อูบมุง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ม.1 บ้านคูเมือง ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ

ตำบล : คูเมือง

อำเภอ : วารินชำราบ

จังหวัด : อุบลราชธานี

พิกัด DD : 15.09047 N, 104.86425 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำโดมใหญ่, ห้วยพับ (ห้วยยอด)

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

อูบมุงตั้งอยู่ห่างจากคูเมืองชั้นในของเมืองโบราณบ้านคูเมืองมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 600 เมตร และห่างจากคูเมืองชั้นนอกมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 300 เมตร

จากตัวอำเภอวารินชำราบ ใช้ถนนกันทรลักษณ์ (ทางหลวงหมายเลข 2178) มุ่งหน้าทิศใต้ (มุ่งหน้าตำบลคูเมือง หรือมุ่งหน้าอำเภอกันทรลักษณ์) ผ่านแยกที่ตัดกับถนนเลี่ยงเมืองอุบลไปประมาณ 4.7 กิโลเมตร พบสี่แยก เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเข้าหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวามุ่งหน้าบ้านคูเมือง ไปตามถนนประมาณ 3.3 กิโลเมตร ถึงบ้านคูเมือง พบสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามถนน (ผ่านชุมชนบ้านคูเมือง) ประมาณ 400 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวาไปประมาณ 110 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนลาดยางประมาณ 900 เมตร จะพบบ่อน้ำและเนินดินรกร้างที่ตั้งของโบราณสถานอูบมุงทางขวามือ หลังบ้านเรือนราษฎร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานอูบมุงมีสภาพเป็นซากโบราณสถานที่ถูกทำลาย ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีการดูแลหรือจัดการใดๆ แม้ว่าจะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานแล้วก็ตาม อีกทั้งยังไม่เหมาะกับการเยี่ยมชมเพราะพื้นที่รกชัฏมาก ยากต่อการเข้าถึง

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, เอกชน

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

โบราณสถานอูบมุงและหนองน้ำโบราณด้านทิศตะวันออกได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน 2 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 53 หน้า 1533 วันที่ 27 กันยายน 2479 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ

ครั้งที่ 2 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 114 ตอนพิเศษ 80ง วันที่ 12 กันยายน 2540 เรื่อง การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

อูบมุงตั้งอยู่บนเนินดินขนาดเล็ก ยาวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกประมาณ 130 เมตร กว้างตามแนวทิศเหนือ-ใต้ประมาณ 40 เมตร (แต่เดิมอาจเป็นเนินดินขนาดใหญ่กว่าปัจจุบัน แต่ได้ถูกไถปรับพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรม) สูงประมาณ 1-2 เมตร พื้นที่โดยรอบเป็นที่ราบในพื้นที่ลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ (Low Terrace) ของลำน้ำเก่า ปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนา

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

127 เมตร

ทางน้ำ

ห้วยพับ (ห้วยยอด), ลำโดมใหญ่, แม่น้ำมูล

สภาพธรณีวิทยา

ที่ราบในพื้นที่ลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ (Low Terrace) ของลำน้ำเก่า ทับถมในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540, พ.ศ.2541

วิธีศึกษา : สำรวจ


ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

อูบมุงตั้งอยู่บนเนินดินขนาดเล็ก ยาวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกประมาณ 130 เมตร กว้างตามแนวทิศเหนือ-ใต้ประมาณ 40 เมตร (แต่เดิมอาจเป็นเนินดินขนาดใหญ่กว่าปัจจุบัน แต่ได้ถูกไถปรับพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรม) สูงประมาณ 1-2 เมตร พื้นที่โดยรอบเป็นที่ราบในพื้นที่ลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ (Low Terrace) ของลำน้ำเก่า ปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนา

อูบมุงอยู่ห่างจากคูเมืองชั้นในของเมืองโบราณบ้านคูเมืองมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 600 เมตร และห่างจากคูเมืองชั้นนอกมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 300 เมตร ห่างจากห้วยพับหรือห้วยยอด ซึ่งเป็นลำน้ำขนาดเล็กที่เป็นสาขาของลำโดมใหญ่และแม่น้ำมูล และเป็นลำน้ำที่หล่อเลี้ยงคูเมืองของบ้านคูเมือง มาทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ห่างจากห้วยยอด (เป็นลำน้ำสาขาของลำโดมใหญ่และแม่น้ำมูล) มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2.2 กิโลเมตร ห่างจากแม่น้ำมูลมาทางทิศใต้ประมาณ 13 กิโลเมตร และห่างจากลำโดมใหญ่มาทางทิศตะวันตกประมาณ 19 กิโลเมตร

ติดกับเนินดินด้านทิศตะวันออกมีหนองน้ำโบราณรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว (ตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก) ประมาณ 50 เมตร กว้าง (ตามแนวทิศเหนือ-ใต้) ประมาณ 25 เมตร ซึ่งตรงกับแนวทิศระหว่างอูบมุงกับหนองกู่ หนองน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกของอูบมุงประมาณ 300 เมตร หนองกู่นี้สันนิษฐานว่าเป็นบารายในสมัยวัฒนธรรมเขมร (ยุคสมัยหนึ่งของบ้านคูเมืองเป็นชุมชนในวัฒนธรรมเขมร)

เนินดินตั้งอยู่ด้านหลังบ้านชาวบ้านหลังหนึ่ง โดยหนองน้ำโบราณที่อยู่ติดกับเนินดิน (หนองน้ำอยู่ในตำแหน่งหน้าบ้าน) เจ้าของบ้านยังคงใช้ประโยชน์อยู่

อูบมุงเป็นซากโบราณสถานก่ออิฐ สันนิษฐานว่าเป็นอาคารในวัฒนธรรมเขมรของเมืองโบราณบ้านคูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

จากการศึกษาที่ผ่านมาของกรมศิลปากรได้ข้อมูลว่าเดิมอูบมุงมีลักษณะเป็นฐานของสิ่งก่อสร้างก่อด้วยอิฐ มีความสูงประมาณ 1 เส้น 5 วา มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านเป็นอย่างมาก แต่เมื่อประมาณ 40-50 ปีก่อนถูกขุดทำลายจากการลักลอบขุดหาของโบราณ ซึ่งพบพระพุทธรูปและพระพิมพ์จำนวนมาก

การสำรวจของกรมศิลปากรราว พ.ศ.2540-2541 ยังคงพบว่าอูบมุงมีลักษณะเป็นฐานสิ่งก่อสร้างก่ออิฐ อิฐแต่ละก้อนมีการฝนขัดที่หน้าอิฐ ซึ่งพบได้ทั่วไปตามปราสาทอิฐในวัฒนธรรมเขมร

จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่ผ่านไปมาไม่มีใครทราบว่าบนเนินดินแห่งนี้มีโบราณสถาน ทราบเพียงว่าพื้นที่แถบนี้ทั้งบริเวณเรียกว่า “อูบมุง” ตามการเรียกขานของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน

บนเนินดินที่เป็นที่ตั้งของอูบมุงมีสภาพเป็นป่าละเมาะรกชัฏ มีใบไม้แห่งทับถมหนา ไม่มีทางเดิน มีก้อนอิฐและหินทรายแตกหักตกอยู่บนผิวดินประปราย

โบราณสถานตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของเนิน มีสภาพเป็นเนินขนาดเล็กสูงประมาณ 2 เมตร บนเนินมีต้นไม้ขึ้นและมีใบไม้แห้งทับถมหนา มีก้อนอิฐแตกหักกระจัดกระจายอยู่หนาแน่นทั่วทั้งเนิน ไม่เหลือสภาพฐานอาคารก่ออิฐ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี