ถ้ำโนนหินเกลี้ยง1


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : โนนหินเกลี้ยง1, โนนหินเกลี้ยง

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บ้านผักบุ้ง ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ

ตำบล : กลางใหญ่

อำเภอ : บ้านผือ

จังหวัด : อุดรธานี

พิกัด DD : 17.752144 N, 102.351319 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง, ห้วยโมง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยหินลาด, ห้วยด่านใหญ่, ห้วยหินร่อง, ห้วยนางอุสา, ห้วยโคกขาด

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เดินทางจากรุงเทพมหานครมายังจังหวัดอุดรธานีเป็นระยะทาง 564 กิโลเมตร ผ่านตัวเมืองอุดรธานีมุ่งหน้าไปทางจังหวัดหนองคาย  เลี้ยวซ้ายที่บริเวณหมู่บ้านนาข่าเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2021 อีก  67 กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

อุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและธรรมชาติที่สวยงาม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. ภายในอุทยานมีสิ่งอำนวยความสะดวกคือ ศูนย์บริการข้อมูล หอประชุม ห้องสมุด บ้านพักรับรอง ห้องสุขา ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก รถสี่ล้อพลังงานไฟฟ้า

อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยว ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

การติดต่ออุทยานฯ : อุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 41160 โทรศัพท์ 042-219837, โทรสาร 042-219838, เว็บไซต์ http://www.finearts.go.th/phuphrabathistoricalpark/

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ภูเขา

สภาพทั่วไป

ถ้ำโนนหินเกลี้ยง 1 อยู่ในกลุ่มโบราณสถานถ้ำโนนหินเกลี้ยง ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ราบเชิงเขาทางตอนเหนือของภูพระบาท โดยกลุ่มถ้ำโนนหินเกลี้ยงเป็นกลุ่มของแหล่งภาพเขียนสีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ถ้ำโนนหินเกลี้ยง1 ถ้ำโนนหินเกลี้ยง2 และถ้ำสูง บริเวณโดยรอบของเพิงหินเป็นลานหินธรรมชาติที่ลาดชันไปทางทิศเหนือ และมีลำธารขนาดเล็กคั่นกลางระหว่างถ้ำโนนหินเกลี้ยง 1 และถ้ำโนนหินเกลี้ยง 2

สภาพของแหล่งเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่ซ้อนทับก้อนหินขนาดเล็กอีก 2 ก้อน โดยหินก้อนบนมีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร สูงจากพื้น 2 เมตร มีลักษณะเป็นเพิงหินที่ยื่นออกไปทางทิศตะวันออกราว 2 เมตร ส่วนก้อนหินด้านล่างมีขนาดใกล้เคียงกันคือ ก้อนแรกตั้งอยู่ตรงกลางของเพิงหิน มีขนาดยาว 1.7 เมตร สูง 0.5 เมตร และอีกก้อนหนึ่งซึ่งติดอยู่กับก้อนแรก ยาว 1.5 เมตร สูง 0.5 เมตร มีลวดลายของภาพเขียนสีที่ปรากฏอยู่บนเพดานและผนังของเพิงหิน (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 14)

ภูพระบาทเป็นภูเขาหินทรายลูกเล็กๆ ลูกหนึ่งในเทือกเขาภูพานหรือภูพานคำ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ยประมาณ 320-350 เมตร พื้นที่ทางทิศตะวันตกของภูมีลักษณะสูงชัน และลาดเทลงมาทางทิศตะวันออก

ภูพานหรือภูพานคำเป็นเทือกเขาหินทรายที่วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ ทางตะวันตกของจังหวัดอุดรธานีและแอ่งสกลนคร

สภาพทั่วไปของภูพระบาทเป็นป่าโปร่ง มีพืชพรรณธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นอยู่ทั่วไป เช่น ไม้มะค่า ไม้แดง ไม้ชิงชัง ไม้ประดู่ ไม้เต็งรัง บนภูพระบาทปรากฏลานหินโล่งกว้าง โขดหิน และเพิงหินทรายกระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก เกิดจากการกระทำของน้ำและลมต่อหินทราย

ด้วยเหตุที่มีไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุมค่อนข้างมาก ประกอบกับพืชพันธุ์ธรรมชาติอื่นๆ อีกมากมาย ภูพระบาทจึงจัดอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ” เป็นแหล่งกำเนิดของลำธารหลายสาย เช่น ห้วยหินลาด ห้วยด่านใหญ่ ห้วยหินร่อง ห้วยนางอุสา และห้วยโคกขาด ซึ่งไหลลงไปทางทิศตะวันออกบรรจบกับแม่น้ำโขงที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

บริเวณที่ราบรอบภูเขาส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง หุบเขาทางทิศตะวันออกของภูพระบาทเป็นหุบเขาใหญ่ที่สุดมีลักษณะเป็นที่ราบลูกคลื่น พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง หุบเขานี้เรียกกันทั่วไปว่า หลุบพาน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

244 เมตร

ทางน้ำ

ห้วยหินลาด, ห้วยด่านใหญ่, ห้วยหินร่อง, ห้วยนางอุสา, ห้วยโคกขาด, ห้วยโมง, แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

ภูพระบาทเป็นเนินเขาหินทราย ในแนวเทือกเขาภูพานน้อย บริเวณขอบที่ราบสูงด้านตะวันตกของอุดรธานี หินทรายมีสีขาว ส้ม เนื้อปนกรวด เม็ดกรวดประกอบด้วยควอตซ์ เชิร์ต หินทรายแป้งสีแดง หินอัคนีบางชนิด มีรอยชั้นขวาง มีหินดินดานและหินกรวดมนแทรกสลับ อยู่ในหน่วยหินภูพาน ชุดโคราช อยู่ช่วงล่าง-ช่วงกลางครีเตเชียส หรือประมาณ 90-140 ล้านปีมาแล้ว หินทรายในพื้นที่มีลักษณะโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา เนื่องจากมีคุณสมบัติแตกต่างกันในแต่ละชั้น และได้ผ่านกระบวนการกัดกร่อนทางธรณีวิทยาโดยน้ำและลม ทำให้ได้ลักษณะธรณีสัณฐานที่แปลกตาหลายบริเวณ เช่น หอนางอุษา ถ้ำช้าง หีบศพพ่อตา หีบศพท้าวบารส หีบศพนางอุษา วัดพ่อตา ถ้ำพระ กู่นางอุษา บ่อน้ำนางอุสา เพิงหินนกกระทา พร้อมทั้งพบลักษณะทางธรณีวิทยากายภาพและธรณีโครงสร้างในหินทราย ซึ่งเป็นหินชั้นหรือหินตะกอนที่ชัดเจน เช่นการแสดงชั้นแทรกสลับกับชั้นกรวด การแสดงชั้นวางเฉียงระดับที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการไหลของน้ำ (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 38-39)

ลักษณะรูปร่างต่างๆ เกิดจากชั้นหินทราย และหินทรายปนกรวด มีเนื้อแตกต่างกัน ชั้นหินที่มีความคงทนสูงจะยื่นออกเป็นเพิงหิน หรือเป็นชั้นหินทับอยู่ข้างบน ส่วนชั้นหินที่มีความคงทนน้อยกว่าจะกร่อนหายไป หรือถูกกัดเซาะผุพังเป็นโพรง หรือเป็นส่วนคอดเว้าอยู่ใต้ชั้นหินแข็ง กลายเป็นเพิงหิน หรือผาหิน เช่นหอนางอุษา เป็นต้น

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยโลหะ, สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย

อายุทางโบราณคดี

3,000-2,500 ปีมาแล้ว

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สุสดี ปราบพาล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำรวจพบภาพเขียนสีถ้ำโนนหินเกลี้ยงครั้งแรกโดย นายสุสดี ปราบพาล เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 7 ประจำวัดพระพุทธบาทบัวบก และต่อมาได้แจ้งให้โครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามาทำการสำรวจเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ.2523

ชื่อผู้ศึกษา : โครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2523

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

จากการสำรวจภาพเขียนพบว่าแหล่งภาพเขียนสีถ้ำโนนหินเกลี้ยงประกอบด้วยเพิงหิน 2 แห่ง ซึ่งอยู่ห่างกัน 60 เมตร จึงให้ชื่อว่า โนนหินเกลี้ยง 1 โนนหินเกลี้ยง 2 (สถาพร ขวัญยืน และคณะ 2528 : 48-49)

ชื่อผู้ศึกษา : สถาพร ขวัญยืน, โครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สถาพร ขวัญยืน และคณะ ในโครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมศิลปากร สำรวจเก็บข้อมูลภาพเขียนสีถ้ำโนนหินเกลี้ยง 1 ระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายน 2527 (กองโบราณคดี 2532ก : 143-145)

ชื่อผู้ศึกษา : สถาพร ขวัญยืน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สถาพร ขวัญยืน และคณะ (2528) โดยโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เผยแพร่ผลการศึกษา “ศิลปะบนผนังหิน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี”

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

ผลการศึกษา :

กองโบราณคดี กรมศิลปากร เผยแพร่ผลการศึกษาศิลปะถ้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมถึงที่ภูพระบาท (กองโบราณคดี 2532ก)

ชื่อผู้ศึกษา : พเยาว์ เข็มนาค, มนต์จันทร์ น้ำทิพย์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากรพเยาว์ เข็มนาค, มนต์จันทร์ น้ำทิพย์

ผลการศึกษา :

เผยแพร่ผลการศึกษาโบราณสถานในภูพระบาทและบ้านผือ

ชื่อผู้ศึกษา : พเยาว์ เข็มนาค

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

เผยแพร่ผลการศึกษาศิลปะถ้ำก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย รวมถึงที่ภูพระบาท

ชื่อผู้ศึกษา : สุรีรัตน์ บุบผา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สุรีรัตน์ บุบผา (2539) เสนอสารนิพนธ์เรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบแหล่งศิลปะถ้ำระหว่างกลุ่มผาแต้มกับกลุ่มบ้านผือ” ต่อคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

ชื่อผู้ศึกษา : พัชรี สาริกบุตร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ผศ.พัชรี สาริกบุตร คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร รวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ตีความภาพเขียนสีและภาพสลักยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในประเทศไทย รวมทั้งที่ภูพระบาท

ชื่อผู้ศึกษา : พิทักษ์ชัย จัตุชัย

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

พิทักษ์ชัย จัตุชัย เสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี : จากหลักฐานทางโบราณคดี” เพื่อสำเร็จปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งศิลปะถ้ำ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

มีลวดลายของภาพเขียนสีที่ปรากฏอยู่บนเพดานและผนังของเพิงหิน สามารถแบ่งออกเป็น 2 บริเวณ (สถาพร ขวัญยืน และคณะ 2528 : 50-51 ; กองโบราณคดี 2532ก : 144-145) ดังนี้

1. บริเวณหินก้อนแรก บนผนังของเพิงหินค่อนไปทางด้านทิศใต้มีลวดลายเขียนเป็นสีแดง ลักษณะคล้ายตาข่าย แต่สภาพลบเลือนและมีสีจางลงมากแล้ว

2. บริเวณก้อนหินก้อนที่ 2 ประกอบไปด้วยภาพเขียนสี 3 จุด คือ

            2.1 บริเวณผนังด้านตะวันออกของเพิงหิน เขียนด้วยสีแดง มีขนาดกว้าง 0.5 เมตร ยาว 1.5 เมตร โดยเป็นภาพของลายเส้นขนาน 3 เส้นแล้วเขียนเส้นตัดขวางคล้ายบันได และนำเส้นดังกล่าวไปสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนด้านซ้ายของภาพเขียนมีภาพลายเส้นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ซ้อนและต่อเนื่องกัน

            2.2 บริเวณเพดานด้านตะวันออกของเพิงหิน เขียนเป็นภาพลายเส้นสีแดงเขียนต่อเนื่องกัน มี 9 กลุ่ม

                        กลุ่มที่ 1 มี 3 ภาพ โดย 2 ภาพแรกเขียนด้วยเส้นหนา เป็นลายเส้นคู่ขนานหักมุมต่อเนื่องกัน ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นลายเส้นขนาดเล็กเขียนคู่ขนานกัน

                        กลุ่มที่ 2 เป็นภาพคล้ายสัตว์กำลังวิ่ง โดยเป็นเส้นโค้งและคู่ขนานผสมกัน

                         กลุ่มที่ 3 มี 3 ภาพ เขียนเป็นลายเส้นรูปสามเหลี่ยมซ้อนกัน โดยมีจุดไข่ปลาอยู่ด้านใน และมีลายเส้นคู่ที่ลากต่อจากรูปสามเหลี่ยมลงมา

                        กลุ่มที่ 4 มี 9 ภาพ เขียนเป็นลายเส้นขนาดเล็กคล้ายดอกบัว ข้างในมีลายจุดไข่ปลา ภาพลายเส้นคดโค้ง ภาพลายเส้นขนานและภาพลายเส้นเป็นริ้วๆ ที่ต่อเนื่องกันเกือบทุกเส้น

                        กลุ่มที่ 5 เขียนเป็นภาพหยักฟันเลื่อยซ้อนกัน ผสมกับลายเส้นคู่ขนานและเส้นโค้งเล็กๆ

                        กลุ่มที่ 6 เขียนเป็นลายเส้นโค้ง มีรูปลายเส้นขั้นบันได เส้นคู่ขนาน วงกลม เส้นไข่ปลา และลายบั้ง โดยเขียนต่อเนื่องกัน

                        กลุ่มที่ 7 เขียนเป็นภาพลายเส้นตัดขวางรูปตารางต่อเนื่องกัน ลักษณะรูปทรงไม่แน่นอน

                        กลุ่มที่ 8 เขียนเป็นลายเส้นคดโค้ง วงยาวรี และเส้นตรง ซึ่งเป็นลายเส้นที่ไม่ต่อเนื่องกัน รวม 10 ภาพ

                        กลุ่มที่ 9 มี 7 ภาพ เขียนเป็นภาพลายทางมะพร้าวหรือลายก้างปลา ลายวงกลมต่อกัน และลายเส้นเป็นแถบ

            2.3 บริเวณเพดานด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเพิงหิน เขียนเป็นภาพลายเส้นบางและหนา รวม 8 ภาพ ได้แก่ ภาพลายเส้นคู่รูปขนมเปียกปูน ลายทางมะพร้าวหรือลายก้างปลา ลายเส้นเดี่ยว ลายขั้นบันได ลายจุดไข่ปลา ลายสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลายตารางหมากรุก ลายวงกลมผสมเส้นคดโค้ง และลายเส้นโค้ง

พิทักษ์ชัย จัตุชัย (2553 : 17) สันนิษฐานว่า เนื่องจากแหล่งภาพเขียนสีโนนหินเกลี้ยง 1 มีลักษณะเป็นเพิงหินที่ยื่นออกมาด้านหน้าประมาณ 2 เมตร ด้านล่างเพิงหินคอดเล็ก ซึ่งทำให้มีเนื้อที่ภายในเพิงหินพอสมควรในการใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้เป็นที่หลบแดดหลบฝนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าแหล่งภาพเขียนโนนหินเกลี้ยง 1 นี้ มีลักษณะของการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของการเป็นที่อยู่อาศัยได้ ส่วนภาพเขียนสีที่พบอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงถึงการจับจองพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หรือสมัยโลหะ อายุรามว 3,000-2,500 ปีมาแล้ว

สถาพร ขวัญยืน (กองโบราณคดี 2532ก) สันนิษฐานว่า ภาพเขียนเขียนเหล่านี้น่าจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมที่ทำขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงเกี่ยวกับสภาพควาเมป็นอยู่ของสังคม

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2552.

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 19 สิงหาคม 2560. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

กองโบราณคดี. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 3. เอกสารกองโบราณคดีหมายเลข 11/2532. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532ก.

กองโบราณคดี. ศิลปะถ้ำในอีสาน กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2532ข.

กองโบราณคดี. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.

กองโบราณคดี. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2537.

ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2542.

บังอร กรโกวิท. “ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อำเภอบ้านผือ.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2519.

พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.

พเยาว์ เข็มนาค และมนต์จันทร์ น้ำทิพย์. ศิลปะถ้ำ “กลุ่มบ้านผือ” จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2533.

พัชรี สาริกบุตร. “ถ้ำโนนหินเกลี้ยง.” ภาพเขียนสีและภาพสลัก : ศิลปะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2543. เข้าถึงเมื่อ 19 สิงหาคม 2560. แหล่งที่มา http://www.era.su.ac.th/RockPainting/northeast/index.html

พิทักษ์ชัย จัตุชัย. “การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี : จากหลักฐานทางโบราณคดี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

สถาพร ขวัญยืน และคณะ. ศิลปะบนผนังหิน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี. กรุงเทพฯ : โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2528.

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.

สุมิตร ปิติพัฒน์. บ้านผือ ร่องรอยจากอดีต. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2520.

สุรีรัตน์ บุบผา. “การศึกษาเปรียบเทียบแหล่งศิลปะถ้ำระหว่างกลุ่มผาแต้มกับกลุ่มบ้านผือ.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539.

อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. ภูพระบาท : อดีตกาลผสานธรรมชาติ. เอกสารประกอบการอบรมยุวมัคคุเทศก์ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (พ.ศ. 2543) ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 13-15 มี.ค. 2543. อุดรธานี : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น, 2543.

อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อุดรธานี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี