสรุปลักษณะทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมของชุมชนโบราณเมืองดงแม่นางเมืองในด้านต่างๆ ดังนี้

            การตั้งถิ่นฐาน

            ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณดงแม่นางเมืองแห่งนี้ อาจสรุปไดเป็น 2 ประการ ได้แก่ ปัจจัยทางด้านกายภาพและปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม

            ปัจจัยทางกายภาพ ได้แก่สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ลักษณะทางธรณีวิทยา แหล่งน้ำ ดินและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเมืองโบราณดงแม่นางเมืองนั้นตั้งอยู่ในสภาพภูมิประเทศที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน และอยู่กึ่งกลางระหว่างลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน การตั้งเมืองอยู่บริเวณลำน้ำสาขาของแม่น้ำทั้ง 2 นั้น ถือว่าเป็นทำเลที่เหมาะสมมาก เนื่องจากแม่น้ำทั้ง 2 สายมีความยาวมากและมีความอุดมสมบูรณ์ นำพาตะกอนต่างๆ ส่วนหนึ่งมาทับถมให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง สามารถใช้เป็นแหล่งหาอาหาร การอุปโภคบริโภครวมถึงใช้เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างภาคกลางกับภาคเหนือ

            แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง ตั้งอยู่ในเขตสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีปริมาณน้ำฝนสูง  ลักษณะสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นส่งผลดีต่อการทำเกษตรกรรม ส่วนแหล่งน้ำในพื้นที่แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง ถือเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เช่น มีคลองคตไหลผ่านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีลำห้วยขมิ้นและมาบกร่างไหลผ่านทิศเหนือของเมือง การมีแหล่งน้ำ ลักษณะการมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ตัวเมืองนี้คล้ายกับที่พบในเมืองสมัยทวารวดีโดยทั่วไป เช่น ที่เมืองอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองเหล่านี้มักมีลำน้ำอยู่ใกล้ๆกับเมือง

            สภาพดินในพื้นที่เมืองโบราณดงแม่นางเมือง เป็นดินร่วนเหนียว หรือดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง ดินมีสีน้ำตาลปนเทา ดินชุดนี้เกิดจากพวกตะกอนลำน้ำ ดินมีความสมบูรณ์ตามธรรมชาติค่อนข้างต่ำถึงปานกลาง คุณสมบัติดินชนิดนี้ส่วนใหญ่ใช้ทำนา ส่วนฤดูแล้งบริเวณใกล้น้ำใช้ปลูกพืชผักหรือพืชไร่

            แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ของเมืองโบราณดงแม่นางเมือง มีแหล่งทรัพยากรอยู่ไม่ไกลนัก มีภูเขาหินปูนเรียกว่า เขาหน่อ-เขาแก้ว อาจมีการนำเอาหินปูนจากภูเขานี้มาใช้ผลิตใบเสมาใช้ในชุมชน นอกจากนี้ยังมีป่าไม้เรียกว่า ป่าดงยางห้วยพลับ จากการวิเคราะห์กระดูกสัตว์ทำให้ทราบว่า พ้นที่บริเวณใกล้เคียงเมองโบราณดงแม่นางเมองนั้นมีสภาพแวดล้อมเป็นป่าโปร่ง มีทุ่งหญ้าดินโป่ง และหนองน้ำ

            ปัจจัยทางวัฒนธรรม คือการรังสรรค์สิ่งต่างให้เกิดขึ้นในบริเวณที่มีการตั้งถิ่นฐาน ประกอบด้วย การวางผังเมือง การจัดการน้ำ เศรษฐกิจ ศาสนาและความเชื่อ การปกครอง

            การวางผังเมือง จากการศึกษาของ ดุษฎี สมบุณยะวิโรจน์ พบว่า การวางผังเมืองสมัยวัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลางส่วนใหญ่มีรูปร่างการวางผังเมืองไม่สม่ำเสมออาจจะมีรูปร่างแบบกลมหรือแบบรี เมืองที่มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอนั้นส่วนมากจะตั้งอยู่ที่ราบลุ่มฝังแม่น้ำและขุดคูเมืองตามสภาพภูมิศาสตร์บังคับ คือการขุดเชื่อมต่อระหว่างคูเมืองกับแม่น้ำที่ตัดผ่านอาศัยแม่น้ำเป็นปราการด้านหนึ่ง  การดัดแปลงพื้นที่เพื่อวางผังเมืองของแหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง คือการขุดคูน้ำรอบเมืองโดยคูเมืองทิศตะวันออกขุดเชื่อมกับคลองคูคด คูน้ำด้านทิศเหนือของเมืองอาศัยลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิงที่เชื่อมต่อกันมาเป็นห้วยขมิ้นและมาบกร่าง รูปแบบการวางผังเมืองของแหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมืองนั้นยังพบได้กับเมืองอื่นๆเช่นเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมืองและเมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองที่มีความสัมพันธ์กันเนื่องจากมีการวางผังเมืองที่คล้ายกัน มีคติการใบใบเสมาปักล้อมรอบโบราณสถาน ฯลฯ

            การจัดการน้ำ การสร้างคูน้ำคันดินเกิดขึ้นหลังจากการตั้งถิ่นฐานเพื่อช่วยในเรื่องการชลประทาน  ป้องกันน้ำท่วม กักเก็บน้ำเพื่อใช้ฤดูแล้ง  จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศในปัจจุบันที่ยังคงมีร่องรอยปรากฏอยู่พบว่า ชาวเมืองนี้รู้จักการผันน้ำธรรมชาติให้เข้ามาหล่อเลี้ยงภายในเมือง คือ ทางทิศเหนือของเมืองอาศัยการผันน้ำจากทางน้ำสาขาของแม่น้ำปิงทำให้เกิดห้อยขมิ้นและมาบกร่าง โดยใช้เส้นทางน้ำของห้วยขมิ้นเป็นทางน้ำธรรมชาติ และมาบกร่างนั้นเกิดจากการขุดคลองที่เชื่อมต่อกับคลองคูคตทางทิศเหนือและทำการขุดสระก่อนที่จะเข้าตัวเมือง สันนิษฐานว่าอาจจะมีหน้าที่ในการกักเก็บน้ำหรือเป็นการชะลอน้ำ และทางทิศตะวันออกของเมืองมีการขุดคลองระบายน้ำให้ออกไปสู่คลองคูคตแล้วไหลไปออกแม่น่าน รูปแบบการจัดการเช่นนี้ยังพบได้ที่เมืองอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

            เศรษฐกิจ แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมืองมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนโบราณอื่นๆ โดยพบหลักฐาน เช่น เครื่องถ้วยเขมรจากแหล่งเตาพนมกุเลน เครื่องถ้วยจีน รวมถึงเครื่องแก้ว ลูกปัดแก้วและลูกปัดหินกึ่งอัญมณีที่บ่งบอกถึงการติดต่อกับเมืองชายฝั่งทะเล การพบสินค้าเหล่านี้บงบอกถึงการติดต่อระหว่างแหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมืองกับชุมชนอื่นๆ โดยการติดอาจมี 2 ลักษณะ คือ กลุ่มเครื่องถ้วยจี ลูกปัด และเครื่องแก้วนั้นอาจเข้ามาจากเมืองชายฝั่งทะเลที่อยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และกลุ่มเครื่องถ้วยเขมรนั้น อาจเข้ามาจากทางลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรีแล้วเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยผ่านเมืองจันเสนและแหล่งโบราณคดีโคกไม้เดนหรืออาจเข้ามาเส้นทางบกทางอื่น หรืออาจเป็นการเข้ามาพร้อมกันจากเมืองท่าเมืองเดียวโดยเมืองท่าดังกล่าวนั้นติดต่อกับเมืองท่าที่อยู่ชายฝั่งทะเลและทำหน้าที่กระจายสินค้าไปยังชุมชนต่างๆ

            ศาสนาและความเชื่อ ชาวเมืองดงแม่นางเมืองคงนับถือศาสนาพุทธ เนื่องมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงการนับถือพุทธศาสนา เช่นโบราณสถาน พระพิมพ์ดินเผา พระพุทธรูป และคติการใช้ใบเสมา จากการสำรวจและขุดแหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมืองพบรูปแบบการสร้างโบราณสถานและเจดีย์  5 รูปแบบ ได้แก่

1.       รูปแปดเหลี่ยม ได้แก่เจดีย์หมายเลข 1 การสร้างเจดีย์แปดเหลี่ยมนี้ยังพบได้ที่เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี

2.       รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ได้แก่เจดีย์หมายเลข 2 ,4 ,6, 13, 14 และโบราณสถานหมายเลข 10  การสร้างเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้ยังได้ที่เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ เมืองโบราณโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์

3.       รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ได้แก่โบราณสถานหมายเลข 3และ 7 การก่อสร้างโบราณสถานรูปแบบนี้ยังพบที่เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี

4.       รูปแบบเจดีย์มีการย่อมุมได้แก่เจดีย์หมายเลข 5

5.       รูปหกเหลี่ยม ได้แก่เจดีย์หมายเลข 9

พระพิมพ์ดินเผาที่พบที่แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง จัดได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

1.       พระพิมพ์พุทธประวัติ ตอนมหาปาฏิหาริย์ ที่แสดงภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งห้อยพระบาท มีบริวารทั้งด้านขวาและซ้าย ตอนบนทำเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิบนดอกบัว 3 องค์ รูปแบบพระพิมพ์นี้พบที่เมืองโบราณนครปฐมและทางภาคใต้ของไทย

2.       พระพิมพ์พุทธคยา แสดงภาพพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ซุ้มล้อมรอบ ด้านข้างแวดล้อมด้วยเจดีย์ขนาดใหญ่-เล็ก ซึ่งเป็นพระพิมพ์ที่ได้รับมาจากพระพิมพ์ซุ้มพุทธคยาที่พบในประเทศอินเดีย ประทับอยู่ภายใต้ซุ้มโค้งต่อเนื่อง โดยส่วนยอดเป็นแบบศิขร เบื้องหลังปรากฏกิ่งก้านต้นไม้ซึ่งหมายถึงต้นโพธิ์และแสดงธรรมจักรมุทราหรือวิตรรกะมุทราทั้งสองพระหัตถ์ พระพิมพ์แบบนี้ยังพบที่เมืองโบราณพงตึก จังหวัดกาญจนบุรี

3.       พระพิมพ์แสดงปางประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ อิริยาบถขัดสมาธิราบบนบัลลังก์เหลี่ยมมีพนักพิง พระหัตถ์วาหงายขึ้นระดับพระอุทร พระดัชนีและพระอังคุฐจีบเป็นวง พระหัตถ์ซ้ายหงายขึ้นวางเหนือพระเพลา ประภามณฑลล้อมรอบพระเศียร ตกแต่งขอบนอกด้วยปลายเปลวเพลิง แวดล้อมพระพุทธองค์ ทั้ง 2 ข้างเป็นเครื่องสูง ได้แก่ จามร 2 คัน บังสูรย์ 2 เล่ม เครื่องสูงไม่ทราบชนิด 2 อัน  และฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียรและยังมีบุคคล 3 คนทำท่านมัสการ พระพิมพ์รูปแบบนี้พบในแถบภาคอิสาน เช่นที่เมืองฟ้าแดดสงยางเป็นต้น

การปกครองและสังคม จากจารึกดงแม่นางเมือง ได้แสดงถึงสังคมที่มีระบบการปกครองแบบมีชั้นวรรณะ ซึ่งอาจมีกษัตริย์ปกครองสูงสุด ดังข้อความที่กล่าวถึง พระเจ้าสนัตต์ ซึ่งอาจจะได้รับอิทธิพลการปกครองมาจากวัฒนธรรมเขมรโดยข้อความที่แสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรที่ปรากฏเด่นชัดคือคำว่า กมรเตงชคต ซึ่งจารึกที่ปรากฏคำนี้ ในจารึกอื่นอีกหลายแห่ง เช่น จารึกปราสาทหินพิมาย 3, 4 จารึกปราสาทหินพนมวัน 3 จารึกปราสาทหินพระวิหาร 2 โดยจารึกมักจะมีเนื้อหาการอุทิศถวายสิ่งของต่างให้แก่ กมรเตง ชคต นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่แสดงแสดงถึงวัฒนธรรมเขมรคือ เครื่องถ้วยเขมรจากแหล่งเตาพนมกุเลนที่กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17  แต่ก็แสดถึงอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรที่เข้ามาถึงแหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมืองก่อนที่จะนำระบบการปกครองเข้ามาจัดการบ้านเมือง

 ทฤษฎีการการตั้งถิ่นฐานของแหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมืองสอดคล้องกับทฤษฎีแหล่งกลาง ที่ในอดีตอาจใช้เมืองโบราณดงแม่นางเมืองนี้เป็นเมืองทางผ่านในการติดต่อค้าขายกับชุมชนอื่นๆ ระหว่างภาคกลางกับภาคเหนือ ซึ่งเมืองโบราณดงแม่นางเมืองนี้ยังมีการเข้าถึงที่ง่ายต่อการติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายกับชุมชนแห่งอื่น เนื่องจากพื้นที่ภายในเมืองและรอบตัวเมืองมีทางน้ำติดต่อกันถึง 7 สายและยังมีเกวียนที่อาจใช้เป็นเส้นทางบกในการติดต่อกับชุมชนแห่งอื่นๆ

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เรื่องดงแม่นางเมือง เป็นตำนานหรือนิทานปรัมปรา อธิบายถึงความเป็นมาของชื่อตำบล ดงแม่นางเมือง ซึ่งอยู่ในอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เมือง “ ดงแม่นางเมือง ” หรือ “ เมืองธานยบุรี ” นี้ เป็นเมืองที่เคยเจริญรุ่งเรือง ในอดีตเป็นเวลา 2,000 ปี นิทานเรื่องนี้ เป็นนิทานประเภทปรัมปรา สถานที่ที่อ้างถึง ในนิยายนั้น ในปัจจุบันยังมีอยู่ มีเรื่องเล่าดังนี้

เมืองดงแม่นางเมือง แต่ก่อนนี้มีเจ้าผู้ครองนครเป็นหญิง ทรงพระสิริโฉมมาก นามว่า “แม่ศรีเมือง” ความสิริโฉมงดงาม เป็นที่เลื่องลือระบือไปทั่วแคว้นแดนไกลนี่เอง จึงเป็นเหตุให้ เจ้าชายต่างเมืองทั้งหลาย เกิดใฝ่ฝันมีใจปฎิพัทธ์ จึงส่งเครื่องบรรณาการมาสู่ขอเจ้าหญิง ก็เป็นเหตุบังเอิญ ที่มาพร้อมกันสามเมือง คือ เจ้าเมืองกำแพงเพชร เจ้าเมืองพิจิตร และเจ้าชายอีกเมืองหนึ่งไม่ทราบชื่อ เมื่อเป็นเหตุบังเอิญเช่นนี้ ทางฝ่ายแม่ศรีเมือง ก็ทรงรับเครื่องบรรณาการทั้ง  3 เมืองไว้เพื่อไม่ให้เสียใจ และกระทบกระเทือนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะเป็นชนวนก่อให้เกิดความบาดหมางขึ้นได้ เจ้าหญิงคิดหาทางออก เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย เสนอว่า ให้มีการสร้างถนนเข้าเมืองของเจ้าหญิง ไปบรรจบกับเมืองของเจ้าชายแต่ละพระองค์ หากใครสร้างเสร็จก่อน เจ้าหญิงก็จะทรงอภิเษกสมรส เพราะความปฏิพัทธ์ลุ่มหลงในตัวเจ้าหญิง เจ้าชายทั้งสามพระองค์ ก็ตกลงตามข้อเสนอทันที แล้วก็เริ่มลงมือสร้างถนน โดยเจ้าชายเมืองกำแพงเพชร เริ่มสร้างถนนที่หัวบึงเฒ่า ในปัจจุบันนี้เรียกกันว่า “บ้านบึงเฒ่า” อยู่ในเขตหมู่ที่ 4 ตำบลด่านช้าง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของดงแม่นางเมือง ส่วนเจ้าชายพิจิตร ตั้งค่ายสร้างถนนอยู่บ้านวงฆ้อง ใกล้เขาดินหนองหญ้าปล้อง ปัจจุบันคือ “บ้านวงฆ้อง”หมู่ที่ 2 ตำบลด่านช้าง เขาดิน ยังเป็นเนินดินอยู่ทางทิศเหนือ ของดงแม่นางเมือง ส่วนเจ้าชายอีกพระองค์หนึ่ง ได้ทรงเริ่มต้นสร้างถนนที่ บ้านทุ่งท่าเสา ปัจจุบันคือ "บ้านทุ่งท่าเสา" หมู่ที่ 4 ตำบลด่านช้าง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของดงแม่นางเมือง แต่ทรงสร้างภายหลัง เจ้าเมืองสององค์นั้น ขณะสร้างอยู่นั้น ทรงเห็นว่าต้องแพ้เขาแน่นอน จึงเกิดเสียพระทัย เลยเทขนมนมเนย และขันหมาก ที่เคยเตรียมเอาไว้ เกลื่อนอยู่ในบริเวณนั้น จนได้ชื่อว่า “ทุ่งขนมหก” ปัจจุบันอยู่ที่หมู่ที่ 4 ตำบลด่านช้าง ติดต่อกับอำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อเทขนมทิ้งแล้ว ก็หาได้รื้อถอนค่าย กลับไปแต่อย่างใดไม่ คงให้ตั้งค่ายคุมเชิงอยู่ ปล่อยให้เจ้าชายทั้งสองพระองค์แข่งขันกันต่อไป

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ศุภรัตน์ ตี่คะกุล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กมลพร กีรติยะอังกูร. “การศึกษาปัจจัยในการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณดงแม่นางเมือง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.

พิมพ์ชนก พงษ์เกษตร์กรรม์. “พัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองโบราณดงแม่นางเมือง อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.

มานิต วัลลิโภดม.  “บันทึกข้อความรายงานการไปสำรวจโบราณวัตถุสถานที่ดงแม่นางเมือง อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ของนายมานิต วิลลิโภดม พ.ศ. 2499.” และ “รายงานการขุดค้น ขุดแต่งและสำรวจที่ดงแม่นางเมือง ต.บางตาหงาย อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ พ.ศ.2510” คัดลอกเอกสารโดย นายพิชัย, จาก นครสวรรค์ : รัฐกึ่งกลาง รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์. นครสวรรค์ : วิทยาลัยครูนครสวรรค์, 2528.

ศิวพร ธีรสรเดช.  “การกำหนดอายุและจัดลำดับชั้นวัฒนธรรมของแหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี)  คณณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี. รายงานการศึกษาทางด้านโบราณคดีแหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง (DMN'09:M.1) ตำบลเจริญผล อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ (กรณีศึกษาเฉพาะเนินดินนอกเมืองโบราณดงแม่นางเมือง ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้). ลพบุรี : สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี, 2552.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี