พระธาตุดอยภูข้าว (ปูเข้า)


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : พระธาตุดอยภูข้าว, พระธาตุปูเข้า, พระธาตุภูเข้า, วัดพระธาตุปูเข้า, วัดพระธาตุดอยปูเข้า

ที่ตั้ง : ม.1 บ้านสบรวก ต.เวียง อ.เชียงแสน

ตำบล : เวียง

อำเภอ : เชียงแสน

จังหวัด : เชียงราย

พิกัด DD : 20.352774 N, 100.081782 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดพระธาตุภูเข้า ตั้งอยู่บริเวณบ้านสบรวกหรือบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ หากเดินทางจากเมืองโบราณเชียงแสน จากคูเมืองกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1290 (ถนนริมโขง) มุ่งหน้าสามเหลี่ยมทองคำ (มุ่งหน้าทิศเหนือ) ประมาณ 7.8 กิโลเมตร ถึงสามเหลี่ยมทองคำ ทางซ้ายมือจะพบถนนเข้าสู่วัดพระธาตุปูเข้า ไปตามถนนขึ้นภูเขาประมาณ 350 เมตร ถึงลานจอดรถจุดชมวิวสามเหลี่ยมทองคำ บันไดทางขึ้นสู่โบราณสถานอยู่บริเวณที่จอดรถ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันดอยภูเข้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของอำเภอเชียงแสน เนื่องจากเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์บริเวณสามเหลี่ยมทองคำหรือสบรวก ทั้งยังมีโบราณสถาน ศาสนสถาน ให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวได้สักการะเยี่ยมชม บนยอดดอยลานจอดและร้านค้าบริการนักท่องเที่ยว

โบราณสถานวัดพระธาตุปูเข้าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว และมีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดพระธาตุปูเข้า

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

วัดพระธาตุภูเข้าได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 76 ตอนที่ 108 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2502 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ

ภูมิประเทศ

ภูเขา

สภาพทั่วไป

โบราณสถานภายในวัดพระธาตุปูเข้า เป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงพื้นที่ ปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อใช้งานเป็นพุทธศาสนสถานในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนยอดดอยภูเข้าหรือดอยเชียงเมี่ยง ริมแม่น้ำโขง บริเวณสบรวกหรือสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแม่น้ำรวกไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

405 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นภูเขาหินอัคนี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา, สมัยหิน

อายุทางโบราณคดี

สมัยหิน, ราวพุทธศตวรรษที่ 19-21 (กำหนดอายุจากเครื่องถ้วยสันกำแพง เจดีย์หมายเลข 4 และเจดีย์ประธาน)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2506

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรขุดแต่งและบูรณะเจดีย์

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรสำรวจตามโครงการโบราณคดีภาคเหนือ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรขุดค้น ขุดแต่ง บูรณะ เสริมความมั่นคง และปรับปรุงภูมิทัศน์ วิหาร เจดีย์ กำแพงแก้ว และกำแพงกันดิน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ดอยปูเข้าหรือดอยภูเข้าหรือดอยเชียงเมี่ยง ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีมาตั้งแต่สมัยหินในยุคก่อนประวัติศาสตร์ การสำรวจของนักโบราณคดีที่ผ่านมาพบเครื่องมือหินกะเทาะ 2 หน้า เครื่องมือหินกะเทาะรูปไข่ ขวานหินขัด ลูกปัดดินเผา เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินลายขูดขีด ลายกดประทับ และลายเชือกทาบ

ส่วนพระธาตุปูเข้าหรือพระธาตุภูข้าว ตั้งอยู่บนดอยภูเข้าหรือดอยเชียงเมี่ยงบริเวณใกล้กับสบรวก สามเหลี่ยมทองคำ พงศาวดารโยนกกล่าวว่า เป็นสถานที่ซึ่งบุตรลาวจกผู้เป็นต้นวงศ์พญามังรายออกมาจับปูกัน 

พงศาวดารภาคที่ 61 ปรากฏเรื่องราวการสร้างสถูปบนดอยภูเข้า  โดยกล่าวว่าพระยาลาวเก้าแก้วเยือน (พญาเก้าเกล้าเยือน) กษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งเมืองหิรัญนครเงินยาง โอรสองค์เล็กของพระเจ้าลวจักราช ทรงสร้างขึ้นภายหลังขึ้นครองราชย์สมบัติ และตามตำนานยังได้กล่าวถึงเรื่องราวที่สืบย้อนหลังไปถึงสมัยพุทธกาลว่า พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมากระทำภัตตกิจ และประดิษฐานพระเกศาธาตุ รวมทั้งทรงมีพุทธทำนาย ถึงชื่อสถานที่แห่งในอนาคต ต่อมาเมื่อครั้นพญาแสนภูสร้างเมืองเชียงแสน ได้เสด็จขึ้นมาตามลำน้ำของ (โขง)  ทรงหยุดพักนมัสการมหาธาตุเจ้าดอยภูเขา (ดอยปูเข้า) ก่อนเข้าเมืองเชียงแสน

ทั้งนี้คำว่า “ปู” คงเพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “ภู” ซึ่งหมายความว่าภูเขา และคำว่า “เข้า” หมายถึง “ข้าว” เพราะเมืองเชียงแสนมีบริเวณที่ราบผืนใหญ่ที่สุดในบรรดาที่ราบริมแม่น้ำโขงที่ผ่านมา อันเป็นพื้นที่เหมาะสำหรับการปลูกข้าวที่ราบเชียงแสนจึงเป็นแหล่งผลิตข้าวจำนวนมาก

ชื่อพระธาตุปูเข้า (ภูเข้า) น่าจะถูกเรียกโดยผู้คนที่อยู่ในบ้านเมืองตอนเหนือของแม่น้ำโขงหรือพ่อค้าต่างเมืองมากกว่าที่ชาวเมืองเชียงแสนจะเรียกเอง เพราะเมื่อพ่อค้าล่องเรือมาขายสินค้าในเมืองเชียงแสนจะต้องผ่านบริเวณสบรวก และจะสังเกตเห็นพระธาตุปูเข้าตระหง่านบนเขาสูง พระธาตุปูเข้าจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ในการเดินทางว่าตนได้เข้ามาถึงที่ราบเชียงแสนดินแดนแห่งข้าวแล้ว

นอกจากนั้นการเรียกภูเขาว่า “ภู” แทนที่จะเรียกว่า “ดอย” ตามภาษาท้องถิ่นล้านนา ย่อมแสดงว่าชื่อภูเขาลูกนี้น่าจะเป็นชื่อที่คนเดินทางจากถิ่นอื่นเป็นผู้เรียก

สำหรับคันกำแพงที่ทอดยาวอยู่บริเวณเชิงภูเข้าแสดงถึงการเป็นชุมชนที่พักผ่อนของผู้เดินทางที่นำสินค้าพื้นเมืองของตนมาแลกเปลี่ยนกับผลิตผลของชาวเมืองเชียงแสน

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ได้จากการขุดแต่งวัดพระธาตุปูเข้าใน พ.ศ.2506 ได้แก่ เครื่องมือหินกะเทาะ สถูปทรงระฆังจำลองสำริด ตุ้มหูหิน พระพิมพ์เนื้อชินรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นต้น

ส่วนภาชนะดินเผาที่พบในการขุดค้น พ.ศ.2545 มีทั้งภาชนะดินเผา จากเตาสันกำแพง เตาพาน เตาลำปาง เตาลำพูน และยังพบเครื่องถ้วยจีน ซึ่งกำหนดอายุไว้ราวพุทธศตวรรษที่ 19-21

จากการขุดค้นและขุดแต่งที่ผ่านมาพบว่าวัดพระธาตุภูเข้ามีการบูรณะปรับเปลี่ยน 4 สมัย 

สมัยที่ 1 มีการก่ออิฐเป็นกำแพงกันดินล้อมรอบกลุ่มโบราณสถาน

สมัยที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบฐานของเจดีย์ประธาน ในส่วนของฐานเขียงชุดบัวหงายเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยม

สมัยที่ 3 มีการขยายพื้นที่ด้านข้างของวิหาร

สมัยที่ 4 มีการเปลี่ยนแปลงมีการก่ออิฐผังวิหาร มีการทำช่องประตูทางเข้า ทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก มีการปรับพื้นที่ให้สูงขึ้น

สรุปผลการศึกษาที่ผ่านมาทำให้สันนิษฐานได้ว่าบริเวณภูเข้ามีการใช้พื้นที่ของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยหิน ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนล่วงเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์พบหลักฐานที่เก่าที่สุดราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 (กำหนดอายุจากเครื่องถ้วยสันกำแพง เจดีย์หมายเลข 4 และเจดีย์ประธาน) ก่อนที่จะมีการสร้างเพิ่มเติมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 (เจดีย์หมายเลข 2)

โบราณสถานภายในวัดพระธาตุปูเข้า เป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงพื้นที่ ปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อใช้งานเป็นพุทธศาสนสถานในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนยอดดอยภูเข้าหรือดอยเชียงเมี่ยง ริมแม่น้ำโขง บริเวณสบรวกหรือสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแม่น้ำรวกไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง

รอบยอดดอยที่เป็นที่ตั้งของโบราณสถานทั้ง 4 ด้าน มีการก่ออิฐเป็นกำแพงกันดินล้อมรอบ มีซุ้มประตูทางเข้าอยู่ทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ พบร่องรอยของบันไดทางขึ้นทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกของกำแพงกันดิน โบราณสถานภายในกำแพงดินวางตัวตามแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วยวิหาร เจดีย์ประธาน เจดีย์ราย 4 องค์ กำแพงแก้ว ซุ้มโขง และกำแพงกันดิน

1. วิหาร อยู่ทางด้านทิศตะวันออกขององค์เจดีย์ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นวิหารโถง ปัจจุบันมีการก่อสร้างเครื่องบนไม้คลุมอาคาร มีมณฑปท้ายวิหารหรือคันธกุฎีก่ออิฐสอปูน โดยมีจุดเชื่อมติดกัน ด้านหน้ามณฑปมีลักษณะเป็นกู่ในรูปทรงปราสาทที่ประกอบด้วยหลังคาซ้อนชั้น ประกอบไปด้วยหลังคาเอนลาดสลับกับตัวเรือนธาตุซ้อนเป็นชั้นสลับกัน (เรือนชั้นซ้อน) คติการสร้างกู่ภายในอาคารเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ในปราสาทนั่นเอง ลักษณะด้านหน้าของมณฑปที่ทำหลังคาซ้อนชั้นคล้ายกู่นี้ เป็นความนิยมของศิลปะล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 21

หลังคาวิหารตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น กระเบื้องมุงหลังคาและไม้โครงสร้างหลังคาบางช่วงชำรุด จากการขุดแต่งวิหารที่ผ่านมาพบการบูรณะ 4 ครั้ง

2. เจดีย์ประธาน ตั้งอยู่ด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกของวิหาร เป็นเจดีย์ขนาดเล็กทรงปราสาทยอดที่มีช้างล้อม สภาพพังทลายเหลือเพียงชั้นฐานเรียงซ้อนลดหลั่นกัน 2 ชั้นในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า มุมทั้งสี่ของฐานเขียงชั้นที่ 2 ประดับด้วยช้างปูนปั้นครึ่งตัว รองรับฐานปัทม์ ถัดไปเป็นส่วนของหน้ากระดาน เหนือขึ้นไปเป็นส่วนของเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จ พบร่องรอยการทำซุ้มจระนำทางด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศใต้ จากการขุดตรวจองค์เจดีย์พบร่องรอยการบูรณะส่วนฐานขององค์เจดีย์ คือด้านล่างของฐานเขียงจากชุดบัวหงายเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยม โดยก่ออิฐปิดทับชุดบัวหงาย บริเวณพื้นรอบฐานเจดีย์พบชิ้นส่วนของเศียรช้างและขาช้างปูนปั้น จากรูปแบบเจดีย์ประธานที่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบล้านนา มีช้างล้อม ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21

3. เจดีย์หมายเลข 1 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวิหาร ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด (ยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง) จากการขุดค้นขุดแต่งพบแผ่นทองจังโก และพบการเตรียมฐานรากเจดีย์โดยการใช้กรวดและดินอัดสลับกันขึ้นไป แล้วจึงก่อเรียงอิฐฐานเจดีย์อยู่ในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ 1 เส้น กลางเรือนธาตุแต่ละด้านมีการทำซุ้มจระนำสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป โดยพบส่วนฐานพระพุทธรูปประดับอยู่ทั้งสี่ด้าน เรือนธาตุที่สมบูรณ์ที่สุดคือด้านทิศตะวันออก พบหน้าตักพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ห่างจากเจดีย์ด้านทิศตะวันออกพบแนวอิฐกป่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

4. เจดีย์หมายเลข 2 ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหาร โดยตำแหน่งเป็นเจดีย์รายที่มีผังไม่สมมาตรกับเจดีย์องค์อื่น (แสดงให้เห็นว่าอาจสร้างพร้อมหรือหลังกว่าเจดีย์ประธาน) ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทหรืออาจเป็นลักษณะกู่ (ได้รับความนิยมอย่างมากใยพุทธศตวรรษที่ 21) องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซ้อนลดหลั่นกัน 4 ชั้น ต่อด้วยฐานบัวลูกแก้วอกไก่ซึ่งเป็นแบบฐานเจดีย์ทรงปราสาท 5 ยอด เพื่อรองรับเรือนธาตุซึ่งยังคงเห็นร่องรอยได้ทางด้านทิศเหนือ ยังคงเห็นร่องรอยการทำซุ้มจระนำ

5. เจดีย์หมายเลข 3 ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหาร การศึกษาที่ผ่านมาพบว่ามีการเตรียมฐานรากโดยการใช้กรวดและดินอัดสลับกันขึ้นไป แล้วจึงก่อเรียงอิฐฐานเจดีย์ เหลือเพียงฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น

6. เจดีย์หมายเลข 4 ตั้งอยู่ทางมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวิหาร ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาท พบว่ามีการเตรียมฐานรากโดยการใช้กรวดแม่น้ำและดินอัดสลับกันขึ้นไป แล้วจึงก่อเรียงอิฐฐานเจดีย์ รูปแบบฐานประกอบด้วยฐานเขียงรองรับฐานบัวลูกฟักในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จเพื่อรองรับเรือนธาตุยกเก็จ แต่ละด้านมีจระนำ 4 ทิศ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีการเจาะช่องเป็นคูหาทะลุถึงกัน ส่วนด้านทิศเหนือและทิศใต้ทำเป็นซุ้มหลอก จากภาพถ่ายเก่าพบว่ามีการทำจระนำแบบชั้นเดียว เป็นกรอบซุ้มวงโค้งคล้ายหน้านาง ปลายกรอบซุ้มขมวดหมุนม้วนเข้าแบบตัวเหงา ถัดขึ้นไปคือฐานบัวในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จรองรับส่วนยอดที่หักหายไป

7. กำแพงแก้วและซุ้มโขง ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบกลุ่มโบราณสถานบนเนินวัด มีช่องประตูทางเข้าสู่โบราณสถาน 3 ช่อง ตรงกึ่งกลางของแนวกำแพงด้านทิศเหนือ ใต้ ทิศตะวันตก ยังพบร่องรอยช่องประตูทางเข้าพร้อมบันไดลงสู่กำแพงกันดินด้านละ 1 ช่อง นอกจากนั้นยังพบการก่อสร้างซ้อนทับบริเวณกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก

8. กำแพงกันดิน ก่อล้อมรอบเนินโบราณสถาน ยกเว้นทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พบช่องบันไดทางขึ้นทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ของกำแพงกันดิน

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี