พระธาตุดอยสุเทพ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดดอยสุเทพ, วัดอรหันตา, อุจฉุบรรพต, ดอยอ้อยช้าง, ดอยกาละ

ที่ตั้ง : เลขที่ 124 บ้านดอยสุเทพ ม.9 ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่

ตำบล : สุเทพ

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.804919 N, 98.921691 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตรงไปตามถนนอินทรวโรรสประมาณ 50 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระปกเกล้า ตรงไป 650 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนศรีภูมิ ตรงไป 950 เมตร สู่ถนนอารักษ์ ตรงไป 180 เมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนบุญเรืองฤทธิ์ ตรงไป 350 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข 1004 ตรงไป 400 เมตร เลียบขวาไปตามถนนหมายเลข 1004 ประมาณ 9.10 กิโลเมตร สู่ถนนศรีวิชัย ขับตรงไปประมาณ 1.7 กิโลเมตรก็จะถึงพระธาตุดอยสุเทพ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

พระธาตุดอยสุเทพเป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ที่ประทับช่วงฤดูหนาวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

     มีงานประเพณีเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ คือ ในวันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 การเดินทางจะเดินด้วยเท้า ถือธูปเทียนเป็นริ้วขบวนขึ้นไปนมัสการพระธาตุ จากนั้นก็จะบำเพ็ญศีล วิปัสสนา ทำบุญตักบาตรในวันรุ่งขึ้น (ดอยสุเทพ 2559)

     นอกจากนี้ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพยังมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีอีกด้วย (บุปผา คุณยศยิ่ง 2542 : 4427)

     สำหรับการเดินทางเข้านมัสการพระธาตุดอยสุเทพมี 2 ช่องทาง คือ

1.บันไดนาค นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้น-ลงบันไดนาคได้ตลอดทั้งวัน แต่จะมีการตั้งด่านตรวจของอุทยานฯตั้งแต่เวลา 20.00 - 06.00 น.

2.รถรางไฟฟ้า เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น. ในราคาขึ้น – ลง คนไทยคนละ 20 บาท และชาวต่างชาติ 50 บาท (ดอยสุเทพ 2559)

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 หน้า 3682 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478

ภูมิประเทศ

ภูเขา

สภาพทั่วไป

พระธาตุดอยสุเทพ ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่ยังมีการใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นโท สังกัดมหานิกาย

วัดพระธาตุดอยสุเทพตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ บนอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ดอยปุย โดยเชิงดอยห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

1,055 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

ทิวเขาดอยสุเทพ-ปุยประกอบด้วยหินแปรหลายชนิด และหินอัคนีชนิดหินแกรนิตซึ่งชื่อทางธรณีวิทยาเรียกว่า “กลุ่มหินฐานซับซ้อน” และสันนิษฐานว่ามีอายุถึงมหายุคพรีแคมเบรียน มีอายุประมาณ 600 ล้านปีมาแล้ว หินกลุ่มนี้ ได้แก่ หินไนส์ หินชีสต์ หินแคลซิลิเกต หินอ่อนโดยมีหินแกรนิตและหินเพกมาไทต์แทรกบริเวณฐานและแก่นกลางของทิวเขามีหินควอตไซต์อายุแคมเบรียนและหินปูน อายุออร์โดวิเชียนวางซ้อนทับบริเวณทางตอนใต้ของดอยสุเทพและถ้ำบริจินดาเชิงดอยอินทนนท์

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 20

อายุทางตำนาน

พุทธศตวรรษที่ 14

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2536

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สถาบันวิจัยสังคม ม.เชียงใหม่

ผลการศึกษา :

หนังสือ “คร่าวดอยสุเทพและคร่าวซอถนนในเมืองเชียงใหม่” เป็นหนังสือที่ปริวรรตมาจากเอกสารใบลานที่สำรวจพบที่วัดเชียงมั่น ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จารด้วยอักษรธรรมล้านนา ไม่ปรากฏชื่อผู้คัดลอก ส่วนกวีผู้แต่งคือ แสนพรหมโวหาร แต่งถวายพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และพระราชเทวีทิพย์เกสร กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์

ชื่อผู้ศึกษา : ประวิทย์ ตันตลานุกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์

ผลการศึกษา :

หนังสือ “ตำนานวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เชียงใหม่” เป็นหนังสือที่รวบรวมประวัติพระธาตุดอยสุเทพเกี่ยวกับการสร้างวัดตั้งแต่ในสมัยพระเจ้ากือนา การบูรณะวัดพระธาตุในครั้งแรกในสมัยพระเจ้าเกษเกล้า (พ.ศ.2068) การสร้างเพิ่มเติมในบริเวณต่างๆของวัด ตลอดจาการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ รวมถึงรายนามเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯตั้งแต่แรกจนปัจจุบัน

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ บูรณะซ่อมแซมบันได นาคทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร พบว่ามีการบูรณะบันไดนาคใหม่โดยการทำความสะอาดสภาพผิวเดิม ปูกระเบื้องใหม่ ปรับระดับพื้นที่ และก่อสร้างแนวรั้วอิฐโชว์

ชื่อผู้ศึกษา : ห.จ.ก.เจติยาราคอนสตรัคชั่น

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ห.จ.ก.เจติยาราคอนสตรัคชั่น โดยความควบคุมของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กรมศิลปากร ศาลาบาตรหรือระเบียงคตเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปน้อยใหญ่ ผนังศาลาบาตรเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติ และพุทธประวัติการประดิษฐานพระธาตุ ณ ดอยสุเทพ และเนื่องจากสภาพของศาลาบาตรชำรุดทรุดโทรม และมีน้ำรั่วซึมจึงได้ทำการบูรณะใหม่ให้ถูกวิธี

ชื่อผู้ศึกษา : ห.จ.ก.โบราณนุรักษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

จากการสำรวจและขุดค้นบริเวณพื้นที่ดอยสุเทพทำให้สามารถจัดลำดับทางวัฒนธรรมของพื้นที่ได้ 6 สมัย คือ 1.สมัยหินกลาง (Mesolithic) อายุประมาณ 10,000 ปีขึ้นไป พบเครื่องมือหินกะเทาะประเภทแกนหินและสะเก็ดหินจำนวนไม่มาก 2.สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าตรงกับช่วงสมัยหินใหม่ (Neolithic) พบเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ กลุ่มคนอาศัยอยู่ที่ราบเชิงเขา สัมพันธ์กับวิธีชีวิตแบบเกษตรกรรม 3.สมัยตำนาน ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่มีความสัมพันธ์กับตำนานซึ่งปรากฏในราวพุทธศตวรรษที่ 14 มีเพียงเรื่องเล่าจากชาวบ้านว่าบริเวณถ้ำฤๅษีเคยพบพระพิมพ์แบบหริภุญไชย แต่หลักฐานเหล่านั้นถูกทำลายไปแล้ว 4.สมัยล้านนา มีการใช้พื้นที่หลายครั้งแต่โดดเด่นในสมัยของพญากือนา (พ.ศ.1898-1928) คือ การสร้างพระธาตุดอยสุเทพ สมัยพญาสามฝั่งแกน (พ.ศ.1945-1984) สร้างเวียงเจ็ดลิน และในสมัยพระเมืองแก้ว (พ.ศ.2038-2068) มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุดอยสุเทพและสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆเพิ่มเติม 5.สมัยครูบาศรีวิชัย มีกิจกรรมการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เมื่อ พ.ศ.2477-2478 และสร้างวัดตามจุดต่างๆเลียบไปกับถนนศรีวิชัย 6.สมัยปัจจุบัน เป็นอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ดอยปุย

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ประวัติศาสตร์

ผลการศึกษา :

จากการศึกษาของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ พบว่าวัดพระธาตุดอยสุเทพสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา (พ.ศ.1926) เป็นที่เคารพบูชาของชาวเชียงใหม่ มีการบูรณะครั้งแรกในสมัยพระเกษเกล้า ในปีพ.ศ.2068 และมีการก่อสร้างเพิ่มเติมในสมัยต่อๆมา ได้แก่ พระวิหาร ศาลาระเบียงรอบองค์พระธาตุ บันไดนาค ทางเดินขึ้นพระธาตุ ถนนขึ้นดอยสุเทพ ปัจจุบันกรมศิลปากรเป็นหน่วยงานหลักที่มีส่วนในการบูรณะและเสริมสร้างความมั่นคงอาคารสิ่งก่อสร้างในวัดพระธาตุดอยสุเทพ

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พระธาตุดอยสุเทพสร้างในสมัยพระเจ้ากือนา (พ.ศ.1929) กล่าวคือ เมื่อพระเจ้ากือนาได้อาราธนาพระสุมนเถระมาจากกรุงสุโขทัย พระสุมนเถระได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย 2 องค์ หลังจากที่บรรจุองค์หนึ่งไว้ที่เจดีย์วัดสวนดอกแล้วจึงได้อาราธนาอีกองค์หนึ่งขึ้นหลังช้างเพื่อที่จะหาที่ประดิษฐาน ช้างเดินไปถึงยอดดอยสุเทพแล้วคุกเข่าลงไม่ยอมเดินต่อ จึงโปรดให้สร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นในปี พ.ศ.1927 ต่อมาในสมัยของพระเมืองแก้วโปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่และเสริมเจดีย์ให้กว้างขึ้นในปี พ.ศ.2069 (คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ 2542 : 87)

ในปี พ.ศ.2100 พระมหาญาณมงคลโพธิเถระ เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้สร้างบันไดหิน ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบันไดนาคโบกปูน

ในปี พ.ศ.2348 สมัยพระเจ้ากาวิละ โปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุอีกครั้ง

ในปี พ.ศ.2478 ครูบาศรีวิชัยกับศิษานุศิษย์และประชาชนร่วมกันสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ มีความยาว 12 กิโลเมตร ใช้เวลาในการสร้าง 4 เดือน 22 วัน

พระธาตุดอยสุเทพได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เมื่อ 31 พ.ค.2506 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2010 (กรมศิลปากร 2559)

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1.เจดีย์ เป็นทรงมอญ ที่ฐานเจดีย์มีพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรจุอยู่

องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นมาเป็นชั้นลูกแก้วย่อเก็จ มีเส้นลวดคาดสี่เส้นจากชั้นลูกแก้วย่อเก็จขึ้นไปเป็นฐานปัทม์สิบสองเหลี่ยม 3 ชั้น รองรับมาลัยเถา 5 ชั้น ขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง 12 เหลี่ยม บัลลังค์ 12 เหลี่ยม ตัวองค์เจดีย์ปิดทองจังโกหมดทั้งองค์ มีระเบียงล้อมโดยรอบ

รอบองค์เจดีย์ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างสำคัญ 5 ประการ คือ

1.1 ฉัตร  4 มุม ทำด้วยทองเหลือง สร้างโดยพระเจ้ากาวิละ เมื่อ พ.ศ.2348 เป็นสัญลักษณ์ของความร่มเย็น

1.2 สัตติบัญญชร หรือ รั้วหอก อยู่รอบพระธาตุ สร้างขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันการแย่งชิงพระธาตุ ภายหลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จแล้ว จึงต้องให้ทหารถือหอกล้อมรอบพระธาตุแล้วจึงแบ่งไปตามเมืองต่างๆ

1.3 หอยอ เป็นวิหารขนาดเล็ก ประจำอยู่ทั้ง 4 ด้านของพระธาตุ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป หมายถึงการสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า

1.4 หอเท้าโลกบาล เป็นหอยอดแหลมขนาดเล็ก ประจำอยู่ทั้ง 4 มุมของพระบรมธาตุ เป็นที่ระดิษฐานของท้าวโลกบาลทั้ง 4 ได้แก่

1.ท้าวกุเวร ประจำทางทิศเหนือ

2.ท้าวธตรัฐ ประจำทางทิศตะวันออก

3.ท้าววิรุฬปักข์ ประจำด้านทิศตะวันตก

4.ท้าววิรุฬหก ประจำด้านทิศใต้

1.5 ไหดอกบัว หรือ )รณะฆะฏะ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในล้านนาไทย (กรมศิลปากร 2559)

2.วิหาร ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้น พ.ศ.2348 โดยพระเจ้ากาวิละ และคงถูกบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือเพดานด้านบนของวิหารมีรูปแสดงถึงกลุ่มดาวนักขัตฤกษ์

3.หลวงพ่ออุ่นเมือง ประดิษฐานในวิหารตรงระเบียงทางทิศเหนือของพระธาตุดอยสุเทพ เป็นพระพุทธรูปสำริดปิดทอง ศิลปะล้านนา สกุลช่างเชียงใหม่ พุทธศตวรรษที่ 22 ขนาดหน้าตักกว้าง 75 เซนติเมตร สูงตลอดฐาน 92 เซนติเมตร ฐานกว้าง 75 เซนติเมตร

4.กลุ่มพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ภายในระเบียงรอบองค์พระธาตุดอยสุเทพ เป็นพระพุทธรูปสำริดปิดทอง ศิลปะล้านนา สกุลช่างเชียงใหม่ พุทธศตวรรษที่ 21-22 ขนาดหน้าตักกว้าง 75 เซนติเมตร สูงตลอดฐาน 92 เซนติเมตร ฐานกว้าง 75 เซนติเมตร

5.ภาพจิตรกรรมฝาผนังรอบระเบียง เขียนโดยบุญปั๋น พงษ์ประดิษฐ์ เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เริ่มเขียนตามแนวจิตรกรรมตะวันตก (คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ2542 : 87-88)

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง :

     1.ตำนานพระธาตุดอยสุเทพ นครเชียงใหม่ กล่าวถึง พระเจ้ากือนาและพระสุมนเถรร่วมกันสร้างพระธาตุโดยสุเทพ โดยมีวิธีการเลือกสถานที่สร้างพระธาตุคือ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นเหนือช้างมงคล เมื่อช้างหยุด ณ สถานที่ใดก็ให้สถานที่นั้นเป็นที่สร้างพระธาตุซึ่งคือดอยสุเทพ จนเป็นที่เคารพสักการะของกษัตริย์และประชาชนสืบมา (คณะกรรมการวัดพระธาตุดอยสุเทพ 2511 : 5-10)

     2.ตำนานย่าแสะแม่ลูก ตำนานกล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าจรเดินเทศน์มาถึงบริเวณที่เป็นพระธาตุดอยสุเทพในปัจจุบันและได้รับข้าวบิณฑบาตจากย่าแสะแม่ลูก  ลูกมีความศรัทธาจึงออกบวช ภายหลังปลงภิกขุภาวะเป็น “ฤษีสุเทวรสี” และพระพุทธเจ้าได้มอบพระเกศาธาตุไว้ 1 เส้น และได้นำไปบรรจุไว้ในพระธาตุบนยอดดอย (กรมศิลปากร, 2510: 41-42)

     3.ตำนานพระธาตุดอยคำ กล่าวถึงพระพุทธเจ้าและสาวกเดินทางมาถึงบริเวณดอยคำ (ใกล้กับดอยสุเทพ) ยักษ์ปู่แสะ ย่าแสะ และบุตร ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นจะจับพระพุทธเจ้าและสาวกกิน แต่เกรงในพระบารมีจึงไม่จับกินและได้เลิกกินเนื้อมนุษย์ เหลือเพียงการกินเนื้อสัตว์ปีละสองหน จึงได้มีพิธีการฆ่าควายเอาเนื้อสดมาสังเวยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เรียกว่า “พิธีเลี้ยงดง” (อรรคพล สาตุ้ม 2545: 12-14)

     4.ตำนานเชียงใหม่ปางเดิมและตำนานสุวรรณคำแดงกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวลัวะกับชาวไทย และนับถือดอยคำและดอยสุเทพในฐานะภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าฤษีวาสุเทพเป็นลูกหลานของปู่แสะย่าแสะ (สรัสวดี อ๋องสกุล 2551: 67)

     5.ตำนานมูลศาสนา กล่าวถึงฤษีวาสุเทพลงมาอาบน้ำในแม่น้ำโรหิณี คือ แม่น้ำข่า เป็นแม่น้ำอยู่ใกล้กับดอยสุเทพทางทิศตะวันออก พบทารก 6 คน ในรอยเท้าสัตว์ จึงเอามาเลี้ยงไว้ ภายหลังเมื่อเด็กเติบโตจึงให้แต่งงานกัน (กรมศิลปากร, 2519: 115-117)

     6.ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงฤษีวาสุเทพที่มีบทบาทในการสร้างเมือง และอาศัยอยู่ที่ดอยอุจฉุบรรพต คือ ดอยสุเทพในปัจจุบัน (รัตนปัญญาเถระ,2501: 81-83)

     7.พงศาวดารโยนก กล่าวถึงพระเจ้านครเชียงใหม่ให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่วัดบุปผารามและที่ดอยอุจฉุบรรพต (ดอยสุเทพ) (บุปผา คุณยศยิ่ง 2542 : 4423 – 4426)

 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทรัพย์อนันต์ ซื่อสัตย์

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ตำนานมูลศาสนา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2519.

กรมศิลปากร. “โบราณสถานล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ พระธาตุดอยสุเทพ.” ระบบภูมิสารสนเทศ GIS กรมศิลปากร. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559. เข้าถึงได้จาก www.gis.finearts.go.th

กรมศิลปากร. ประชุมตำนานพระธาตุ ภาคที่ 2. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2510.

คณะกรรมการวัดพระธาตุดอยสุเทพ. ตำนานพระธาตุดอยสุเทพ นครเชียงใหม่. เชียงใหม่ : รุ่งเรืองการพิมพ์, 2511.

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2542.

บุปผา คุณยศยิ่ง. “พระธาตุดอยสุเทพ, วัด.” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 9. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542 : 4423 – 4427.

ประวิทย์ ตันตลานุกูล. ตำนานพระธาตุดอยสุเทพ นครเชียงใหม่. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์แสงศิลป์, 2547.

แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ 4 ปี (พ.ศ.2558-2561). [ออนไลน์].เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559. เข้าถึงได้จาก www.chiangmai.go.th

ไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว. คร่าวดอยสุเทพและคร่าวซอถนนในเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : โครงการศึกษาวิจัยคัมภีร์ใบลานในภาคเหนือ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2536.

สรัสวดี อ๋องสกุล. ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543.

สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2551.

สำนักศิลปวัฒนธรรม. ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม. เชียงใหม่ : สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2546.

สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. งานบูรณะซ่อมแซมบันไดนาคทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร (ระยะที่ 2) ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. (เอกสารอัดสำเนา), พฤศจิกายน 2548.

สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ประวัติและการบูรณะวัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดเจดีย์หลวงวัดดวงดี วัดพันเตา. เชียงใหม่ : สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, ม.ป.ป.

รัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. แปลโดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร เปรียญ. เชียงราย : กรมศิลปากร, 2501 : 81-83.

ห้างหุ้นส่วนจำกัดเจติยา. รายงานการบูรณะและเสริมความมั่นคงศาลาบาตรวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. (เอกสารอัดสำเนา), 2551.

ห้างหุ้นส่วนจำกัดโบราณุรักษ์. รายงานการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี โครงการสำรวจและขุดแต่งทางโบราณคดีในพื้นที่ดอยสุเทพ. (เอกสารอัดสำเนา), 17 สิงหาคม 2553.

ห้างหุ้นส่วนจำกัดช่างรุ่ง. รายงานการสำรวจและบูรณะวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. (เอกสารอัดสำเนา), ธันวาคม 2552.

อรรคพล สาตุ้ม. “พิธีกรรมผีปู่แสะย่าแสะ ที่วัดพระธาตุดอยคำ จังหวัดเชียงใหม่.” ศิลปวัฒนธรรม 23, 11 (กันยายน 2545) : 12-14.

Google Maps. วัดพระธาตุดอยสุเทพวรวิหาร [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559. เข้าถึงได้จาก https://www.google.co.th/maps/place/พระธาตุดอยสุเทพวรวิหาร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง