ศิลาจารึกสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร.


โพสต์เมื่อ 31 ม.ค. 2022

ชื่ออื่น : ศิลาจารึกสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร. จังหวัดระนอง

ที่ตั้ง : ถ.เพชรเกษม ม.1 ต.จ.ป.ร. อ.กระบุรี

ตำบล : จ.ป.ร.

อำเภอ : กระบุรี

จังหวัด : ระนอง

พิกัด DD : 10.493445 N, 98.909567 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : คลองชุมพร

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองจั่น, คลองหินวัว

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ศิลาจารึกสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) บริเวณรอยต่อระหว่างตำบล จ.ป.ร. อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง กับ ตำบลวังใหม่ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร

จากสี่แยกปฐมพร อำเภอเมืองชุมพร ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าจังหวัดระนอง ประมาณ 26 กิโลเมตร จะพบศิลาจารึกสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร อยู่ทางขวามือ (เลยรอยต่อระหว่างจังหวัดชุมพรกับจังหวัดระนองไปประมาณ 500 เมตร)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

องค์การบริหารส่วนจังหวัดระนองและเทศบาลตำบล จ.ป.ร. ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อให้ผู้สนใจเข้าสักการะและเยี่ยมชมจารึกซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมหรือสักการะได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ สามารถจอดรถยนต์ได้ทั้งฝั่งด้านหน้าทางขึ้นไปยังจารึกและฝั่งตรงข้ามถนนเพชรเกษม ร้านค้าและห้องน้ำอยู่บริเวณลานจอดรถฝั่งตรงข้ามถนนเพชรเกษม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

เทศบาลตำบล จ.ป.ร., องค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

เนินเขา

สภาพทั่วไป

จารึกพระปรมาภิไธยย่อและพระนามาภิไธยย่อ สลักอยู่บนก้อนหินที่วางตั้งอยู่บนกองดินยอดเนินริมถนนเพชรเกษม ปัจจุบันมีการสร้างศาลาคลุมจารึกและปรับปรุงพื้นที่ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบจารึก

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

88 เมตร

ทางน้ำ

คลองชุมพร, คลองหินวัว, คลองจั่น

สภาพธรณีวิทยา

สภาพธรณีวิทยาของพื้นที่โดยรอบแหล่งโบราณคดีเป็นหินตะกอนในกลุ่มหินแก่งกระจาน ที่เกิดขึ้นในยุคคาร์บอนิเฟอรัส-เพอร์เมียน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์

อายุทางโบราณคดี

สมัยรัชกาลที่ 5, สมัยรัชกาลที่ 9

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

จารึก

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ศิลาจารึกสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร แห่งนี้ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) บริเวณรอยต่อระหว่างตำบล จ.ป.ร. อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง กับ ตำบลวังใหม่ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร นอกจากจะประดิษฐานศิลาจารึกสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร แล้ว ยังประดิษฐานศิลาจารึกสลักพระปรมาภิไธยย่อ ภปร และพระนามาภิไธยย่อ สก และ สธ

ประวัติการสร้าง

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางบกและทางเรือประพาสรอบแหลมมลายูเมื่อ ร.ศ.109 หรือ พ.ศ.2433 ในคราวนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนช้างและม้าจากจังหวัดชุมพรจากเมืองชุมพรมายังเมืองกระ (กระบุรี) เพื่อตรวจราชการแผ่นดิน และความเป็นอยู่ของราษฎร เมื่อเสด็จมาถึงแนวเขตแดนระหว่างจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง พระองค์ได้ทรงสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร ไว้บนก้อนศิลา ดังในพระราชนิพนธ์ความว่า

            “ในกลางที่แจ้งนี้เป็น “ตร่อน้ำแบ่ง” มีศิลาก้อนใหญ่จมดินครึ่งหนึ่งมีก้อนเล็กซ้อน ซึ่งเห็นจะเป็นหินลอยทั้งสองก้อน ให้เขามาหาไว้จะจารึกเห็นก้อนใหญ่จะศูนย์ยากกว่า จึงให้กลิ้งก้อนเล็กลงเสีย ให้กรมสรรพสิทธิ์เขียน จปร. อย่างอัฐ กับกรมสมมตเขียน ๑๐๙ มอบเครื่องมือให้ผู้ช่วยเมืองไชยาอยู่เราะให้แล้วรอเขียนอยู่ ๗ มินิต”

(กรมสรรพสิทธิ์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสรรพสิทธิประสงค์, กรมสมมต คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติอมรพันธุ์)

ในคราวนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประทับแรมที่พลับพลาดอนนาพระ หมู่ที่ 1 ตำบลปากจั่น เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2433 ซึ่งปัจจุบันบริเวณพลับพลานี้คือที่ตั้งโรงเรียนปากจั่นวิทยา

ส่วนจารึก ภปร และ สก จารึกขึ้นในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสจากชุมพรโดยรถยนต์พระที่นั่งเพื่อมาทรงเยี่ยมประชาชนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2502

ในขณะที่จารึก สธ จารึกขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2531 ในคราวที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเพื่อเยี่ยมพสกนิกรและทอดพระเนตรแนวชายแดนจังหวัดระนอง

สภาพปัจจุบัน

จารึกพระปรมาภิไธยย่อและพระนามาภิไธยย่อทุกองค์ สลักอยู่บนก้อนหินที่วางตั้งอยู่บนกองดินยอดเนินริมถนนเพชรเกษม ปัจจุบันมีการสร้างศาลาคลุมจารึกและปรับปรุงพื้นที่ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบจารึก

ศาลาที่สร้างคลุมจารึกเป็นศาลาโปร่งผังแปดเหลี่ยม ไม่มีผนัง ศาลาเสาเป็นปูนหุ้มด้วยแผ่นหินขัด เครื่องบนเป็นไม้มุงกระเบื้องเกล็ด ชายคาตกแต่งด้วยแผ่นไม้สลักลายใบไม้โดยรอบ พื้นศาลารอบจารึกปูด้วยแผ่นหินขัด

จารึกเป็นการสลักเข้าไปในเนื้อหิน 3 ก้อนที่ตั้งอยู่แยกออกจากกัน แต่อยู่บนกองดินยอดเนินเดียวกัน ก้อนหินที่อยู่เกือบจุดสูงสุดเป็นก้อนหินกลม สลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร และตัวเลข ๑๐๙ (ค่อนข้างลบเลือน) ถัดลงมาเล็กน้อยทางเบื้องขวาของจารึก จปร เป็นก้อนหินกลมสลักพระปรมาภิไธยย่อ ภปร และพระนามาภิไธยย่อ สก และถัดลงมาอีกเล็กน้อยทางเบื้องซ้ายของจารึก จปร และ จารึก ภปร สก เป็นก้อนหินสลักพระนามาภิไธยย่อ สธ จารึกทั้งสี่มีการปิดทองคำเปลว บางองค์ (จปร ภปร สก) มีร่องรอยการถูกปิดทองคำเปลวทับตัวอักษรจารึก

ด้านหน้าจารึกมีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งอยู่ 3 องค์ พร้อมทั้งเครื่องบูชาสักการะต่างๆ   

พื้นที่โดยรอบศาลาได้รับการจัดภูมิทัศน์โดยปูเป็นพื้นหญ้า ปลูกไม้ยืนต้นเป็นระยะ และมีเก้าอี้นั่งพักผ่อนสำหรับนักท่องเที่ยว

ห่างออกไปด้านทิศเหนือของจารึก มีอนุสาวรีย์ที่มีผังเป็นรูป 5 เหลี่ยม โดยเป็นอนุสาวรีย์ที่ก่อด้วยปูน ตกแต่งผิวด้วยแผ่นหินอ่อนสีขาว แต่ละด้านสลักตัวหนังสือและทาด้วยสีทองให้ข้อมูลประวัติจารึกทั้ง 4 องค์ (จารึก จปร ภปร สก และ สธ) ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่สีทองบนตัวหนังสือมีสภาพหลุดลอกค่อนข้างมาก

ด้านหลังของอนุสาวรีย์มีอาคารก่ออิฐฉาบปูนสมัยใหม่ที่ทรุดโทรม ไม่ทราบหน้าที่ใช้งาน

ด้านหน้าริมถนนเพชรเกษมที่เป็นทางเข้าสู่ศาลาที่ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ ทำเป็นบันไดปูนเพื่อขึ้นสู่ศาลา และป้าย “ศิลาจารึกพระปรมาภิไธย ย่อ จปร. King Chulalongkorn initials craved on a stone inscription” ขนาดใหญ่ หันไปทางด้านถนนเพชรเกษม

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี