ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชุมแพ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : ศาลหลักเมืองชุมแพ

ที่ตั้ง : ถ.ราษฎร์บำรุง เทศบาลเมืองชุมแพ ต.ชุมแพ อ.ชุมแพ

ตำบล : ชุมแพ

อำเภอ : ชุมแพ

จังหวัด : ขอนแก่น

พิกัด DD : 16.537003 N, 102.097178 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เชิญ

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยวังหูกวาง, ห้วยโสกตาแดง, ห้วยบั้งทิ้ง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชุมแพตั้งอยู่ภายในตัวอำเภอชุมแพ หรือภายในเทศบาลเมืองชุมแพ ริมถนนราษฎร์บำรุง ติดกับหนองอีเลิงและวัดโพธิ์ธาตุ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

หลักเมืองชุมแพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของอำเภอชุมแพ มีการสักการะบูชาอยู่อย่างสม่ำเสมอ เสาหลักเมืองที่เป็นเสมาหินทรายสมัยทวารวดีมีการทาด้วยสีทอง (โดยคนสมัยปัจจุบัน) ส่วนเสมา 2 หลักที่ประดิษฐานอยู่ด้านหลังศาลหลักเมือง หลักหนึ่งมีการซ่อมแซมโดยใช้ปูน 

ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมศาลหลักเมืองชุมแพได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

เทศบาลเมืองชุมแพ

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชุมแพตั้งอยู่กลางอำเภอชุมแพ ภายในเขตเทศบาลเมืองชุมแพ ริมถนนราษฎร์บำรุง ติดกับวัดโพธิ์ธาตุและหนองอีเลิง สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นลูกคลื่นลอนลาด มีลำน้ำสาขาของลำน้ำเชิญ (เซิน) หลายสายไหลผ่านตัวอำเภอชุมแพ เช่น ห้วยวังหูกวาง ห้วยโสกตาแดง ห้วยบั้งทิ้ง รวมทั้งมีสระน้ำหลายสระที่เกิดจากหลุมเกลือ ปัจจุบันภายในตัวเมืองมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมาก

ด้านทิศเหนือของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองติดต่อกับบ้านเรือนราษฎร ด้านทิศตะวันออกติดต่อกับหนองอีเลิง ซึ่งเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ด้านทิศตะวันตกติดกับถนนราษฎร์บำรุงและวัดโพธิ์ธาตุ และด้านทิศใต้ติดกับลานอเนกประสงค์และลานกีฬาของชุมชน

หลักเมืองชุมแพประดิษฐานอยู่ภายในศาลก่ออิฐถือปูน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

226 เมตร

ทางน้ำ

ลำน้ำเชิญ, ห้วยวังหูกวาง, ห้วยโสกตาแดง, ห้วยบั้งทิ้ง, ห้วยบุนา

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะธรณีวิทยาของพื้นที่ตั้งแหล่งโบราณคดีจัดอยู่ในหมวดหินภูกระดึง ส่วนล่างสุดเป็นหินทรายแป้ง สีแดง สีน้ำตาลแดง และสีเทาแกมแดง มมักมีแร่ไมก้าปน บางแห่งมีหินปูนชั้นบางแทรกสลับ ชั้นหินตอนกลางประกอบด้วย หินทรายแป้ง หินโคลน สีน้ำตาลแดงปนม่วง มีเม็ดปูนและชั้นเม็ดปูน ชั้นหินมักถูกปกคลุมด้วยตะกอนดินหนา ไม่ค่อยพบชั้นหินโผล่ มีหินทรายเนื้อไมก้าและหินกรวดมนเม็ดปูน สลับชั้นโผล่ให้เห็นเป็นช่วงๆ ส่วนบนเป็นหิรทรายแป้งสลับชั้นหินทราย หินโคลน และหินกรวดมนเนื้อปูน สีแดงปนเทา และสีเทาเขียว ชั้นหินบนสุดโผล่เป็นหน้าผาหินทราย สีน้ำตาลแดง และมีหินทรายแป้งสลับชั้นอยู่บ้าง ชั้นหินทรายหนา 30 เศนติเมตร ถึงมากกว่า 1 เมตร ชั้นหินทั่วไปมีการผุพังค่อนข้างง่าย สภาวะของการสะสมตัวของตะกอนในแม่น้ำแบบโค้งตวัดที่มีกระแสน้ำรุนแรงตามร่องน้ำ และตกตะกอนบริเวณสองฝั่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำ หนอง และบึง ในภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้งเมื่อ 180-145 ล้านปี (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 17-18)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยรัตนโกสินทร์

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

หลักเมืองภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชุมแพเป็นเสมาสมัยทวารวดีที่นำมาจากเมืองโบราณโนนเมือง อำเภอชุมแพ ซึ่งเป็นชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์และเมืองโบราณสมัยทวารวดี มีประวัติการค้นพบและเคลื่อนย้ายเกี่ยวเนื่องกับหลักเมืองขอนแก่น ดังนี้

          “เมื่อ พ.ศ.2498 ประมาณเดือน 4 ได้มีคนแก่มากราบเรียนท่านเจ้าคุณพระราชสารธรรมมุนี (หลวงพ่อกัณหา) วัดศรีนวล เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นในขณะนั้นว่า มีอยู่วันหนึ่งเขาได้ไปนอนพักที่โรงนาบริเวณโนนเมืองแล้วฝันประหลาดว่าเห็นคนแก่นุ่งห่มชุดขาวบ่นว่า"อยากจะไปอยู่ในเมือง" คืนที่สองฝันอีกว่า "อยากจะไปอยู่ในเมือง อยากจะไปอยู่เป็นมิ่งขวัญของเมือง" พอคืนที่สามก็ได้ฝันลักษณะเดิมอีก หลังจากตื่นขึ้นก็รู้สึกร้อนรนอยู่ไม่ได้นอนไม่ได้ จึงเดินทางเข้าเมืองเพื่อเล่าความฝันให้ท่านเจ้าคุณฟัง

          เมื่อท่านเจ้าคุณได้ฟังแล้วจึงถามว่า "ลักษณะตรงนั้นเป็นอย่างไร" คนแก่ตอบว่า "ลักษณะตรงนั้นเป็นกู่เก่า มีป่าขนาดใหญ่ต้นไม้ขึ้นหนาทึบมีเสาหิน และใบเสมาเป็นจำนวนมาก" ท่านเจ้าคุณจึงออกปากว่า "ถ้าเป็นมิ่งเป็นขวัญของเมือง ก็ต้องเป็นหลักเมือง" ประกอบกับจังหวัดขอนแก่นขณะนั้นยังไม่มีหลักเมือง ท่านเจ้าคุณจึงเรียนให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น คือ หลวงพินิจ และได้มอบหมายให้ฝ่ายพระมหาสุคนธ์และพระอีกจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งปลัดจังหวัดไปอัญเชิญหลักเมืองออกจากกู่

          ในขณะที่อัญเชิญเสาและเสมาหินออกจากกู่เกิดอาเพศฝนตกหนัก มีฟ้าผ่าลงมาโดนเสาหลักเมือง(ปัจจุบันเป็นเสาหลักเมืองอำเภอชุมแพ) รถเกิดติดหล่มไม่สามารถเดินทางต่อได้ ทางคณะจึงปรึกษากันว่า "เฮาเป็นผู้น้อย ผู้ใหญ่บ่ได้มาเพิ่นเลยบ่ไป" และได้อัญเชิญหลักเมืองลงไว้ที่วัดพระนอน (วัดป่าพระนอนพัฒนาราม) แล้วกลับมาเล่าเหตุการณ์ให้ท่านเจ้าคุณฟัง ท่านเจ้าคุณจึงเดินทางไปอัญเชิญด้วยตัวเอง และได้นำหมอลำ หนัง มาฉลองที่วัดพระนอน 1 คืน จากนั้นได้อัญเชิญเสาและเสมาออกมา 4 หลัก

                   หลักที่ 1 อยู่ที่ศาลหลักเมืองขอนแก่น

                   หลักที่ 2 อยู่ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชุมแพ

                   หลักที่ 3 และ 4 อยู่ที่หน้าอุโบสถวัดศรีนวล อำเภอเมืองขอนแก่น”

            นอกจากนี้ ภายในพื้นที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชุมแพยังมีเสมาหินทรายที่นำมาจากโนนเมืองอีก 2 ใบ ประดิษฐานอยู่ด้านหลังศาล

หลักเมืองชุมแพประดิษฐานอยู่ภายในศาลก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงจากพื้นภายนอกประมาณ 60-70 เซนติเมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสู่ถนนราษฎร์บำรุง หันด้านหลังไปยังหนองอีเลิง ผังของศาลเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีช่องประตูตรงกลางทั้ง 4 ด้าน ไม่มีบานประตู มีบันไดทางขึ้น 3 ด้าน คือด้านหน้าและด้านข้างทั้ง 2 ข้าง พื้นภายในเป็นหินขัด หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องเกล็ดดินเผา ด้านหน้าศาลเป็นที่ตั้งของเครื่องสักการะและเป็นพื้นที่สำหรับผู้ที่มากราบไหว้บูชา

หลักเมืองชุมแพที่ประดิษฐานตั้งอยู่ภายในศาลมีลักษณะเป็นแท่งหินกลม ทำจากหินทราย ปลายด้านบนกลมมน ทาสีทอง สูงจากพื้นภายในศาลประมาณ 3 เมตร จรดเพดานศาลพอดี มีผ้าพันอยู่รอบเสาหลักเมือง และมีการทำรั้วอลูมิเนียมล้อมรอบหลักเมือง เพื่อกันคนและสิ่งต่างๆ มากระทบ 

ด้านหลังศาลหลักเมือง (บริเวณทางเดินรอบศาลที่ปูเป็นพื้นกระเบื้อง) มีเสมาหินทรายสีชมพูตั้งอยู่อีก 2 หลัก โดยตั้งอยู่แนบชิดติดกัน หลักหนึ่งสูงจากพื้นประมาณ 70 เซนติเมตร ลักษณะเป็นแผ่นแบน ปลายด้านบนมน ด้านหนึ่งมีร่องรอยการซ่อมแซมโดยใช้ปูนซีเมนต์ ส่วนเสมาอีกหลักหนึ่งเป็นแผ่นแบน ปลายด้านบนสอบแหลม สูงจากพื้นดินประมาณ 40 เซนติเมตร จากการสัมภาษณ์พระภิกษุภายในวัดโพธิ์ธาตุและชาวบ้านในพื้นที่ทำให้ได้ข้อมูลว่า เสมาทั้ง 2 หลักนี้นำมาจากโนนเมืองเช่นเดียวกับหลักเมือง แต่ย้ายมาในคราวหลังจากหลักเมือง

สภาพทั่วไปเป็นศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีการสักการะบูชาอยู่อย่างสม่ำเสมอ เนื่องด้วยเป็นหลักเมืองและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชุมแพ เป็นที่กราบไหว้บูชาของชาวชุมแพ โดยเฉพาะชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีน มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และรูปเคารพต่างๆ ประดิษฐานอยู่ในพื้นที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เช่น พระพุทธรูป พระพิฆเนศวร์ หลวงปู่ทวด ศาลปู่เพียแก้ว พระสยามเทวาธิราช เจ้าแม่กวนอิม

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดขอนแก่น. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2552.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี