โพสต์เมื่อ 18 พ.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดสุลาลัย, วัดสระไข่น้ำ
ที่ตั้ง : ม.2 บ้านสระไข่น้ำ ต.กุดตุ้ม อ.เมืองชัยภูมิ, วัดสุลาลัย ต.โพนทอง อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ
ตำบล : กุดตุ้ม
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : ชัยภูมิ
พิกัด DD : 15.810812 N, 102.10037 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ชี
เขตลุ่มน้ำรอง : ลำปะทาว
จากตัวจังหวัดชัยภูมิบริเวณอนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (พระยาแล) ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 202 (ถนนอรุณประเสริฐ ต่อเนื่องกับถนนหฤทัย) มุ่งหน้าทิศเหนือ (ด้านหลังของอนุสาวรีย์) ประมาณ 600 เมตร พบสี่แยกให้เลี้ยวขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 202 (ถนนนิเวศรัตน์) ประมาณ 7.4 กิโลเมตร พบสี่แยกให้เลี้ยวขวามุ่งหน้าตำบลกุดตุ้ม ประมาณ 850 เมตร พบสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 11 เมตร จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามถนนอีกประมาณ 650 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวา ไปตามถนนประมาณ 1 กิโลเมตร ถึงบ้านสระไข่น้ำและวัดสุลาลัย
ทางวัดสุลาลัย ชาวบ้านผือและบ้านกุดตุ้ม เห็นถึงความสำคัญของโบราณวัตถุที่พบในพื้นที่ จึงได้ดูแลรักษาโบราณวัตถุเหล่านี้เป็นอย่างดี โดยทำการเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่วัดสุลาลัย แต่ยังไม่มีป้ายบรรยายให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติและความสำคัญของหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีป้ายบอกทางเข้าชมเสมาวัดสุลาลัยตั้งแต่ถนนนิเวศรัตน์ (ทางหลวงหมายเลข 202)
วัดสุลาลัย
บ้านสระไข่น้ำตั้งอยู่บนเนินดินขนาดประมาณ 800x800 เมตร สูงจากพื้นที่โดยรอบที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม (นาข้าว) ประมาณ 5-6 เมตร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ มีเนินดินขนาดใหญ่ที่มักเป็นที่ตั้งชุมชนกระจายอยู่ทั่วทั้งพื้นที่ รวมทั้งเนินดินที่เป็นที่ตั้งของบ้านผือที่ตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 300 เมตร
ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของชุมชนมีลำน้ำธรรมชาติขนาดเล็กไหลผ่าน ลำน้ำสายนี้ไหลไปบรรจบกับลำปะทาวที่อยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร
ลำปะทาว, แม่น้ำชี
หินเกลือในหมวดหินมหาสารคาม (Mahasarakham Formation – KTms) ยุคครีเทเชียส
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบอยู่ภายในวัดสุลาลัย หรือวัดสระไข่น้ำ (วัดสุลาลัยอยู่ในเขตตำบลโพนทอง แต่พื้นที่โดยรอบเป็นตำบลกุดตุ้ม) คือ เสมาหินทราย (สภาพสมบูรณ์และเกือบสมบูรณ์) 13 ใบ ฐานประติมากรรม 1 ฐาน นอกจากนั้นยังมีชิ้นส่วนก้อนหินทรายอีกหลายก้อน ตั้งอยู่ภายในศาลากลางแจ้งข้างศาลาการเปรียญ หลังคามุงกระเบื้องลอน นอกจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว ภายในศาลายังประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปปั้นพระสงฆ์เกจิ พร้อมเครื่องสักการะต่างๆ
เสมาทั้งหมดมีขนาดใหญ่ มีขนาด รูปร่าง และลวดลายสลักที่แตกต่างกัน บางใบสลักลวดลายสันนูนตรงกลางในแนวตั้ง บางใบมีเซาะร่องเป็นเส้นในแนวนอน บางใบสลักลายกลีบดอกบัวที่ส่วนล่างของเสมา และบางใบสลักลวดลายหม้อหรือเครื่องมงคลภายในซุ้ม ทั้งนี้ ทางวัดได้นำผ้ามาห่มคลุมเสมาบางใบไว้
จากการสอบถามชาวบ้านได้ข้อมูลว่าหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ได้มาหลายคราวจากชาวบ้านหมู่ 1 บ้านผือ และหมู่ 2 บ้านสระไข่น้ำ ที่พบอยู่ในพื้นที่ จึงได้นำมารวบรวมไว้ที่วัดสุลาลัย
วัดสุลาลัยและหลักฐานทางโบราณคดีภายในวัด ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร