โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ม.5 บ้านบัวสิมมา ต.โนนอุดม อ.ชุมแพ
ตำบล : โนนอุดม
อำเภอ : ชุมแพ
จังหวัด : ขอนแก่น
พิกัด DD : 16.509396 N, 102.228467 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เชิญ
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยน้ำไหล
จากที่ว่าการอำเภอชุมแพ ใช้ถนนมะลิวัลย์ (ทางหลวงหมายเลข 12) มุ่งหน้าตำบลโนนอุดม ประมาณ 13.4 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่บ้านโคกสูงและเทศบาลตำบลโคกสูงสัมพันธ์ ประมาณ 300 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถึงบ้านบัวสิมมา
แหล่งที่สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ในบ้านบัวสิมมา คือ กู่บ้าน และเสมาภายในวัดสระพัง
บ้านบัวสิมมา
พื้นที่แถบบ้านบัวสิมมามีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาด บริเวณรอยต่อกับพื้นที่ลานตะพักลำน้ำเชิญ และมีเนินดินกระจายตัวอยู่ทั่วไป บ้านบัวสิมมาเป็นหนึ่งในเนินเหล่านั้น โดยเป็นเนินดินเตี้ยๆ สูงกว่าบริเวณโดยรอบที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 5 เมตร มีเนินดินขนาดใหญ่น้อยอยู่โดยรอบ ได้แก่ โนนนกแจง ดอนปู่ตา ดอนตาล และเนินดินริมทางเข้าวัดสระพังทางด้านทิศเหนือ
ดินภายในบ้านบัวสิมมาเป็นดินชุดโพนพิสัย พื้นที่โดยรอบเป็นดินชุดพิมาย ธรณีสัณฐานเป็นหินทรายหมวดหินภูกระดึง มี “ห้วยน้ำไหล” ไหลผ่านทางทิศใต้ของชุมชน และจะไหลออกสู่ลำน้ำเชิญที่อยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ 900 เมตรในที่สุด
สภาพภายในบ้านบัวสิมมาปัจจุบันเป็นชุมชน มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่อย่างหนาแน่น หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในชุมชน ได้แก่ ใบเสมาที่วัดสระพัง และกู่บ้าน
ลำน้ำเชิญ, ห้วยน้ำไหล
ดินภายในบ้านบัวสิมมาเป็นดินชุดโพนพิสัย ลักษณะธรณีวิทยาของพื้นที่ตั้งแหล่งโบราณคดีจัดอยู่ในหมวดหินภูกระดึง ส่วนล่างสุดเป็นหินทรายแป้ง สีแดง สีน้ำตาลแดง และสีเทาแกมแดง มมักมีแร่ไมก้าปน บางแห่งมีหินปูนชั้นบางแทรกสลับ ชั้นหินตอนกลางประกอบด้วย หินทรายแป้ง หินโคลน สีน้ำตาลแดงปนม่วง มีเม็ดปูนและชั้นเม็ดปูน ชั้นหินมักถูกปกคลุมด้วยตะกอนดินหนา ไม่ค่อยพบชั้นหินโผล่ มีหินทรายเนื้อไมก้าและหินกรวดมนเม็ดปูน สลับชั้นโผล่ให้เห็นเป็นช่วงๆ ส่วนบนเป็นหิรทรายแป้งสลับชั้นหินทราย หินโคลน และหินกรวดมนเนื้อปูน สีแดงปนเทา และสีเทาเขียว ชั้นหินบนสุดโผล่เป็นหน้าผาหินทราย สีน้ำตาลแดง และมีหินทรายแป้งสลับชั้นอยู่บ้าง ชั้นหินทรายหนา 30 เศนติเมตร ถึงมากกว่า 1 เมตร ชั้นหินทั่วไปมีการผุพังค่อนข้างง่าย สภาวะของการสะสมตัวของตะกอนในแม่น้ำแบบโค้งตวัดที่มีกระแสน้ำรุนแรงตามร่องน้ำ และตกตะกอนบริเวณสองฝั่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำ หนอง และบึง ในภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้งเมื่อ 180-145 ล้านปี (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 17-18)
บ้านบัวสิมมาเป็นชุมชนโบราณ ปรากฏหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยทวารวดีเป็นต้นมา
สภาพภายในบ้านบัวสิมมาปัจจุบันเป็นชุมชน มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่อย่างหนาแน่น หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในชุมชน ได้แก่ ใบเสมาที่วัดสระพัง และกู่บ้าน
จากการสำรวจของกรมศิลปากรที่ผ่านมาพบว่า บ้านบัวสิมมาสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน คือ บ้านบัวสิมมา ดอนปู่ตา ดอนตาล และโนนกกแจง จากหลักฐานที่สำรวจพบในครั้งนั้นพบทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ โดยเฉพาะใบเสมาหลายกลุ่ม สันนิษฐานว่าชุมชนโบราณแห่งนี้มีความเจริญในระดับหนึ่ง
โบราณวัตถุบนดอนปู่ตา พบเศษภาชนะดินเผา กระเบื้องมุงหลังคา เศษปูนปั้นประดับอาคาร หินดุ บราลี และเสมาหินทราย 3 หลัก
โนนกกแจง อยู่ใกล้ดอนปู่ตา พบเสมา 4 ใบและเศษภาชนะดินเผาเล็กน้อย
ดอนตาล พบเศษภาชนะดินเผาเล็กน้อย แต่ที่ริมทางเข้าวัดสระพังพบเศษภาชนะดินเผาหนาแน่น กล้องยาสูบดินเผา ชิ้นส่วนหินบด และกลุ่มใบเสมารูปร่างไม่แน่นอน บางแผ่นมีสลักลวดลาย พบทั้งสิ้น 12 หลัก
โบราณวัตถุที่พบจำนวนมาก คือ เศษภาชนะดินเผา ส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งและเครื่องเคลือบ
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดขอนแก่น. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2552.