โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ม.5 บ้านหนองเปล้า ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ
ตำบล : หนองราชวัตร
อำเภอ : หนองหญ้าไซ
จังหวัด : สุพรรณบุรี
พิกัด DD : 14.737077 N, 99.927185 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : กระเสียว
แหล่งโบราณคดีแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรีราว 57 กิโลเมตร การเดินจากตัวจังหวัดใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 321 (ถนนมาลัยแมน) ไปจนถึงสามแยกอู่ยา มุ่งตรงไปตามถนนสาย 322 (อู่ยา-ดอนเจดีย์) ระยะทางราว 30 กิโลเมตรจนถึงตัวอำเภอดอนเจดีย์ เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกไฟแดง ตรงไปตามเส้นทางสายดอนเจดีย์ – สระกระโจม ราว 2 กิโลเมตร เมื่อข้ามคลองชลประทานแล้วตรงไปอีกประมาณ 200 เมตร เลี้ยวขวาไปตามถนนลาดยางเส้นเล็กๆ ที่เข้าสู่บ้านทะเลบก เมื่อถึงสี่แยกบ้านทะเลบกแล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางสู่อำเภอหนองหญ้าไซ ก่อนถึงตัวอำเภอหนองหญ้าไซราว 5 กิโลเมตร บริเวณบ้านหนองตาเถาทางขวามือมีถนนลาดยางเลียบรั้วโรงเรียนบ้านหนองตาเถาเข้าสู่ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหนองราชวัตร ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรตั้งอยู่ด้านหลังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล โดยห่างไปอีกราว 500 เมตร
มีการจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดีและป้ายนิทรรศการให้ข้อมูล ดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมศิลปากรกับท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลหนองราชวัตร สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร
มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเป็นส่วนใหญ่ มีพื้นที่บางส่วนเป็นที่ราบสูง โดยมีความลาดเทระหว่าง 0-3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของจังหวัด ตลอดแนวตั้งแต่เหนือจรดใต้ บริเวณพื้นที่ต่ำสุดอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้
เดิมพื้นที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรเป็นเนินดินขนาดประมาณ 15 ไร่ สูงจากพื้นที่รอบๆราว 2 เมตร พื้นที่โดยรอบแหล่งโบราณคดีเป็นทุ่งนาและไร่อ้อย ส่วนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร ทิศเหนือของเนินดินมีคลองส่งน้าตัดผ่านซึ่งในอดีตเมื่อครั้งขุดคลองสายนี้ ก็ได้พบโครงกระดูกมนุษย์และเศษภาชนะดินเผาด้วย ปัจจุบันตัวเนินดินที่ตั้งแหล่งถูกขุดตักหน้าดินเพื่อปรับพื้นที่ให้ได้ระดับเดียวกับพื้นที่นารอบๆ ไปกว่า 10 ไร่ โดยพื้นที่ที่ถูกขุดตักหน้าดินไปแล้วได้พบหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ กระดูกสัตว์ เศษภาชนะดินเผา ขวานหินขัด ขวานหินกะเทาะ และสะเก็ดหินกระจัดกระจายอยู่เป็นจ้านวนมากเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว แม้ที่ตั้งแหล่งโบราณคดีจะอยู่บนพื้นที่ราบแต่ก็จัดเป็นเขตที่ดอนของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยตัวแหล่งโบราณคดีนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ราบที่ค่อยๆลาดชันสูงขึ้นไปสู่เทือกเขาทางทิศตะวันตกในเขตอำเภอด่านช้าง ซึ่งต่อเนื่องกับกลุ่มเทือกเขาในเขตจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีแนวเขาพระหุงดิน อยู่ใกล้เคียงที่สุดในระยะประมาณ 30 กิโลเมตร ส่วนด้านทิศตะวันออกลาดต่ำลงสู่ที่ราบลุ่มฝั่งตะวันตกของแม่น้าท่าจีน ซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งโบราณคดีไปประมาณ 17 กิโลเมตร และมีล้าน้ากระเสียวซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร แหล่งน้าธรรมชาติที่ใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดีมากที่สุด คือ ห้วยหมาลอย อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร จากการสอบถามชาวบ้านได้ข้อมูลว่า ในอดีตเคยมีล้าน้าเก่าๆอยู่ใกล้ๆกับแหล่งโบราณคดี แต่สิ้นสภาพไปแล้วจากการปรับพื้นที่ดินเพื่อทำกิน และจากแนวล้าน้าเก่านี้ขึ้นไปทางเหนือประมาณ 1.5 กิโลเมตร พบแหล่งโบราณคดีที่มีอายุร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรอีก 1 แห่ง ในที่ดินของ นายสามารถ น้าดอกไม้ ในหมู่บ้านดอนขี้อ้ายสูง ซึ่งจัดเป็นแหล่งฝังศพและที่อยู่อาศัยยุคหินใหม่ แต่เนินดินที่เป็นที่ตั้งของแหล่งถูกขุดปรับหน้าดินไปแล้ว
ลำน้ำกระเสียว
ตะกอนน้ำพารูปพัดในยุคควอเทอร์นารี
ชื่อผู้ศึกษา : สุภมาศ ดวงสกุล, กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546, พ.ศ.2547
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 2 จังหวัดสุพรรณบุรี กรมศิลปากร ขุดค้นในครั้งแรกพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์จ้านวน 4 โครง กระดูกสัตว์ ชิ้นส่วนขาหม้อสามขา เศษภาชนะดินเผา ขวานหินขัดเครื่องมือสะเก็ดหิน กระสุนดินเผา เบี้ยดินเผา เป็นต้น ซึ่งหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้ เป็นพื้นที่ที่คนยุคหินใหม่เมื่อประมาณ 3,000-4,000 ปีมาแล้ว (กำหนดอายุโดยเทียบเคียงกับแหล่งโบราณคดีบ้านเก่าจัดเป็นแหล่งโบราณคดีใน “วัฒนธรรมบ้านเก่า” หรือ “วัฒนธรรมหม้อสามขา”) ผลจากการดำเนินงานขุดค้นในครั้งที่ 1 นี้ สามารถแบ่งรูปแบบการฝังศพได้ 2 สมัย คือในสมัยแรกฝังโดยหันศีรษะไปทางทิศเหนือ ส่วนสมัยที่ 2 ฝังโดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก และจากการแปลความหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ พบว่าพื้นที่บริเวณที่ขุดค้นนี้ใช้เป็นพื้นที่ในการท้ากิจกรรม ที่อยู่อาศัย และใช้ฝังศพ ปัจจุบันหลุมขุดค้นที่ขุดในครั้งแรกนี้ถูกกลบไปหมดแล้ว ผลจากการดำเนินงานขุดค้นในครั้งที่ 1 นี้ สามารถแบ่งรูปแบบการฝังศพได้ 2 สมัย คือ ในสมัยแรกฝังโดยหันศีรษะไปทางทิศเหนือ ส่วนสมัยที่ 2 ฝังโดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกชื่อผู้ศึกษา : สุภมาศ ดวงสกุล, กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 2 จังหวัดสุพรรณบุรี กรมศิลปากร ขุดค้นในครั้งที่ 2 ดำเนินการขุดค้น ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2551 โดยการขุดค้นในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองราชวัตร และสถานศึกษาในตำบลหนองราชวัตร 3 แห่ง ในรูปแบบของกิจกรรม “ค่ายโบราณคดีหนองราชวัตร ครั้งที่ 1” ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองราชวัตร ครูอาจารย์และเยาวชนในสถานศึกษา ตลอดจนชาวชุมชนหนองราชวัตรเข้ามาร่วมท้างานขุดค้นกับนักโบราณคดี โดยการขุดค้นในครั้งที่ 2 นี้ เลือกขุดค้นในพื้นที่คนละบริเวณกับการขุดค้นครั้งแรก ทำการขุดหลุมขนาด 2 x 2เมตร จำนวน 2 หลุม โดยพบหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 1 โครง โดยโครงกระดูกที่ขุดพบถูกนำขึ้นมาจัดแสดงไว้ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรชื่อผู้ศึกษา : สุภมาศ ดวงสกุล, กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551, พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษากระดูกคน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 2 จังหวัดสุพรรณบุรี กรมศิลปากร ขุดค้นในครั้งที่ 3 ดำเนินการขุดค้น ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 – พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ตามโครงการศึกษาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในวัฒนธรรมบ้านเก่าและที่เกี่ยวข้อง โดยการขุดค้นในครั้งนี้มีพื้นที่ขุดค้นมากกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมา และพบหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์จ้านวน 28 โครง มีการศึกษาในเรื่องของเพศ อายุ ส่วนสูงแล้ว เพียงบางโครงเท่านั้นชื่อผู้ศึกษา : ณัฐพงศ์ ศิริวัฒนพิเชษฐ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551
วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ณัฐพงศ์ ศิริวัฒนพิเชษฐ์ (2551) ศึกษารูปแบบเศษภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร จากหลุมขุดค้นที่ 1 และ 3 ในการขุดค้นปี พ.ศ.2551 โดยศึกษาเฉพาะภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินธรรมดา (Earthenware) ด้วยวิธีการแยกประเภท รูปแบบการตกแต่ง และเทคนิคการผลิต ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบรูปแบบภาชนะดินเผา ตามลักษณะการตกแต่ง และเทคโนโลยีการผลิต และเพื่อเปรียบเทียบรูปแบบภาชนะดินเผาที่วิเคราะห์ได้ กับแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจาการศึกษาภาชนะดินเผาที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร สามารถจำแนกตามรูปทรงได้ 10 รูปแบบใหญ่ 27รูปแบบย่อย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาชนะดินเผาที่แหล่งโบราณคดีนี้มีหลากหลายประเภทและรูปแบบนอกจากนี้ยังพบภาชนะดินเผาประเภทเดียวกันในแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงด้วย เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า แหล่งโบราณคดีบ้านลุ่มสุ่ม แหล่งโบราณคดีบ้านท่ามะนาวและแหล่งโบราณคดีถ้าเขาสามเหลี่ยม จังหวัดกาญจนบุรีชื่อผู้ศึกษา : ปรัชญา รุ่งแสงทอง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือหิน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ศึกษารูปแบบเครื่องมือหินจากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร ในการขุดค้นปี พ.ศ.2546-2547 ทำการจัดจำแนกโบราณวัตถุหินจำนวน 77 ชิ้น ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความนิยมในการนำหินชนิดต่างๆมาใช้ จากการศึกษาพบว่า เครื่องมือที่พบมากที่สุด คือ ประเภทเครื่องมือหินขัด โดยรูปแบบที่พบมากที่สุด คือ ประเภทรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู รองลงมาก็คือประเภท ทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนหินที่นิยมน้ามาท้าเครื่องมือนั้นได้แก่หินจำพวก Quartz และ Chertชื่อผู้ศึกษา : สุภมาศ ดวงสกุล, กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553, พ.ศ.2554
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 2 จังหวัดสุพรรณบุรี กรมศิลปากร ขุดค้นแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรในปีงบประมาณ 2553 นี้ ทำการขุดค้นบริเวณ Area 01 (พื้นที่เดียวกันกับหลุมที่ท้าการขุดค้นเมื่อปี พ.ศ.2552) ทั้งนี้ก็เพื่อขยายพื้นที่หลุมจัดแสดงเพิ่มขึ้นและเพื่อให้ได้ข้อมูลของหลักฐานที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเชื่อมโยงกับหลุมขุดค้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 ได้ โดยในครั้งนี้ได้ท้าการขุดค้นทางโบราณคดี หลุมขนาด 3x3 เมตร จ้านวน 4 หลุม (N2E3,N2E4, N2E5 และ N2E6) โดยหลุมขุดค้นอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ของหลุมขุดค้นปี พ.ศ.2552 ประมาณ 3 เมตร จากนั้นในปี พ.ศ. 2554 ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มอีก 2 หลุม หลุมมีขนาด 3 x 3 เมตร โดยเลือกขุดต่อจากในบริเวณเดิม จุดประสงค์หลักของการดำเนินงานในครั้งนี้ก็เพื่อ เชื่อมโยงระหว่างหลุมขุดค้นใน ปี พ.ศ. 2552 พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2554 ผลการดำเนินงานขุดค้นในปี พ.ศ. 2553-2554 นี้ พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์จำนวน 13 โครง (Burial#29-41) เศษภาชนะดินเผา ขวานหินขัด เป็นต้นชื่อผู้ศึกษา : สุภมาศ ดวงสกุล, กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 2 จังหวัดสุพรรณบุรี กรมศิลปากร ขุดค้นแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรในปี พ.ศ.2555 นี้ เริ่มดำเนินการขุดค้น วันที่ 5 มีนาคม โดยในครั้งนี้ทำการขุดค้นทางโบราณคดี หลุมขนาด 3x3 เมตร จำนวน 3 หลุมลำดับชั้นทางวัฒนธรรมและอายุสมัยของแหล่งโบราณคดี เมื่อพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและชนิดของโบราณวัตถุที่ได้พบในชั้นดินทางโบราณคดีทั้ง 4 ชั้น ร่วมกับหลักฐานการฝังศพแล้ว จะเห็นได้ว่าในชั้นดินที่ 5 และ 6 นั้น ได้พบโบราณวัตถุที่มีรูปแบบและประเภทคล้ายคลึงกัน และยังมีรูปแบบการใช้พื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยเหมือนกันด้วย ในขณะที่ชั้นดินที่ 4 และ 3 ก็ได้พบโบราณวัตถุคล้ายคลึงกัน แต่รูปแบบโบราณวัตถุจะค่อนข้างแตกต่างไปจากใน 2 ชั้นแรก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักฐานการฝังศพที่ขุดค้นพบในชั้นดินที่ 4 นั้นเมื่อพิจารณาร่วมกับผลการขุดตรวจหลุม TP-3 ที่อยู่ตรงกลางเนิน ซึ่งได้พบหลักฐานการฝังศพถึง 4 โครงซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องทิศทางการฝัง คือมีทั้งที่ฝังไปทางทิศตะวันตกและทิศเหนือ และปรากฏชัดว่าโครงที่ฝังหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกนั้นถูกฝังที่หลังหรือเป็นโครงในสมัยหลัง สอดคล้องกับผลการขุดค้นที่ชายเนินดิน (หลุม D7-8) ซึ่งโครงกระดูกที่ได้พบนั้นหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกและอยู่ในชั้นดินตอนบนหรือในสมัยหลัง ในที่นี้จึงใช้รูปแบบการฝังศพเป็นหลักในการแบ่งชั้นวัฒนธรรม โดยสามารถแบ่งชั้นวัฒนธรรมได้ 2 ชั้นหลักๆ คือ
1) ชั้นวัฒนธรรมที่ 1 เป็นชั้นวัฒนธรรมเริ่มแรกของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ อยู่ในระดับชั้นดินที่ 5 - 6 หรือช่วง 130 - 210 cm.dt. ชั้นวัฒนธรรมสมัยที่ 1 นี้ สามารถแบ่งชั้นการอยู่อาศัยออกเป็น 2 ระยะย่อย คือ
- ระยะที่ 1 (ชั้นดินที่ 6) เป็นการเข้ามาใช้พื้นที่ในระยะแรก หลักฐานที่พบยังไม่หนาแน่นนัก ได้แก่ ภาชนะดินเผาที่มีขนาดใหญ่และหนามีแกลบข้าวปนอยู่ในเนื้อดิน กระดูกสัตว์ ที่พบส่วนใหญ่เป็นกระดูกสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดใหญ่ เครื่องมือหินทั้งขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด และสะเก็ดหิน
- ระยะที่ 2 (ชั้นดินที่ 5) เป็นชั้นการอยู่อาศัยที่ต่อเนื่องมาจากชั้นที่ 1 โดยเศษภาชนะดินเผาและชิ้นส่วนเครื่องมือที่พบจากการขุดค้นมีปริมาณที่มากขึ้น แต่ยังมีรูปแบบคล้ายคลึงกับที่พบในระยะที่ 1
ภาพรวมของชั้นวัฒนธรรมในสมัยที่ 1 นั้น มีการใช้พื้นที่ส่วนชายเนินดินเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนตรงกลางเนินน่าจะใช้เป็นที่ฝังศพ โดยรูปแบบการฝังศพในสมัยแรกนั้นเป็นการฝังแบบนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศเหนือหรือเบนไปจากทิศเหนือเล็กน้อย
• ในแง่การดำรงชีวิตนั้น ในสมัยแรกนี้ได้พบเศษภาชนะดินเผาที่มีแกลบข้าวอยู่ในเนื้อดินแล้ว ชี้ให้เห็นว่าเป็นชุมชนที่รู้จักเพาะปลูกข้าวทำการเกษตรแล้ว แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นการทำนาข้าวแบบใด นอกจากจะรู้จักเพาะปลูกแล้ว ในสมัยนี้ยังมีการล่าสัตว์ขนาดใหญ่เป็นอาหารเนื่องจากได้พบกระดูกสัตว์ขนาดใหญ่จำนวนมากซึ่งเป็นนัยสำคัญแสดงว่าพื้นที่รอบๆ คงเป็นป่าค่อนข้างแน่นทึบ และมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ไฟโดยได้พบชั้นของขี้เถ้า และดินเผาไฟในปริมาณมาก ในส่วนของดินเผาไฟที่ได้พบกระจายอยู่ทั่วไปนั้น อาจเป็นไปได้ว่าคงมีการเผาป่า หรือเผาภาชนะดินเผาในพื้นที่นี้ แต่ข้อสันนิษฐานนี้ยังต้องอาศัยการขุดค้นตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป
• รูปแบบของเครื่องมือเครื่องใช้และภาชนะดินเผานั้น ในชั้นวัฒนธรรมแรกนิยมใช้เครื่องมือหินทั้งประเภทขวานหินกะเทาะ และขวานหินขัด แต่รูปแบบของขวานหินขัดจะมีรูปร่างไม่สมส่วน ขัดอย่างหยาบๆ และมีรอยบิ่นที่ส่วนคมใช้งานมาก ส่วนภาชนะดินเผาที่พบ ส่วนใหญ่เป็นภาชนะขนาดค่อนข้างใหญ่ หนา เนื้อหยาบมีแกลบผสมอยู่มาก เผาไม่สุกมีไส้เป็นสีดำ โดยมีภาชนะรูปแบบพิเศษ คือ หม้อสามขาแบบขาอ้วนป้อม ที่ได้พบทั้งในชั้นดินที่ 5 และ 6 หม้อสามขา นี้จากชิ้นส่วนแสดงให้เห็นว่ามีการผลิตอย่างประณีต สวยงาม โดยเป็นภาชนะเนื้อละเอียด ค่อนข้างบาง มีการขัดผิวมัน ซึ่งรูปแบบขาภาชนะแบบนี้ได้พบหลายชิ้นเมื่อคราวขุดตักหน้าดินด้วย โดยชิ้นที่พบเมื่อคราวถูกตักหน้าดินนั้น เดิมเป็นภาชนะเต็มใบแต่แตกหักเสียหายจากการขุดตักดิน และเจ้าของที่ดินเก็บเพียงส่วนของขาไว้ และเมื่อคณะขุดค้นฯ ตามเก็บชิ้นส่วนที่แตกหักได้บ้างบางส่วนมาต่อกัน ทำให้สามารถขึ้นรูปภาชนะ “หม้อสามขา” ในสมัยแรกนี้ได้ เป็นภาชนะรูปทรงคล้ายอ่าง แต่มีส่วนขาอ้วนเตี้ย
กำหนดอายุของชั้นการอยู่อาศัยในชั้นวัฒนธรรมสมัยที่ 1 โดยการเปรียบเทียบกับที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ในช่วงสมัยหินใหม่ ราว 4,000 – 3,500 ปีมาแล้ว
2) ชั้นวัฒนธรรมที่ 2 อยู่ในระดับชั้นดินที่ 3 และ 4 หรือช่วง 80 – 130 Cm.dt. แบ่งย่อยเป็น 2 ระยะคือ
- ระยะที่ 1 (ชั้นดินที่ 4) เป็นการใช้พื้นที่ในการฝังศพร่วมกับการอยู่อาศัย
- ระยะที่ 2 (ชั้นดินที่ 3) เป็นใช้พื้นที่ในการอยู่อาศัย โบราณวัตถุที่พบคล้ายกับในระยะที่ 1 แต่มีปริมาณน้อยกว่า
ภาพรวมในชั้นวัฒนธรรมสมัยที่ 2 นี้คงใช้พื้นที่ทั่วทั้งเนินดินเป็นที่ฝังศพ และใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมด้วย โดยมีรูปแบบการฝังศพที่แตกต่างไปจากชั้นวัฒนธรรมที่ 1 ในแง่ของทิศทางการฝังโดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก นอกจากนี้แล้วโบราณวัตถุอื่นๆ หลายอย่างก็แตกต่างกัน
เครื่องมือเครื่องใช้ พบว่าในวัฒนธรรมสมัยที่ 2 นี้ นิยมใช้ขวานหินขัดมากกว่าขวานหินกะเทาะ และขวานหินก็ผลิตอย่างประณีตสวยงาม ที่สำคัญคือ ได้พบขวานหินขัดแบบมีบ่าด้วย ในขณะที่ในสมัยแรกไม่ได้พบ นอกจากนี้ยังได้พบเครื่องมือทำจากระดูกหลายชิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือกระดูกขนาดเล็กนั้นได้พบมาก ในขณะที่สมัยแรกไม่พบ
ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเครื่องมือหิน นั่นคือ ในระยะแรกของชั้นวัฒนธรรมสมัยที่ 2 นั้นได้พบขวานหินขัดบางชิ้นที่หลังจากใช้งานจนหมดคมแล้ว มีการนำขวานชิ้นเดิมมาแต่งคม แต่ไม่ได้เป็นการแต่งคมโดยการขัดฝนส่วนคม หากเป็นการแต่งคมโดยนำเครื่องมือมากะเทาะผิวหินออก คล้ายกับวิธีที่ใช้ในการแต่งคมเครื่องมือหินประเภทขวานหินกะเทาะ
รูปแบบของขาหม้อสามขา ที่ได้พบในวัฒนธรรมสมัยที่ 2 นี้ หลากหลายมากขึ้น และมีรูปแบบต่างไปจากในสมัยแรก โดยเป็นขาทรงกรวยแหลมแบบเดียวกับที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้าน ในขณะที่ในสมัยแรกพบแต่แบบอ้วนป้อมเท่านั้น
หลักฐานประเภทกระดูกสัตว์ที่พบในสมัยที่ 2 นี้ พบว่ามีความแตกต่างไปจากในสมัยแรก กล่าวคือ ได้พบกระดูกสัตว์กินหญ้า ชิ้นส่วนเขาสัตว์จำพวก เก้ง กวาง และสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ในสมัยแรกพบกระดูกสัตว์ขนาดใหญ่มาก ชี้ให้เห็นว่าในสมัยที่ 2 นี้คงมีผู้คนอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นจากสมัยแรก ก่อให้เกิดการหักล้างถางพงเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไป ส่งผลให้สภาพพื้นที่ป่าน่าจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากป่าที่รกทึบไปเป็นสภาพป่าโปร่งมากขึ้น ซึ่งป่าประเภทนี้มีทุ่งหญ้าแทรกสลับ เอื้อให้สัตว์มีเขาจำพวก เก้ง กวาง และสัตว์กินหญ้าอื่นๆ ใช้ประโยชน์เป็นอาหาร และคนในสมัยนั้นก็คงล่าสัตว์เหล่านี้มาเป็นอาหาร ร่วมกับการเพาะปลูกข้าวด้วย ในสมัยที่ 2 นี้จึงได้พบชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่กระดูกสัตว์ขนาดใหญ่ที่เคยพบมากในสมัยที่ 1 นั้นได้พบน้อยมากในสมัยนี้
การกำหนดอายุของชั้นวัฒนธรรมในสมัยที่ 2 นั้น น่าจะอยู่ในราว 3,500 – 3,000 ปีมาแล้ว หรืออยู่ในสมัยหินใหม่ตอนปลาย – ก่อนยุคโลหะ เนื่องจากไม่ได้พบหลักฐานที่เกี่ยวกับโลหะที่แหล่งโบราณคดีนี้เลย โดยเป็นชั้นวัฒนธรรมของชุมชนที่รู้จักทำการเพาะปลูกข้าวและทำการเกษตรกรรม นอกจากนั้นยังมีการล่าสัตว์ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ร่วมด้วย
อย่างไรก็ตามการกำหนดอายุที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ก็เป็นการกำหนดอายุเปรียบเทียบ จากหลักฐานเพียงส่วนน้อยของพื้นที่ การขุดค้นศึกษาเพิ่มเติมและจัดส่งตัวอย่างโบราณวัตถุไปกำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยกำหนดอายุสมัยที่แม่นยำของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการศึกษาลำดับพัฒนาการทางวัฒนธรรมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนตอนบนให้กระจ่างชัดมากขึ้น
ประเพณีการฝังศพที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร
พิธีกรรมเกี่ยวกับศพของคนสะท้อนถึงวัฒนธรรมความเชื่อของคนกลุ่มต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ในทางโบราณคดีหลุมฝังศพของคนในอดีตนั้นนอกจากจะแสดงถึงความเชื่อของกลุ่มคนนั้นๆ แล้ว ข้าวของเครื่องใช้ที่ฝังอุทิศให้กับศพยังอาจบ่งชี้ถึงสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างกันของคนในชุมชนนั้น กล่าวคือถ้าหลุมฝังศพใดที่มีข้าวของเครื่องใช้ฝังร่วมกับศพมากกว่าศพอื่นๆ ยิ่งถ้าเป็นของมีค่าหายาก หรือนำเข้ามาจากพื้นที่ห่างไกลไม่ใช่ข้าวของพื้นๆ ทั่วไปด้วยแล้ว ย่อมเป็นตัวบ่งบอกว่าบุคคลคนนั้นย่อมมีสถานภาพสูงกว่าคนอื่นๆ จึงสามารถครอบครองสิ่งของเหล่านั้นได้ นอกจากนี้แล้วรูปแบบการฝังศพที่เปลี่ยนไปในพื้นที่เดียวกัน บางครั้งก็แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงความเชื่อด้วย
จากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรนั้น ได้พบโครงกระดูกมนุษย์หลายโครง โดยที่รูปแบบการฝังศพจะคล้ายคลึงกันทั้งสองสมัย นั่นคือเป็นการฝังแบบนอนหงายเหยียดยาว ไม่มีการมัดหรือห่อศพ มีการฝังข้าวของเครื่องใช้อุทิศให้กับศพที่เหนือศีรษะและปลายเท้าด้วยความเชื่อที่ว่าผู้ตายจะได้นำไปใช้ในภพหน้า อาทิ ขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด เครื่องมือกระดูก และภาชนะดินเผาที่บางใบมีการทุบให้แตกก่อนฝังอุทิศด้วย แต่การฝังศพทั้งสองสมัยก็มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องทิศทางการฝัง โดยในสมัยแรกนั้นโครงกระดูกทุกโครงหันศีรษะไปทางทิศเหนือ ส่วนสมัยที่สองหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกทั้งหมด ความแตกต่างในเรื่องทิศทางการฝังศพนี้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนที่นี่ ที่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นเพราะมีการเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มอื่นเข้ามาด้วยหรือไม่
รูปแบบหม้อสามขาและความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีอื่น
หม้อสามขา เป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ได้พบที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ โดยหม้อสามขานี้เป็นภาชนะรูปแบบเด่นในยุคหินใหม่ แหล่งโบราณคดีที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และมีการพบหม้อสามขาด้วย คือ แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อย (แม่กลอง) ซึ่งต่อเนื่องกับพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนด้วย นอกจากนี้ยังได้พบหม้อสามขานี้แพร่กระจายอยู่ในแหล่งโบราณคดีตามภูมิภาคตะวันตก ต่อเนื่องไปยังภาคใต้และคาบสมุทรมาเลย์ เช่น ที่แหล่งโบราณคดีถ้ำเบื้องแบบ แหล่งโบราณคดีนาเชียง แหล่งโบราณคดีถ้ำสิงขร ถ้ำกาซี ถ้ำปากอม ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฯลฯ สำหรับในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีนั้น เคยพบหม้อสามขาที่แหล่งโบราณคดีบ้านแจงงาม ในเขตอำเภอหนองหญ้าไซ ไม่ไกลจากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีที่ร่วมสมัยกัน
จากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าในชั้นวัฒนธรรมทั้ง 2 สมัยนั้น มีการใช้หม้อสามขาที่มีรูปแบบแตกต่างกัน กล่าวคือ ในสมัยแรกนั้นจะเป็น หม้อสามขา ที่ส่วนขาเป็นส่วนเดียวกับตัวภาชนะ และส่วนขามีลักษณะอ้วนป้อม แตกต่างไปจากที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า และแหล่งอื่นๆ ในประเทศไทยนี้ ส่วนขาที่อ้วนป้อมนี้กลับไปคล้ายคลึงกับที่พบในวัฒนธรรมลุงชานของจีนที่เป็นต้นแบบภาชนะประเภทนี้มากกว่า ส่วนในสมัยที่สองนั้นก็ได้พบว่ามีการพัฒนารูปแบบภาชนะหม้อสามขาให้หลากหลายมากขึ้น ส่วนขาแยกออกจากตัวหม้อ โดยที่หม้อรูปแบบเดียวกับที่บ้านเก่าซึ่งเป็นขาทรงกรวยแหลม และมีการเจาะรูปที่ขา ซึ่งเป็นพิมพ์นิยมในไทยนั้นก็ได้พบในสมัยที่สองนี้ด้วย จึงนำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรอาจจะเป็นชุมชนเกษตรกรรมยุคหินใหม่ระยะแรกๆ ในลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มชนภายนอกจากทางตอนใต้ของจีน หรืออาจเป็นชุมชนที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนทางตอนใต้ของจีนซึ่งมี “หม้อสามขา” เป็นภาชนะแบบพิเศษของคนกลุ่มนี้ และนำความรู้ทางการเพาะปลูกมาด้วย ลงมาผสมผสานแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับคนพื้นถิ่นเดิม โดยในระยะแรกยังคงรักษาเค้าโครงรูปแบบหม้อสามขาแบบเดิมไว้ จนผ่านช่วงเวลาอันยาวนานผสมกลมกลืนกับคนในท้องถิ่นเดิมพัฒนารูปแบบภาชนะให้ส่วนขาเรียวแหลมเหมาะแก่การใช้งานมากขึ้น กลายเป็นรูปแบบหม้อสามขาแบบบ้านเก่า เราจึงได้พบรูปแบบหม้อสามขาแบบนี้แพร่หลายทั่วไปในแหล่งโบราณคดีในที่ราบลุ่มแม่น้ำแควน้อย-แควใหญ่ และอีกหลายแหล่งในคาบสมุทรภาคใต้
สรุปผลการศึกษาทางโบราณคดี
หลักฐานข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรในครั้งนี้ ทำให้กำหนดอายุแหล่งโบราณคดีแห่งนี้โดยการเปรียบเทียบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญคือ “หม้อสามขา” กับแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ว่าอยู่ในสมัยหินใหม่ – ก่อนยุคโลหะ ราว 4,000 – 3,000 ปีมาแล้ว เนื่องจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ยังไม่มีการพบหลักฐานเกี่ยวกับโลหะเลย จัดเป็นแหล่งโบราณคดีใน “วัฒนธรรมบ้านเก่า” หรือ “วัฒนธรรมหม้อสามขา”
การใช้ประโยชน์พื้นที่เนินดินนี้นั้น ในสมัยแรกพบว่าพื้นที่ส่วนเนินดินใช้เป็นที่ฝังศพ ส่วนชายเนินนั้นใช้เป็นที่อยู่อาศัย และเมื่อเข้าสู่สมัยที่ 2 ผู้คนคงเพิ่มจำนวนมากขึ้นจึงได้พบว่ามีการใช้พื้นที่ทั่วทั้งเนินดินในการฝังศพและอยู่อาศัย โดยรูปแบบการฝังศพที่พบในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีเป็นการฝังแบบนอนหงายเหยียดยาว ไม่มีการห่อหรือมัดศพ มีรูปแบบทิศทางการฝัง 2 รูปแบบซึ่งใช้เป็นตัวแบ่งชั้นวัฒนธรรมที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ออกเป็น 2 สมัย คือ ในสมัยแรกฝังโดยหันศีรษะไปทางทิศเหนือ ส่วนสมัยที่ 2 ฝังโดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก
ส่วนแบบแผนการดำรงชีวิตนั้น ผู้คนที่นี้รู้จักทำการเพาะปลูกข้าวมาตั้งแต่ระยะแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยเพราะได้พบหลักฐานแกลบข้าวในเนื้อภาชนะ ในขณะเดียวกันก็มีการล่าสัตว์ขนาดใหญ่เป็นอาหารด้วย โดยสัตว์เหล่านี้น่าจะชุกชุมในพื้นที่รอบๆ ซึ่งคงเป็นป่ารกทึบในระยะแรกๆ และเมื่อระยะเวลาผ่านไปประชากรน่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นมาก จึงมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไป ซึ่งส่งผลทำให้สภาพแวดล้อมและพืชพรรณธรรมชาติเปลี่ยนไปด้วย เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน ชนิดของสัตว์ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงได้พบว่าในสมัยหลังมีการล่าสัตว์ขนาดเล็ก สัตว์มีเขาจำพวกเก้ง กวาง และสัตว์น้ำมากขึ้น
ในขณะเดียวกันรูปแบบของเครื่องมือที่นิยมใช้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย จะพบว่าในระยะแรกนั้นนิยมใช้ขวานหินกะเทาะ และขวานหินขัดแบบหยาบไม่ประณีต แต่ในสมัยหลังนิยมใช้ขวานหินขัดมากกว่า และมีรูปแบบประณีตสวยงามมากกว่า และยังมีการพัฒนาเครื่องมือกระดูกขนาดเล็กแหลมมากขึ้นด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้อาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการล่าสัตว์ ซึ่งผู้ล่าต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวด ล้อมและทรัพยากรสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ต่างส่งผลซึ่งกันและกัน กล่าว คือเมื่อคนขยายพื้นที่เพาะปลูกและอยู่อาศัย ก็จะส่งผลให้สภาพแวดล้อมและทรัพยากรเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สัตว์บางชนิดที่มีวงจรชีวิตสัมพันธ์กับรูปแบบธรรมชาติเฉพาะหายไป คนก็จำเป็นต้องปรับพฤติกรรมการดำรงชีวิต และพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ในการดำรงชีวิตมากขึ้น ต้องล่าสัตว์เท่าที่ยังเหลืออยู่และเริ่มแสวงหาทรัพยากรจากแหล่งอื่นเพื่อทดแทนสัตว์ที่หายไปเพื่อให้เพียงต่อความต้องการในการดำรงชีวิต
โดยสรุปแล้วผลการศึกษาที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรในครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงชุมชนยุคหินใหม่ที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง ที่เป็นกุญแจสำคัญบ่งชี้ถึงลำดับพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน–แม่กลอง
เจนจิรา สีหราช. “การศึกษาโครงกระดูกมนุษย์จากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร ตำบลหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2554.
ณัฐพงศ์ ศิริวัฒนพิเชษฐ์. “การศึกษารูปแบบเศษภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร ตำบลหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี จากหลุมขุดค้นที่ 1 และ 3 ในการขุดค้นปี พ.ศ. 2551.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2551.
ประภาสิริ อุปเทศวิศาล. “การศึกษารูปแบบภาชนะดินเผาประเภทหม้อสามขาจากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.
ปรัชญา รุ่งแสงทอง. “การศึกษารูปแบบเครื่องมือหินจากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร ตำบลหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร2551.
ศรัณยู กังวานรุ่งเรือง. “การตรวจสอบความสัมพันธ์ของเครื่องมือหินระหว่างแหล่งผลิตที่แหล่งโบราณคดีในอำเภอด่านช้าง กับแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร จังหวัดสุพรรณบุรี โดยวิธีศิลาวรรณนา.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.
สุภมาศ ดวงสกุล. “การขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี.” ดำรงวิชาการ 8, 1 (มกราคม-มิถุนายน 2552).
สำนักศิลปากรที่ 2 จังหวัดสุพรรณบุรี กรมศิลปากร. โบราณคดีหนองราชวัตร 1 ผลการดำเนินงานทางโบราณคดีปี 2546. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามลดา, 2552.