ปรางค์ดอนกู่


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ม.5 บ้านดอนกู่ ต.หนองไผ่ อ.เมืองชัยภูมิ

ตำบล : หนองไผ่

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ชัยภูมิ

พิกัด DD : 15.725344 N, 102.119934 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ชี

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวจังหวัดชัยภูมิ (ตัวอำเภอเมืองชัยภูมิ) ใช้ทางหลวงหมายเลข 202 (ถนนนิเวศรัตน์) มุ่งหน้าทางทิศตะวันออกหรือมุ่งหน้าอำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 13 กิโลเมตร พบสี่แยกให้เลี้ยวขวามุ่งหน้าตำบลหนองไผ่ประมาณ 10.5 กิโลเมตร ถึงบ้านดอนกู่ เลี้ยวขวาที่ซอยแรก ไปตามถนนประมาณ 110 เมตร ถึงโบราณสถานปรางค์ดอนกู่ที่ตั้งอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปรางค์ดอนกู่มีสภาพชำรุดเสียหายมาก สาเหตุจากการพังทลายตามกาลเวลาและการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ แต่ทางชุมชนบ้านดอนกู่ช่วยกันอนุรักษ์รักษาโบราณสถานแห่งนี้ไว้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน มีการจัดงานเฉลิมฉลองและสักการะในวันสำคัญต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีป้ายบรรยายให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประวัติและความสำคัญของหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่

ผู้ที่สนใจสามารถเข้ายี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

ชุมชนบ้านดอนกู่, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ปรางค์ดอนกู่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจจานุเบกษา เรื่องการกำหนดจำนวนโบราณวัตถุสถานสำหรับชาติ เล่ม 115 ตอนพิเศษ 83ง วันที่ 21 กันยายน 2541

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ปรางค์ดอนกู่ตั้งอยู่บนเนินดินที่เป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านดอนกู่ในปัจจุบัน เนินดินดังกล่าวมีขนาดประมาณ 500x600 เมตร สูงจากพื้นที่โดยรอบที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม (นาข้าว) ประมาณ 5 เมตร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ มีลำน้ำธรรมชาติไหลอยู่ด้านทิศเหนือของชุมชน ห่างออกไปประมาณ 250 เมตร ลำน้ำสายนี้จะไหลออกสู่แม่น้ำชีที่อยู่ห่างออกไปทางด้านทิศตะวันออกประมาณ 2-3 กิโลเมตร

ปรางค์ดอนกู่ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชน มีทั้งสนามกีฬา ห้องน้ำ สระน้ำ อาคารสามัคคีธรรม อาคารที่พำนักของพระสงฆ์ รวมทั้งศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของชุมชน ส่วนพื้นที่โดยรอบเป็นที่ตั้งบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่เกษตรกรรม

โบราณสถานปรางค์ดอนกู่ปรากฏเพียงส่วนฐานของอาคารที่ก่อด้วยศิลาแลง

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

185 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำชี

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะธรณีสัณฐานเป็นหินเกลือในหมวดหินมหาสารคาม (Mahasarakham Formation – KTms) ยุคครีเทเชียส

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยบายน

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 18

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

โบราณสถานปรางค์ดอนกู่ปัจจุบันปรากฏเพียงส่วนฐานของอาคารที่ก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขอยู่ทางด้านหน้าคือด้านทิศตะวันออก ขนาดกว้างประมาณ 8 เมตร ยาวประมาณ 11 เมตร ส่วนกลางของห้องรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือครรภคฤหะปัจจุบันประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยนาคปรกขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นโดยชาวบ้านเมื่อประมาณ 20-30 ปีก่อน

เดิมปรางค์ดอนกู่เป็นอาคารขนาดสูงใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลง แต่เมื่อราว 20-30 ปีที่แล้วได้มีโจรลักลอบขุดหาโบราณวัตถุบริเวณปราสาทดอนกู่ โดยขุดลึกลงไปกลางปราสาทจนเป็นโพรง ชาวบ้านจึงได้นำดินมาถมพร้อมกับสร้างพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทับรูลักลอบขุดดังกล่าวไว้เพื่อป้องกันการลักลอบขุด (กรมศิลปากร 2557) รวมถึงสำหรับสักการะบูชา

พื้นภายในอาคารเต็มไปด้วยหินกรวด มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ภายในอาคาร ใต้ต้นไม้บนฐานอาคารมีศาลไม้ตั้งอยู่ ชาวบ้านได้สร้างกำแพงอิฐล้อมฐานอาคารโบราณสถานไว้โดยรอบ มีทางเข้าออกอยู่ทางด้านหน้า ไม่มีประตู ที่ซุ้มประตูทางเข้าระบุปีที่สร้างว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2525

นอกจากอาคารโบราณสถานแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ยังเคยขุดพบโบราณวัตถุในวัฒนธรรมเขมร เช่น ภาชนะดินเผาประเภทไห แท่งหินทรายบดยา เป็นต้น กรมศิลปากร (2557) สันนิษฐานว่าปรางค์ดอนกู่เป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นในวัฒนธรรมเขมร คือเป็นที่พักคนเดินทางหรือธรรมศาลาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. “ปรางดอนค์กู่.” ระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์), มปป. เข้าถึงเมื่อ 10 พฤษภาคม 2557. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี