โพสต์เมื่อ 19 ก.ย. 2021
ที่ตั้ง : ม.1 บ้านสบรวก
ตำบล : เวียง
อำเภอ : เชียงแสน
จังหวัด : เชียงราย
พิกัด DD : 20.25029 N, 100.106122 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
เขตลุ่มน้ำรอง : แม่น้ำคำ
จากคูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองเชียงแสน ใช้ทางหลวงหมายเลข 1129 (เชียงแสน-เชียงของ) มุ่งหน้าลงทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบแม่น้ำคำ รวมทั้งสบคำหรือบริเวณที่แม่น้ำคำบรรจบกับแม่น้ำโขงอยู่ทางซ้ายมือ
แหล่งโบราณคดีสบคำอยู่บริเวณที่ลาดตีนดอยคำ ริมถนนลูกรัง ซึ่งตัดจากตัวเมืองเชียงแสนไปสู่หมู่บ้านสบรวก ห่างจากตัวเมืองเชียงแสนใต้ไปตามลำน้ำประมาณ 2.5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นหาดกรวดยาวขนานกับแม่น้ำโขง มีการทับถมของตะกอนแม่น้ำเกิดขึ้นมาก
แม่น้ำโขง
โครงสร้างทางธรณีวิทยาเป็นกลุ่มหินมีโครงสร้างซับซ้อนประกอบด้วยหินอัคนี และหินแปร วางตัวรองรับกลุ่มหินซึ่งมีโครงสร้างภายในไม่ซับซ้อนนัก กลุ่มหินที่ปิดทับอยู่นี้วางตัวอย่างไม่ต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ประกอบด้วยหินตะกอน แหล่งสำรวจมีโครงสร้างทางธรณีวิทยาเป็นบริเวณที่มีเสถียรภาพค่อนข้างสูง คือเปลือกโลกบริเวณนี้หยุดการเคลื่อนไหวแบบรุนแรงมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร
ชื่อผู้ศึกษา : คงเดช ประพัฒน์ทอง, วีรพันธุ์ มาไลยพันธุ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
พบเครื่องมือหินกรวดขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องมือของคนในยุคหินเก่าในพื้นที่บริเวณนี้ชื่อผู้ศึกษา : วีรพันธุ์ มาไลยพันธุ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2514
วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดตรวจ, ศึกษาสภาพแวดล้อม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำรวจพบเครื่องมือหินกะเทาะตลอดฝั่งแม่น้ำโขงจากเชียงแสนถึงสบกก ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร และลงมาถึงหาดสวนดอก (ห่างจากเมืองเชียงแสนลงมา 15 กิโลเมตร) และการขุดตรวจที่ลาดตีนดอยคำ พบว่ามีการอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคหินเก่าในสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย ต่อมาจึงมีคนยุคหินใหม่เข้ามาครอบครอง หลังจากนั้นเจ้าของวัฒนธรรมแบบเชียงแสนเข้ามาตั้งบ้านเรือนอย่างถาวรชื่อผู้ศึกษา : พาสุข ดิษยเดช, สายันต์ ไพรชาญจิตร์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พาสุข ดิษยเดช, สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และคณะ โครงการโบราณคดี (ภาคเหนือ) สำรวจบริเวณนิมฝั่งแม่น้ำโขงจากหน้าเมืองเชียงแสนไปจนถึงหน้าเมืองเชียงแสนน้อย พบเครื่องมือหินกะเทาะ 183 ชิ้นชื่อผู้ศึกษา : รัศมี ชูทรงเดช
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ผลการศึกษารูปแบบเครื่องมือหินกะเทาะที่พบจากการสำรวจริมแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สามารถแบ่งรูปแบบเครื่องมือออกเป็น 9 แบบ เป็นเครื่องมือหินที่ใช้ในสังคมล่าสัตว์ในการช่วยในการดำรงชีวิต และพบว่าเครื่องมือหินที่พบทั้งหมดบริเวณริมแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสนเป็นเครื่องมือแบบเดียวกัน แต่ไม่พบหลักฐานที่ช่วยในการตีความเกี่ยวกับชุมชนหรือสังคมเจ้าของวัฒนธรรมที่ผลิตเครื่องมือหินเหล่านี้บริเวณเมืองเชียงแสนและพื้นที่โดยรอบนับตั้งแต่สบรวกทางทิศเหนือ (สามเหลี่ยมทองคำ) ลงไปจนถึงสบกกทางทิศใต้ ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ปรากฏโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ประเภทเครื่องมือหินแบบต่างๆกระจายอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก พื้นที่หนึ่งที่สำคัญคือบริเวณแหล่งโบราณคดีสบคำ เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณที่ลาดตีนดอยคำ ริมถนนลูกรัง ซึ่งตัดจากตัวเมืองเชียงแสนไปสู่หมู่บ้านสบรวก ห่างจากตัวเมืองเชียงแสนใต้ไปตามลำน้ำประมาณ 2.5 กิโลเมตร บริเวณลำน้ำคำ วีรพันธุ์ มาไลย์พันธุ์ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินสำรวจในปี พ.ศ.2513-2514 พบหลักฐานชี้ให้เห็นว่าบริเวณนี้เคยมีมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่เมื่อราว 15,000 – 3,000 ปีมาแล้ว ได้แก่ พบเครื่องมือหินกรวดขนาดใหญ่ (Pebble tool) และมีน้ำหนักมาก ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือใช้คมขูดและสับ (Choppers) บางชิ้นเป็นเครื่องมือคล้ายขวานกำปั้นแต่กะเทาะเพียงหน้าเดียว (proto-handaxes) และบางชิ้นเป็นเครื่องมือปลายแหลมสำหรับใช้ขุดอาหารหรือเป็นอาวุธด้วย (picks) เมื่อตรวจดูเนื้อหินด้วยวิธีตัดฝนจนบางใส (Thin section analysis) ทำให้ทราบว่าเป็นหินไรโอไรท์ (Rhyorite) (วีระพันธุ์ มาไลย์พันธุ์, 2525, 35 ; พาสุข ดิษยเดช และสายันต์ ไพรชาญจิตร์, โบราณคดีเชียงราย, 2533, 19-22)
ต่อมาเมื่อดำเนินการขุดค้นในปี พ.ศ.2514 เปิดพื้นที่ขนาด 2 x 10 เมตร บริเวณที่ลาดตีนดอยคำพบหลักฐานทางโบราณคดี สามารถแบ่งได้ตามชั้นทับถม ดังนี้
- ชั้นดินบนสุด เป็นชั้นดินที่มีกิจกรรมของคนสมัยประวัติศาสตร์ พบเศษภาชนะดินเผา และเครื่องเคลือบที่สามารถเปรียบเทียบได้กับภาชนะดินเผาที่ได้จากหลุมขุดตรวจภายในเมืองเชียงแสน กำหนดอายุหลังพุทธศตวรรษที่ 19
- ชั้นดินที่ 2 พบเครื่องมือหินขัดแบบทั่วไปคล้ายรูปไข่ แต่มีสีขาว และขวานหินขัดชนิดมีบ่าอยู่ในชั้นดินเดียวกับเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ ลายเชือกทาบ ขึ้นรูปด้วยมือ กำหนดอายุในในยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่
- ชั้นดินล่างสุด พบเครื่องมือหินกะเทาะหนาแน่น ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือขุด สับ ขวานกำปั้นกะเทาะหน้าเดียว และเครื่องขุด ซึ่งเป็นเครื่องมือของสังคมล่าสัตว์ ตรงกับสมัยหินเก่าและหินกลาง จากลักษณะของเครื่องมือกลุ่มนี้เป็นไปได้ว่ากลุ่มคนยุคหินเก่าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณดังกล่าวอาจมีความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับคนยุคหินเก่าในประเทศจีนที่รู้จักกันในชื่อ มนุษย์ปักกิ่ง หรืออีกหลายแห่งในเอเชียอาคเนย์ และควรมีอายุอยู่ราวสมัยไพลสโตซีนตอนปลายหรือประมาณสองแสนถึงหนึ่งหมื่นปีมาแล้ว (รัศมี ชูทรงเดช, 2525, 8 ; วีระพันธุ์ มาไลย์พันธุ์, 2525, 38-41)
เป็นที่น่าสังเกตว่าหินที่ใช้เป็นวัสดุในการทำเครื่องมือที่พบบริเวณแหล่งโบราณคดีสบคำคือหินแอนดีไซท์เป็นส่วนใหญ่ คือพบถึง 76.5% ของเครื่องมือทั้งหมด มาแล้ว นอกจากนี้พบว่ามีการใช้หินชนิดอื่นในการทำเครื่องมืออีก ได้แก่ หินไรโอไรท์ และหินควอร์ทไซต์ ซึ่งทั้งหมดเป็นหินอัคนีและหินแปรซึ่งมีความเหนียวและแข็งพอเหมาะกับการทำเป็นเครื่องมือหิน (รัศมี ชูทรงเดช, 2525, 36-37) โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าเครื่องมือที่ทำจากหินควอร์ตไซต์พบจำนวนน้อย คือพบเพียง 4 ชิ้นเท่านั้นโดยที่เครื่องมือหินในยุคเดียวกันที่พบในจังหวัดกาญจนบุรีล้วนแต่ทำจากหินควอทไซต์ ซึ่งเครื่องมือหินที่ทำจากหินประเภทแอนดีไซท์ และไรโอไรท์มักพบในบริเวณใกล้พรมแดนประเทศทางภาคตะวันตก และอยู่ทางภาคเหนือบริเวณเส้นรุ้งใกล้เคียงกัน จึงอาจสะท้อนการเลือกใช้ทรัพยากรที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นที่มีการสืบทอดรูปแบบความนิยมต่อๆกันของชุมชนบริเวณนี้ (วีระพันธุ์ มาไลย์พันธุ์, 2525, 36) นอกจากนี้จากเครื่องมือหินที่พบได้แสดงความก้าวหน้าของการทำเครื่องมือด้วย กล่าวคือ การกระเทาะเครื่องมือบางชิ้นเริ่มจากการกระเทาะเพียง 2-3 รอย ให้เป็นเครื่องขูด และต่อมาเริ่มมีการกะเทาะบริเวณที่จะใช้ให้คมยิ่งขึ้น จนได้วิวัฒนาการไปเป็นขวานกำปั้น แต่กะเทาะเพียงหน้าเดียว (วีระพันธุ์ มาไลย์พันธุ์, 2525, 35)
สามารถสรุปการใช้พื้นที่ของคนสมัยก่อนบริเวณแหล่งโบราณคดีสบคำและบริเวณเมืองเชียงแสนได้เป็น 2 ระยะ คือ
1. ระยะสังคมล่าสัตว์ หรือระยะก่อนสังคมเกษตรกรรม อายุราว 15,000 – 7,000 ปีมาแล้ว เป็นสังคมขนาดเล็ก ดำรงชีพด้วยการจับปลา ล่าสัตว์ เก็บพืชพันธุ์ผลไม้จากป่าและขุดหารากพืชและหัวมันเป็นอาหาร ไม่มีการตั้งหลักแหล่งถาวร ไม่มีการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ แต่รู้จักการทำเครื่องมือหิน และสันนิษฐานว่าน่าจะทำเครื่องมือและอาวุธจากไม้ด้วย โบราณวัตถุที่พบเป็นเครื่องมือหินกรวดแม่น้ำ (pebble tool) กะเทาะแต่งคมอย่างหยาบๆ เพียงหน้าเดียว ชนิดหินแอนดีไซต์ และหินไรโอไรท์ ซึ่งพบมากตามหาดกรวดในแม่น้ำโขง ประกอบด้วยเครื่องมือแบบสับตัด (chopper-chopping tools) เครื่องมือหินกะเทาะขอบคมโดยรอบเรียกว่า “สุมาตราลิธ” (sumatralite) เครื่องมือเฉือน (scraper) เครื่องมือหินในระยะก่อนการเกษตรกรรมที่เชียงแสนมีรูปแบบคล้ายเครื่องมือแบบฮัวบิเนียน ที่พบทั่วไปในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้พบทั้งตามที่ราบริมฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่สบรวกจนถึงสบคำ และตามที่ลาดที่เชิงดอยคำ ดอยจัน ทางทิศใต้ของเมืองเชียงแสน (ปริวรรต ธรรมาปรีชากร, 2539, 8-9) ในชั้นดินที่ 3 หรือชั้นดินล่างสุดที่มีกิจกรรมมนุษย์ของแหล่งโบราณคดีสบคำ มีหลักฐานบ่งชี้ว่าตรงกับระยะสังคมล่าสัตว์นี้
2. ระยะสังคมเกษตรกรรม อายุราว 7,000 – 3,000 ปีมาแล้ว รูปแบบการดำรงชีพรู้จักการเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ มีการตั้งถิ่นฐานถาวรเป็นหมู่บ้านตามที่ราบริมน้ำ หรือเนินดินใกล้ริมน้ำ มีการผลิตและใช้ภาชนะดินเผา เครื่องมือหินมีเทคนิคการทำที่ประณีตขึ้น โดยมีการขัดฝนจนสวยงามมีขอบคมชัดเจน รูปร่างคล้ายขวาน มีทั้งแบบมีบ่า และแบบเรียบ เรียกว่า ขวานหินขัด ตรงกับหลักฐานในชั้นดินที่ 2 ของแหล่งโบราณคดีสบคำ ซึ่งยังพบว่ามีความคล้ายคลึงกับหลักฐานที่พบตามที่ลาดไหล่ดอย เชิงดอย และที่ราบรอบๆเมืองเชียงแสน เช่น ดอยจอมกิตติ ดอยจำปี โดยพบหลักฐานของสังคมล่าสัตว์เช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีสบคำ (ปริวรรต ธรรมาปรีชากร, 2539, 9)
ดังนั้น การพบหลักฐานทางโบราณคดีตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ สามารถสันนิษฐานได้ว่าดินแดนที่บริเวณนี้ซึ่งใกล้เคียงเมืองเชียงแสน มีมนุษย์อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยสังคมล่าสัตว์จนพัฒนาเป็นสังคมที่รู้จักการทำเกษตรกรรม ตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งผลการวิเคราะห์รูปแบบเครื่องมือหินของ รัศมี ชูทรงเดช (2525) สรุปว่ากลุ่มคนบริเวณริมแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีการผลิตเครื่องมือหินที่เป็นเครื่องมือแบบเดียวกัน ซึ่งถึงแม้ว่าการไม่พบหลักฐานแวดล้อมอื่นๆจะทำให้ยังไม่สามารถตีความเรื่องชุมชนหรือสังคมเจ้าของวัฒนธรรมที่ผลิตเครื่องมือหินเหล่านี้ได้ ประกอบกับปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานแน่ชัดเกี่ยวกับโลหกรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือระยะสังคมเกษตรกรรมที่ใช้โลหะในพื้นที่เมืองเชียงแสน แต่ก็เชื่อกันว่าในระยะนั้นน่าจะมีคนอยู่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ต่อเนื่องมาจนพุทธศตวรรษที่ 18 เพียงแต่หลักฐานทางโบราณคดีอาจเกิดความเสียหายเนื่องจากภัยธรรมชาติที่มักเกิดขึ้นในบริเวณนี้คือ น้ำท่วม (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2551, 8 ; ปริวรรต ธรรมาปรีชากร, 2539, 9) โดยพื้นฐานสังคมดั้งเดิมนี้เองที่เป็นพื้นฐานสำคัญทำให้มีการพัฒนาสู่ความเป็นชุมชนขนาดใหญ่และกลายเป็นเมืองเชียงแสนที่มีบทบาทสำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20
รัศมี ชูทรงเดช. “การศึกษารูปแบบเครื่องมือหินกะเทาะที่พบจากการสำรวจริมแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พ.ศ.2525.” สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2525.
บุษบา ไชยเสโน. “การศึกษาร่องรอยทางโบราณคดีจากการขุดค้นบริเวณที่อยู่อาศัยในบริเวณเมืองโบราณเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2530.
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. เมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2539.
วีระพันธุ์ มาไลย์พันธุ์. “เครื่องมือยุคหินเก่าที่เชียงแสน.” โบราณคดี 4, 1 (กรกฎาคม 2525) : 35-41.
พาสุข ดิษยเดช และสายันต์ ไพรชาญจิตร์. โบราณคดีเชียงราย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2533.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะเมืองเชียงแสน : วิเคราะห์งานศิลปกรรมร่วมสมัยกับหลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.