โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : เจดีย์หมายเลข 10 (โบราณสถานในเมืองฟ้าแดดสงยาง), ธาตุนายใหญ่
ที่ตั้ง : ม.7 บ้านเสมา ต.โนนศิลาเลิง อ.ฆ้องชัยพัฒนา
ตำบล : โนนศิลาเลิง
อำเภอ : ฆ้องชัย
จังหวัด : กาฬสินธุ์
พิกัด DD : 16.319152 N, 103.520278 E
ตั้งอยู่ที่กลางทุ่งนาทางทิศเหนือของบ้านเสนา อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ห่างจากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ประมาณ 19 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 214 (กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด) ระยะทาง 13 กิโลเมตร ถึงอำเภอกมลาไสย เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 2367 ระยะทาง 6 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าซอยประมาณ 400 เมตร ถึงพระธาตุยาคู
พระธาตุยาคูเป็นโบราณสถานของเมืองฟ้าแดดสงยางที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว สามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- เล่ม 54 หน้า 2287 วันที่ 3 มกราคม 2480 เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ
- เล่ม 99 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 155 วันที่ 21 ตุลาคม 2525 เรื่อง การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ
- เล่ม 119 ตอนพิเศษ 117ง วันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 เรื่อง แก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถาน
พระธาตุยาคูตั้งอยู่ทางตอนเหนือภายในเมืองฟ้าแดดสงยาง ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบเป็นรูปวงรี สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ปัจจุบันมีแนวลำน้ำและเป็นบริเวณที่รับน้ำชลประทานจากโครงการชลประทานลำปาว ลำน้ำชี ลำน้ำพาน และมีหนองบึงขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป ทางทิศเหนือของคูเมืองมีทางน้ำธรรมชาติเชื่อมกับลำน้ำพานที่อยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร
ลำน้ำพาน อยู่ห่างจากเมืองฟ้าแดดสงยางไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร
ลำน้ำปาว อยู่ทางทิศเหนืออยู่ห่างจากตัวเมืองฟ้าแดดสงยางประมาณ 5 กิโลเมตร
แม่น้ำชี อยู่ห่างจากเมืองฟ้าแดดสงยางไปทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร
ลำน้ำพาน, ลำน้ำปาว, แม่น้ำชี
ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย และดินทรายร่วนธรรมดา ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และคุณภาพดินต่ำ แต่ก็เป็นดินที่เหมาะสมกับการปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ และเหมาะกับการปลูกพืชจำพวกผลไม้ ทางตอนบนของจังหวัดกาฬสินธุ์มีแนวเทือกเขาภูพานซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำทำให้เกิดสายน้ำ ลำธารสายต่างๆ ที่ไหลลงสู่ที่ราบตอนล่างของจังหวัด และไหลลงสู่ที่ลุ่มต่ำกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวเทือกเขาลูกเล็กๆโอบรอบอยู่กลายเป็นแอ่งคล้ายทะเลสาบ
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2510, พ.ศ.2511
วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พบโบราณสถานก่ออิฐจำนวน 14 แห่ง และพบโบราณวัตถุทั้งประติมากรรมหินทราย ดินเผา และปูนปั้น โดยประติมากรรมที่พบมากที่สุดได้แก่ ใบเสมาหินทรายแกะสลักชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พบใบเสมามีภาพสลักเล่าเรื่องจำนวนหนึ่งอยู่รอบโบราณสถานพระธาตุยาคูชื่อผู้ศึกษา : อรุณศักดิ์ กิ่งมณี
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548
วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
แปลความภาพสลักเล่าเรื่องใบเสมาที่ขุดพบที่ฐานขององค์พระธาตุยาคูได้ผลการศึกษาว่าเป็นใบเสมาสลักภาพเรื่องราวในชาดก (อดีตชาติของพระพุทธองค์) เรื่อง มโหสถชาดก และศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะกับศิลปกรรมทวารวดี กำหนดอายุใบเสมาราวพุทธศตวรรษที่ 14-15พระธาตุยาคู เป็นโบราณสถานในเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ซึ่งเป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีชื่อเสียง เพราะได้ค้นพบใบเสมาจำนวนมากและหลายใบที่มีภาพสลักอย่างงดงาม เมืองโบราณแห่งนี้มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 โดยพระธาตุยาคู หรือเจดีย์หมายเลข 10 จัดเป็นซากเจดีย์ก่ออิฐที่มีความสมบูรณ์กว่าเจดีย์อื่นๆในเมืองฟ้าแดดสงยาง
พระธาตุยาคู เป็นพระธาตุมีขนาดกว้าง 16 เมตร ฐานอิฐสี่เหลี่ยมยกเก็จมีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่แบบอิฐที่พบในโบราณสถานสมัยทวารวดี ไม่สอปูน ด้านบนเป็นฐานแปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์แบบอยุธยาซ้อนทับและมีหลักฐานว่าบูรณะใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ รวมความสูงปัจจุบันสูง 15 เมตร รอบๆพระธาตุยาคูมีใบเสมาจำนวนหนึ่งปักไว้ ใบเสมาสลักบางแผ่นสลักภาพเล่าเรื่องชาดกในพุทธศาสนา เช่น ชาดกเรื่องมโหสถชาดก ชาดกเรื่องภูริทัต เป็นต้น ถัดออกไปทางทิศใต้ประมาณ 25 เมตร มีซากเจดีย์สมัยทวารวดีกระจายตัวอยู่รวมกัน 5 องค์
ลักษณะการปักเสมาหินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งประเภทเป็น
1. การปักใบเสมาเดี่ยว
2. ปักเป็นกลุ่ม
3. ปักประจำทิศ 4 ใบ หรือ 8 ใบ ล้อมรอบเนินดินหรือโบราณสถานเพื่อแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์
ส่วนรูปแบบของใบเสมา นักวิชาการเสนอรูปแบบไว้ 3 แบบ ได้แก่
1. แบบแท่งหินธรรมชาติ หรือแผ่นหินที่ไม่มีการถากโกลนให้เป็นรูปร่าง
2. แบบแผ่นหิน ที่มีการถากให้เป็นแผ่นแบน
3. แบบแท่งหินที่มีการถากเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม โดยปลายเป็นยอดแหลม (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ และคณะ 2552 : 14)
สำหรับใบเสมาที่พบที่พระธาตุยาคู เป็นใบเสมาที่ปักล้อมรอบโบราณสถาน และมีรูปแบบแผ่นหินที่มีการถากให้เป็นแผ่นแบน
จากการขุดค้นทางโบราณคดี ทำให้กำหนดอายุพระธาตุยาคูไว้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 เป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธ ในสมัยทวารวดี ที่ฐานของเจดีย์ขุดพบใบเสมาสลักเป็นภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติปักไว้ที่ฐาน โดยมีเสมาหินทรายแผ่นหนึ่ง พบระหว่างการขุดแต่งองค์พระธาตุยาคู ห่างจากฐานองค์พระธาตุ 11 เมตร ทางด้านทิศตะวนออกเฉียงเหนือ โดยอยู่ในลักษณะที่คว่ำหน้าหันส่วยอดของปลายใบเสมาเข้าสู่องค์เจดีย์ ในความลึกจากระดับดินเดิมประมาณ 30 ซ.ม. ศึกษาลักษณะประติมาณวิทยาของภาพสลัก แปลความได้ว่าเป็นภาพสลักเล่าเรื่องมโหสถชาดก กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-15 (อรุณศักดิ์ กิ่งมณี 2548 : 75) เช่นเดียวกับการกำหนดอายุของใบเสมาที่เมืองฟ้าแดดสงยาง (สมชาติ มณีโชติ 2528 : 11)
ชาวบ้านเชื่อกันว่าพระธาตุยาคูเป็นที่บรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ผู้ตั้งหมู่บ้าน ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ เนื่องจากคำว่า “ยาคู” เป็นคำเรียกสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ของภาคอีสานโบราณ ซึ่งเมื่อพระสงฆ์รูปใดเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติดีมีคุณธรรมและบวชมาแล้วไม่น้อยกว่าสามพรรษา ชาวบ้านจะนิมนต์มาทำพิธี “ฮึดสรง” จากนั้นก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น ยาคู ยาซา
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านผู้สูงอายุกล่าวถึงเมืองโบราณบริเวณที่ตั้งพระธาตุยาคูว่า เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่รกร้างปรากฏมีซากเจดีย์และแผ่นหินรูปใบเสมาอยู่มากมาย ชาวบ้านเห็นเป็นทำเลดี จึงได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งอพยพออกมาจากเมืองกมลาไสย มาตั้งบ้านเรือนและจับจองที่ทำไร่นาและเรียกหมู่บ้านตัวเองว่าบ้านบักก้อม ซึ่งเรียกตามชื่อเสือโคร่งหางด้วนที่พบบริเวณป่าใกล้หมู่บ้าน การอพยพมาตั้งบ้านเรือนมีพระภิกษุอันเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านตามมาและตั้งสำนักสงฆ์และกลายเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ภิกษุรูปนี้ชาวบ้านเยกว่า ยาคูง่อม เมื่อภิกษุรูปนี้มรณภาพลง ชาวบ้านจึงทำศาลใส่อัฐิไว้ในบริเวณบ้านบักก้อม ภายหลังหมู่บ้านแห่งนี้ได้ชื่อใหม่ว่า “บ้านเสมา” บริเวณที่ตั้งศาลเป็นวัดประจำหมู่บ้านชื่อวัดโพธิชัยเสมาราม สมัยต่อมาเมื่อชาวบ้านเห็นว่ามีซากเจดีย์ขนาดใหญ่สมบูรณ์กว่าที่อื่นๆชาวบ้านจึงคิดว่าเป็นที่บรรจุอัฐิของยาคูง่อม จึงเรียกเจดีย์แห่งนี้ว่า พระธาตุยาคู จนปัจจุบัน (ไชยยศ วันอุทา 2538 : 222-225)
อย่างไรก็ตาม จากผลการขุดค้นทางโบราณคดีที่พระธาตุยาคู ทราบว่าพระธาตุยาคูมีมาแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 ต่างกับความเชื่อของชาวบ้านในปัจจุบันเกี่ยวกับการบรรจุอัฐิของพระภิกษุที่ชาวบ้านนับถือในช่วงที่เพิ่งตั้งหมู่บ้านซึ่งเป็นช่วงเวลาไม่นานมานี้เอง ประกอบกับผลการขุดพบใบเสมาสลักภาพเล่าเรื่องในพุทธศาสนาปักไว้ที่ฐานพระธาตุ ดังนั้น พระธาตุยาคูคงไม่ใช่เจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุของพระเถระดังความเชื่อของชาวบ้านในปัจจุบัน ส่วนคำเรียก “พระธาตุยาคู” เป็นคำเรียกต่อๆมาจนกระทั่งทางกรมศิลปากรเข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์จึงเรียกตามชาวบ้านด้วย (ไชยยศ วันอุทา, 2538 : 224)
พระธาตุยาคูเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า บริเวณเมืองโบราณฟ้าแดดสงยางเป็นเมืองสำคัญในการประดิษฐานพระพุทธศาสนา โดยเป็นเมืองโบราณที่รับวัฒนธรรมจากทวารวดีภาคกลาง แต่ได้มีพัฒนาการแตกต่างไปจากแม่แบบที่ภาคกลาง โดยเฉพาะความนิยมในการปักใบเสมาที่มีภาพสลักเรื่องราวในพุทธศาสนาล้อมรอบเขตศักดิ์สิทธิ์ หรือเขตโบราณสถานที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมทวารวดีภาคกลาง
ไชยยศ วันอุทา. “พระธาตุยาคูหรือพระบรมธาตุ.” ศิลปวัฒนธรรม. 16, 11 (กันยายน 2538) : 222-225.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์ และคณะ. ศิลปกรรมทวารวดีอีสาน. เอกสารประกอบการบรรยายในโครงการ ตามรอยมรดกศิลปกรรมทวารวดีอีสาน โดยศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณในเอเชียอาคเนย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. เอกสารอัดสำเนา, 2552.
สมชาติ มณีโชติ. ประติมากรรมชิ้นสำคัญจากเมืองฟ้าแดดสงยาง. มหาสารคาม : เอกสารอัดสำเนาของวิทยาลัยครูมหาสารคาม, 2528.
หวัน แจ่มวิมล. รายงานการสำรวจขุดแต่งโบราณวัตถุสถานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2511.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. “ใบเสมาสลักภาพ “มโหสถชาดก” จากพระธาตุยาคู เมืองฟ้าแดดสงยาง.” ศิลปวัฒนธรรม. 48, 1 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2548) : 68-75.