โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดต้นมกเหนือ, วัดต้นหมากเหนือ
ที่ตั้ง : เลขที่ 228 ถ.พระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่
ตำบล : ศรีภูมิ
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.789425 N, 98.988715 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
วัดดวงดีอยู่ใกล้กับวัดสะดือ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา หากเริ่มต้นจากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ให้มุ่งหน้าไปทางทิศใต้ตามถนนพระปกเกล้าเข้าสู่ถนนอินทวโรรสประมาณ 100 เมตร วัดดวงดีจะอยู่ทางขวามือ
วัดดวงดีเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานในปัจจุบัน สามารถเข้าเยี่ยมชมและเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 9.00 – 18.00 น.
วัดดวงดี
วัดดวงดีได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนและขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 98 ตอนที่ 177 วันที่ 27 ตุลาคม 2524
วัดดวงดีเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในพื้นที่กลางเมืองโบราณเชียงใหม่ ค่อนไปทางทิศตะวันออก อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดสะดือเมือง ห่างจากคูเมืองด้านทิศตะวันออกมาทางทิศตะวันตกประมาณ 450 เมตร ห่างจากคูเมืองด้านทิศเหนือมาทางทิศใต้ประมาณ 630 เมตร สภาพพื้นที่ในปัจจุบันโดยทั่วไปมีสภาพเป็นเมือง ชุมชนหนาแน่น วัดดวงดีมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือ จรดศาลแขวงเมืองเชียงใหม่ (เก่า)
ทิศใต้ บ้านเรือนราษฎร
ทิศตะวันออก บ้านเรือนราษฎร
ทิศตะวันตก ตึกแถวและบ้านเรือนราษฎร
แม่น้ำปิง
สภาพธรณีวิทยาในแอ่งที่ราบเชียงใหม่มีความหลากหลายมากทั้งหินอัคนีแทรกซ้อน หินภูเขาไฟ หินแปรและหินตะกอนอายุต่างๆมากกว่า 600 ล้านปี จนถึงชั้นตะกอนหินทราย ที่ยังไม่แข็งตัวบนที่ราบกลางแอ่งสมัยรีเซนต์ (Recent) ที่มีอายุประมาณ 10,000-20,000 ปีมาแล้ว ซึ่งได้แก่พื้นที่ราบส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่นาและที่อยู่อาศัย (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 : 2-3)
ชื่อผู้ศึกษา : ปวงคำ ตุ้ยเขียว
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2515
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์
ผลการศึกษา :
รวบรวมประวัติ ตำนานของวัดดวงดี สันนิษฐานจากจารึกฐานพระพุทธรูปว่าวัดดวงดีมีชื่อเรียกว่าวัดต้นมกเหนือหรือวัดต้นหมากเหนือ สร้างขึ้นในสมัยหลังพญามังรายสถาปนาเมืองเชียงใหม่ โดยมีเจ้านายเมืองเชียงใหม่เป็นผู้สร้างชื่อผู้ศึกษา : ฮันส์ เพนธ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519
วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก
ผลการศึกษา :
แปลจารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดดวงดีที่พบในบริเวณวิหารจำนวน 3 องค์ โดยองค์แรกมีอายุในช่วง พ.ศ.2039 องค์ที่สองมีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ.2365 องค์ที่สามอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2399ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
ผลการศึกษา :
สำนักงานศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ จัดทำโครงการบูรณะวิหารและอุโบสถ วัดดวงดี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สรุปว่าวัดดวงดีแต่เดิมมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า วัดต้นมกหรือต้นหมากเหนือ ไม่พบหลักฐานปีที่สร้างชัดเจนแต่พบหลักฐานทางโบราณคดีอย่างน้อยช่วงพ.ศ.2039 สมัยพระเจ้ายอดเชียงรายชื่อผู้ศึกษา : อนุวัตร อินทนา
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาการจัดการ/พัฒนาแหล่งโบราณคดี
ผลการศึกษา :
ทำรายงานการค้นคว้าอิสระเรื่อง “วัดโบราณกับการจัดภูมิทัศน์แนวใหม่ : กรณีศึกษาวัดดวงดี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่” สรุปว่าการปรับปรุงภูมิทัศน์แนวใหม่ของวัดดวงดีส่งผลกระทบต่อคุณค่าทางกายภาพของวัดและทำลายสัญลักษณ์เรื่องคติจักรวาลที่เป็นความเชื่อดังเดิมของล้านนาโดยอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงบทบาทของวัดสู่จุดขายทางด้านการท่องเที่ยวที่มากเกินไปวัดดวงดีไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่หลักฐานเก่าสุดคือจารึกฐานพระพุทธรูปทองสำริดที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารเป็นจารึกอักษรไทยยวน ภาษาไทยยวนกล่าวว่า “(จุล)ศักราช 858 ปีรวายสี พระพุทธรูปองค์นี้ (หนัก) 1 แสน (อาราธนามา) ประดิษฐานไว้ที่วัดต้นหมากเหนือ” (ฮันส์ เพนธ์ 2519 : 79) กำหนดอายุอยู่ในช่วง พ.ศ.2039 หรือตรงกับสมัยพระเจ้ายอดเชียงรายครองเมืองเชียงใหม่
ในพงศาวดารโยนกได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เจ้าปัดพระอนุชาของเจ้าองค์นกได้แย่งชิงราชสมบัติจากเจ้าจันทร์บุตรของเจ้าองค์นกแล้วได้นิมนต์ให้เจ้าอธิการวัดดวงดีขึ้นครองราชย์เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2304 (พระยาประชากิจกรจักร 2516 : 423)
ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2304 เจ้าชี้หุดบวชเป็นพระอยู่วัดดวงดี เมื่อสึกออกมาได้เป็นเจ้าเมืองลำพูน ( สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ : 2548)
ในสมุดข่อย “ปั๊บหลั่น” ต้นฉบับบันทึกด้วยอักษรไทยยวน (ตัวเมือง) ภาษาไทยยวน (ภาษาเมือง) ได้กล่าวถึง ธุเจ้าวัดดวงดีนำระฆังไปถวายวัดพระธาตุดอยคำใน พ.ศ. 2381 และ การสร้างกำแพงวัดพระบาทโดยธุเจ้าวัดดวงดีในปี พ.ศ. 2385 (ปวงคำ ตุ้ยเขียว 2515 : 4-5)
นอกจากนี้ชื่อของวัดดวงดียังปรากฏในเอกสารรายชื่อวัดและนิกายสงฆ์โบราณในเชียงใหม่ที่เป็นเอกสารโบราณแบบพับสาของวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีการรวบรวมในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยกล่าวว่าวัดดวงดีสังกัดอยู่ในหมวดอุโบสถวัดสเพลาหรือวัดสำเภา (สมหมาย เปรมจิตต์ 2518 : 2-3)
ภายในวัดพบสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ดังนี้
วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน ไม่ทราบปีที่สร้างชัดเจน ตามประวัติวัดกล่าวว่าสร้างโดยแม่เจ้าจันทร์หอม ส่วนเจ้าคุณอุดม วุฒิคุณ รองเจ้าคณะจังหวัด กล่าวว่าสร้างโดยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ (น้อยสุริยะ) และมีการบูรณะโดยพระยาธรรมลังกา เจ้าหลวงเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2362 (ปวงคำ ตุ้ยเขียว 2515 : 6) ลักษณะทางสถาปัตยกรรม มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดยาว 9 ห้อง ฐานวิหารเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายถัดขึ้นไปเป็นลูกแก้วกลมรองรับตัวอาคาร ผนังทั้งสี่ด้านก่ออิฐฉาบปูนจนถึงโครงสร้างหลังคา ด้านหน้าสกัดเป็นช่องประตู ขอบผนังด้านบนทำเป็นช่องแสงลักษณะสี่เหลี่ยมตาทแยง ผนังด้านหลังก่ออิฐทึบ ส่วนผนังด้านข้างทั้งสองข้างเจาะเป็นช่องประตูและหน้าต่าง ด้านหน้าโถงระเบียงทำบันได ปลายราวบันไดทำเป็นรูปตัวเหงา โครงสร้างหลังคาเป็นหลังคาลดชั้น3 ชั้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซ้อนกัน 2 ตับ มุงด้วยกระเบื้องดินเผา หน้าจั่วประดับช่อฟ้ารูปปากนกปลายงอน ป้านลมไม้แกะสลักเป็นนาคสดุ้ง ประดับใบระกา ไม้สลักประดับกระจก ปลายป้านลมประดับหางหงส์รูปหัวนาค บริเวณกลางสันหลังคาประดับฉัตรโลหะ 9 ชั้น หน้าบันสลักเป็นลายพันพฤกษาประดับกระจก คันทวยเป็นไม้สลักจำนวน 18 ชิ้นทำเป็นลายพันธุ์พฤกษา เทคนิคของโครงสร้างหลังคาทำแบบจั่วมีดั้ง ไม่มีเสาคู่กลาง ภายในตัวอาคารทำเป็นเสาแปดเหลี่ยมประกอบกับส่วนโถงระเบียงด้านหน้า ส่วนเสข้าง(เสาระเบียง) ตั้งอยู่ในกรอบฐานและผนังที่ก่อปูนปิดทับ (อนุวัตร อินทนา 2553 : 20-36) ภายในประดิษฐานพระพุทธประธานและพระบริวารบนฐานปัทมลูกแก้วอกไก่ยกเก็จตกแต่งด้วยปูนปั้นประดับกระจกอังวะ พระประธานมีรูปแบบเป็นศิลปะแบบล้านนารุ่นหลังที่มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยจากการทำพระรัศมีเปลวแต่พระพักตร์คงเค้าโครงแบบพระพุทธสิหิงค์ พระหนุเป็นปมและพระองค์ค่อนข้างอวบอ้วน โดยมีพระอันดับแวดล้อมทั้งของใหม่(แบบพระแก้วมรกต) และของเก่า (แบบพระพุทธสิหิงค์เนื้อทองสำริด ลักษณะพิมพ์เดียวกับของวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร และอีกหลายๆ วัดในเขตตัวเมืองเชียงใหม่) ผนังภายในเขียนภาพจิตรกรรมด้วยสีฝุ่นเป็นรูปนรก-สวรรค์(ด้านเหนือ) และเรื่องพระมาลัย(ด้านใต้) มีธรรมมาสน์หลวง บุษบกธรรมาสน์ที่เจ้าราชบุตรวงศ์ตะวัน ณ เชียงใหม่ สร้างอุทิศถวาย (สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ 2548 : 2)
อุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหาร จากคัมภีร์ใบลานวัดภูมินทร์ จังหวัดน่านกล่าวถึงการสร้างและฉลองอุโบสถพร้อมหอไตรของวัดดวงดีในปี พ.ศ.2377 (สรัสวดี อ๋องสกุล 2534 : 28) ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นอุโบสถแบบล้านนา ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 5 ห้อง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ฐานเป็นฐานบัวประดับลูกแก้วบริเวณท้องไม้ ถัดขึ้นไปเป็นฐานลูกแก้วรองรับฐานบัวคว่ำ ด้านหน้าอุโบสถทำเป็นบันไดแบบวงโค้ง ผนังก่ออิฐฉาบปูนมีการเจาะช่องหน้าต่าง เสาและหลังคาเป็นโครงสร้างไม้ มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินขอโดยทำเป็นตับลดด้านหน้าและด้านหลัง 1 ชั้น ด้านข้างทำเป็นตับลด 1 ชั้น ประดับตกแต่งในส่วนต่างๆ ที่เป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน อุดปีกนก โก่งคิ้ว ปั้นลม ฯลฯ ด้วยเครื่องไม้แกะสลักปิดทอง ประดับกระจก ภายในเสาคู่กลางไม่มีแต่ใช้ขื่อยาวไปถึงตอนบนผนัง โครงสร้างของขื่อคานภายในยังคงปรากฏงานปิดทองร่องชาดแท่นแก้ว(ฐานชุกชี) สร้างเต็มพื้นที่ห้องด้านหลังประดิษฐานพระประธานและพระอันดับเป็นกลุ่ม ภายนอกโดยรอบอุโบสถฝังหลักเสมาทรงแท่งสี่เหลี่ยมปูนปั้นหัวมน 8 ทิศ (สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ 2548 : 3)
หอไตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอุโบสถ จารึกในสมุดข่อย “ปั๊บหลั่น” กล่าวว่าสร้างในปีพ.ศ. 2372 โดยเจ้ามหาอุปราชมหาวงศ์ ต่อมาหอไตรได้พังทลายลงทำให้เสา ผนังและซุ่มหน้าต่างพังลงมาทั้งหมด กรมศิลปากรจึงได้ทำการบูรณะขึ้นมาใหม่ยกเว้นในส่วนของลวดลายที่ไม่สามารถบูรณะได้จำทำเพียงการทาปูนฉาบเรียบ (สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ 2548 : 5) รูปแบบเป็นอาคารทรงมณฑปแบบล้านนา ก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยม มีบันไดขึ้นทางด้านทิศเหนือ หลังคาทำลดหลั่นซ้อนกัน 3 ชั้น
เจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวิหารในแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก ในหนังสือประวัติวัดดวงดีกล่าวว่าพระมหาเกสระอดีตเจ้าอาวาสเป็นผู้สร้าง (ปวงคำ ตุ้ยเขียว 2515 : 6) ลักษณะปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียงซ้อนยกสูงประดับรูปช้างปูนปั้นบนมุมทั้งสี่มุมสันนิษฐานว่าเป็นส่วนที่ก่อเพิ่มในสมัยหลัง ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงซ้อนลดหลั่นสามชั้นรองรับฐานบัวประดับลูกแก้วอกไก่ซ้อนกันสองฐาน ในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จมีท้องไม้คาดกลาง เหนือขึ้นไปบัวรองรับองค์ระฆังทำเป็นบัวคว่ำ-บัวหงายประดับลูกแก้วอกไก่ซ้อนลดหลั่นกันสามชั้นในผังแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆังกลม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์มีลักษณะเป็นฐานบัวในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จประดับลูกแก้วอกไก่ 1 เส้น ต่อด้วยปล้องไฉนและปลียอด จากรูปแบบสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 (อนุวัตร อินทนา 2553 : 19-20)
จารึกที่เกี่ยวข้อง : จารึกฐานพระพุทธรูปวัดดวงดี ๑ , จารึกฐานพระพุทธรูปวัดดวงดี ๒, จารึกฐานพระพุทธรูปวัดดวงดี ๓
กรมศิลปากร. “วัดดวงดี.” ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 เข้าถึงได้จาก www.gis.finearts.go.th
กรมศิลปากร. การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.
คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี, 2514.
จังหวัดเชียงใหม่. แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ 4 ปี (พ.ศ.2558-2561). (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559. เข้าถึงได้จาก www.chiangmai.go.th
ปวงคำ ตุ้ยเชียว. ประวัติวัดดวงดี. เชียงใหม่ : ธาราทองการพิมพ์, 2515.
พระยาประชากิจกรจักร. พงศาวดารโยนก. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). “จารึกฐานพระพุทธรูปวัดดวงดี.” ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2559. เข้าถึงได้จาก http://www.sac.or.th/databases/inscriptions
สมหมาย เปรมจิตต์. รายชื่อวัดและนิกายสงฆ์โบราณในเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2518.
สรัสวดี อ๋องสกุล. ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543.
สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่. โครงการบูรณะวิหารและอุโบสถวัดดวงดี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. (เอกสารอัดสำเนา) , 2548.
อนุวัตร อินทนา. “วัดโบราณกับการจัดภูมิทัศน์แนวใหม่ : กรณีศึกษาวัดดวงดี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
ฮันส์ เพนธ์. คำจารึกที่ฐานพระพุทธรูปในนครเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2519.
Google Maps. Wat Doung Dee (วัดดวงดี). (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559. เข้าถึงได้จาก https://www.google.co.th/maps