โพสต์เมื่อ 11 ส.ค. 2021
ที่ตั้ง : หมู่ 4 บ้านยางทอง
ตำบล : สันปูเลย
อำเภอ : ดอยสะเก็ด
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.8125 N, 99.095 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : กวง
เขตลุ่มน้ำรอง : ลำเหมือง (เหมืองขี้เหล็ก)
จากอำเภอเมืองเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1019 (เชียงใหม่-ดอยสะเก็ด) ไปยังอำเภอดอยสะเก็ด ประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วถึงแยกเลี้ยวขวาไปตามถนนบ้านบ่อหิน-บ้านร่องขุ่น อีกประมาณ 4 กิโลเมตร ถึงแหล่งโบราณคดีบ้านยางทองใต้
กรมศิลปากร
บริเวณที่พบหลักฐานทางโบราณคดีมีลักษณะพื้นที่เป็นเนินตะกอนลำน้ำเก่า สูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ 1 เมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเนินประมาณ 500 เมตร ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านยางทองใต้ (หมู่บ้านยางทอง?)
ลำเหมือง (ลำเหมืองขี้เหล็ก), แม่น้ำกวง
พื้นที่โดยทั่วไปเป็นลานตะพักลำน้ำเก่าระดับต่ำ (Old alluvium) และที่ราบเนินตะกอนรูปพัด (Old alluvial terrace and fans) ความลาดเอียงประมาณ 2-3 องศา ด้านตะวันออกของแหล่งโบราณคดีห่างออกไปประมาณ 800 เมตร มีลำเหมือง (ลำเหมืองขี้เหล็ก) ซึ่งไหลออกไปสู่แม่น้ำกวงทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
ดินที่เป็นองค์ประกอบหลักด้านปฐพีสัณฐานชของพื้นที่ได้แก่ ดินในหน่วยสัมพันธ์ของดินชุดลำปาง/สันปทราย (Lp/Sai : Lampang/San Sai asoociation) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มดิน Low humic gley soil ลักษณะและคุณสมบัติของดินโดยทั่วไปจะมีดินบน (Soil surface) เป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายสีน้ำตาลปนเทาเข้มหรือสีน้ำตาล มีจุดประสีน้ำตาลปนเหลือง ดินเป็นกลางถึงด่างอ่อน (pH 6-7) ดินล่างเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินร่วนเหนียวปนทรายในส่วนลึก สีเทา สีเทาอ่อน หรือสีเทาปนชมพู ดินเป็นกลางถึงด่างอ่อน (pH 6-7) มักจะมีก้อนเหล็กและแมงกานีสปะปนอยู่ ในดินชั้นล่างๆในฤดูฝนมีระดับน้ำซึมอยู่ใต้ดินสูง และดินอุ้มน้ำดี (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ 2531)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529
ผลการศึกษา :
23 กุมภาพันธ์ 2529 บุตรชายของนางจันพลอย จันทร์ขาว ขุดบ่อเลี้ยงปลาในบริเวณบ้านเลขที่ 83 หมู่ 5 บ้านยางทองใต้ พบโครงกระดูกมนุษย์ 1 โครง และกำไลหิน กำไลสำริด เครื่องมือเหล็ก และภาชนะดินเผา ในระดับลึกประมาณ 80 เซนติเมตร จึงแจ้งหน่วยศิลปากรที่ 4 และนางจันพลอย จันทร์ขาว ได้เก็บโบราณวัตถุที่ขุดพบไว้ชื่อผู้ศึกษา : วัลภา ขวัญยืน, บวรเวท รุ่งรุจี, ศักดิ์ชาย สายสิงห์, วิชัย ตันกิตติกร, สายันต์ ไพรชาญจิตร์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาเครื่องประดับ, ศึกษาโลหะ, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษากระดูกคน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
วัลภา ขวัญยืน หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่, บวรเวท รุ่งรุจี หัวหน้าโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ), ศักดิ์ชาย สายสิงห์ ภัณฑารักษ์ 4 หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ และวิชัย ตันกิตติกร นักโบราณคดี 3 หน่วยศิลปากรที่ 4 เดินทางไปตรวจสอบ และเก็บโบราณวัตถุที่นางจันพลอย จันทร์ขาว เก็บไว้กลับมาศึกษา สายันต์ ไพรชาญจิตร์ ได้ขออนุญาตนางจันพลอย จันทร์ขาว ไปขุดเอากระดูกมนุษย์และเศษภาชนะดินเผาส่วนหนึ่งที่นำไปฝังไว้ที่ป่าช้าของหมู่บ้านมาศึกษา พบว่าเจ้าของโครงกระดูกเป็นเพศชาย (ศึกษาจากกระดูกสะโพก) อายุประมาณ 50-55 ปี (ศึกษาจาก pubic symphasis) มีส่วนสูง 170.5 เซนติเมตร (ศึกษาจากความยาวของกระดูกต้นขา โดยใช้สูตรคำนวณของ Genoves) ภาชนะดินเผา ที่สำรวจพบมีภาชนะประเภทหม้อ (pot) 3 ใบ สามารถนำชิ้นส่วนต่างๆมาต่อประกอบเป็นรูปร่างได้ 2 ใบ อีก 1 ใบ พบเพียงเศษภาชนะชิ้นเดียว นอกจากนี้ยังมีภาชนะดินเผาทรงชามก้นแบน (basin) ที่เดิมเป็นภาชนะสมบูรณ์ แต่ถูกทุบแตกในขณะขุดพบ 2 ใบ เครื่องประดับที่พบมีกำไลหินอ่อน 2 วง กำไลสำริดที่ขอบทำเป็นกระพรวนเล็กๆ ประดับด้วยลายก้นหอย 1 วง นอกจากนี้ยังพบดาบเหล็ก 1 อัน มีลักษณะเป็นดาบสองคม มีกั่นชื่อผู้ศึกษา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์, วิชัย ตันติกร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาเครื่องประดับ, ศึกษาโลหะ, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษากระดูกคน, ขุดสำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และวิชัย ตันติกร นักโบราณคดีกรมศิลปากร ขุดสำรวจระหว่างวันที่ 20 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2529 ขนาดหลุม 3x3 เมตร 1 หลุม พบโบราณวัตถุ 215 รายการ ประกอบไปด้วย เศษภาชนะดินเผา เศษกระเบื้อง ภาชนะดินเผา ลูกปัดแก้ว ตะปูเหล็ก กระดูกมนุษย์ กำไลสำริด เครื่องมือเหล็ก แวดินเผา ตัวอย่างดิน เปลือกหอยทากบก และวัตถุคล้ายฟอสซิลไม้ นอกเหนือไปจากนั้นยังพบหลุมฝังศพ 1 หลุม ขนาดความกว้างหลุม 20 เซนติเมตร ด้านบนหลุมมีเนินดินเตี้ยๆ ภายในหลุมฝังศพพบโครงกระดูกมนุษย์ 1 โครง และเครื่องประกอบการฝังศพ เช่น ภาชนะดินเผาทรงชามขนาดใหญ่ 1 ใบ และขนาดเล็ก 1 ใบ ภาชนะดินเผาทรงหม้อก้นแบนถูกทุบแตก และเอาชิ้นส่วนโรยใส่ไว้กับโครงกระดูก 1 ใบ ใบหอกเหล็กมีบ้องปลายพับงอ 1 เล่ม เครื่องมือเหล็กรูปแบบเสียมหรือเหล็กสะกัดมีกั่น 1 เล่ม กำไลสำริด 3 วง (วงหนึ่งยังสวมอยู่ที่แขนขวาท่องล่าง) แวดินเผา 2 ลูก และยังพบเปลือกหอยทากบกหลายตัว จากการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์พบว่าเป็นเพศหญิง (ศึกษาจากกระดูกสะโพก) อายุประมาณ 30-35 ปี (ศึกษาจากฟัน) ส่วนสูง 149.50 เซนติเมตร (ศึกษาจากความยาวของกระดูกต้นขาข้างขวา โดยใช้สูตรคำนวณของ Genoves)แหล่งโบราณคดีบ้านยางทองใต้ เป็นแหล่งฝังศพของกลุ่มคนก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก ไม่ปรากฏชั้นดินที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัย มีการใช้ภาชนะดินเผาทาสีแดงในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย ซึ่งสามารถนำไปเทียบเคียงได้กับวัฒนธรรมหริภุญไชยในบ้านเมืองลุ่มแม่น้ำปิงเขตเชียงใหม่-ลำพูน อาจชี้ให้เห็นถึงความสืบเนื่องทางวัฒนธรรม กล่าวคือกลุ่มคนก่อนประวัติศาสตร์จากบ้านยองทองใต้อาจส่งสายวัฒนธรรมสืบเนื่องมาเป็นกลุ่มวัฒนธรรมหริภุญไชย (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ 2531 : 111)
จากการศึกษาของสายันต์ ไพรชาญจิตร์ (2531) พบลักษณะทางวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในพื้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านยางทองใต้ ดังนี้
รูปแบบการฝังศพ
เป็นการฝังศพครั้งแรก (Primary burial) และอาจเป็นการฝังในขณะที่ร่างผู้ตายเริ่มเน่าหรือเปื่อยแล้ว เนื่องจากพบกระดูกส่วนต่างๆเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมไปบ้างแล้ว จากลักษณะการวางตัวของโครงกระดูกในหลุมฝังศพหมายเลข 1 ทำให้สันนิษฐานได้ว่าผู้ฝังพยายามวางศพให้อยู่ในท่านอนตะแคงขวา มีการวางเครื่องประกอบการฝังศพหรือวัตถุอุทิศไว้ในหลุมฝังศพ อาจเพื่ออุทิศให้กับผู้ตาย นอกจากนี้ ยังอาจมีความเชื่อเกี่ยวกับการทำลายสิ่งของก่อนใส่ลงในหลุมฝังศพด้วย
หลังจากฝังร่างผู้ตายพร้อมกับเครื่องประกอบหลุมฝังศพหรือวัตถุอุทิศแล้ว จึงทำการกลบหลุมจนเป็นพูนดินสูงขึ้นมาจากพื้นดินเดิมเล็กน้อย
เครื่องประกอบหลุมฝังศพ
เครื่องประกอบการฝังศพที่พบจากการสำรวจและขุดค้น ได้แก่ ภาชนะดินเผาทรงชาม ภาชนะดินเผาทรงหม้อ เครื่องมือเหล็ก กำไลหินอ่อนสีขาว (มีร่องรอยการเชื่อมต่อด้วยเหล็ก) กำไลสำริด แวดินเผา และอาจรวมไปถึงชิ้นส่วนสัตว์
จากการศึกษาลักษณะเครื่องประกอบหลุมฝังศพของโครงกระดูกเพศชายที่พบจากการสำรวจ และโครงกระดูกเพศหญิงที่พบจากการขุดค้น พบว่าเป็นโบราณวัตถุของกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะดินเผาประเภทหม้อก้นกลมมีลายเชือกทาบ ที่คอและขอบปากทาสีแดง ภาชนะประเภทชามที่เหมือนกันทั้งรูปแบบและเนื้อดิน จำนวนของภาชนะดินเผาที่ใส่ลงเป็นเครื่องประกอบหลุมฝังศพ กำไลสำริดและกำไลหินที่ใส่ลงจำนวนหลุมละ 3 วง และเครื่องมือเหล็กที่พบในทั้ง 2 หลุมฝังศพ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า โครงกระดูกทั้ง 2 โครง น่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน และถูกฝังในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันมากนัก
การทำลายสิ่งของก่อนใส่ลงในหลุมฝังศพ
ผู้ขุดค้นและศึกษาได้ตั้งข้อสังเกตว่า การทุบภาชนะดินเผาประเภทหม้อก้นกลมขนาดต่างๆ แล้วใส่ลงไปในหลุมฝังศพเหนือร่างผู้ตาย รวมทิ้งการบิดงอกำไลสำริด การทุบพับปลายหอกเหล็ก เป็นรูปแบบการทำลายสิ่งของที่พบได้ทั่วไปในหลุมฝังศพสมัยโลหะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของไทย รวมทั้งที่แหล่งโบราณคดีออบหลวงในภาคเหนือ
ภาชนะดินเผาและการใช้ภาชนะดินเผาทาสีแดง
ภาชนะดินเผาที่พบทั้งหมดเป็นภาชนะดินเผาเนื้อดิน ใช้ทรายเป็นตัวประสาน มีทั้งทรงหม้อก้นกลม หม้อก้นแบน และทรงชามก้นแบน การตกแต่งมีทั้งแบบเรียบ ลายเชือกทาบ ขูดขีดเป็นลอนคลื่น ทาสีแดง (ที่ด้านในชามและขอบปากภาชนะ)
จากการที่พบภาชนดินเผาเนื้อดินประเภทหม้อทาสีแดงที่ขอบปากด้านนอกและด้านใน กับชามทาสีแดง ชี้เห็นว่าภาชนะดังกล่าวไม่น่าจะทำขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะสีแดงที่ทาจะหลุดลอกออกไปเมื่อถูกความชื้นและน้ำ
ภาชนะดินเผาบางใบมีรอยร้าวที่เกิดขึ้นในขณะเผาไฟ ซึ่งไม่น่าจะใช้ใส่อาหารหรือน้ำได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าภาชนะดินเผาทาสีแดงเหล่านี้ ทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมฝังศพ
คนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านยางทองใต้
จากการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดค้นพบ พบว่าเป็นเพศหญิง (ศึกษาจากกระดูกสะโพก) อายุประมาณ 30-35 ปี (ศึกษาจากฟัน) ส่วนสูง 149.50 เซนติเมตร (ศึกษาจากความยาวของกระดูกต้นขาข้างขวา โดยใช้สูตรคำนวณของ Genoves)
ส่วนโครงกระดูกที่ได้จากการสำรวจ พบว่าเป็นเพศชาย (ศึกษาจากกระดูกสะโพก) อายุประมาณ 50-55 ปี (ศึกษาจาก pubic symphysis) มีส่วนสูง 170.5 เซนติเมตร (ศึกษาจากความยาวของกระดูกต้นขา โดยใช้สูตรคำนวณของ Genoves)
การกำหนดอายุ
จากหลักฐานทางต่างๆที่ขุดค้นพบ เช่น เครื่องมือเหล็ก การทาสีแดงที่ขอบปากภาชนะดินเผาและภาชนะทรงชามผิวเรียบทาสีแดง กำไลหินอ่อนที่มีการเชื่อมต้อกันด้วยโลหะ และรูปแบบกำไลสำริดที่มีขอบเป็นกระพรวนเล็ก (เทียบเคียงได้กับแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สามารถกำหนดอายุเชิงเทียบได้ว่ากลุ่มคนในอดีตที่เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณบ้านยางทองใต้ประกอบพิธีกรรมฝังศพ เป็นคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือสมัยเหล็ก ราวพุทธศตวรรษที่ 1-5
สายันต์ ไพรชาญจิตร์. “บ้านยางทองใต้ ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยละเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ : รายงานการขุดสำรวจทางโบราณคดี พุทธศักราช 2529” ใน โบราณคดีภาคเหนือ เหมืองแม่เมาะ ออบหลวง บ้านยางทองใต้. หน้า 69-119. กรุงเทพฯ : ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2531.
สายันต์ ไพรชาญจิตร์. “แหล่งโบราณคดีสมัยโลหะตอนปลายที่พบใหม่ในภาคเหนือของประเทศไทย” ศิลปากร 30, 6 (มกราคม 2530) : 66-83.
สุภาพร นาคบัลลังก์ และชินณวุฒิ วิลยาลัย. “สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในล้านนา.” ใน จากยุคน้ำแข็งไพลสโตซีนสู่สมัยล้านนา. สุภาพร นาคบัลลังก์ และสินีนาฏ สมบูรณ์อเนก, บรรณาธิการ. หน้า 39-58. เชียงใหม่ : โครงการจัดตั้งศูนย์โบราณคดีภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550.
อุษณีย์ ธงไชย. “บทนำ.” ใน จากยุคน้ำแข็งไพลสโตซีนสู่สมัยล้านนา. สุภาพร นาคบัลลังก์ และสินีนาฏ สมบูรณ์อเนก, บรรณาธิการ. หน้า 1-24. เชียงใหม่ : โครงการจัดตั้งศูนย์โบราณคดีภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550