โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดพรหมทินใต้
ที่ตั้ง : วัดพรหมทินใต้ ม.11 ต.หลุมข้าว อ.โคกสำโรง
ตำบล : หลุมข้าว
อำเภอ : โคกสำโรง
จังหวัด : ลพบุรี
พิกัด DD : 14.99296 N, 100.6189 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ลพบุรี
เขตลุ่มน้ำรอง : แหลมโพธิ์ทอง
การเดินทางใช้เส้นทางเริ่มจากตัวเมืองลพบุรี ถนนพหลโยธินสายลพบุรี-โคกสำโรง จะผ่านบ้านสระพานนาคและบ้านสระพานจันทร์ เมื่อใกล้ถึงจะเห็นภูเขาเตี้ยๆ ชื่อว่า เขาทับควาย เป็นภูเขาที่มีตำนานเกี่ยวกับเมืองลพบุรี และซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางไปบ้านพรหมทินใต้ เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร จะถึงวัดพรหมทินใต้
แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ตั้งอยู่ภายในวัดพรหมทินใต้ หมู่ที่ 11 ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมการขุดค้นและศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ สามารถเยี่ยมชมได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ และหากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อ คุณสุวรรณ์ ตรีทศ โทร.081-2547586 หรือผู้ใหญ่ สมควร แย้มชุมพร โทร.087-1178579 หรือ รศ.ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธิ์ ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
วัดพรหมทินใต้, บ้านพรหมทินใต้, องค์การบริหารส่วนตำบลหลุมข้าว
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดพรหมทินเป็นโบราณสถานของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 906 วันที่ 22 สิงหาคม 2479
สภาพโดยทั่วไปเป็นของบ้านพรหมทินใต้เป็นที่ราบสลับกับภูเขา ทางทิศตะวันออกและทิศใต้มีป่าโปร่ง สภาพพื้นที่ลาดต่ำไปทางทิศตะวันตกและทิศใต้ โบราณสถานของวัดพรหมทินใต้มีสภาพเป็นเนินดิน ที่ถูกสร้างทับลงบนตัวโบราณสถานเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เมืองพรหมทินใต้แผนที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีลำน้ำโพนทองไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออก เนินดินมีการปลูกทำไร่พริกและปรับเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ปัจจุบันยังคงเหลือแนวอิฐทางใต้ และคูเมืองเดิมบ้างทางทิศตะวันออก และมีพระอุโบสถตั้งอยู่ด้านบนเนินดิน มีฐานอิฐล้อมรอบตัวโบสถ์ ด้านหลังมีเจดีย์สามองค์แต่ปัจจุบันเหลือเพียงเฉพาะฐานของเจดีย์เท่านั้น และนอกจากนี้ยังมีใบเสมาที่มีสภาพสมบูรณ์ประมาณ 5 ใบที่สามารถยังมองเห็นลวดรายได้อย่างชัดเจน และภายในพระอุโบสถก็มีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านนิยมมาสักการบูชาอยู่เสมอ
แม่น้ำลพบุรี
ลักษณะทางธรณีสัณฐานบริเวณบ้านพรหมทินใต้เป็นประเภทลานตะพักลำน้ำกลางเก่ากลางใหม่ ซึ่งมีอายุเก่าแก่ไปกว่าที่ราบน้ำท่วมถึง ส่วนใหญ่พบบริเวณติดต่อกับที่ราบน้ำท่วมถึงมีพื้นที่สูงกว่าและไกลออกไปจากแม่น้ำที่ไหลเอ่อจากแม่น้ำในปัจจุบันจะไปไม่ถึง บริเวณนี้อาจเป็นลานตะพักที่อาจเกิดจากระดับน้ำทะเลที่เคยครอบคลุมบริเวณนี้เดิมลดลง ทำให้แม่น้ำมีการกัดเซาะลงไปในแนวดิ่งมากขึ้นและสร้างที่ราบน้ำท่วมอันใหม่ขึ้นมา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 10-20 เมตรและมีความลาดเทน้อยกว่า 1% มีทรัพยากรดินจัดอยู่ในดินชุดลพบุรีเป็นดินที่มีหน้าดินลึกมาก มีระบบการระบายน้ำค่อนข้างเลว ดินเป็นดินสีเทาถึงเทาเข้ม การไหลบ่าของน้ำบนหน้าดินช้า ปฏิกิริยาของดินเป็นกรดปานกลางจนถึงเป็นกลาง
ทรัพยากรดินจัดอยู่ในชุดดินลพบุรี จัดเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มดิน Grumusols มีวัตถุต้นกำเนิดดินมาจากการย่อยสลายของหินมาร์ล ซึ่งเกิดจากหินปูน มีแร่ประกอบพวกแร่ Monorillonite เป็นแร่ดินเหนียวที่มีสีเข้ม ซึ่งมีลักษณะยืดหดตัวในฤดูแล้ง และขยายตัวมากในฤดูฝน จากลักษณะการขยายตัวและหดตัวตามสภาพภูมิอากาศจึงทำให้เกิดรอยแตกแยก หรือ Soil Crack ดินมีการระบายน้ำเลว จากลักษณะทางกายภาพทำให้ลำบากต่อการไถพรวนและการที่สภาพดินมีรอยแตกอาจทำให้วัตถุหรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่ชั้นทับถมด้านบน ตกลงไปด้านล่างได้
2.กลุ่มดิน Rendzinas มีลักษณะคล้ายกับดินกลุ่ม Grumusols เกิดจากการสลายตัวของหินมาร์ล หรือหินปูนที่ดินมีสีดำจัด ร่วนเหนียวมีค่า pH สูง เกิดเกี่ยวข้องกับดิน Grumusols ที่อยู่สูงกว่า มีความอุดมสมบูรณ์
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจเมืองโบราณในเขตจังหวัดลพบุรี และได้พบเมืองโบราณหลายแห่ง เช่น เมืองโบราณซับจำปา เมืองโบราณดงมะรุม รวมถึงเมืองโบราณพรหมทินใต้ จากการสำรวจพบลักษณะเมืองโบราณ แต่ไม่ปรากฏคูน้ำคันดินให้เห็นชัดเจน ภายในเมืองพบสระน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ 2 แห่ง นอกจากนี้ ยังพบโบราณสถานแห่งหนึ่งอยู่ห่างจากวัดพรหมทินใต้ไปทางทิศเหนือประมาณ 150 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถเก่าที่ผนังและหลังคาพังทลายลงแล้วเหลือเพียงพื้นที่ปูอิฐ จากการสำรวจพบหลักฐานประเภทเศษภาชนะดินเผา ซึ่งมีทั้งเครื่องถ้วยจีนราวราชวงศ์หมิงตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ 21-22) ภาชนะดินเผาแบบไหขอม เครื่องเคลือบจากเตาศรีสัชนาลัย และภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาจนถึงเนื้อแกร่งที่ไม่มีการตกแต่งมากนัก สันนิษฐานว่าผลิตเพื่อใช้ในชุมชน โบราณวัตถุที่สำคัญที่พบ ได้แก่ หม้อดินเผาซึ่งมีเหรียญเงินแบบต่างๆ สมัยทวารวดีบรรจุอยู่จำนวน 65 เหรียญบางเหรียญมีตัวอักษรจารึก โบราณวัตถุที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้ คือ จารึกจำนวน 3 ชั้น คือ (1) จารึกเมืองพรหมทิน 1 เป็นการจารึกที่แท่งหินปูนขาว ภาษาบาลี อักษรปัลลวะ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 1-12เนื้อหาจารึกเป็นคาถา เย ธัมมา (2)จารึกเมืองพรหมทินหรือจารึกพุทธอุทานบ้านพรหมทิน จารึกบนหินดินดานรูปสี่เหลี่ยม ภาษาบาลี อักษรปัลลวะ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 (3)จารึกเหรียญเงินเมืองพรหมทิน3 จารึกบนเหรียญกลม ด้านหนึ่งรูปหอยสังข์ อีกด้านหนึ่งเป็นรูปเท้าสิงห์ลอยอยู่เหนือเส้นโค้งคล้ายเรือ ด้านใต้มีอักษรที่เขียนกลับด้าน สันนิษฐานว่าเหรียญเงินนี้น่าจะเป็นแม่พิมพ์หรือตราประทับ จากหลักฐานที่พบในการสำรวจสันนิษฐานว่าเมืองพรหมทินน่าจะอยู่ในช่วงสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 11-15 และปรากฏหลักฐานที่อยู่ต่อเนื่องมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18 โดยการพบหลักฐานเช่น ไหขมเป็นไหเคลือบสีน้ำตาล และต่อเนื่องมาถึงสมัยอยุธยา โดยการพบเครื่องถ้วยจีนในสมัยราชวงศ์หมิงชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
การขุดแต่งโบราณสถานในวัดพรหมทินใต้ บริเวณเนินดินเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวตามแนวทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก หันหน้าไปทิศตะวันออกสันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถเดิม มีใบเสมาหินทรายปักไว้กับดินโดยรอบ ตัวเนินมีความยาว 22 เมตร กว้าง 20 เมตร จากการขุดแต่งพบว่า โบราณสถาน มีส่วนรากฐานก่อลึกลงไปจากพื้นดินประมาณ 10 เซนติเมตรก่ออิฐสอดินบางๆ พื้นอุโบสถเป็นดินอัดแน่นปูด้วยแผ่นอิฐ ส่วนบนคงเป็นไม้มุงกระเบื้อง อุโบสถจัดอยู่ในสมัยอยุธยา แต่เนื่องจากด้านหลังพบอิฐสมัยทวารวดี สันนิษฐานว่าอุโบสถนี้น่าจะก่อสร้างทับบนโบราณสถานสมัยทวารวดี นอกจากนี้ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีเช่น ร่องรอยคูน้ำคันดิน จารึก เหรียญเงิน โครงกระดูก เครื่องประดับสำริด ลูกปัด เครื่องเคลือบ เศษภาชนะดินเผา เศษขี้แร่ เศษเบ้าหลอมโลหะ แสดงให้เห็นว่าแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ น่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ใช้เครื่องมือโลหะแล้ว และอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 22ชื่อผู้ศึกษา : คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
การปฏิบัติงานได้แบ่งการขุดค้นเป็น 4 หลุม พบโบราณวัตถุประเภทภาชนะดินเผา ลูกปัด โดยส่วนมากเป็นรูปแบบสมัยทวารวดี เปลือกหอย กระดูกสัตว์ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมทั้งพบกระดูกปลาจำนวนมาก บ่งบอกถึงอาหารการกินและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติของชุมชนบ้านพรหมทินใต้ชื่อผู้ศึกษา : สว่าง เลิศฤทธิ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547
วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาการปลงศพ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ผศ.ดร.สว่าง เลิศฤทธิ์ ขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 4 โครง โดยหลุมฝังศพหมายเลข1 พบโครงกระดูกมนุษย์ส่วนขาและเท้า ฝังร่วมกับกลุ่มภาชนะดินเผาและกระดูกสุนัข หลุมฝังศพหมายเลข 2 พบกระดูกมนุษย์สวมกำไลสำริดที่ข้อมือทั้งสองข้าง หลุมฝังศพหมายเลข 3 พบเฉพาะส่วนกระดูกเท้าเพียงข้างเดียว หลุมศพหมายเลข4 พบโครงกระดูกมนุษย์ตั้งแต่ส่วนเชิงกรานลงมา สวมอหวนสำริดที่นิ้วหัวแม่เท้า สวมกำไลสำริดและสร้อยลูกปัดแก้วสีฟ้าที่ข้อมือทั้งสองข้าง สวมแหวนสำริดที่นิ้วมือข้างขวาและกำไลเหล็กที่ข้อมือข้างซ้ายและยังพบแวดินเผาร่วมด้วยชื่อผู้ศึกษา : ฤต นากชื่น
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548
วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
การศึกษาเศษปากภาชนะดินเผาที่ได้จากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้สามารถจำแนกเป็นรูปแบบปากภาชนะดินเผาได้ 20 แบบใหญ่ กับ 17 แบบย่อย แบ่งเป็นแบบปากโค้งออก 11 แบบใหญ่ 15 แบบย่อย ปากตั้งตรง 3 ใหญ่ 1 แบบย่อย และปากโค้งเข้า 5 แบบใหญ่ รูปแบบจากขอบปากที่พบนั้น สามารถแบ่งประเภทที่เทียบเคียงกับภาชนะปัจจุบันได้เป็น 4 ประเภท คือ หม้อ พานหรือจานมีเชิง ชามและถ้วย ภาชนะแต่ประเภทมีหน้าที่แตกต่างกัน ดูจากรูปทรงและลักษณะของขอบปาก จากการศึกษาพบว่ามีขอบปากภาชนะหลายขนาดทั้งในแบบที่มีความหนาสูงเพื่อประโยชน์ในการจับถือภาชนะ และขอบปากภาชนะที่มีความบางพร้อมทั้งมีขนาดเล็ก ซึ่งคงใช้เก็บสิ่งของขนาดเล็ก รูปแบบภาชนะที่พบมากที่สุด เป็นภาชนะที่ขอบปากปลายขอบปากโค้งมน และปากมีระนาบเรียบ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาชนะเต็มใบที่พบในแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงแล้วพบว่าเป็นภาชนะประเภทหม้อ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นภาชนะที่ได้รับความนิยมสูงในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ การพบรูปแบบของขอบปากภาชนะดินเผาที่หลากหลาย แสดงให้เห็นว่า แหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีเทคนิคและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนโบราณอื่นๆจึงมีการรับส่งเทคโนโลยีต่อกันได้ชื่อผู้ศึกษา : ภูวดี สมบูรณ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547
วิธีศึกษา : ศึกษาการปลงศพ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ผลการศึกษาลักษณะการฝังศพและรูปแบบพิธีกรรมฝังศพที่แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้จำนวน 4 หลุม พบว่าหลุมฝังศพหมายเลข 4 มีที่ฝังอยู่ใต้หลุมฝังศพหมายเลข 1 อาจสรุปได้ว่าหลุมฝังศพหมายเลขที่ 4 มีอายุมากกว่าหมายเลข 1 ในขณะที่ หลุมฝังศพหมายเลข 2 และหมายเลข 3 ไม่พบการฝังศพซ้อนกันจึงไม่สามารถหาอายุเชิงเทียบด้วยกฎของการทับถมตามลำดับชั้นได้ และในการเปรียบเทียบหาความเหมือนและความต่างสำหรับการนำไปหาอายุเชิงเปรียบเทียบ พบว่ามีองค์ประกอบย่อยหรือคุณลักษณะย่อยที่สามารถนำมาหาอายุเชิงเทียบได้คือ 1. การจัดวางศพ พบว่า ทุกหลุมฝังศพแสดงประเพณีการจัดศพให้อยู่ในท่านอนหงายเหยียดยาว 2. การหันศีรษะศพ พบว่าที่ฝังศพทั้งหมดแสดงประเพณีการหันศีรษะศพ 2 แบบ คือ หันศีรษะไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แบบที่ 2 หันศีรษะศพไปทิศตะวันอออก 3. วัตถุที่ฝังร่วมกับศพ พบว่าหลุมฝังศพทั้งหมดมีวัตถุฝังร่วมแตกต่างกันออกไป โดยสรุปผลการศึกษาเบื้องต้น ดังนี้ ประเพณีการฝังศพที่บ้านพรหมทินใต้ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1)การปลงศพแบบที่ 1 เป็นการจัดศพให้อยู่ในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทิศตะวันออก พบสิ่งของอุทิศให้กับศพคือ กำไลสำริดจำนวนมากสวมที่แขนทั้งสองข้าง ซึ่งจัดเป็นเครื่องประดับเพียงอย่างเดียวที่พบในโครงกระดูหมายเลข 2 และยังพบว่า มีการวางภาชนะดินเผาเต็มใบขนาดเล็กทรงกระปุกไว้ใต้คอของศพ และมีการปูรองศพด้วยเศษภาชนะดินเผา จากลักษณะของจำนวนและประเภทสิ่งของมีจำนวนน้อยและเรียบง่ายจึงสันนิษฐานว่าเป็นหลุมฝังศพของกลุ่มคนในชนชั้นสามัญ 2)การปลงศพแบบที่ 2 เป็นการฝังศพโดยจัดให้ศพอยู่ในลักษณะนอนหงายเหยียดยาวหันศีรษะไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีการฝังภาชนะดินเผาจำนวนมากไว้ร่วมกับศพ โดยวางไว้บริเวณรอบๆโครงกระดูก ซึ่งภาชนะดินเผาเหล่านี้ถูกทุบให้แตกเสียหายก่อนนำลงไปฝังพร้อมกับศพ รูปแบบภาชนะที่พบก็คล้ายคลึงกับแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงในบริเวณจังหวัดลพบุรี เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว แหล่งโบราณคดีซับจำปา ได้แก่ภาชนะทรงพานและภาชนะทรงหม้อก้นกลม แสดงถึงลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นโดยการติดต่อกันของพื้นที่ และการติดต่อกันระหว่างชุมชนในด้านต่างๆ หรืออาจจะเป็นกลุ่มชนในวัฒนธรรมเดียวกันมาก่อน ต่อมาได้แยกมาตั้งถิ่นฐานและคิดค้นรูปแบบทางวัฒนธรรมอื่นๆ ขึ้นมาเป็นของต้นเองภายในชุมชน แต่ยังไม่ทิ้งวัฒนธรรมร่วมนั้นไปชื่อผู้ศึกษา : ศิริวรรณ ทองขำ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องประดับ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
จากการศึกษารูปแบบลูกปัดหินยุคก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้จำนวน 80 ลูก พบว่ามีรูปแบบ ขนาดและวัสดุที่หลากหลาย โดยจัดรูปแบบลูกปัดได้ 15 รูปแบบ พบว่า รูปแบบทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าได้รับความนิยมมากสุด รองลงมาคือ รูปแบบทรงกระบอก ทรงถังเบียร์ ทรงสามเหลี่ยม ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทรงกรวยหกเหลี่ยมฐานประกบคู่ ทรงสี่เหลี่ยมแบบแผ่น ทรงรูปสัตว์ ทรงรูปไข่ ทรงกลมแบน ทรงกรวยสี่เหลี่ยมฐานประกบคู่และทรงห้าเหลี่ยม ตามลำดับ จากการศึกษาพบว่า คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านพรหมทินใต้มีการใช้ลุกปัดที่หลากหลาย แต่โดยส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับหินตระกูลหยกและเป็นลูกปัดขนาดกลางมากกว่า การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบลูกปัดที่พบในแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้กับแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว แหล่งโบราณคดีซับจำปา แหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคลแหล่งโบราณคดีบ้านเนินอุโลก พบว่า ลูกปัดในแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้มีรูปแบบและวัสดุเหมือนกับแหล่งโบราณคดีที่อยู่ใกล้เคียงรวมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคใต้ด้วยซึ่งคงมีการติดต่อกัน วัสดุที่ใช้ทำลูกปัดมี 5 ชนิด ได้แก่ หินคาร์เนเลี่ยน หินโมรา หินควอทซ์ หินคาลซิโดนี และหินตระกูลหยก โดยวัสดุเหล่านี้ไม่พบในท้องถิ่น ดังนั้นลูกปัดหินที่พบจึงเป็นสิ่งของที่ได้มาจากการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นๆ โดยเฉพาะหินตระกูลหยก อาจจะได้มาจากพม่าหรือจากไต้หวัน สภาพภูมิศาสตร์ของแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทิน เอื้ออำนวยต่อการติดต่อกับชุมชนอื่นๆ โดยใช้คลองโพธิ์ทอง เป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญ เหตุนี้จึงทำให้การรับและแลกเปลี่ยนสิ่งของหรือวัฒนธรรมบางอย่างเข้าสู่ชุมชนและลูกปัดก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงการติดต่อกับชุมชนอื่นได้เป็นอย่างดีชื่อผู้ศึกษา : ณิชชา สุธรรมาวิวัฒน์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาเครื่องมือหิน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
การใช้งานขวานหินขัดในแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ทั้งที่พบร่วมกับหลุมฝังศพและบริเวณอื่นๆ โดยการเปรียบเทียบกับผลการศึกษาที่มีผู้เคยศึกษาไว้แล้ว ทำให้มองเห็นวิถีชีวิตและความเชื่อของมนุษย์ในอดีตที่เคยอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ ในด้านรูปแบบของขวานหินขัด พบว่าเป็นรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน สามารถพบได้ทั่วไป ในแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยในภาคกลาง ขวานหินขัดเหล่านี้จึงน่าจะผลิตขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่าเป็นสินค้าหรือใช้ในพิธีกรรมเฉพาะ วัสดุที่นำมาผลิต เป็นวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบแหล่งผลิตก็ตาม ขนาดของขวานหินขัด มีขนาดค่อนข้างเล็กกว่าแหล่งโบราณคดีอื่นๆ เป็นไปได้ว่าขวานหินขัดเหล่านี้มีขนาดเล็กเนื่องจากใช้มาเป็นระยะเวลานาน เมื่อสึกหรือหมดคมจึงลับให้คมแล้วนำมาใช้ใหม่เรื่อยๆ จนมีขนาดเล็กลง หรือเป็นขวานหินขัดที่ผลิตมีขนาดเล็กตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต สำหรับขวานหินขัดที่พบร่วมกับการฝังศพ ทั้งในด้านรูปแบบ ขนาด และชนิดของหินที่ผลิต ไม่ได้แสดงถึงความแตกต่างจากขวานหินขัดที่ไม่ได้พบร่วมกับการฝังศพ นอกจากนี้ยังพบว่า ขวานหินขัดที่พบร่วมกับการฝังศพเหล่านี้ มีร่องรอยการใช้งาน จึงอาจจะสรุปได้ว่า ขวานหินขัดที่พบร่วมกับการฝังศพ เป็นของอุทิศให้กับศพนั้น ไม่ได้มีการผลิตขึ้นมาเพื่ออุทิศกับศพนั้นเป็นการเฉพาะ แต่อาจจะเป็นขวานหินขัดที่ผู้ตายเคยใช้มาก่อนในขณะที่มีชีวิตอยู่ เมื่อตายจึงนำขวานหินขัดและสมบัติอื่นๆ เช่นลูกปัด กำไลเป็นต้นฝังไปพร้อมกับการฝังศพ ร่องรอยของการใช้งานขวานหินขัด พบว่าร่องรอยส่วนมากบ่งชี้ว่า ขวานหินขัดนี้ถูกใช้งานกับไม้ ไม้ไผ่ และกระดูก เมื่อพิจารณาจากขนาดของขวานหินขัด น่าจะใช้กับงานที่ออกแรงน้อยหรืองานที่ต้องการความละเอียดมากกว่าเช่นการเหลาไม้ เป็นต้นชื่อผู้ศึกษา : ธนิก เลิศชาญฤทธิ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556
วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
รศ.ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธิ์ ศึกษาประวัติการตั้งถิ่นฐานที่แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้พบว่ามีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงประมาณ 3.000 ปีมาแล้ว จนรับอารยธรรมอินเดียจึงเริ่มเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ การขุดค้นที่เมืองร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ เช่นเมืองเสมา จังหวัดนครราชสีมา เมืองศรีเทพ เมืองซับจำปา พบหลักฐานที่มีอายุอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงสมัยทวารวดี เมื่อพิจารณาจากภาพรวมทั้งหมดพบว่า แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมและมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์อาทิ แร่ทองแดงจากเขาวงพระจันทร์ ซึ่งอยู่ออกไปประมาณ 12 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางทางศาสนาพุทธในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินมีการติดต่อกับชุมชนทางทิศเหนือเช่น เมืองโบราณจันเสน แหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล แหล่งโบราณคดีไพสาลี จังหวัดนครสวรรค์ แหล่งโบราณคดีภูน้อย จังหวัดลพบุรี ส่วนทางด้านตะวันออกของแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่สูงกำหนดอายุในช่วงสำริดและยุคเหล็ก เช่น แหล่งโบราณคดีเนินมะกอก หนองแดง บ้านโป่งมะนาวและแหล่งโบราณคดีซับตะเคียนเป็นต้น จนถึงสมัยทวารวดี เช่น เมืองซับจำปา เป็นต้น ส่วนทางทิศตะวันตกมีการติดต่อกับชุมชนโบราณในเขตลพบุรี เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค แหล่งโบราณคดีบ้านวังไผ่ และเมืองลพบุรีโบราณ นอกจากนี้ทางด้านทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยกับแหลงโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้อาทิ เมืองอู่ตะเภา จังหวัดชัยนาท แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี แหล่งโบราณคดีอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี แหล่งโบราณคดบ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี มีการติดต่อกับแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ แสดงให้เห็นว่า แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่ช่วยให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงยุคแรกเริ่มสมัยประวัติศาสตร์ในประเทศไทยรวมถึงที่อื่นๆในเอเชียตะวันออกตะวันออกเฉียงใต้จากการสำรวจและการขุดค้นอย่างเป็นระบบในแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ รวมทั้งการตรวจสอบโบราณวัตถุ เช่น เหรียญทวารวดี จารึก ที่มีชาวบ้านนำมามอบให้ และจากการศึกษาชั้นดิน พอสรุปได้ว่ามี 3 สมัยดังนี้
สมัยที่ 1 เป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ซึ่งรวมถึงยุคสำริดตอนปลายและยุคเหล็ก หลักฐานที่พบได้แก่โครงกระดูกมนุษย์ สิ่งที่พบร่วมกับโครงกระดูก เช่น ภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ (เกือบทั้งหมดมีการตกแต่งผิวด้วยการขัดมัน) เครื่องมือเหล็ก กำไรสำริด ลูกปัด แวดินเผา เป็นต้น หลักฐานเหล่านี้พบอยู่ในชั้นดินล่างสุดเท่าที่มีการขุดค้นในขณะนั้น จากการกำหนดอายุเคลือบฟันสุนัขซึ่งพบรวมกับโครงกระดูกมนุษย์อยู่ระหว่าง 2,500-3,000 ปีมาแล้ว
สมัยที่ 2 เป็นช่วงที่มีการใช้พื้นที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุด ชั้นดินหนาเฉลี่ยประมาณ 100 เซนติเมตร เป็นชั้นที่วางตัวอยู่ถัดขึ้นมาจากชั้นดินก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลาย หลักฐานที่พบจากการขุดค้นมีหลากหลายเช่น ภาชนะดินเผาแบบต่างๆ โดยเฉพาะภาชนะแบบมีสัน ลูกปัดแก้ว เบี้ยดินเผา ชิ้นส่วนพวยกา หินดุ ฯลฯ (ราวพุทธศตวรรษที่ 11-13) นอกจากนี้ยังมีการค้นพบเหรียญตามแบบทวารวดี และจารึกภาษาบาลี กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12
สมัยที่ 3 หลักฐานที่พบได้แก่ ซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ (อุโบสถและเจดีย์) เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่ง เครื่องถ้วยสังคโลก เครื่องถ้วยจีนและเครื่องเคลือบสีน้ำตาลแบบสุโขทัย เป็นต้น สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-22
เมืองโบราณบ้านพรหมทินใต้ ถูกสร้างซ้อนทับลงบนเมืองสมัยโบราณสมัยทวาราวดี เมืองพรหมทินใต้ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ตัวโบราณสถานอยู่ตรงกลาง มีลำน้ำโพนทองไหลผ่านทางทิศตะวันออก เนินดินปลูกไร่พริกและไถปรับทำการเกษตร ปัจจุบันคงเหลือร่องรอยแนวอิฐทางทิศใต้ เเละคูเมืองเดิมบ้างทางทิศตะวันออก
ราษฎรที่บ้านพรหมทินใต้ ส่วนใหญ่มีเชื้อสายลาว ซึ่งอพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้ามาตั้งถิ่นฐานประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว ต่อมาได้สร้างวัดและโบสถ์ทับลงไปบนซากโบราณเดิม ภายหลังถูกไฟไหม้จนหมดจึงได้สร้างอาคารไม้สังกะสีขึ้นแทน
ในปี พ.ศ. 2543 หน่วยศิลปากรที่ 1 ลพบุรี ได้ทำการขุดแต่งตัวเนินดิน พบว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นพระอุโบสถ์ในสมัยอยุธยา ซึ่งสร้างทับลงไปบนโบราณสถานสมัยทวารวดี ด้านหลังพระอุโบสถพบแนวอิฐและฐานพระสถูปสมัยทวารวดี ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าพระเจดีย์รายอีก 3 องค์ ซึ่งสร้างในสมัยอยุธยาและใต้ฐานพบฐานเสมาเดิม 5 ฐาน ใบเสมา พระพุทธรูปหินทราย ภาชนะดินเผา กระปุก ขวด แจกันเคลือบสีน้ำตาล เศษกระเบื้องกาบกล้วย กระปุกสังคโลก บ้านพรหมทินใต้ จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาพัฒนาเป็นชุมชนเมืองสมัยประวัติศาสตร์ที่มีการสร้างคูน้ำคันดินล้อมรอบ รับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 ได้พบจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลีและสันสกฤต เหรียญเงิน ลูกปัด เป็นต้น และนอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณด้านหลังโบราณสถานแห่งนี้และพบหลักฐานต่างๆ เช่น เศษภาชนะดินเผา แหวน ลูกปัด กำไล หยก และกระดูกสัตว์ที่ฝังไปกับศพ
ชนัญญา นวลอุไร. “การศึกษาเพื่อเสนอการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
ณิชชา สุธรรมาวิวัฒน์. “การวิเคราะห์การใช้งานเครื่องมือหินขัดจากหลุมขุดค้น S3 แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.
ธนพร ตันเล่ง. “การศึกษารูปแบบลูกปัดแก้วจากแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
นฤมล จุลเจริญ. “การศึกษารูปแบบภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
นลินธร บุษราคัม. “การวิเคราะห์เปลือกหอยที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.
นุชจรี ผ่องใสศรี. “การศึกษากำไลสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมหินใต้ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.
บชพรรณ คุณะศรี. “การวิเคราะห์รูปแบบภาชนะดินเผาแบบมีสันสมัยทวารวดีที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
ภาณุพงศ์ พนมวัน. “การวิเคราะห์องค์ประกอบหลักและการวิเคราะห์กลุ่มสำหรับองค์ประกอบทางเคมีของลูกปัดแก้วที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีพรหมทินใต้ ลพบุรี.” วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สถิติประยุกต์) ภาควิชาสถิติ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
ภูวดี สมบูรณ์. “การศึกษารูปแบบพิธีกรรมการฝังศพที่แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
ฤต นากชื่น. “การศึกษาเศษปากภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548.
วีระชาติ พงค์ชนะ. “การศึกษาการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านพรหมทินใต้ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
ศิริวรรณ ทองขำ. “การศึกษารูปแบบลูกปัดหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.
อภิรัฐ เจะเหล่า. “การศึกษาภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี โดยวิธีศิลาวรรณนา.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548.
Lertcharnrit, Thanik. “Phromathin Tai: An Archaeological Perspective on its Societal Transition.” in Before Siam Essays in Art and Archaeology. Bangkok : River Books, c2014.