โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดเพลง, วัดทองเพลง
ที่ตั้ง : ต.บางขนุน อ.บางกรวย
ตำบล : บางขนุน
อำเภอ : บางกรวย
จังหวัด : นนทบุรี
พิกัด DD : 13.81486 N, 100.46694 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองอ้อมนนท์, คลองวัดสัก
วัดเพลง (ร้าง) ตั้งอยู่ในพื้นที่สวน ไม่มีทางรถยนต์เข้าถึง ต้องเดินเท้าเท่านั้น จากซอยแม่ช้อย ถนนบางกรวย-จงถนอม (ทางหลวงหมายเลข 3014) เท่านั้น
หากมาจากวงเวียนตลาดอำเภอบางกรวย ถนนเทอดพระเกียรติ ให้ใช้ถนนบางกรวย-จงถนอม (ทางหลวงหมายเลข 3014) ประมาณ 1.7 กิโลเมตร (เลยถนนทางเข้าวัดสักใหญ่ไปเล็กน้อย) จะพบซอยแม่ช้อยซึ่งเป็นถนนดินโรยหินอยู่ทางขวามือ มีป้าย “วัดเพลง” ติดตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามปากซอย (ซอยอยู่ติดกับร้านรับซื้อของเก่า แอร์เก่า) เข้าไปตามทางประมาณ 700 เมตร จะสุดถนนที่รถจะเข้าไปได้ แต่จะพบทางเดินเท้าต่อเข้าไปอีกประมาณ 40 เมตร จะพบวัดเพลงอยู่ทางซ้ายมือ
หากมาจากถนนราชพฤกษ์ สามารถใช้ถนนบ้านคลองวัดสัก-บ้านวัดโคนอน ต่อเนื่องมายังถนนบางกรวย-จงถนอมได้ นอกจากนี้ยังสามารถเดินเท้าจากวัดสักใหญ่มายังวัดเพลงได้อีกด้วย
สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี โดยการสนับสนุนของชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆ ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์และเสริมความมั่นคงโบราณสถานวัดเพลงจนมีอยู่ในสภาพดีและมั่นคงแข็งแรง ชาวบ้านรักและหวงแหนวัดแห่งนี้ในฐานะเป็นศาสนสถานประจำชุมชน มีการสร้างศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของท้องถิ่นด้านหน้าอุโบสถ อย่างไรก็ตาม หอระฆังมีสภาพเริ่มรกร้าง มีต้นไม้และวัชพืชขึ้นปกคลุม
ปัจจุบันคุณลัดดา พิสิทธิวานิช (ป้านงค์) เป็นผู้เช่าที่ดินบริเวณวัดเพลงจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อทำสวน โดยเช่ามาต่อเนื่องตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของคุณลัดดาเมื่อ พ.ศ.2485 และยังเป็นผู้ดูแลวัดเพลงสืบต่อจากบรรพบุรุษอีกด้วย ปัจจุบันมีผู้ดูแลอาศัยอยู่ประจำภายในวัด 1 คน มีการสร้างห้องน้ำบริเวณทางเดินเข้าวัด แต่ยังไม่เปิดให้ใช้งาน
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดเพลงได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม มีป้ายให้ข้อมูลโบราณสถาน ทั้งของกรมศิลปากรและของท้องถิ่น
ลัดดา พิสิทธิวานิช, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, กรมศิลปากร
ปัจจุบันวัดเพลงเป็นวัดร้างที่ได้รับบูรณปฏิสังขรณ์และเสริมความมั่นคงแล้ว ตั้งอยู่เกือบริมคลองวัดสักหรือคลองวัดสักใหญ่ ทางฝั่งทิศใต้ (คลองวัดสักเป็นลำน้ำสาขาของคลองอ้อมนนท์) ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่สวนและบ้านเรือนของเจ้าของสวน ด้านทิศเหนือและตะวันออกมีคลองวัดสักไหลผ่าน สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม
วัดเพลงอยู่ห่างจากวัดสักไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 200 เมตร หรือประมาณ 250 เมตรตามแนวคลองวัดสัก วัดเพลงอยู่ห่างจากคลองอ้อมนนท์มาทางทิศตะวันตกประมาณ 450 เมตร ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทางทิศตะวันตกประมาณ 3.5 กิโลเมตร ห่างจากวัดชลอไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 1.3 กิโลเมตร ห่างจากวัดสักน้อย (ร้าง) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 500 เมตร และห่างจากวัดโพธิ์บางโอซึ่งเป็นวัดสมัยอยุธยาไปทางทิตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 750 เมตร
แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองอ้อมนนท์, คลองวัดสัก
เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี บูรณะโบราณสถานวัดเพลง (ร้าง) โดยเป็นการเสริมความมั่นคงและบูรณะตามรูปแบบอาคารเดิมประวัติความเป็นมาของวัดเพลง (ร้าง) ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ “วัดทองเพลง” ถือเป็นวัดสำคัญมาก และสามารถรับกฐินได้ 2 ครั้งต่อปี คือ กฐินจากกรุงศรีอยุธยา และกฐินจากชาวบ้านแถบนี้ อาจร้างมาตั้งแต่สมัยสงครามระหว่างไทยพม่าเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยทัพพม่ามาจากทางใต้ มีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ นำทัพผ่านเมืองนนทบุรี ตั้งค่ายรบสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเขมาภิรตาราม และทำการรบกับอังกฤษซึ่งขันอาสาไทยรบกับพม่า ผู้คนแถบนี้เกิดความกลัวจึงหนีพม่าและการสู้รบไป
โบราณสถานสำคัญภายในวัดได้แก่
อุโบสถ เป็นอาคารผืนผ้าขนาด 5 ห้อง ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก (เฉียงไปทางเหนือเล็กน้อย) ฐานก่อเป็นฐานสิงห์ ด้านหน้าและหลังก่อเป็นมุขตื้นๆ ยื่นออกมา 2 ชั้น มีช่องประตูที่มุขทั้งด้านหน้าและหลัง ด้านละ 1 ช่อง มีหน้าต่างที่ด้านข้างด้านละ 5 บาน บานประตู-หน้าต่างเป็นไม้ ทาด้วยสีแดงน้ำตาล
หน้าบันและกรอบประตูทั้งด้านหน้าและด้านหลังปรากฏลวดลายปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาต่างๆ ประดับสวยงาม
ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระนามว่า “หลวงพ่อโต” หรือ “หลวงพ่ออู่ทอง” เป็นพระพุทธรูปหินทรายแดงลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 3 ใน 4 ของความกว้างอุโบสถ ประดิษฐานบนฐานชุกชีที่มีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม (ผู้บูรณะอาจตั้งใจเหลือไว้ให้เห็นสภาพดั้งเดิม แต่เสริมความมั่นคงเรียบร้อยแล้ว)
ฝาผนังด้านในมีร่องรอยภาพจิตรกรรมพื้นสีแดง แต่ภาพพร่าเลือนมาก (จิตรกรรมด้านหลังพระประธานอาจเป็นภาพดอกไม้ร่วง) อย่างไรก็ตามยังปรากฏภาพจิตรกรรมที่ค่อนข้างชัดเจนที่ขื่อหรือไม้คานเหนือช่องประตูมุขทางเข้า ทั้งช่องประตูหน้าและหลัง และภาพเทพนมที่จั่วเหนือช่องประตูด้านหลัง
ฐานเสมา 8 ฐาน ล้อมรอบอุโบสถ ก่อด้วยอิฐ เกือบทั้งหมดไม่ได้รับการบูรณะและไม่มีใบเสมาประดิษฐานอยู่ เนื่องจากเสมาส่วนใหญ่ย้ายไปไว้ที่วัดสักใหญ่ มีเพียงในตำแหน่งตรงกลางด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกกับด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเท่านั้น ที่ได้รับการบูรณะให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ทำให้ทราบว่าฐานเสมาเป็นแท่นฐานสิงห์ ส่วนใบเสมาทำจากหินทรายแดง ใบเสมาที่ด้านหน้ามีสภาพชำรุดแตกหัก แต่ยังสามารถเห็นลวดลายสลักดอกบัวและเม็ดปะคำ
หอระฆัง อยู่ด้านทิศใต้หรือเบื้องขวาของอุโบสถ ลักษณะเป็นหอระฆังก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ส่วนยอดและบันไดพังทลายลงมาทั้งหมด บริเวณซุ้มชั้นล่างก่อเป็นวงโค้งแหลมกลีบบัว แสดงถึงอิทธิพลศิลปะตะวันตก
เมื่อพิจารณาจากลักษณะทางศิลปกรรมขององค์พระพุทธรูปประธานและรูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารสันนิษฐานว่า วัดนี้คงสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง และมีการบูรณะอีกครั้งในสมัยอยุธยาตอนปลาย
กรรมสิทธิ์ที่ดินวัดเพลงในปัจจุบันเป็นของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมีคุณลัดดา พิสิทธิวานิช (ป้านงค์) บุตรีของนางสาย เลี่ยมนุช เป็นผู้เช่าที่ดินเพื่อทำสวนสืบต่อมาจากบรรพบุรุษที่เริ่มเช่าตั้งแต่ พ.ศ.2485 และเป็นผู้ดูแลวัดเพลง (ร้าง) สืบต่อจากบรรพบุรุษด้วยเช่นเดียวกัน ขณะสำรวจพบว่ามีผู้ดูแลประจำอาศัยอยู่ในบริเวณวัด 1 คน