เมืองเชียงแสน


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ต.เวียง (เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน) อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

อำเภอ : เชียงแสน

จังหวัด : เชียงราย

พิกัด DD : 20.274355 N, 100.083683 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เมืองโบราณเชียงแสนปัจจุบันเป็นที่ตั้งของตัวอำเภอเชียงแสนและอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ริมแม่น้ำโขง ห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตามระยะทางของถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1 และ 1016) ประมาณ 59 กิโลเมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

อำเภอเชียงแสนได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการค้าต่างประเทศ โดยเชียงแสนได้รับการประกาศเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดเชียงราย” ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion - GMS)

โบราณสถานของเมืองเชียงแสนทั้งภายในและนอกเมืองส่วนใหญ่ได้รับการขุดค้น ขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว โดยเฉพาะกำแพงเมือง ป้อม คูเมือง รวมถึงวัดวาอารามต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยนโยบายของทางจังหวัดที่ผลักดันเชียงแสนขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลก

สภาพทั่วไปของเมืองเชียงแสนปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นเมือง เนื่องจากเป็นที่ตั้งของตัวอำเภอเชียงแสนและเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน พื้นที่เต็มไปด้วยอาคารสิ่งปลูกสร้างทั้งของส่วนราชการและเอกชน รวมถึงบ้านเรือนราษฎร ร้านค้า ตลาด ท่าเรือ วัด สถานศึกษา บ้านพักและรีสอร์ท หน่วยงานด้านการค้า ศุลกากร การท่องเที่ยว และพิพิธภัณฑ์ โดยมีโบราณสถานแทรกตัวอยู่เป็นระยะ

พื้นที่ด้านทิศใต้ภายในเมืองมีสภาพเป็นชุมชนหนาแน่นน้อยกว่าพื้นที่ด้านทิศเหนือ บางส่วนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งทำนา ทำไร่ และสวนผลไม้   

พื้นที่นอกเมืองส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม บางส่วนเป็นชุมชนเมือง นิคมอุตสาหกรรม และป่าไม้ (โดยเฉพาะบริเวณภูเขารอบเมืองเชียงแสน)

สถานที่สำคัญต่างๆ ของเชียงแสนล้วนมีประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์และตำนานท้องถิ่น พื้นที่ภายในและโดยรอบเชียงแสนมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมากมาย ทั้งทางประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทั้งยังเป็นแหล่งค้าขายระหว่างประเทศที่สำคัญ มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจมากมาย แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ เช่น เมืองโบราณเชียงแสน เมืองโบราณเชียงแสนน้อย วัดเจดีย์หลวง วัดพระธาตุจอมกิตติ วัดพระธาตุผาเงา วัดป่าสัก วัดพระเจ้าล้านทอง วัดพระยืน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน น้ำตกบ้านไร่ สบรวกหรือสามเหลี่ยมทองคำ เวียงเชียงเมี่ยงหรือเวียงสบรวก พระธาตุดอยปูเข้า หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น เวียงหนองล่ม ทะเลสาบเชียงแสน ฯลฯ

ภายในอำเภอเชียงแสนยังเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ไทยวน ไทลื้อ อู่โล้อาข่าดอยสะโง้ ม้งขาวบ้านธารทอง เย้าบ้านห้วยกว๊าน ส่วนประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวเชียงแสน เช่น ปอยหลวง ทานสลาก สืบชะตาเมือง

ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมโบราณสถานภายในเมืองเชียงแสนได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม มีการติดตั้งป้ายบอกทางและป้ายให้ข้อมูลโบราณสถานแต่ละแห่งไว้ตามจุดต่างๆ ภายในเมือง มีโรงแรมและรีสอร์ทหลายรายคอยให้บริการที่พักสำหรับผู้มาเยือน มีศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยว เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน ตั้งอยู่ข้างวัดมหาธาตุ ใกล้กับประตูเชียงแสน ริมกำแพงเมืองทิศตะวันตก   

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน เปิดให้บริการวันพุธ-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 8.30-16.30 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม โทร. 053-777-102

เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน โทร. 053-777081, 053-777002

อำเภอเชียงแสน โทร. 053-777-110, 053-777-115

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เชียงราย โทร. 053-744-674-5, 053-717-433

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, กรมธนารักษ์, เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน, อำเภอเชียงแสน, เอกชน

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กำแพงเมืองเชียงแสนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3673 วันที่ 8 มีนาคม 2478

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี มีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย ทำให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม

ที่ราบลุ่มเชียงแสนมีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม โดยมุมด้านฐานด้านทิศตะวันตกของสามเหลี่ยมอยู่บริเวณอำเภอแม่จัน มีลำน้ำจันไหลมาจากเทือกเขาสูงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านบ้านป่าสักน้อย บ้านปางหมอปวง ไปบรรจบกับลำน้ำคำ ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาสูง ผ่านดอยแม่แสลบทางทิศตะวันตก รวมเรียกว่าแม่น้ำคำ ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงแสนไปลงแม่น้ำโขงที่บริเวณสบคำ ห่างจากเมืองเชียงแสนไปประมาณ 3 กิโลเมตร

จากอำเภอแม่จันขึ้นไปทางทิศเหนือถึงอำเภอแม่สายมีเทือกเขาสูงเป็นขอบเขตด้านตะวันตกของที่ราบลุ่มและเป็นเทือกเขาซึ่งกั้นเขตแดนไทยกับพม่า ประกอบด้วยดอยสำคัญ เช่น ดอยตุง ดอยจ้อง ดอยเวา มีลำน้ำสายเล็กๆ ไหลลงไปรวมกับลำน้ำคำทางทิศตะวนตกเฉียงใต้ บางสายก็ไหลลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปรวมกับลำน้ำรวกซึ่งไหลไปออกแม่น้ำโขงบริเวณสบรวก หรือสามเหลี่ยมทองคำ เหนือเมืองเชียงแสนขึ้นไปประมาณ 8 กิโลเมตร

ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเชียงแสน มีกลุ่มภูเขาเตี้ยๆ ประกอบด้วยดอยมด ดอยป่าแดง ดอยจอมกิตติ และกลุ่มดอยชะโง้หรือดอยช้างงู กลุ่มดอยเหล่านี้เป็นต้นลำน้ำสายเล็กๆ ที่ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มทางทิศตะวันออกรวมกับลำน้ำเกี๋ยง ซึ่งไหลมาจากทางทิศเหนือและไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บริเวณบ้านป่าสัก เหนือเมืองเชียงแสนขึ้นไปประมาณ 1 กิโลเมตร

บริเวณส่วนยอดของที่ราบลุ่มเชียงแสนคืออำเภอแม่สาย มีลำน้ำสายไหลมาจากเทือกเขาสูงทางทิศตะวันตกผ่านลงมาเป็นเส้นเขตแดนไทย-พม่า รวมกับลำน้ำรวกแล้วไหลลงมาสู่แม่น้ำโขงที่สบรวกและขอบเขตด้านตะวันออกคือแม่น้ำโขง ซึ่งเริ่มตั้งแต่อำเภอแม่สายถึงอำเภอเชียงแสน

ธรณีสัณฐานโดยรอบเชียงแสนเป็นหินแกรนิต พอไพรี (Granite porphyry) และแกรโนไดโอไรต์(Granodiorite) ซึ่งครอบคลุมบริเวณแถบนี้และพื้นที่ข้างเคียงในรัศมีประมาณ 450 ตารางกิโลเมตร ทำให้ดินบริเวณนี้มีลักษณะเดียวกับชุดดินธาตุพนม (Tp-n) มีความลาดชันของพื้นที่ 1-3% เอียงลงสู่แม่น้ำโขง 

โบราณสถานของเมืองเชียงแสนส่วนใหญ่ได้รับการขุดค้น ขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว โดยเฉพาะกำแพงเมือง ป้อม คูเมือง รวมทั้งวัดวาอารามต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยนโยบายของทางจังหวัดที่ผลักดันเชียงแสนขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลก

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

370 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.1871 (ปีที่พญาแสนภูสถาปนาเมืองเชียงแสน)

อายุทางตำนาน

สมัยพุทธกาล (ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ, ตำนานสิงหนวัตกุมาร, ตำนานเมืองหิรัญนครเงินยาง)

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, ศาสนสถาน, เมืองโบราณ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เมืองเชียงแสนเป็นเมืองโบราณสำคัญสมัยล้านนา ภายในมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญมากมาย ซึ่งมีรูปแบบศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบของศิลปะล้านนาที่รับอิทธิพลมาจากส่วนกลางคือ เมืองเชียงใหม่ และส่วนหนึ่งได้มีพัฒนาการและปรับปรุงจนเกิดเป็นรูปแบบท้องถิ่นของตนเอง

เรื่องราวของเมือเชียงแสนปรากฏในตำนานหลายฉบับ โดยมีตำนานหลักที่สามารถอธิบายเรื่องราวของเมืองเชียงแสนอยู่ 3 ตำนาน ได้แก่ ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวัตกุมาร และตำนานเมืองหิรัญนครเงินยาง

เนื้อหาในตำนานหลักทั้ง 3 ตำนานต่างสอดคล้องสืบเนื่องกันเป็นลำดับ ทั้งหมดใช้อธิบายเรื่องราวซึ่งเกิดขึ้นบนที่ราบเชียงแสน มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายถึงความชอบธรรมในการขึ้นเป็นกษัตริย์ของต้นราชวงศ์มังราย และเพื่อต้องการกลมกลืนความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษพื้นเมืองให้เข้ากันได้กับพุทธศาสนา

แม้ว่าเรื่องราวในตำนานจะเก่าไปถึงสมัยพุทธกาล แต่จากการขุดค้นทางโบราณคดีและรูปแบบศิลปะ ยังไม่พบหลักฐานที่เก่าไปกว่า พ.ศ.1871 อันเป็นปีที่พญาแสนภูสถาปนาเมืองเชียงแสน

ทั้งนี้ ปรากฏบันทึกในพงศาวดารโยนกเกี่ยวกับการสถาปนาเมืองเชียงแสนของพญาแสนภูว่า พระองค์ได้สถาปนาเมืองบนเมืองเก่า เพื่อใช้เป็นเมืองป้องกันศึกทางเหนือ และใช้ควบคุมเมืองในเขตล้านนาตอนบน

กระทั่งถึงสมัยพญาผายู (พ.ศ.1888-1910) อำนาจการปกครองได้ย้ายจากเมืองเชียงแสนกลับไปเมืองเชียงใหม่เหมือนครั้งสมัยพญามังราย (พ.ศ.1839-1860) และตั้งแต่ พ.ศ.1889 เป็นต้นไป เมืองเชียงแสนก็ลดบทบาทลงเป็นเมืองสำคัญลำดับสองรองจากเมืองเชียงใหม่ และกลายเป็นเมืองในความควบคุมของเชียงใหม่ เมื่อเข้าสู่สมัยพระยาติโลกราช (พ.ศ.1985-2030)

พ.ศ.2101 ล้านนาตกอยู่ในอำนาจของพม่า ต่อมา พ.ศ.2244 พม่าได้ยกเมืองเชียงแสนขึ้นเป็นมณฑลหนึ่งของพม่า ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากระยะเวลาดังกล่าว ปริมาณการค้าทางบกของจีนกับรัฐไทตอนบนมีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เชียงแสนซึ่งเป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าตั้งแต่สมัยพระยามังรายกลับรุ่งเรือง กลายเป็นแหล่งชุมนุมทางการค้าที่สำคัญในเวลาต่อมา

ล่วงเข้าสู่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ.2347) พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช และพระยากาวิละ ยกทัพไปชิงเมืองเชียงแสนจากพม่า

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินทวิไชย เจ้าเมืองลำพูน ขึ้นไปฟื้นฟูเมืองเชียงแสนอีกครั้ง

พ.ศ.2442 เมืองเชียงแสนได้ยุบรวมเข้าในมณฑลพายัพของไทย ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด เมืองเชียงแสนจึงมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง ขึ้นกับอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ภายหลังวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2500 เชียงแสนจึงถูกยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเชียงแสน อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเชียงราย

เมืองประวัติศาสตร์เชียงแสนที่ปรากฏในปัจจุบัน มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า มีกำแพง 3 ด้าน ยกเว้นด้านทิศตะวันออกที่ติดแม่น้ำโขง มีประตูเมือง 5 ประตู ได้แก่ ประตูยางเทิง (ด้านทิศเหนือ) ประตูดินขอ (ด้านทิศใต้) ประตูหนองมูด ประตูป่าสัก และประตูทัพม่าน (ด้านทิศตะวันตก)             มีป้อมมุมเมือง 2 ป้อม คือ ป้อมทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้

ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 กล่าวถึงประตูเมืองที่ต่างออกไปอีก 6 ประตู คือ ประตูรั้วปีก ท่าอ้อย ท่าสุกัม ท่าหลวง ท่าเสาดิน และท่าคาว ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขง ด้านทิศตะวันออกของเมือง คาดว่าประตูเหล่านี้อาจถูกแม่น้ำโขงเซาะพังทลายลงหมดแล้ว

เอกสารฉบับเดียวกันยังได้กล่าวถึงวัดในเมืองเชียงแสนว่ามีทั้งสิ้น 139 วัด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ วัดภายในกำแพงเมือง 76 วัด เช่น วัดเจดีย์หลวง วัดผ้าขาวป้าน วัดพระเจ้าล้านทอง วัดอาทิต้นแก้ว วัดมุงเมือง ฯลฯ และวัดนอกกำแพงเมือง 63 วัด เช่น วัดป่าสัก พระธาตุจอมกิตติ พระธาตุสองพี่น้อง วัดป่าแดง วัดกู่เต้า ฯลฯ

กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์โบราณสถานในเมืองเชียงแสนอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ.2500 เป็นต้นมา กระทั่งปี พ.ศ.2530 จึงได้ปรับปรุงรูปแบบการจัดการในลักษณะ “นครประวัติศาสตร์” หรือ “เมืองประวัติศาสตร์”

ผังเมืองและกำแพงเมือง

เมืองเชียงแสนเป็นเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ตั้งอยู่บริเวณที่ราบริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ฝังเมืองวางตัวในแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ ปัจจุบันปรากฏแนวกำแพงเมือง 3 ด้าน คือ กำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ตะวันตก และใต้ ส่วนด้านทิศตะวันออกไม่ปรากฏแนวกำแพง สันนิษฐานว่าเสียหายไปแล้วทั้งหมดจากการเซาะพังของแม่น้ำโขง เพราะในราว พ.ศ.2513 ยังคงมีผู้พบเห็นร่องรอยของป้อมมุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณริมแม่น้ำโขง

ปัจจุบันกำแพงเมืองเชียงแสนมีลักษณะเป็นกำแพงอิฐก่อครอบแกนดินไว้ภายใน (แกนดินอาจเกิดขึ้นจากการขุดเอาดินมาจากคูเมือง แล้วพูนขึ้นเป็นคันดินสูง) มีความสูงตั้งแต่ส่วนฐานจนจรดระดับพื้นเชิงเทินประมาณ 4-5 เมตร ฐานเสมาคงสภาพบางส่วน เหนือขึ้นไปเป็นตำแหน่งใบเสมาซึ่งปรักหักพังหมดสภาพ ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกปัจจุบันปรากฏหลักฐานแนวกำแพงเพียงชั้นเดียว ส่วนแนวกำแพงเมืองด้านทิศใต้บางส่วนยังคงพบร่องรอยของกำแพงเมืองชั้นนอก ซึ่งมีลักษณะเป็นคันดินสูงประมาณ 2.5-3 เมตร บริเวณแนวกำแพงปรากฏหลักฐานประตูเมืองจำนวน 5 ประตู และป้อมจำนวน 6 ป้อม

ลักษณะผนังกำแพงด้านในเมืองปรากฏเป็นการก่ออิฐเป็นแบบขั้นบันได 7-9 ขั้น รับกับพื้นเชิงเทินบนกำแพง การก่อผนังกำแพงในลักษณะนี้มีประโยชน์ในการขนถ่ายกำลังทหารประจำตามเชิงเทิน รวมทั้งด้านความแข็งแรง เพื่อเป็นการค้ำยันป้องกันการพังทลายของคันดินตามความลาดชันของเนิน

ลักษณะเชิงเทินก่อขึ้นด้วยอิฐเป็นแท่นทึบตัน มีความสูง 0.7-1 เมตร กว้าง 5.3 เมตร และมีความยาวไปตลอดแนวคันดิน เชิงเทินเป็นส่วนที่ถูกใช้งานด้านการทหาร เช่น ยืนเวรยามประจำการในการสู้รบข้าศึกที่อยู่นอกเมือง บนเชิงเทินปรากฏแท่นอิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส วางตัวทแยงหันด้านแหลมเข้าหากัน ต่อเนื่องไปตามความยาวกำแพงเมือง

เสมาของกำแพงพบการก่อเสริมฐานเสมาในสมัยหลัง โดยก่อทับบนฐานเสมาสมัยแรกบนแท่นอิฐรูปสี่เหลี่ยมหันมุมแหลมหากัน ก่อทึบตันขนาดกว้างด้านละประมาณ 2.8 เมตร สูง 0.6-0.8 เมตร มีระยะห่างระหว่างแท่นอิฐแต่ละระดับประมาณ 10-20 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าแท่นอิฐนี้อาจถูกใช้เป็นฐานส่วนกำบัง (ใบเสมา) ในระยะแรก และเป็นฐานเสมาในสมัยหลังสุด หรืออาจถูกใช้เป็นส่วนกำบังโดยอาจไม่มีใบเสมาก็เป็นได้ เนื่องจากความจำเป็นในภาวะสงคราม จึงไม่ได้สร้างส่วนกำบังให้มีลักษณะเป็นใบเสมา แต่งสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มความสูงในการกำบังเท่านั้น

กำแพงเมืองด้านทิศเหนือ แนวกำแพงคงสภาพยาวประมาณ 950 เมตร บริเวณแนวด้านตะวันออกของกำแพงถูกรื้อออกบางส่วนเพื่อก่อสร้างถนนริมโขง (ทางหลวงหมายเลข 1290 แม่สาย-เชียงของ) และกำแพงช่วงก่อนถึงแม่น้ำโขงเล็กน้อยมีร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่ามีการพังทลายลง โดยการกัดเซาะของแม่น้ำโขง ผลจากการดำเนินงานของกรมศิลปากรในปี 2543-2544 พบว่าแนวกำแพงที่เห็นในปัจจุบันนี้เป็นแนวกำแพงที่เกิดจากการก่อสร้างกำแพงเมืองเชียงแสนครั้งที่ 2 กล่าวคือ จากการขุดแต่งในครั้งนั้นพบผนังกำแพงด้านคูเมืองเป็นผนังตั้งตรง ส่วนกำแพงด้านในมีการก่ออิฐลดชั้นคล้ายบันได และการเรียงอิฐซ้อนเหลื่อมกันที่ระดับบนของแนวกำแพงระหว่างแนวผนังด้านนอกและด้านใน พบว่ามีการปูอิฐหน้ากระดานความสูงประมาณ 20-25 เซนติเมตร รองรับแนวอิฐในรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร วางเรียงต่อเนื่องกันตลอดแนวกำแพง เหนือขึ้นไปเป็นแนวฐานเสมาและใบเสมา 

กำแพงเมืองด้านทิศเหนือมีป้อมประตูเมือง 1 ประตู คือ ประตูยางเทิง และป้อม 2 ป้อม คือ ป้อมยางเทิง และป้อมมุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก กำแพงยาวประมาณ 2.55 กิโลเมตร ผลการดำเนินงานทางโบราณคดีของกรมศิลปากรระหว่างปี 2543-2544 พบร่องรอยการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์แนวกำแพงบริเวณนี้ไม่ต่ำว่า 3 ครั้ง คือ

การก่อสร้างกำแพงเมืองครั้งแรก ปัจจุบันเห็นเป็นลักษณะแนวซากอิฐปรักหักพังอยู่ภายในแกนกลางของกำแพง

การก่อสร้างกำแพงเมืองครั้งที่ 2 เป็นการก่อสร้างขึ้นใหม่ตามแผนผังของเมืองเดิม โดยมีการเตรียมพื้นที่ด้วยการนำหินกรวดแม่น้ำขนาดเล็กมาโรยทับกำแพงเมืองเดิมก่อนแล้วจึงก่อสร้างเชิงเทิน และใบเสมาแนวกำแพงที่สร้างใหม่นี้มีความสูงตั้งแต่พื้นเชิงเทินจรดใบเสมาประมาณ 6 เมตร พื้นเชิงเทินกว้างประมาณ 4 เมตร อิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเพื่อยึดโครงสร้างของผนังกำแพงด้านในและด้านนอก

การปฏิสังขรณ์กำแพงเมืองครั้งที่ 3 โดยการเจาะตัดพื้นเชิงเทินด้านนอก และมีการปรับแนวใบเสมารวมทั้งระยะแนวพื้นเชิงเทินให้มีขนาดกว้างเฉลี่ยประมาณ 2 เมตร หลังการปฏิสังขรณ์กำแพงเมืองเชียงแสนในครั้งนั้นอาจมีการปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง และเป็นเพียงการปฏิสังขรณ์ในส่วนที่ปรักหักพังเป็นจุดๆ หลักฐานจากจารึกบนก้อนอิฐที่พบจากการขุดแต่ง ระบุว่าอิฐก้อนนั้นปั้นขึ้นใน พ.ศ.2343 ซึ่งเป็นเวลาก่อนเมืองเชียงแสนแตกเพียง 3 ปี 

กำแพงเมืองด้านนี้มีประตู 3 ประตู และป้อม 3 ป้อม คือ ประตูหนองมุดและป้อมหนองมูด ประตูเชียงแสนและป้อมเชียงแสน ประตูทัพม่านและป้อมทัพม่าน

กำแพงเมืองด้านทิศใต้ กำแพงยาวประมาณ 850 เมตร มีแนวกำแพง 2 ชั้น คือ กำแพงชั้นในและกำแพงชั้นนอก

กำแพงชั้นในมีลักษณะเป็นกำแพงก่ออิฐ ส่วนกำแพงชั้นนอกเป็นกำแพงดิน ซึ่งปัจจุบันถูกทำลายจนหมดสภาพ แนวกำแพงด้านนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงมีลักษณะค่อนข้างเตี้ยเมื่อเทียบกับกำแพงด้านทิศเหนือและตะวันตก จึงนับเป็นจุดด้อยด้านยุทธศาสตร์ ทำให้ทัพของล้านนาภายใต้การนำของพระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่ ระดมเข้าโจมตีแนวกำแพงด้านนี้ในสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างล้านนาและพม่า พ.ศ.2346

บริเวณแนวด้านตะวันออกของกำแพงด้านนี้ถูกรื้อออกเพื่อก่อสร้างถนนริมโขง (ทางหลวงหมายเลข 1290 แม่สาย-เชียงของ) และสถานที่ราชการ กำแพงเมืองด้านทิศใต้นี้มีประตู 1 ประตู และป้อม 2 ป้อม คือ ประตูดินขอ ป้อมดินขอ และป้อมมุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้

ประตูเมืองเชียงแสน

ประตูเมืองเชียงแสนที่ปรากฏหลักฐานในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 5 ประตู คือ ประตูยางเทิง ประตูหนองมูด ประตูเชียงแสนหรือประตูป่าสัก ประตูทัพม่าน และประตูดินขอ

1. ประตูยางเทิง (มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ยางเถิง ยางถึง ยางเถื่อน นางเซิง นางเซิ้ง) อยู่ที่กำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ห่างจากมุมกำแพงด้านตะวันตกเฉียงเหนือ 700 เมตร ประตูกว้าง 5 เมตร ขอบประตูมีโครงสร้างก่ออิฐสอดิน มีขนาดกว้าง 10 เมตร สูงประมาณ 4.8 เมตร ปัจจุบันมีถนนคอนกรีตตัดผ่านช่องประตู

2. ประตูหนองมูด ตั้งอยู่ห่างจากมุมกำแพงด้านทิซตะวันตกเฉียงเหนือ 800 เมตร ประตูเมืองมีขนาดเล็ก กว้าง 4.9 เมตร ขอบประตูมีโครงสร้างก่ออิฐสอดิน กว้างประมาณ 4 เมตร สูงประมาณ 3.4 เมตร ปัจจุบันมีถนนคอนกรีตตัดผ่านช่องประตู

3. ประตูเชียงแสน ปัจจุบันเรียกประตูเจ้าพ่อป่าสักหรือประตูป่าสัก เป็นประตูที่ใหญ่ที่สุดและอาจจะสำคัญที่สุดในสมัยโบราณ ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางของกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก ห่างจากประตูหนองมูดไปทางทิศใต้ 370 เมตร โครงสร้างขอบประตูถูกไถทำลายลงไปมาก เมื่อมีการก่อสร้างถนนพหลโยธินผ่านเข้าประตูเมืองเชียงแสน ความกว้างของประตูวัดได้ 9.7 เมตร กำแพงเมืองส่วนที่เป็นขอบประตูสูง 3.6 เมตร

4. ประตูทัพม่าน (ท่าม่าน) อยู่ที่กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก ห่างจากประตูเชียงแสนไปทางทิศใต้ 560 เมตร ช่องประตูกว้าง 4.6 เมตร โครงสร้างขอบประตูก่ออิฐสอดิน กว้าง 5 เมตร สูง 3.5 เมตร ปัจจุบันมีถนนคอนกรีตตัดผ่านช่องประตู

5. ประตูดินขอ อยู่ที่กำแพงเมืองด้านทิศใต้ ห่างจากมุมกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออก 700 เมตร ช่องประตูกว้าง 3 เมตร โครงสร้างขอบประตูก่ออิฐสอดิน ขนาดกว้าง 5.2 เมตร สูงประมาณ 4 เมตร ปัจจุบันมีถนนคอนกรีตตัดผ่านช่องประตู

ป้อมของเมืองเชียงแสน

1. ป้อมประตูยางเทิง (มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ยางเถิง ยางถึง ยางเถื่อน นางเซิง นางเซิ้ง) เป็นป้อมประกอบอยู่หน้าประตูยางเทิง ป้อมมีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า ขนาดกว้าง 30 เมตร ตัวป้อมก่อด้วยอิฐสอดินตามแนวเส้นรอบวงหนา 2.5 เมตร สูงประมาณ 2.5 เมตร มีคูน้ำซึ่งขุดต่อมาจากคูเมืองล้อมรอบ คูน้ำมีขนาดกว้าง 12 เมตร ภายในป้อมเป็นที่ว่าง มีแนวทางเดินก่ออิฐ ถมดินต่อออกมาจากเมืองตรงขอบประตูยางเทิงเชื่อมกับป้อม บนสันป้อมก่อเป็น 2 ระดับ คือด้านนอกก่ออิฐสูงขึ้นเป็นแนวป้องกันและด้านในก่อเป็นพื้นที่ทางเดินแคบๆ โดยรอบ จากการขุดแต่งของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2544 ได้พบร่องรอยสถาปัตยกรรมคล้ายท่อน้ำวางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก สันนิษฐานว่าอาจเป็นท่อที่ใช้ในการระบายน้ำจากคูเมืองลงสู่แม่น้ำโขง

พงศาวดารโยนกระบุว่าประตูยางเทิงเป็นประตูที่พญาแสนภูเสด็จมาตั้งมั่นเอาชัยมงคลก่อนเสด็จเข้าประทับในเมืองเชียงแสน

ปัจจุบันตัวป้อมด้านทิศตะวันตกบางส่วนถูกรื้อออกเพื่อก่อสร้างถนนคอนกรีต ภายในป้อมเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่นางเซิ้ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของเมืองเชียงแสน

2. ป้อมมุมกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นป้อมที่สร้างเสริมต่อขึ้นไปบนมุมกำแพงเมือง มีลักษณะเป็นรุปสี่เหลี่ยมคางหมู ตัวป้อมก่อด้วยอิฐและมีความหนาประมาณ 1.7 เมตร ภายในป้อมถมดินสูง ส่วนบนของผนังป้อมก่ออิฐเป็น 2 ระดับ คือ ส่วนที่ติดกับด้านนอกก่ออิฐหนา 1.2 เมตร สูงจากระดับดินถมประมาณ 1.5 เมตร และระดับที่ 2 ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นทางเดินบนสันป้อมด้านใน มีขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร สูงจากระดับดินถมประมาณ 1.1 เมตร ความสูงของป้อมวัดจากฐานที่ติดกับคูเมืองด้านล่างถึงสันป้อมประมาณ 9 เมตร

3. ป้อมมุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ลักษณะสถาปัตยกรรมมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตัวป้อมตั้งอยู่บนเนินดิน ผลจากการดำเนินงานของกรมศิลปากร พ.ศ.2543-2544 พบว่ามีการปฏิสังขรณ์ไม่ต่ำว่า 2 ครั้ง และเนื่องมาจากป้อมแห่งนี้ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ และมีแม่น้ำคำไหลผ่าน จึงนับเป็นชัยภูมิที่ดีของเมืองเชียงแสน และในทางตรงกันข้ามก็เป็นจุดที่ได้รับการโจมตีอย่างหนักจากทัพเมืองน่านและเมืองนครลำปางที่พระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่ให้เข้าโจมตีเมืองเชียงแสนด้านทิศใต้ ครั้งเมืองเชียงแสนแตกใน พ.ศ.2346 โดยได้พบหลักฐานที่สอดคล้องกัน คือกระสุนปืนทั้งที่ทำด้วยตะกั่วและเหล็กจำนวนมาก รวมทั้งยังพบเศษตะกั่วที่เกิดจากการหลอมแท่งตะกั่วเพื่อทำกระสุนปืนขึ้นบริเวณนี้ด้วย

สภาพปัจจุบันของป้อมถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้และวัชพืชต่างๆ

4. ป้อมประตูหนองมูด

ตั้งอยู่บริเวณกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก หน้าประตูหนองมูด ผังป้อมอยู่ในรูปวงโค้งเกือกม้าก่อด้วยอิฐสอดิน ฐานกว้าง 2.5 เมตร ยาว 70 เมตร สูง 2.8 เมตร บริเวณฐานป้อมด้านนอกและด้านในมีเนินดินทับถมกว้างด้านละ 2-3 เมตร หนา 1.5-2 เมตร ที่ระยะสุดท้ายของผนังด้านทิศตะวันตกของป้อม พบหลักฐานแนวอิฐก่อตรงขึ้นจากระดับพื้นดินในสภาพปรักหักพัง โดยส่วนฐานตั้งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับพื้นดินบริเวณกลางป้อม ห่างจากระยะสุดท้ายของผนังด้านตัด

ด้านทิศใต้ของป้อม 0.8 เมตร มีถนนคอนกรีตขนาดกว้าง 3 เมตร ตัดจากพื้นที่ด้านในเมืองเชียงแสน ผ่าประตูหนองมูดออกสู่ถนนรอบเวียงด้านนอก ซึ่งวางตัวเลียบแนวกำแพงเมืองเชียงแสนด้านทิศตะวันตก

บริเวณพื้นที่ด้านเหนือของป้อม พบแนวคันดินเชื่อมต่อระหว่างป้อมและผนังด้านทิศเหนือของประตูหนองมูด ด้านนอกของป้อมมีคูน้ำกว้างประมาณ 12 เมตร คูน้ำนี้เชื่อมกับคูเมืองด้านทิศเหนือ และลาดชันขึ้นทางทิศตะวันตก จนเป็นระดับเดียวกับถนนคอนกรีตที่ตัดผ่านป้อม

5. ป้อมประตูเชียงแสน

แบ่งออกเป็น 2 ป้อม ได้แก่ ป้อมประตูเชียงแสนหมายเลข 1 และป้อมประตูเชียงแสนหมายเลข 2

ป้อมประตูเชียงแสนหมายเลข 1 เป็นป้อมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่หน้าประตูเชียงแสนเยื้องไปทางทิศใต้ แผนผังเป็นรูปเกือกม้า ขนาดกว้างที่ส่วนฐาน 45 เมตร ยาว 65 เมตร ตัวป้อมก่ออิฐสอดิน ความหนาส่วนฐาน 2.5 เมตร ส่วนบนสันป้อมหนา 1.7 เมตร สูงประมาณ 3.6 เมตร

ภายในป้อมสันนิษฐานว่าคงจะถมดินที่ฐานเพื่อใช้เป็นทางขึ้นบนสันป้อม ลักษณะสันป้อมก่อเป็น 2 ระดับ คือ ระดับเชิงเทิน อยู่สูงจากระดับทางเดิน 90 เซนติเมตร มีความหนา 1.8 เมตร มีร่องเจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตร และชั้นทางเดินบนสันป้อมด้านในมีความกว้าง 90 เซนติเมตร รอบป้อมมีคูน้ำกว้างประมาณ 10 เมตรล้อมรอบ

ปัจจุบันพื้นที่ภายในป้อมเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อป่าสัก สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงแสน

ป้อมประตูเชียงแสนหมายเลข 2 ตั้งอยู่ตรงกับประตูเชียงแสน ห่างจากป้อมหมายเลข 1 ไปทางทิศเหนือประมาณ 10 เมตร มีลักษณะเป็นป้อมรูปครึ่งวงกลม  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 เมตร ตัวป้อมก่อด้วยอิฐสอดินหนา 2.4 เมตร สูง 2.2 เมตร สันป้อมด้านบนในปัจจุบันพังทลายลงหมดแล้ว แต่สันนิษฐานว่าคงจะก่ออิฐเป็น 2 ระดับเช่นเดียวกับป้อมหมายเลข 1

รอบป้อมมีคูน้ำกว้าง 10 เมตรล้อมรอบ คูน้ำนี้ต่อกับคูน้ำที่ล้อมรอบป้อมหมายเลข 1 และต่อกับคูเมือง ส่วนที่มุมฐานป้อมด้านทิศเหนือมีทางเดินก่ออิฐสอดิน กว้าง 1 เมตร สูง 1.3 เมตร เชื่อมต่อกับกำแพงเมืองบริเวณประตูเชียงแสน ในปัจจุบันทั้งป้อมหมายเลข 1 และ 2 มีถนนพหลโยธินตัดผ่านเข้าสู่เมืองเชียงแสน

6. ป้อมประตูทัพม่าน (ท่าม่าน) ตั้งอยู่หน้าประตูทัพม่านหรือท่าม่าน ลักษณะผังเป็นรูปเกือกม้าขนาดสั้น ส่วนฐานกว้าง 38 เมตร ยาว 30 เมตร ผนังป้อมก่ออิฐสอดิน ฐานป้อมหนาประมาณ 5 เมตร สันป้อมหนาประมาณ 2.5 เมตร ด้านในก่ออิฐลดหลั่นลงมา ลักษณะเป็นขั้นบันได มีถนนตัดผ่านผนังป้อมด้านใต้ขาดออกเป็นช่องกว้างประมาณ 4.5 เมตร ผนังป้อมส่วนที่สูงที่สุดประมาณ 3.2 เมตร ภายในป้อมไม่ถมดิน มีคูน้ำกว้าง 12 เมตรล้อมรอบ

7. ป้อมประตูดินขอ ตั้งอยู่หน้าประตูดินขอ บริเวณกำแพงด้านทิศใต้ แผนผังป้อมมีลักษณะคล้ายครึ่งวงกลมเกือกม้า ความกว้างส่วนฐาน 36 เมตร ยาว 14 เมตร โครงสร้างของป้อมก่อด้วยอิฐสอดิน ฐานป้อมกว้าง 5.1 เมตร สันป้อมกว้างประมาณ 2.5 เมตร มีคูน้ำซึ่งต่อกับคูเมืองล้อมรอบ คูน้ำนี้กว้าง 13 เมตร และคูเมืองกว้างประมาณ 15 เมตร ปัจจุบันตัวป้อมด้านทิศใต้บางส่วนถูกรื้อออกเพื่อก่อสร้างถนนคอนกรีต

คูเมืองเชียงแสน

คูเมืองเชียงแสนมีความกว้างประมาณ 11-18 เมตร ลึกประมาณ 4 เมตร ด้านทิศตะวันตกของเมืองมีร่องน้ำโบราณ ไหลเชื่อมต่อระหว่างคูเมืองกับแม่คำและหนองบัวซึ่งเป็นทางน้ำโบราณ ร่องส่งน้ำนี้มีความกว้าง 1.5-3 เมตร ในสมัยที่พม่าครองเมืองเชียงแสน ได้ปรากฏหลักฐานว่ามีการขุดร่องส่งน้ำเพื่อชักน้ำจากแหล่งต่างๆ เข้ามาในคูเมือง

สภาพภายในเมืองปัจจุบัน

สภาพทั่วไปของเมืองเชียงแสนปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นเมือง เนื่องจากเป็นที่ตั้งของตัวอำเภอเชียงแสนและเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน พื้นที่เต็มไปด้วยอาคารสิ่งปลูกสร้างทั้งของส่วนราชการและเอกชน รวมถึงบ้านเรือนราษฎร ร้านค้า ตลาด ท่าเรือ วัด สถานศึกษา บ้านพักและรีสอร์ท หน่วยงานด้านการค้า ศุลกากร การท่องเที่ยว และพิพิธภัณฑ์ โดยมีโบราณสถานแทรกตัวอยู่เป็นระยะ พื้นที่ด้านทิศใต้ภายในเมืองมีสภาพเป็นชุมชนหนาแน่นน้อยกว่าพื้นที่ด้านทิศเหนือ บางส่วนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งทำนา ทำไร่ และสวนผลไม้   

พื้นที่นอกเมืองส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม บางส่วนเป็นชุมชนเมือง นิคมอุตสาหกรรม และป่าไม้ (โดยเฉพาะบริเวณภูเขารอบเมืองเชียงแสน)

อำเภอเชียงแสนได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการค้าต่างประเทศ โดยเชียงแสนได้รับการประกาศเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดเชียงราย” ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion - GMS)

โบราณสถานภายในเมืองเชียงแสนแม้ว่าจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว แต่บางส่วนยังคงถูกรุกล้ำและถูกบดบังทัศนียภาพจากสิ่งก่อสร้างต่างๆ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี