โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : โรงเรียนบ้านชุมแพ ม.10 ถ.ชายทุ่ง บ้านชุมแพ ต.ชุมแพ อ.ชุมแพ
ตำบล : ชุมแพ
อำเภอ : ชุมแพ
จังหวัด : ขอนแก่น
พิกัด DD : 16.536609 N, 102.092573 E
โบราณสถานตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านชุมแพ ริมถนนชายทุ่ง ในตัวอำเภอชุมแพหรือในเขตเทศบาลเมืองชุมแพ (อยู่บริเวณพื้นที่ทางทิศใต้ของตัวอำเภอชุมแพ ใกล้กับวัดโพธิ์ธาตุและศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชุมแพ)
โบราณสถานภายในโรงเรียนบ้านชุมแพมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่ยังไม่ได้รับการขุดค้น ขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้ขาดข้อมูลวิชาการสำหรับอธิบายควาเมป็นมาของสิ่งก่อสร้างนี้ที่แน่ชัด ทางโรงเรียนบ้านชุมแพได้กันพื้นที่เนินโบราณสถานเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของโรงเรียนและของบ้านชุมแพ นอกจากนี้ พื้นที่โบราณสถานยังเป็นที่ตั้งของศาลปู่ขาว สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านชุมแพ
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมโบราณสถานได้ในและเวลาราชการ
โรงเรียนบ้านชุมแพ, กรมศิลปากร
ธาตุภายในโรงเรียนวัดบ้านชุมแพ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเรื่องการกำหนดจำนวนโบราณวัตถุสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 57 หน้า 2527 วันที่ 22 ตุลาคม 2483
โบราณสถานตั้งอยู่ข้างสนามบาสเกตบอลภายในโรงเรียนบ้านชุมแพ ภายในเทศบาลเมืองชุมแพ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นลูกคลื่นลอนลาด มีลำน้ำสาขาของลำน้ำเชิญ (เซิน) หลายสายไหลผ่านตัวอำเภอชุมแพ เช่น ห้วยวังหูกวาง ห้วยโสกตาแดง ห้วยบั้งทิ้ง รวมทั้งมีสระน้ำหลายสระที่เกิดจากหลุมเกลือ
ทางทิศตะวันตกของโบราณสถานมีลำห้วยธรรมชาติไหลผ่าน ซึ่งจะไปเชื่อมกับห้วยวังหูกวางที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 350 เมตร โบราณสถานอยู่ห่างจากเมืองโบราณโนนเมืองมาทางทิศเหนือประมาณ 2.3 กิโลเมตร ห่างจากลำน้ำเชิญมาทางทิศเหนือ 4 กิโลเมตร
ห้วยวังหูกวาง, ลำน้ำเชิญ, แม่น้ำชี
ธรณีสัณฐานเป็นหินทรายในหมวดหินภูกะดึง ปัจจุบันภายในตัวเมืองมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมาก
โบราณสถานธาตุ (โรงเรียนบ้านชุมแพ) ไม่ทราบประวัติความเป็นมาที่แน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด แต่จากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่กล่าวว่า เดิมบ้านชุมแพเป็นหมู่บ้านใหญ่ แบ่งออกเป็น 3 คุ้ม คือ คุ้มใต้ คุ้มกลาง และคุ้มเหนือ
คุ้มใต้ มี “วัดใต้” เป็นวัดประจำคุ้ม ตั้งอยู่ใกล้กุดชุมแพ บริเวณที่ตั้งศาลปู่ขาว ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาเป็นวัดร้างและได้รื้อถอนออกไปนานแล้ว ปัจจุบันคือเขตพื้นที่โรงเรียนบ้านชุมแพ (เดิมชื่อโรงเรียนวัดโพธิ์ธาตุ) และยังมีศาลปู่ขาว สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวชุมแพให้ความเคารพ กราบไหว้ และบวงสรวง เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้นโบราณสถานภายในโรงเรียนน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของวัดใต้
คุ้มเหนือ มี “วัดโพธิ์ศรี” เป็นวัดประจำคุ้ม ต่อมาเป็นวัดร้าง และได้รื้อถอนไปนานแล้ว ปัจจุบันคือเขตพื้นที่ตลาดเหนือและที่ว่าการอำเภอชุมแพ
คุ้มกลางมี “วัดกลาง” เป็นวัดประจำคุ้ม ตั้งอยู่บริเวณกลางหมู่บ้านชุมแพ ใกล้หนองอีเลิง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดโพธิ์ธาตุ” เพราะบริเวณเดิมมีเจดีย์หรือธาตุ 3 องค์ และต้นโพธิ์ใหญ่ 3 ต้น
โรงเรียนบ้านชุมแพเดิมชื่อโรงเรียนวัดโพธิ์ธาตุ (จากการสัมภาษณ์พระลูกวัดของวัดโพธิ์ธาตุได้ข้อมูลว่า พื้นที่โรงเรียนเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดโพธิ์ธาตุ)
โบราณสถานมีลักษณะเป็นเนินซากโบราณสถานก่ออิฐ ขนาดเนินประมาณ 5x5 เมตร สูงประมาณ 2 เมตร มีต้นไม้ใหญ่ 4 ต้นขึ้นอยู่บนเนิน รวมถึงรากไม้และวัชพืชต่างๆ บนเนินมีก้อนอิฐและหินทรายกระจายตัวอยู่อย่างระเกะระกะ ขนาดอิฐประมาณ 15x30x8 เซนติเมตร ชายเนินด้านทิศตะวันตกมีชิ้นส่วนฐานประติมากรรมอยู่ 1 ชิ้น ส่วนยอดเนินมีประติมากรรมนูนสูงรูปบุคคล (พระพุทธรูป?) อยู่ 1 ชิ้น สลักขึ้นจากหินทราย เป็นส่วนลำตัว แขน และมือ โดยมือวางอยู่ที่ด้านหน้าหนือหน้าตัก หันด้านหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ด้านทิศตะวันตกของเนินโบราณสถานเป็นพื้นที่รกร้าง ด้านทิศตะวันออกเป็นสนามบาสเกตบอล ส่วนด้านทิศใต้เป็นศาลาประดิษฐานพระพุทธรูป และด้านทิศเหนือเป็น “ศาลปู่ขาว” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของโรงเรียนและบ้านชุมแพ
กรมศิลปากร. “ธาตุ (โรงเรียนบ้านชุมแพ).” ระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์), มปป. เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2557. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th